รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
องค์การการพัฒนาอุตสาหกรรมของสหประชาชาติ หรือ UNIDO (United Nations Industrial Development Organization) เผยแพร่รายงานล่าสุดเรื่อง “อนาคตของการพัฒนาอุตสาหกรรม” (2024) โดยกล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาและยากจน ได้รับผลกระทบความเสียหายมากที่สุด จากวิกฤติต่างๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤติด้านพลังงาน ที่มาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก
รายงาน UNIDO เสนอว่า ประเทศกำลังพัฒนาต้องตอบคำถามว่า อะไรคือทางออกต่อปัญหาท้าทายเหล่านี้ คำตอบก็คือการพัฒนา “อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือประเทศที่อาศัยอุตสาหกรรม ในการเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ต่ำสู่รายได้สูง
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะ “การประกอบการผลิต” คือสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การมีผลิตภาพและการเติบโต เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาสที่ทำให้มีการประกอบการผลิตอื่นๆที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉลี่ย ทุกๆงานด้านการประกอบการผลิต 1 งาน จะสร้างงานอีก 2 งานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ
แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก็ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ชีวิตผู้คนและโลกเรา โลดจึงต้องการการพัฒนา “อุตสาหกรรมแบบใหม่” ที่ให้ความสำคัญแก่เป้าหมายทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่ทำให้ประชาชนหลุดจากความยากจน และต่อสู้อย่างผลกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ความสำคัญของ “อุตสาหกรรม”
รายงาน UNIDO กล่าวว่า ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของจีนในการขจัดความยากจน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพุ่งขึ้นมาของจีน ในการเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมของโลก ในช่วงเวลาดังกล่าว คนจีนกว่า 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนที่รุนแรง ขณะที่สัดส่วนการผลิตอุตสาหกรรมของจีนเทียบกับการผลิตของโลก เพิ่มจาก 3% ในปี 1990 เป็น 30% ในปี 2022
การพัฒนาอุตสาหกรรมจึงเป็นรากฐานการพัฒนาด้านต่างๆ เพราะได้รับการยอมรับว่าเป็น “จักรกล” ของการเติบโตเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการมีรายได้เงินตราต่างประเทศ ผลดีเหล่านี้เกิดจากความสามารถของภาคประกอบการผลิต ที่จะเอาประโยชน์ต่างๆ เช่น จากการประหยัดต่อหน่วยของปริมาณการผลิต จากเครือข่ายการผลิต และจากการกระจายเทคโนโลยี
การพัฒนาอุตสาหกรรมถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างโอกาสการจ้างงานมากขึ้น เพิ่มกำลังซื้อครัวเรือน เป็นปัจจัยทำให้การบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากนี้ อุตสาหกรรมส่งออกก่อให้เกิดรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเติบโตที่มั่นคงยั่งยืน
รายงาน UNIDO กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาไม่นาน ความสนใจพุ่งไปที่ปัจจัยอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น บทบาทในการสร้างนวัตกรรม ศูนย์กลางของเทคโนโลยีสีเขียว และสิ่งที่สร้างความยืดหยุ่น ในการรับมือกับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ (economic shock) ความสามารถที่เข้มแข็งทางอุตสาหกรรมได้รับการพิสูจน์ว่า เป็นสิ่งสำคัญในยามวิกฤติ เช่น กรณีการแพร่ระบาดโควิด-19 ประเทศที่มีภาคประกอบการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง อยู่ในฐานะที่ดีกว่าในการฟันผ่าภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ
แต่การขยายภาคการผลิตอุตสาหกรรม ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เกิดความก้าวหน้าอัตโนมัติในด้านต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ประเทศต่างๆสามารถมีเส้นทางเดินที่แตกต่างกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม ประโยชน์จากการพัฒนาอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับการจัดการและบูรณาการเข้ากับนโยบายการพัฒนาประเทศ เช่นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ก่อเกิดมลพิษมาก และไม่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นผลเสียหายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม หรือการละเลยสิทธิแรงงาน จะเป็นปัจจัยที่จำกัดความก้าวหน้าในการขจัดความยากจน
รายงาน UNIDO เสนอว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเดินตามเส้นทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หมายความว่า แนวคิด “ความยั่งยืน” เข้าไปอยู่ในการการกำหนดและดำเนินงานของนโยบายอุตสาหกรรม เป็นหลักประกันว่า การเติบโตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จะไม่ทำลายทรัยากรธรรมชาติให้หมดไป หรือก่อความเสียหายเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญแก่การสร้างงานที่เป็นการจ้างงานคุณภาพสูง คือมีค่าจ้างที่เป็นธรรมและสภาพการทำงานที่ปลอดภัย การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มี 2 ด้านนี้ นอกจากจะขับเคลื่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแล้ว ยังปกป้องสุขภาวะที่ดีแก่สิ่งแวดล้อมและประชาชน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสามารถด้านอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตของประเทศ สามารถไปบูรณาการกับห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก

การกระจุกตัวของอุตสาหกรรม
รายงาน UNIDO ระบุว่า แต่ละประเทศและภูมิภาค มีพลวัตอุตสาหกรรมแตกต่างกัน ประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง สามารถขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม ส่วนประเทศในลาตินอเมริกา และแอฟริกามีการเติบโตด้านอุตสาหกรรมที่ต่ำ
สภาพดังกล่าวทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในโลกเกิดการกระจุกตัว ปี 2000 ประเทศรายได้สูงครองสัดส่วน 75% การผลิตอุตสาหกรรมของโลก จีนมีสัดส่วน 6% ในปี 2030 การกระจุกตัวนี้จะเปลี่ยนมาเป็นจีน ที่กลายเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรม มีสัดส่วนถึง 45% การผลิตอุตสาหกรรมของโลก สัดส่วนประเทศรายได้สูงจะลดเหลือ 38% ในอดีต เคยมี 2 ประเทศที่เป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรม อังกฤษหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม และสหรัฐฯหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
การกระจุกตัวของการผลิตด้านอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้องการมากที่สุดในด้านการผลิคภาคอุตสาหกรรม ประสบปัญหาการเติบโตของอุตสาหกรรมในอัตราที่ต่ำ หรือต้องลดการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่ยังมีรายได้ต่ำ (deindustrialization) ประเทศกำลังพัฒนาจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเชิงรุก เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในสภาพชะงักอย่างยาวนาน
ขณะเดียวกัน การพยายามที่จะเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็ประสบกับภาวะอุตสาหกรรม ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (megatrends) กระแสการเปลี่ยนแปลงใหญ่ได้แก่ “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” “การพุ่งขึ้นมาของปัญญาประดิษฐ์” “การผลิตอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล” และ “การปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก” ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลกำหนดภูมิทัศน์ (landscape) ของอุตสาหกรรมโลก ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถปรับตัวเข้ากับกระแสดังกล่าว จะสามารถพัฒนา “อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน”

อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
รายงาน UNIDO ระบุว่า ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมในปัจจุบัน แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากสมัยที่เกิดการพุ่งขึ้นมาของ “เสือเศรษฐกิจเอเชีย” และต่อมาคือจีน ในทศวรรษ 1970 ประเทศเอเชียได้ประโยชน์จากนโยบายเปิดกว้างการค้า ที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตที่อาศัยการส่งออก และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมประกอบการผลิตที่เกิดอาศัยแรงงานมาก สร้างการจ้างงานจำนวนมหาศาล และการยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมยังไม่ใช่ความกังวลของโลก
สภาพปัจจุบันแตกต่างออกไปมาก นโยบายเปิดกว้างการค้าโลกลดลง มีการจำกัดการค้ามากขึ้น แนวโน้มกระแสโลกาภิวัตน์ก็ตกต่ำลง และมีความตึงเครียมมากขึ้นทางภูมิรัฐศาสตร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นระบบอัตโนมัติและดิจิทัล ทำให้ลดความต้องการแรงงานที่มีทักษะต่ำ การจ้างงานจึงลดลง และอุตสาหกรรมต้องหันไปใช้เทคโนโลยีสะอาด เพราะสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆของนานาประเทศ
มองไปข้างหน้า ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมในอนาคตจะแตกต่างจากทุกวันนี้ กระบวนการผลิตและการดำเนินการด้านอุตสาหกรรมในขอบเขตของโลก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐาน เพราะสาเหตุจากแนวโน้มใหญ่ที่ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีสะอาด บทบาท AI กับดิจิทัล และการจัดระเบียบใหม่ห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นต้น การเข้าใจการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้น สำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนา ที่จะปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์โลกที่กำลังเกิดขึ้น
ปัญหาท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมก็คือ นโยบายอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญแก่ ความยั่งยืน การสร้างงานอย่างทั่วถึง ความรุ่งเรืองที่ไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม หรือไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกัน ก็ต้องก้าวทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
เอกสารประกอบ
The Future of Industrialization, United Nations Industrial Development Organization (UNIDO), 2024.