ThaiPublica > เกาะกระแส > “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” วิเคราะห์ After Shock Reciprocal Tariffs… ทางออก ทางรอดของไทย

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” วิเคราะห์ After Shock Reciprocal Tariffs… ทางออก ทางรอดของไทย

11 เมษายน 2025


‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ วิเคราะห์สถานการณ์ “After Shock Reciprocal Tariffs” ทั้งหมัดหนึ่ง หมัดสอง โดนแน่ เราจะเข้าสู่ ‘multipolar trading world’ หรือโลกหลายขั้ว ระยะสั้นต้องเจรจา ระยะยาวขยายตลาดอื่นๆแทนสหรัฐ และให้ระวังสินค้าจีนทะลัก แนะรัฐต้องใส่ทรัพยากรดันท่องเที่ยวให้ได้ ปรับจีดีพีจาก2.5-3% เหลือ 2.5% บวกลบ หรืออาจจะต่ำกว่า 2.5% ด้วยซ้ำไป

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ผ่านรายการทันเศรษฐกิจ EP.4 ในเพจ Bnomics by Bangkok Bank หัวข้อ “After Shock Reciprocal Tariffs” ว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (reciprocal tariffs) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2568 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามีอาฟเตอร์ช็อกที่มีความผันผวนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทุกคนกังวลใจและมีคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

จุดเริ่มต้นสงครามการค้าโลกในศตวรรษที่ 21

ดร.กอบศักดิ์เปิดประเด็นว่า สิ่งที่เรากำลังเจออยู่ขณะนี้ คือจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลกในศตวรรษที่ 21 โดยก่อนหน้านี้เคยมีมหาสงครามการค้าโลกในช่วงประมาณปี 1929–1934 ทำให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนไปทั่วโลก เช่น คนตกงาน 25% ของจำนวนคนทั้งหมด เศรษฐกิจฟุบ การส่งออกก็ฟุบ และมีปัญหาต่างๆ ตามมาเต็มไปหมด มาครั้งนี้ทุกคนจึงกังวลใจว่าจะมีปัญหาลักษณะเดียวกันหรือไม่

“แต่อย่างน้อยผมมั่นใจว่าในศตวรรษที่ 21 โดนัลด์ ทรัมป์ บ้าดีเดือดเพียงพอที่จะนำเรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสงครามครั้งนี้เริ่มต้นมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่วันที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่จริงๆ มาจากการเซ็นประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ของทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกทันที หุ้นดาวโจนส์ตก 1,500 จุด และตกอีก 1,000 กว่าจุดในวันถัดมา หลังจากจีนประกาศตอบโต้อเมริกาเป็นประเทศแรก”

นอกจากนี้ หุ้น Nikkei และ TWSE ตกจนต้องปิดการซื้อขายชั่วคราว สะท้อนให้เห็นอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรง ขณะที่ Hang Seng ติดลบ 3,022 จุด ทำให้นักลงทุนเสียหายย่อยยับจำนวนมาก สิ่งที่น่ากังวลใจกว่าตัวเลขภาษีสินค้านำเข้า คือความกลัวและความไม่เชื่อมั่นได้เกิดขึ้นแล้ว อีกตลาดที่น่าสนใจคือ Nasdaq ซึ่งเป็นหุ้นเทคโนโลยีต่างๆ หลังจากมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ได้เข้าสู่ช่วงตลาดหมี (bear market) ไปแล้ว

“ทั้งหมดเกิดขึ้นจากประธานาธิบดีทรัมป์ ตลาดหุ้นที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำนิวไฮตลอดเวลา แต่อยู่ๆ ต้องการจะเข้าสู่สงครามการค้าโลก หุ้นเลยตกลงมา ขณะนี้นักลงทุนกังวลใจกับเรื่องนี้อย่างมาก ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร ไม่รู้ว่าจะลุกลามแค่ไหน และจะนำไปสู่จุดใด”

อย่างไรก็ดี เรื่อง reciprocal tariffs ที่กำลังถูกพูดถึง ไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทรัมป์ตั้งใจจะทำมาตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่งอยู่แล้ว ที่อัตรา 10–20% ซึ่ง ณ วันนี้ก็เป็นตัวเลขนี้จริงๆ ที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าเรื่องภาษีนำเข้าที่อเมริกาทำมี 3 ระดับชั้นเป็นอย่างน้อย คือระดับประเทศ ระดับอุตสาหกรรม และระดับบริษัท

โดยช่วงแรก เขาทำระดับประเทศกับเม็กซิโก แคนาดา จีน ประกาศทั้งประเทศ ทุกสินค้าจากเขา 25% ทั้งหมด หลังจากนั้น reciprocal tariffs ก็เหมือนกันทั้งประเทศทุกสินค้า ประเทศไทยโดยรวม 36% อาจจะมียกเว้นบ้าง แต่โดยรวมคือ 36%

ต่อมาคือระดับอุตสาหกรรม อย่างเช่น เหล็กกล้า อะลูมิเนียม 25% โดนทุกประเทศทั่วโลก และยังสามารถจะดำเนินการได้อีกแบบหนึ่ง คือระดับบริษัท ซึ่งปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นมากนัก แต่ในอนาคตอาจจะมีตามมาได้ เช่น เมื่อเขาเห็นบริษัทจีนตัดสินใจมาลงทุนที่เวียดนาม โดยอาศัยชื่อเมดอินเวียดนาม ส่งสินค้าไปอเมริกา เขาสามารถเรียกกลับมาดูได้ว่าบริษัทนี้เป็นของใคร หากพบว่าเป็นของคนจีนที่หลีกเลี่ยงจากเมืองจีนมาอยู่เวียดนามหรือไทย ก็อาจจะตัดสินใจให้ส่งภาษีตามมาทีหลังก็เป็นได้

“ทั้งนี้ แนวคิดของทรัมป์เรื่อง reciprocal tariffs คือ “ใครคิดเราเท่าไหร่ เราคิดเขาคืนเท่านั้น” เพราะเขามองว่าอเมริกาถูกเอาเปรียบการค้าในด้านต่างๆ ทำให้ขาดดุลการค้าจำนวนมาก ยกตัวอย่างประเทศจีน อเมริกาคำนวณว่าเอาเปรียบเขาอยู่ 67% แต่เมตตาคิดเอาคืนแค่ครึ่งเดียว 34% หรือเวียดนาม คำนวณไว้ 92% แต่ลดให้ 46% แต่คำถามคือ เป็นไปได้ยังไงที่เวียดนามไปเอาเปรียบอเมริกาถึง 92% ส่วนประเทศไทย ถูกขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 36% ซึ่งถือว่าโดนเยอะพอสมควร”

อย่างไรก็ดี จาก 180 ประเทศ มีประเทศที่โดนภาษีนำเข้าเยอะจริงๆ ประมาณ 57 ประเทศ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเกินดุลการค้าหรือไม่ จะโดนประมาณ 10% เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ นิวซีแลนด์ ซึ่งการเก็บแบบแบ่งตามกลุ่มประเทศเช่นนี้จะทำให้โครงสร้างการค้าโลกเปลี่ยนไป เริ่มมีเทียร์ต่างๆ ขึ้นมา คนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้ามาก ก็อาจจะทำมาค้าขายสู้กับคนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าน้อยได้ยากขึ้น ถ้าหากไม่ไปเจรจาต่อรอง

“หลังจากมี reciprocal tariffs ออกมาแล้ว จะมีการแบ่งเทียร์กันอย่างชัดเจน มีบางกลุ่มนิ่ง เพราะพอใจแล้วที่ได้ แม้จะต้องจ่าย 10% ก็ตาม ส่วนบางกลุ่มบอกว่าขอไปเจรจา เพราะคิดว่าน่าจะได้ดีกว่านี้ แต่ก็จะเป็นกระบวนการการเปิดประเทศให้กับอเมริกาโดยตรง และสุดท้ายจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่จะทะเลาะเบาะแว้ง สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดโลก ซึ่งก็คือสหภาพยุโรปกับเมืองจีน”

เป้าหมายที่แท้จริงของทรัมป์

ดร.กอบศักดิ์วิเคราะห์ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของทรัมป์ในการทำ reciprocal tariffs ก็คือ เป็นเครื่องมือที่จะใช้การทลายกำแพงการค้าของประเทศต่างๆ เพื่อลดการขาดดุลของอเมริกา โดยใช้ reciprocal tariffs เป็นกำปั้นทุบลงไป ถ้าไม่ให้ ก็เอาภาษีอัตรา 46% หรือ 36% ไป ส่งผลให้บางประเทศต้องยอมเจรจา เปิดเสรีการค้ากับอเมริกามากขึ้น รวมไปถึงอาจจะมีการเจรจาการค้าที่ทำให้มีกำแพงการค้าลดลง แล้วทำให้การค้าโลกไหลลื่นขึ้นระหว่างอเมริกากับประเทศเหล่านี้

ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายลดการขาดดุลให้ได้ หากลดไม่ได้ อเมริกาก็จะต้องเดินหน้าต่อ ถ้าจะไปขอให้ลดกลับมาเหลือ 10% เหมือนเดิม แต่การขาดดุลยังเต็มไปหมด ยังไงอเมริกาก็ไม่ยอม เพราะมันไม่ใช่แค่ tariffs อย่างเดียว แต่ยังมีส่วนอื่นๆ ที่ประกอบกันทำให้อเมริกาขาดดุลการค้า

เมื่อได้มีการดำเนินการไปแล้ว มันจะสร้าง new global trading system (ระบบการค้าโลกระบบใหม่) ที่จะมีพี่ใหญ่ 2 คน คือจีนกับอเมริกาทะเลาะกัน ส่วนคนตัวเล็กก็ต้องจำยอม หรือบางส่วนไปขอเจรจาเพื่อปรับดีลของเขาให้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การค้าโลกเปลี่ยนลักษณะไป

“อีกอันหนึ่งที่ทรัมป์ตั้งใจคือการสร้างงานในอเมริกา รวมถึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเงินมาใช้ในการชำระหนี้ เขาคิดว่าการเก็บเงินจากประเทศต่างๆ ที่จะส่งสินค้ามา เป็นสิทธิพึงได้ของเขา ดังนั้น ผมคิดว่าภายใต้ระบบการค้าโลกระบบใหม่ที่อเมริกาวางไว้ ยังไงก็ยากที่จะมีคนได้ต่ำกว่า 10% โดยรวมแล้วทุกคนจะติดอยู่ที่ 10% เพราะฉะนั้น เวลาเราจะไปเจรจาต่อรอง ก็ต้องคิดว่าจะลงจาก 36% ไปที่ 10% ได้อย่างไร”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า แต่บางประเทศที่ไม่ยอม โดยเฉพาะจีน ก็คงจะขึ้นภาษีกับอเมริกาต่อไป เพราะฉะนั้น ในอนาคตสินค้าจากจีนไปอเมริกาก็จะหร่อยหรอหดตัวลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มี ขณะเดียวกัน เมื่ออเมริกากล้าคิดกับจีนอย่างนี้ เขาก็ต้องตอบโต้

ในอนาคตเราก็อาจจะไม่เห็นสินค้าอเมริกาในประเทศจีนเช่นเดียวกัน โลกก็จะเปลี่ยนไป เราจะเห็นอเมริกาและเพื่อนค้าขายกัน จีนและเพื่อนค้าขายกัน เพื่อนกับเพื่อนค้าขายกัน แต่จีนกับอเมริกาจะไม่ค้าขายกันเอง

ที่สำคัญคือ เราจะเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า multipolar trading world หรือโลกหลายขั้ว แต่จะมีการประชันหน้าระหว่างจีนกับอเมริกา แต่อเมริกาจะใช้โอกาสทำ reciprocal tariffs เพื่อเปิดทะลวงกำแพงภาษีและกำแพงการค้าของประเทศต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน แล้วเอากำไร 10% จากประเทศที่สมยอม

ดร.กอบศักดิ์กล่าวต่อว่า หลังจากเรื่องการค้าจบลงหรือเดินหน้าไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือเรื่องของเทคโนโลยีจะชัดขึ้นเรื่อยๆ การแข่งขันจะไม่อยู่แค่หน้าเดียว แต่จะมีหลายหน้า หลายมิติ ซึ่งหนึ่งในหน้าที่สำคัญที่เราเห็นมาแล้ว ก็คือการแข่งขันด้านเทคโนโลยี เช่น DeepSeek แข่งกับ OpenAI เรื่องของเอไอต่างๆ ชิปต่างๆ รวมไปถึงเรื่องของ quantum computing ที่กำลังเกิดขึ้น สองประเทศนี้จะแข่งกับเต็มที่ แต่จะไม่ใช้เทคโนโลยีซึ่งกันและกัน

ดังนั้น ในอนาคต นอกจากเราจะต้องค้าขายกับประเทศที่ไม่คุยกันแล้ว เราต้องใช้เทคโนโลยีที่ไม่คุยกัน

รวมถึงการเผชิญหน้าในมิติอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน อาทิ เรื่องอำนาจและการทหาร สุดท้ายก็จะนำไปสู่เรื่องของการแข่งกันจับขั้วเพื่อนำไปสู่การแข่งขันว่าใครมีพวกมากกว่ากัน ถ้าเดินไปตามลักษณะแบบนี้อีก 2–3 ปี โลกก็จะเปลี่ยนไป แล้วมันจะฝังรากลึก ซึ่งเราต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่ในโลกลักษณะนี้ได้อย่างไร

ทางออก ทางรอดของไทย

สำหรับทางออกและทางรอดของไทย หลังจากถูกขึ้นภาษีสินค้านำเข้าในอัตรา 36% ดร.กอบศักดิ์เห็นว่า ประเทศไทยต้องคิดหลายอย่างและเตรียมการหลายเรื่อง โดยต้องคิดว่าภาษีที่ขึ้นมาจะทำยังไง แต่ที่สำคัญพอกันคือ ถ้าเมืองจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปอเมริกาได้ ก็ต้องหาที่อื่นส่งไป โดยเฉพาะภูมิภาคที่น่าสนใจอย่างอาเซียน

“เพราะฉะนั้น สินค้าจีนจำนวนมากจะหลั่งไหลมาที่เรา จึงอยากจะเตือนผู้ประกอบการรายย่อยว่าต้องเตรียมการรับมือกับเรื่องนี้ เพราะจะมีการแข่งขันเชิงเทคโนโลยีอย่างเอาเป็นเอาตาย เนื่องจากในอนาคตใครจะเป็นผู้ชนะ อยู่ที่ว่าใครจะทำเรื่องเทคโนโลยีได้ดีกว่ากัน”

ขณะเดียวกัน ก็จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมืองจีน อาจจะต้องมาแข่งขันกับคนของเรา รวมถึงมหาอำนาจที่จะเผชิญหน้าในเรื่องการค้าและด้านอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมการ

ทั้งนี้ ในการที่จะเตรียมการเข้าสู่ทางรอดและทางออกของประเทศไทย เราต้องทำประมาณ 5 ด้านไปพร้อมๆ กัน ได้แก่

1. เริ่มเจรจา เป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยในการเจรจาต้องดูว่าเราได้เปรียบหรือเอาเปรียบเขาตรงไหน ส่วนตัวเลข 36% ไม่ต้องไปสนใจมาก เป็นแค่ปืนที่เอามาขู่เรา แต่ให้สนใจที่เนื้อหา ซึ่งมีหลายอย่างที่อเมริกาบอกชัดเจนว่าเขาอยากได้อะไร ไม่ว่าจะเป็นเซกเตอร์ยานยนต์ มอเตอร์ไซค์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ชา ดอกไม้ ยาสูบ เบียร์ เหล้า เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ นี่คือรายการที่อยู่ในใจเขาว่าอยากให้เราเปิดเสรีสินค้าเหล่านี้ รวมไปถึงไวน์ด้วย

“ทั้งหมดนี้ ถ้าเราอยากเจรจา เรามีลิสต์อยู่แล้วว่าเขาอยากได้อะไร แล้วเราก็ไปที่ลิสต์เหล่านี้ แล้วลองดูว่าเราให้อะไรเขาได้บ้าง และอยากให้คิดอย่างหนึ่งว่า มีอีกหลายประเทศที่กล้าจะให้ ถ้าเกิดเราไม่ให้หรือลังเลใจบางส่วน ถ้าเกิดเขาได้ไป แล้วเราไม่ได้ เราจะทำยังไง ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เรายังพอสบายใจได้ว่า ตัวเลขภาษีของเวียดนามเยอะกว่าเรานิดหน่อย แต่ถ้าวันนึงเวียดนามลดเหลือ 0% หรือ 10% แต่เรายังอยู่ที่ 36% เราก็จะมีปัญหาในการแข่งขันทันที ผมว่านี่คือยุทธศาสตร์ที่ทรัมป์ตั้งใจ แต่เราคงไม่มีทางเลือกมากนัก ผมคิดว่าเราต้องเดินหน้าตามเขาไป”

2. ระหว่างที่เจรจา ลมต้าน (head wind) มันแรง เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องคิดว่าจะรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจอย่างไร เช่น ท่องเที่ยวจะทำยังไง หากคนจีนไม่เข้ามา จะไปอินเดียหรือไม่ จะมีการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศอย่างไร หรือหากส่งออกไปอเมริกาไม่ได้ ไปยุโรปหรือไปจีนไม่ได้ จะส่งออกไปที่อินเดียไหม รวมถึงเปิดทาง one-stop service ให้สามารถมาลงทุนติดต่อได้ทีเดียว

3. เตรียมรับมือสินค้าจีนที่จะเข้ามา

4. มหากาพย์เรื่องภาษียังไม่จบในปีเดียว เพราะประเทศไทยพึ่งพาอเมริกาแค่ 18% ของการส่งออก ทำไมประเทศไทยไม่มองหาตลาดแถวนี้ที่กำลังโตอย่างอินเดีย ตะวันออกกลาง อาเซียน หรือประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งแอฟริกา ประเทศเหล่านี้น่าสนใจทั้งนั้น

ทำไมเราไม่ใช้เวลาช่วงนี้ที่กำลังต่อสู้เรื่องนี้ ด้วยการพยายามย้ายสัดส่วนการส่งออกไปยังอเมริกาให้น้อยลง อย่างน้อยในอนาคตอาจจะตั้งเป้าให้เหลือสัก 10% หลังจากนั้นที่เหลือก็ไปส่งให้ที่อื่น ไม่ต้องตื่นเต้นกับตัวเลข 36%

“แต่ตอนนี้คิดแล้วมันตื่นเต้นมาก เพราะเราพึ่งพาอเมริกาเยอะ แต่ในอนาคตโดยเฉพาะจีน ซึ่งไม่ค่อยมีพฤติกรรมลักษณะนี้ แต่จีนชอบบอกว่าเปิดเสรีกันดีหรือไม่ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องลดการพึ่งพิงอเมริกา เพราะเขาคือความเสี่ยงของเรา ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทย”

5. ประเทศไทยต้องคิดว่าเราจะวางตำแหน่งตนเองท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างไร เพราะสุดท้ายเขาจะบังคับให้ไทยเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างไหน

ผลกระทบกับไทย 5 ช่องทาง

ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า มาตรการ reciprocal tariffs จะมีผลกระทบกับไทยผ่าน 5 ช่องทางหลัก ได้แก่

1. การค้า เริ่มจะเห็นการชะลอการสั่งสินค้าจากหลายคนๆ เพราะไม่แน่ใจว่าภาษีจะจบลงตรงไหน หรือจะเจรจาได้หรือไม่

2. การท่องเที่ยว อาจจะต้องรอติดตามภาวะเศรษฐกิจว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ กระทบกับความเชื่อมั่นของคนมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องค่าเงินที่มีความผันผวน ที่อาจจะกระทบต่อภาคท่องเที่ยว

3. เงินทุนไหลออก เห็นชัดว่าหุ้นตกเพราะมาจากเงินลงทุนที่ไหลออกตอดเวลา เพราะนักลงทุนไม่แน่ใจว่าความเสี่ยงคืออะไร ความผันผวนอยู่ตรงไหน หรือทรัมป์จะพูดอะไร จีนจะพูดอะไร แม้กระทั่งอียูจะพูดอะไร ซึ่งจะเป็นกระแสเสียงที่ทำให้เงินลงทุนปั่นป่วนและส่งผลกระทบ

4. ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ

5. ความเชื่อมั่นว่าโลกจะไปได้หรือไม่ หรือจะเกิดอะไรขึ้นอีก

“เมื่อเทียบกับสองเดือนที่แล้ว ณ วันนี้ผลกระทบเห็นชัดในแต่ละช่องทางมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ความเชื่อมั่นหายไปเยอะมาก ความผันผวนของสินทรัพย์ต่างๆ ก็เต็มไปหมด หรือเงินลงทุนบางส่วน อย่างไมโครซอฟท์กำลังทบทวนว่าที่เคยไปตกลงว่าจะไปลงทุนตรงโน้นตรงนี้ จะลงทุนต่อหรือไม่ ซึ่งก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน”

สำหรับผลกระทบต่อตลาดทุนไทย ดร.กอบศักดิ์ประเมินว่า จะกระทบมาถึงเรื่องผลประกอบการของบริษัท ถ้าประเทศไทยยังพึ่งพาอเมริกาเป็นเป้าหมายใหญ่ในการส่งออกประมาณ 18% รวมถึงส่งไปยังประเทศต่างๆ ผ่านเครือข่ายอีกส่วนหนึ่ง รวมแล้วประมาณ 20–25% ดังนั้น ภาษีที่คิดเราจึงมีนัย เพราะอย่าลืมว่าภาษีที่อเมริกาคิดเรา ไม่ว่าจะผ่านใครในอาเซียน โดยส่วนมาก็จะมีภาษีที่สูงทั้งนั้น

ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับการซื้อขาย short sell ชั่วคราวของตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่า มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการชั่วคราว อาจจะช่วยการ short sell และหุ้นตกได้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยจริงๆ มากกว่า และสร้างปัจจัยพื้นฐานให้กับตลาดและตัวบริษัท อย่างไรก็ดี หากเราเตรียมการและดำเนินการใน 5 ด้านอย่างที่กล่าวไปแล้วได้ดี ก็จะสามารถจัดการเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้ดีมากขึ้น

ต่อคำถามว่าทางการไทยต้องทำอย่างไรกับมาตรการที่เกิดขึ้น และภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดได้รับผลกระทบหนักที่สุด ดร.กอบศักดิ์เห็นว่า เราต้องคุยกับนักธุรกิจอเมริกาในประเทศไทย เพราะทราบว่าสินค้าไทยที่ไปอเมริกา มีจำนวนพอสมควรที่เป็นสินค้ามาจากบริษัทอเมริกาในประเทศไทย เช่น ซีเกท เวสเทิร์นดิจิตอล หรือเอชพี ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิต แล้วส่งกลับไปที่อเมริกา ซึ่งเป็นคนที่ถูกกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้

“เพราะฉะนั้น เราต้องลองดูว่าในมาตรการทั้งหมด ประเทศต่างๆ จะโดนภาษีเท่าไหร่ และสินค้าตัวไหนที่ได้รับการยกเว้นบ้าง ผมคิดว่าเราต้องพยายามเจราต่อรองเรื่องการยกเว้น ขณะเดียวกัน ต้องลองดูว่าสินค้าไหนที่ได้รับการยกเว้นแล้วบ้าง และอะไรที่ยังไม่ได้รับการยกเว้น แล้วในส่วนนั้นเราจะไปโน้มน้าวเขาได้อย่างไร ผมคิดว่าการเจรจาต้องใช้ทุกๆ ปาร์ตี้ร่วมกัน และอาจจะต้องคิดว่าเราจะทำยังไงที่จะทำให้เป็นชิ้นเป็นอันในการเจรจาต่อรองจากเขา”

ส่วนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน แต่ที่น่ากังวลใจก็คือภาคธุรกิจที่อยู่ในประเทศด้วย กังวลใจจริงๆ ว่าจะมีหมัดหนึ่ง หมัดสอง มาชนเรา หมัดหนึ่งคือตัว tariffs ด้วยตัวมันเอง แต่หมัดสองคือสิ่งที่กระทบชิ่งมาจากประเทศจีน เพราะดูเหมือนจีนจะไม่ยอมเจรจา สถานการณ์ก็คงยืดเยื้อ ซึ่งหมายความว่าสินค้าจีนก็จะไหลมาที่ไทยแน่ๆ เราก็ต้องเตรียมการรับภาระในเรื่องเหล่านี้

อีกอันหนึ่งที่น่าเสียใจคือ จริงๆ ภาคการท่องเที่ยวน่าจะดี แต่ตอนนี้ท่องเที่ยวก็มีปัญหาเยอะมาก จากกรณีของดาราจีนซิงซิง และเรื่องแผ่นดินไหว จึงอยากให้รัฐบาลใส่ทรัพยากรเข้าไปให้กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้มากขึ้น

“ถามว่าไทยจะรอดในเวทีสงครามการค้าของทรัมป์หรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เราต้องเข้าใจว่าเราเป็นที่ต้องการของเขาเช่นเดียวกัน เวลาเจรจากับทรัมป์ เขาจะถามเสมอว่าคุณถือไพ่อะไร ไพ่ของคุณคืออะไร ผมคิดว่าไพ่ของเราก็คือ ในบรรดาอาเซียนทั้งหมด ตอนนี้หลายคนเลือกข้างเรียบร้อยแล้ว อเมริกาคงอยากให้ไทยอยู่เป็นกลาง หรืออย่างน้อยอยู่ข้างเขา ทำงานใกล้ชิดกับเขา”

“ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้ แต่สุดท้ายเราไม่ได้อยู่ในฐานะที่จำยอม เพราะภาษี 36% มันเยอะไป เราไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบโต้ เมื่อเราตอบโต้ไม่ได้ จำยอมไม่ได้ เรามีทางเลือกเดียวก็คือต้องไปเจรจา ซึ่งเราต้องเจรจาด้วยความตั้งใจ หมายความว่าเราต้องคิดว่าจะให้อะไรแบบจริงจัง เพราะถ้าเราไปให้แบบครึ่งๆ กลางๆ หรือฟังดูไม่ดี เขาก็จะไม่สนใจ”

“ที่สำคัญก็คือ เขาสามารถที่จะเจรจากับคนอื่นได้ วันนี้มีอีก 70 ประเทศกำลังรอเจรจาอยู่พร้อมๆ กัน ถ้าเกิดเราไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจจริงๆ ไม่ใช้สรรพกำลังของเรา เราอาจจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่โดนภาษีสินค้านำเข้านานกว่าคนอื่น ซึ่งเสียหายต่อไทยเช่นเดียวกัน เราไม่สามารถเสียตลาดเป็นระยะเวลานานได้ ดังนั้น เราต้องดำเนินการเรื่องการเจรจาให้ดี”

“ความอยู่รอดมันคืออยู่รอดระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ผมคิดว่าระยะกลางและยาว เราต้องไม่พึ่งพาเขา ถ้าเราพึ่งพาเขา สุดท้ายเราก็ต้องเป็นเบี้ยเขา แต่ถ้าเกิดเราสามารถที่จะพึ่งพาเขาบางส่วน และมีทางออกทางอื่นที่เราสามารถไปได้ เราก็จะได้ไม่ต้องกังวลใจมากนัก การรอดได้ก็จะเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ดี ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ธนาคารกรุงเทพได้มีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 2568 จากเดิมต้นปีคาดว่าจะขยายตัว 3% ปรับมาอยู่ในกรอบ 2.5–3% แต่หลังจากอเมริกาขึ้นภาษี tariffs เกินกว่าคาดหมายและมีสถานการณ์แผ่นดินไหว จึงคาดว่าโอกาสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% บวกลบ หรืออาจจะต่ำกว่า 2.5% ด้วยซ้ำไป

ขณะที่ภาคการลงทุนของไทย เปรียบเหมือนคนที่เล่นเรือใบ หรือชอบเล่นเจ็ตสกี เล่นบอดีเซิร์ฟ ถ้าทะเลปกติ เราก็ออกไปเที่ยวทะเล ไปเล่นเจ็ตสกีได้ เล่นเรือใบได้ แต่ว่าวันที่มรสุมพัดผ่านเข้ามา ผมคิดว่าเราต้องถามตัวเองว่ามีความเชี่ยวชาญแค่ไหน ไม่เช่นนั้นอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้

จะเห็นว่าความผันผวนมากมายเกิดจากลมปากคนและความเชื่อมั่นที่หายไป ซึ่งไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น เมื่อมีความไม่แน่นอนสูง อาจจำเป็นต้องหาสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมากขึ้น และหากไม่พร้อม แนะนำว่าควรออกจากตลาดหุ้น และการลงทุนอาจจะต้องใช้เงินเย็น ต่อเมื่อเห็นว่าตลาดดีขึ้น หรือมรสุมผ่านไปแล้ว ค่อยกลับเข้ามาใหม่ เพราะหลักสูตรที่สำคัญที่สุดของนักลงทุนก็คือ ต้องรักษาเงินต้นให้ได้ แล้วเราจะสามารถดำเนินการได้