ThaiPublica > เกาะกระแส > AOT แจ้งตลาดฯ ยันไม่ได้แก้สัญญาฯ ปรับเงื่อนไขอุ้มคู่ค้าขาดทุน อ้างโควิดธุรกิจซบยาว

AOT แจ้งตลาดฯ ยันไม่ได้แก้สัญญาฯ ปรับเงื่อนไขอุ้มคู่ค้าขาดทุน อ้างโควิดธุรกิจซบยาว

12 มีนาคม 2025


นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ที่มาภาพ : www.airportthai.co.th/

AOT แจ้งตลาดฯ รับคืนพื้นที่ ‘สร้างส่วนต่อขยาย ด้านตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ – ร้านดิวตี้ฟรีขาเข้า’ ยันไม่ได้แก้สัญญาฯ ช่วย ‘คิง เพาเวอร์’ ขาดสภาพคล่อง แค่เลื่อนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ คิดดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย 5 แบงก์ใหญ่บวก 2%

ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว บอร์ด AOT แก้สัญญาฯ รับคืนพื้นที่จาก ‘คิง เพาเวอร์’ เพื่อนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และรับคืนพื้นที่ดิวตี้ฟรีขาเข้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ตามนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ รวมไปถึงมาตรการเลื่อนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องนั้น ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว

เริ่มจากเรื่อง การหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีรายละเอียดมีดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) ศึกษาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากร สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภค และการใช้สินค้าภายในประเทศ และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุม ครม.ได้มีมติรับทราบแนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของผู้ประกอบการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงวงเงินใช้จ่ายในร้านค้าปลอดอากรขาเข้าดังกล่าวมาหมุนเวียนในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากยิ่งขึ้นนั้น

‘KPD’ ขานรับนโยบายรัฐ แจ้งกรมศุลฯ – ทอท.หยุดประกอบกิจการ ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’

กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร (กศก.) ได้มีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ในการดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ในการนี้ทาง KPD จึงได้มีหนังสือถึงกรมศุลกากรแจ้งว่า ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมศุลกากร พร้อมทั้งมีหนังสือถึง ทอท. แจ้งการหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าในพื้นที่ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จำนวนพื้นที่ประมาณ 1,870.69 ตารางเมตร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) , ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) จำนวนวนพื้นที่รวม ประมาณ 217.45 ตารางเมตร และ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) จำนวนพื้นที่ประมาณ 162.46 ตารางเมตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม.ดังกล่าว

บอร์ด ทอท.ไฟเขียว – รับคืนพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรีขาเข้า 2,250 ตร.ม.

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ทอท. ชั้น 7 อาคารสำนักงานใหญ่ ทอท. ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้ KPD หยุดประกอบกิจการคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอดอากรขาเข้า ณ ทสภ., ทภก., ทชม., ทหญ. และ ทดม. โดยให้ ทอท.รับคืนพื้นที่ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าดังกล่าวจาก KPD จำนวนพื้นที่โดยรวมประมาณ2,250.60 ตารางเมตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

คืนพื้นที่ ‘ดิวตี้ฟรีขาเข้า’ ทอท.รายได้ลดเดือนละ 141 ล้าน

ทั้งนี้ การหยุดประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาเข้าของ KPD ดังกล่าวข้างต้นมีผลทำให้พื้นที่ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของ KPD ณ ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท.เปลี่ยนแปลงลดลงซึ่งตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรระหว่าง ทอท. กับ KPD ได้กำหนดไว้ว่า “ในกรณีพื้นที่ประกอบกิจการตามสัญญามีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คิดค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงตามจำนวนพื้นที่ร้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่เพิ่มขึ้น หรือ ลดลง แล้วแต่กรณี”

ดังนั้น ในกรณีนี้จะทำให้ ทอท.มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ ณ ทสภ.,ทภก., ทชม., ทหญ. และ ทดม. ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 1.70 ล้านบาท และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนในช่วงปีสัญญา 2567 – 2568 ณ ทสภ. ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 126.25 ล้านบาท ณ ทภก., ทชม. และ ทหญ. ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 8.41 ล้านบาท และ ณ ทดม.ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 6.96 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทอท.มีโครงการที่จะเพิ่มรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นการชดเชยรายได้ส่วนที่ลดดลงต่อไป

ทอท.ขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์จาก ‘KPS’ ขยายอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ

ส่วนการขอคืนพื้นที่เพื่อนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆเพิ่มเติมนั้น ทาง ทอท.ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เรื่อง การขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด หรือ “KPS” เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (East Expansion) โดยจะมีพื้นที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่บริเวณสวนหย่อมภายนอกอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันออก (Food Stop (Cty Garden เดิม)) ชั้น 2 ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวบางส่วน บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิจำกัด (KPS) ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ สำหรับร้านค้าย่อย หรือบริการต่าง ๆ โดยมีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2576 นั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว ทอท.จึงมีความจำเป็นต้องขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการบริหารจัดการเชิงพาณิชย์บางส่วนบริเวณดังกล่าวจาก KPS โดย ทอท.ได้มีหนังสือแจ้ง และ KPS ได้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวคืนให้แก่ ทอท.ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ KPS มีความประสงค์ขอให้ ทอท.จัดสรรพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งมีขนาดพื้นที่เท่ากับขนาดพื้นที่ Food Stop เดิมให้กับ KPS เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่มให้กับผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการต่อไป แต่ ทอท.ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากับพื้นที่ที่ ทอท.ขอคืนให้กับ KPS เพื่อเป็นการทดแทนได้ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีพื้นที่เหลือที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ

บอร์ด ทอท.ไฟเขียว – คืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนฯ 193 ล้าน ให้ ‘KPS’

ในการประชุมคณะกรรมการ ทอท. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ทอท. ชั้น 7 อาคารสำนักงานใหญ่ ทอท. ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้ ทอท.ขอคืนพื้นพื้นที่ประกอบกิจการฯ ของ KPS ณ ทสภ. จำนวนรวมประมาณ 1,257,560 ตารางเมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 4.97 ของพื้นที่ประกอบกิจการทั้งหมดของ KPS ณ ทสภ. (จำนวน 25,307.260 ตารางเมตร) โดยให้มีผลนั้นตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้ ทอท.นำมาใช้ประโยชนในการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศศตะวันออก ณ ทสภ. ซึ่งการขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการฯ ดังกล่าว ทอท.จะต้องคืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปีสัญญาที่ 2 (1 เมษายน 2566 – 31 มีนาคม 2567) ที่ KPS ได้ชำระให้แก่ ทอท.ไว้แล้วให้แก่ KPS ตามจำนวนพื้นที่ประกอบกิจการฯที่ลดลง นับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา เป็นจำนวนเงินประมาณ 193.08 ล้านบาท โดย KPS ตกลงที่จะไม่เรียกร้องค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายใด ๆ จากการที่ ทอท.ชำระคืนค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว

ทั้งนี้ การขอคืนพื้นที่ประกอบกิจการฯ จาก KPS ดังกล่าว จะทำให้ ทอท.มีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ประกอบกิจการฯ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ทสภ. ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 591,000.- บาท และค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ทสภ. ในช่วงปีสัญญาที่ 3 (1 เมษายน 2567 – 31 มีนาคม 2568) ลดลงเป็นจำนวนเงินเดือนละประมาณ 23.46 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.ได้รับรู้รายการดังกล่าวไว้ในงบการเงินประจำปี 2567 เรียบร้อยแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ทอท.คาดว่า เมื่อโครงการก่อสร้าง East Expansion แล้วเสร็จ จะทำให้ ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการผู้โดยสาร และการอนุญาตให้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงต่อไป

ปรับเงื่อนไข = “ไม่ได้แก้สัญญา”

นอกจากนี้ ทาง ทอท.ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ชี้แจงกรณีผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบินเผชิญสภาพคล่องตกต่ำว่า ตามที่ปรากฏหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุว่า “คิงเพาเวอร์เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ จับตาอาจต้องแก้สัญญาเพิ่ม” นั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ขอเรียนชี้แจงว่า “ทอท.มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง” โดย ทอท.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวดังนี้

1. สารสนเทศดังกล่าวได้ระบุถึง ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของ ทอท. โดย บริษัทหลักทรัพย์ ชีจีเอส อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) หรือ “CGSI” ระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. หากสถานการณ์นี้ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงสัมปทาน โดยเฉพาะในเรื่องค่าผลประโยชน์ตอบแทนชั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ ทอท.จากการสัมปทานดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากสัมปทานมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 ของรายได้รวมที่ ทอท.คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ 2568 และยังเป็นแหล่งกำไรหลักของ ทอท. หากมีการปรับเงื่อนไขสัมปทานจริง อาจส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรของ ทอท.

ในด้านการลงทุน “CGSI” มองว่า “สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลจากนักลงทุน โดยคาดว่าราคาหุ้นของ ทอท.อาจได้รับแรงกดดันในเชิงลบในระยะสั้น” เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “KS” ระบุว่า “ทอท.กำลังเผชิญกับปัญหาลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้รับสัมปทานขอเลื่อนการชำระเงินออกไปอีก 18 เดือน โดยระหว่างนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราประมาณร้อยละ 18 ต่อปี”

2. ทอท.ขอขี้แจงว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) มีหนังสือถึง ทอท. ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย รวมถึง KPD ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดในการจำกัด และควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ทำให้ KPD ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามสัญญาได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ KPD ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 นั้น KPD ก็พยายามประดับประคองธุรกิจให้ดำเนินการต่อ เพื่อให้ธุรกิจรวมถึงพนักงานทุกคนสามารถอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากนี้ อันเกิดจากการที่ร้านค้านค้าจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ต้องปิดร้านค้าชั่วคราว ตามคำสั่งของรัฐบาล อันเนื่องมาจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 และเป็นเหตุให้พนักงานขายต้องขาดรายได้หลัก และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพอย่างมาก แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของ ทอท.ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ในสนามบิน โดยการให้ผู้ประกอบการฯ เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จากการที่ KPD ได้รับมาตรการการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก ทอท. KPD จึงสามารถดูแลและเยียวยาพนักงานของ KPD ได้จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ KPD ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่าง เต็มที่ตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก เพื่อการปรับปรุงก่อสร้าง ติดตั้งระบบต่าง ๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ., ทภก. และ ทดม. เป็นผลให้ KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ปี’66 ‘คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี’ ขาดทุนกว่า 651 ล้าน

นอกเหนือจากนั้นการที่สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงการทยอยครบกำหนดชำระหนี้ต่างกับสถาบันการเงิน และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครบกำหนดชำระให้แก่ ทอท. (งวดปกติและงวดที่ถึงกำหนดชำระจากการเลื่อนชำระ) และการชำระค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้กับ Supplier (ซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อให้มีสินค้าไว้จำหน่าย) ทำให้สถานะทางการเงินของ KPD ที่มีภาระต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ เกิดการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น จำนวนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ KPD ต้องชำระให้แก่ ทอท.นั้น คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จากการที่ประมาณการเติบโตของยอดใช้จ่ายของผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากประมาณการที่เติบโตดังกล่าวประเมินจากสถานการณ์ ก่อนเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 เป็นผลให้สัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้โดยสารระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าปลอดอากรก็เติบโตน้อยลงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ จากเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้รายได้ของ KPD ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประสบกับปัญหาขาดทุน โดยในปี 2566 ขาดทุนถึงจำนวน 651,512,785 บาท ซึ่ง KPD ได้พยายามดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน KPD ก็ยังคงประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด

KPD ขอเลื่อนจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำงวดละ 18 เดือน

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว KPD จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความอนุเคราะห์จาก ทอท.ในการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ซึ่งครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2568 (รวม 12 งวด) ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน ซึ่งจะทำให้ KPD มีระยะยะของช่องว่างทางการเงินที่เพียงพอกับการฟื้นฟูให้สภาพคล่องของ KPD กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง รวมถึงการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน นับแต่งวดชำระปลายเดือนสิงหาคม 2567 นั้น สืบเนื่องมาจากช่วงดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) KPD คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วง Peak Season ดังนั้น KPD จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ทสภ. , ทภก. และ ทดม. ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้สามารถผลักดันยอดรายได้จากฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ นอกจากนี้ การเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำดังกล่าวจะทำให้ KPD ไม่มีภาระเพิ่มเติมในช่วงระหว่างการเลื่อนชำระ และจะทำให้ KPD สามามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้นได้ โดย KPD คาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นตามลำดับ และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปี 2569

ทั้งนี้ KPD ใคร่ขอเรียนว่าการขอเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตามที่กล่าวข้างต้นนั้น เกิดจากผลกระทบจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นพร้อมกันและต่อเนื่อง (ตามข้อเท็จจริงที่เรียนไว้ข้างต้น) อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ของสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ไม่คาดคิด และเป็นเหตุดวิสัยที่ KPD ไม่สามารถควบคุมได้จนส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (ถึงแม้สถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับก็ตาม) ทำให้รายได้ของ KPD ไม่เป็นไปตามที่ KPD คาดการณ์ไว้และนำมาสู่ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้

อ้างโควิดธุรกิจซบยาว AOT ไฟเขียวเลื่อนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน คิดค่าปรับ 18%

3. ทอท.ได้พิจารณาหนังสือดังกล่าวจาก KPD ตามข้อ 2 แล้ว และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผลประกอบการตามสัญญา พบว่าสัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของ KPD อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงมีความเห็นว่า KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตามที่ได้ระบุในหนังสือฯ จริง และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจ้งการผิดนัดชำระหนี้ ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งไม่เกิดความเสียหายแก่ ทอท. แต่เนื่องจากสัญญาได้ระบุค่าปรับผิดนัดชำระไว้ที่ร้อยละ 18 ทอท.จึงแจ้งต่อคู่สัญญา ตามหนังสือที่ ทอท.16706/2567 อนุญาตให้ KPD เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของเดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนเมษายน 2568 ออกไปเป็นระยะเวลางวดละ 18 เดือน โดยไม่ยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับจากการเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว

4. ที่ผ่านมา ในปี 2567 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) กลุ่มผู้ประกอบการรถเช่า สายการบินบางราย และบริษัทร่วม ต่างประสบปัญหาในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ดังระบุในข้อ 3 เป็นผลให้ในปี 2567 มีผู้ประกอบการกว่า 70 ราย ขอเลื่อนชำระ/ผ่อนชำระ ขอยกเลิกประกอบกิจการ ขอลดขนาดพื้นที่ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้ประกอบการฯ สายการบิน หรือ คู่ค้าอื่น ๆ ของ ทอท.ประสบปัญหาจากการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ทอท. เช่น ผลประกอบการขาดทุน จนทำให้สภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายให้แก่ ทอท.ตามกำหนด ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการฯ ของ ทอท.โดยเฉลี่ยมีการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าอัตราส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เกินกว่าร้อยละ 50 ในการนี้ผู้ประกอบการฯ บางส่วนจึงได้แสดงเจตนาพร้อมเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนเพื่อขอผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระเงิน หรือ ปรับโครงสร้างการชำระเงิน โดย ทอท.ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อ ทอท.แล้ว พบว่าการอนุญาตให้ผู้ประกอบการฯ ปรับโครงสร้างการชำระเงินจะเป็นประโยชน์กับ ทอท.มากกว่าการไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการฯดำเนินการตามที่ร้องขอ รวมทั้งดีกว่าการยกเลิกสัญญาและทำการประมูลใหม่ เนื่องจากอาจทำให้ ทอท.ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนต่ำกว่าที่เคยได้รับอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ผ่านมา ทอท.จะเรียกเก็บค่าปรับจากการผิดนัดชำระที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราค่าปรับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเบี้ยปรับของรัฐวิสาหกิจอื่น และสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.ศ.2564 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ

บอร์ด AOT เคาะหลักเกณฑ์ช่วยผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง

5. ดังนั้น เพื่อให้ ทอท.ยังสามารถรักษาผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤติเศรษฐกิจกิจที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์สงครามในยูเครนและอิสราเอล ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทอท.จึงได้จัดทำโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการฯ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ เสนอคณะกรรมการ ทอท. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

5.1.1 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ฯล่วงหน้า ก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลของการขาดสภาพคล่องให้ ทอท.พิจารณาภายในวันที่ 30 กันยายน 2568

5.1.2 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่ขอเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีหลักประกันสัญญา และวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้น รวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี

5.1.3 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะสามารถเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) โดยระยะเวลาที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระงวดสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดไม่เกินอายุสัญญา และไม่เกิน 24 เดือน นับถัดจากเดือนที่ ทอท.มีมติอนุมัติโครงการฯ (มกราคม 2570)

คิดดอกเบี้ย MLR บวก 2% ของยอดเงินที่เลื่อนจ่าย

5.1.4 ผู้ประกอบการฯ และสายการบินต้องชำระดอกเบี้ยของยอดเงินที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระทุกเดือน ตามอัตราที่ ทอท.กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี) คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงิน (Weighted Average Cost of Capital : WACC) ของ ทอท. โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย MLR และ WACC ณ วันที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินแต่ละรายได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ทอท.อนุมัติเป็นต้นไป โดยไม่มีผลย้อนหลัง (ผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยให้ ทอท. ทุกเดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว ทอท.จะเรียกเก็บดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระพร้อมกับเงินต้นในคราวเดียวกัน)

5.1.5 ในกรณีที่ผู้ประกอบการฯ และสายการบินผิดนัดชำระเงินของโครงการฯ งวดใดงวดหนึ่ง หรือ มีหนี้สินเกิดขึ้นใหม่ ให้ถือว่าสิทธิ์ตามโครงการนี้สิ้นสุดลงทันที และ ทอท.จะดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาต่อไป

5.1.6 ทอท.ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาตามความเหมาะสมและยกเลิกโครงการฯ ได้ และให้ผลการพิจารณาของ ทอท. ถือเป็นที่สุด

จากการชี้แจงดังกล่าว ทอท.ขอยืนยันว่า ทอท.มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อทราบ

อ่าน ทอท.แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณี KPD หยุดประกอบกิจการดิวตี้ฟรีขาเข้า , กรณี ทอท.ขอคืนพื้นที่สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และ กรณีเลื่อนจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ช่วยผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง

  • มติบอร์ด AOT แก้สัญญาดิวตี้ฟรี รับคืนพื้นที่ ‘คิง เพาเวอร์’? คาดรายได้หาย 9,218 ล้าน/ปี
  • AOT แจงไม่ได้แก้สัญญาฯ ช่วย ‘คิง เพาเวอร์’ ขาดสภาพคล่อง แค่ยืดจ่ายค่าผลประโยชน์ 18 เดือน
  • AOT ส่งจม.ถึง ‘คิง เพาเวอร์ – สายการบิน’ อ้างโควิด ยืดจ่ายค่าผลประโยชน์ แก้ขาดสภาพคล่อง