“ชนะ ภูมี” เอสซีจี มุ่งสร้างคน-สร้าง working environment สู่ ‘adaptation’ รับโลกเดือด เน้นคุณค่าเพิ่มด้วย “Partnership-Philanthropy” ทำคนเดียวไม่ได้ ลงมือทำร่วมกัน

“เอสซีจี” เป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ที่มุ่งแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่การดำเนินธุรกิจโดยมีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทได้มีการปรับทิศทางและมาตรการต่างๆ ในการทำงานทั้งด้าน mitigation และ adaptation ให้มีความคมชัดมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจก และมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน 25% ภายในปี 2030 และเป็น net zero ภายในปี 2050
ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีไม่ได้ทำเรื่องลดโลกร้อน ลดคาร์บอน เพื่อให้โลกสวยงามหรือว่าเป็น green อย่างเดียว แต่ต้องมองว่าธุรกิจได้อะไร สังคมรอบข้างได้อะไร สะท้อนถึงการดำเนินงานที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของบริษัท หรือแม้กระทั่งเรื่องของการเติบโต สร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
“เพราะฉะนั้น การทำโครงการต่างๆ ได้ทั้ง 2 อย่าง คือ business performance แล้วก็ได้ทั้งเรื่องการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งไปเสริมสร้างให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย อันนี้คือความหมายในการทำโครงการต่างๆ ของเอสซีจีให้มีความชัดและมีความคมในการทำงานมากขึ้น”
Inclusive Green Growth ไม่ทิ้งใครไว้ขางหลัง
ดร.ชนะเล่าว่า เรื่องธุรกิจก็เหมือนชีวิต คือทำแล้วต้องปรับ ต้องพัฒนา ที่ผ่านมาเอสซีจีทำเรื่องความยั่งยืนมาเยอะมาก โดยได้ปรับทิศทางและรายละเอียดการดำเนินงานให้สอดคล้องกันในแต่ละช่วง แต่ยังใช้หลักเรื่องอุดมการณ์ 4 แล้ว ก็ขยับมาเป็นเรื่อง ESG 4 Plus ที่มีเรื่อง net zero, go green, lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ บวกด้วยความเป็นธรรมและความโปร่งใส
“มาวันนี้เราปรับมาเป็นเรื่อง “inclusive green growth” โดยเติมเรื่องของ double materiality ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พยายามเข้าไปดูแลให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เราและไม่ได้อยู่ใกล้เรา โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ช่วงนี้เราโฟกัสอย่างมาก ทำอย่างไรให้เขาได้เห็นสิ่งที่เอสซีจีเคยทำทั้งสำเร็จ บางอันก็ไม่สำเร็จ แล้วเราทำจนสำเร็จ“
แทนที่เขาจะไปเริ่มต้นแบบเรา ให้เขาเห็นเลยว่าสิ่งที่เขาลงทุนตรงนี้ แล้วเขาจะได้รีเทิร์น ปรับความสามารถในการแข่งขัน เรามาโฟกัสตรงนี้เพิ่มเติม กลายเป็น inclusive green growth ไปด้วยกันกับเรา แล้วก็เอสเอ็มอี แล้วก็ชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนมันต้องฝังตัวไปในกระบวนทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจซีเมนต์ ที่เอาไปทำเป็นสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เพราะว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์ปกติเราจะซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่เชื้อเพลิงเหล่านี้สามารถให้เกษตรกรไปปลูกพืชพลังงาน แล้วเราก็รับซื้อมาเป็นเชื้อเพลิงได้
จะสังเกตเห็นว่ามันได้ 2 อย่าง อย่างแรกคือเราได้เชื้อเพลิงที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยลง ในขณะที่ชุมชนเขาสามารถจะมีเศรษฐกิจหมุนเวียนจากการปลูกพืชพลังงาน ซึ่งข้อดีของการปลูกพืชพวกนี้คือมันมีตลาดแน่นอน อย่างเช่นหญ้าเนเปียร์ แล้วก็กำลังจะส่งเสริมการปลูกไผ่ ตัดเสร็จแล้วก็เอามาทำพลังงานชีวมวลได้
หรือแม้กระทั่งเรื่องของเอสเอ็มอี ซัพพลายเออร์เราส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี เราก็เข้าไปให้ความรู้ ไปนั่งคุยกับเขาในช่วงนี้ว่าสิ่งไหนที่เขาสามารถปรับปรุงได้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่จะลดคาร์บอน เขาจะต้องเริ่มทำงานยังไง ก็มีการอบรมสิ่งที่เราจัดซื้อให้เขาสามารถที่จะทำลักษณะคล้ายๆ green procurement มีคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ชัดเจน
แต่การทำเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว ทำคนเดียวไม่ได้ อันนี้สำคัญมาก ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน เพราะว่าบางเรื่องเราทำคนเดียวมันยาก แต่พอทำหลายๆ คน เขาใช้จุดแข็งช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้น ทางเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของเอสซีจี เราให้เขาทำงานเป็นกลุ่ม

สร้างคุณค่าเพิ่มด้วย “Partnership-Philanthropy”
ดร.ชนะเล่าว่า อย่างกรณี ESG Symposium ของเอสซีจีปีนี้ มีคนมาร่วมงานมากกว่าปีที่แล้ว รวมแล้วสัก 3,500 คน แต่สิ่งที่เราได้มากกว่านั้นก็คือ เราใช้หลักของคำว่า “regenerative” ก็คือการสร้างคุณค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่ โดยเดินเรื่องต่อจากปีที่แล้วว่าเราทำอะไร เสนออะไรให้ภาครัฐ ปีนี้เราตามมาบอกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมามันคืบหน้ายังไง
ตรงนี้ทำให้งานของเราเริ่มมีความแตกต่าง สามารถจับต้องได้เพราะเราจะตามตลอด โดยเราจะเน้นว่าค่อยๆ ทำไป อันไหนไม่สำเร็จหรือเกือบสำเร็จก็ collect เอาไว้ พอมีตัวแปรใหม่มา เราจับขึ้นมาทำใหม่จนสำเร็จ เพราะฉะนั้น ในสิ่งที่เราทำก็คือต้อง implement เราเลยใช้คำว่า use case ซึ่งอันนี้เป็น key success
“ผมพูดมาประมาณสักสามปีแล้ว ตั้งแต่ไปดู COP มา เขาบอกว่าในประเทศที่ทำสำเร็จ ส่วนใหญ่เขาจะลงมือทำ แล้วทำร่วมกันในลักษณะของ public-private partnership ของเราใส่ people เข้าไปอีกตัว เพราะว่ามีปลัดกระทรวงหลายๆ ท่าน ทั้งปลัดมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพย์ ห่วงประชาชนว่าเรื่องนี้ทำแล้วได้อะไร เราก็บอกว่าประชาชนเขาพยายามจะทำให้ได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือต้องให้ประชาชนมามีส่วนร่วม เลยเป็นที่มาของ 4P public-private-people, partnership แล้วก็ทำมาได้ผลดี
“แต่ว่าทีมจะเหนื่อยหน่อย เพราะว่าต้องลงไปพื้นที่ โครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ แม้กระทั่งตัวผมเองก็ต้องลงไปที่ area-based ไปดูว่าสิ่งที่เรารับฟัง สิ่งที่เราทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาครัฐ ติดอะไร เราในฐานะ facilitator ที่ช่วยทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นเท้าใหญ่เขาทำ เราจะสามารถไปทำอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง”
ยกตัวอย่างเช่น โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนของท่านปลัดสุทธิพงษ์ (จุลเจริญ) ปลัดกระทรวงมหาดไทยท่านเก่า มีการไปส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะเปียกกับขยะแห้ง โดยนำขยะแห้งมาบริหารจัดการคล้ายๆ ธนาคารขยะ อันนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงไปได้ประมาณสัก 3,000 เกือบ 4,000 ตัน
แต่ส่วนหนึ่งต้องชื่นชมทางสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ด้วย ก็คือผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทุกราย เขาเป็นต้นทางในการมาร่วมมือกับภาครัฐ แล้วเอสซีจีเป็นพี่ใหญ่ในนั้น ก็รวบรวมเงินสนับสนุนเพื่อจะไปซื้อคาร์บอนเครดิตตรงนี้ประมาณ 3,000 เกือบ 4,000 ตัน ทางชุมชนก็ได้เงินไปล้านนึง เพราะฉะนั้นชุมชนเขาก็จะมีต้นทุนที่เรียกว่า seeding
“ผมเพึ่งกลับมาจากงาน Climate Week ที่นิวยอร์ก เขามีการพูดถึง P ตัวที่ 4 แต่ในมุมมองที่ต่างจากเรา โดยเขาใช้คำว่า philanthropy เป็นกองทุนคล้ายๆ ที่ไมโครซอฟท์ทำ ก็คือเอาเงินกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ green funding ไปเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการสตาร์ทออกไปได้ หลังจากนั้นเงินเหล่านี้จะหมุนกลับมาทำให้โครงการต่างๆ มันขยายใหญ่และสำเร็จมากขึ้น”
ประเทศไทยที่เคยทำได้และทำได้ดีก็คือเรื่องกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ใส่ seeding เข้าไป พอมีกิจกรรมหลายกิจกรรม มันก็จะขยายกองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันกิจกรรมเรื่องกองทุนอนุรักษ์พลังงานมันถอยลง ไม่ทราบว่าทำไม แต่อันนี้เป็น low-hanging fruit เป็นโครงการที่ทำได้ง่าย แล้วเอสเอ็มอีทำได้ ประเทศจะลดคาร์บอนได้อย่างมาก
เพราะฉะนั้น เขาเริ่มเอาคำว่า philanthropy มาใช้มากขึ้น ซึ่งตรงกับทางเอสซีจี ที่เรามีมูลนิธิเอสซีจีซึ่งทำงานคู่กับบริษัท เข้าไปช่วย อย่างกรณีโครงการคัดแยกขยะ ทำสำเร็จเกือบ 130 ชุมชน สามารถนำไปต่อยอดต่อได้
หรืออย่างการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน ขนาดเพิ่งเริ่มทำ ก็ตกประมาณเกือบ 2.5 ล้านบาทต่อปี จากนี้จะขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นเป็นสามเท่า ห้าเท่า สิบเท่า เพราะว่ามันมีดีมานด์ฝั่งตลาดอยู่แล้ว และมีอีกหลายโครงการที่เราเข้าไปทำในลักษณะนี้
ดังนั้น ในระดับโลกเขาเริ่มพูด 4P ซึ่งตรงกับ people ของเอสซีจีแล้ว แต่เขาใช้คำว่า philanthropy เราก็ทวิสต์มันนิดเดียว เพราะเราทำอยู่แล้ว แต่ต้องไปนั่งคุยว่ากองทุนหรือมูลนิธิในการที่เข้าไปช่วยเรื่องต่างๆ จะทำยังไงให้มันเป็นระบบ สำคัญที่สุดคือภาครัฐ คงจะต้องมองเรื่องกฎระเบียบที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาโมเดลนี้ขึ้นไป

“Go Together” เคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”
อย่างไรก็ดี ดร.ชนะ ชี้ว่า ในบรรดา 4P เรื่อง partnership สำคัญที่สุด แต่ว่าสร้างยากที่สุด เพราะมันต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ อย่างกรณีสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ที่ผมเป็นนายกสมาคม TCMA ใช้เวลาสร้าง trust ในสมาชิกเกือบหนึ่งปี กว่าจะเข้าใจเรื่องการทำปูนลดโลกร้อน
จนมาเป็นเรื่องสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มันเป็นอีกหนึ่งสเตปของระดับอุตสาหกรรม คือนอกจากระดับบริษัทจะได้กิจกรรมที่เข้าไปช่วยในบริษัทแล้ว ระดับอุตสาหกรรมจะออกมาช่วยกันขับเคลื่อนในลักษณะของ partnership ได้ยังไง อันนี้ก็ต้องสร้าง trust ในกลุ่มของ TCMA อีก แล้วก็ต้องกลับมาสร้าง trust ในบริษัทเอสซีจีว่าโครงการเหล่านี้เราไม่ได้เป็น ownership คนเดียว แต่ ควรจะเป็นภาคประชาสังคมหรือของประเทศ แล้วก็ให้เครดิตกับคนที่ทำทุกคน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เดินมาได้ต่อเนื่อง
แล้วก็ต้องชื่นชมทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพย์ฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ช่วยกันประคับประคองแล้วก็สนับสนุนเรามาตลอด เวลาเรามีข้อติดขัด เราก็ไปบอก ทางเอสซีจีเองก็ช่วยอย่างดี ทางผมเองกับคณะจัดการก็พยายามสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน อย่างที่บอก เวลาเราถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เอสเอ็มอี นอกจากเรื่องความสำเร็จ เรายังถ่ายทอดถึงสิ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จด้วย เพราะว่าคนตัวเล็กหรือคนที่เป็นเอสเอ็มอีเงินเขามีจำกัด โดยเฉพาะในสถานการณ์อย่างนี้ การที่จะลงโครงการอะไรสักอย่างแล้วบอกว่าจะได้ทุนคืนแล้วลดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย อันนี้เขาเข้าใจ แต่เขาตัดสินใจยาก
เอสซีจีจึงมีโครงการ “Go Together” ซึ่งต้องขอบคุณทางบอร์ดบริหารที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในเรื่องของบประมาณเพื่อจะเปิดบ้านของเราให้เขาดูได้ฟรี แล้วเราก็เล่าให้ฟังว่าเรื่องคาร์บอนเป็นยังไง เรื่อง renewable energy ต้องทำยังไง พอคุยเสร็จ เราก็พาไปดูของจริง
เพราะฉะนั้น เวลาเขาเห็นปุ๊บ เขาจะนึกออกแล้วว่าอันไหนลงแล้วได้ความเขียวและได้เงิน หลังจากนั้นเราก็แนะให้เขาสร้างกลุ่มไลน์เพื่อจะได้ติดต่อกัน ซึ่งจัดไปสัก 3 ครั้งแล้ว โดยทำร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรม มีคนเข้าร่วมประมาณเกือบ 200 คน จากหลายบริษัท ได้รับการตอบรับดีมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนของสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ด้วย

SCG “Mitigation” มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
ดร.ชนะกล่าวเพิ่มเติมในส่วนการทำเรื่อง mitigation ของเอสซีจีว่า พอเรามีโรดแมป มีเป้าหมาย ก็ต้องลงรายละเอียดว่าแต่ละเรื่องต้องทำยังไง โดยมีการกำหนดโครงการใส่เข้าไปจากแต่ละธุรกิจ ซึ่งข้างหลังโครงการเหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีไปประเมินความพร้อมของเทคโนโลยี เรียกว่า technology readiness level (TRL) ที่มันก็จะเรียงมาตั้งแต่ ต่ำ กลาง มาก
ดังนั้น โครงการที่จะทำ เราจะตามดูว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มันอยู่ในขั้นใกล้เคียงกับสิ่งที่จะได้ผลลัพธ์อย่างดีแล้วหรือยัง อันนี้เราใช้เทคโนโลยี MACC curve (marginal abatement cost curve) เข้ามากำกับว่าเทคโนโลยีตัวไหนเอามาลงทุนแล้วลดเรื่องการปล่อยคาร์บอน เรียกว่า do now
แล้วก็มีอีกก้อนหนึ่งเรียก to decide หมายถึงที่เทคโนโลยีกำลังจะดีขึ้น อันนี้เรามีทีม deep tech ติดตามว่ามันไปเร็วแค่ไหน ถ้ามันไปเร็ว เงินลงทุนต่ำ เราก็จับตรงนี้มาไว้ในที่จะลงทุนทันที ส่วนอีกก้อนหนึ่งห่างๆ คือ decide later หมายถึง อาจจะต้องพึ่งนโยบายภาครัฐ อาจจะเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ไกลๆ แต่ว่าต้องติดตาม เพราะบางครั้งมันมาเร็ว
เพราะฉะนั้นเอสซีจีแบ่ง mitigation เป็น 3 ก้อน ตอนนี้เวลาเราทำงาน ทางทีมงานก็จะทำเวิร์กชอปร่วมกันปีละ 2 ครั้งเพื่อ revise พวกนี้ แล้วก็ผูกกับเงินลงทุนหรือ action plan โดยเราจะเอาสิ่งนี้มาดูว่าเงินหรือแผนใน action plan สอดคล้องกับเรื่องเหล่านี้หรือไม่ มันก็เลยกลายเป็นแผนที่มีความชัดและคมมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อดูภาพใหญ่ของประเทศ เรื่องพลังงานถือเป็นเรื่องใหญ่ เอสซีจีก็คล้ายๆ กัน ของเราประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องพลังงาน เพราะฉะนั้น มาตรการ mitigation ที่เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆ ก็จะเน้นไปที่เรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (energy transition) ก็คือการลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)
ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ wet heat เริ่มทดลองเรื่องแบตเตอรี่ เริ่มมีการทำเรื่องเชื่อมโยงไมโครกริดภายในกันเอง เพราะแค่ต่อเชื่อมโยงระหว่างโรงงานต่อโรงงานแล้วก็เปลี่ยนโหลด ก็สามารถลดพลังงานได้ โดยเรามีการผลิตพลังงานใช้เองเกือบ 30% ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าซื้อจากการไฟฟ้าเกือบ 60-70% แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของระบบ
ขณะที่การอนุรักษ์พลังงาน (energy efficiency) เราก็ทำเยอะเลย เพราะเป็นสิ่งที่ทำง่ายและได้ผลทันทีโดยลงทุนน้อยสุด แต่ใช้เรื่องของความใส่ใจของพนักงาน การติดตามเทคโนโลยีที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ หลายๆ ตัวมาทดแทนของเดิม เช่นเรื่องของสายพานที่ใช้มอเตอร์ ก็เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์รุ่นที่มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือเป็น high efficiency motor
หรือการใส่เทคโนโลยีต่างๆ ในการไปปรับสปีด การเปลี่ยนไซซ์ของบางอันให้มันเล็กลง แม้กระทั่งการไปปรับปรุงกระบวนการในการเดินให้มันนิ่งขึ้นโดยใช้ participation ของพนักงานหรือใช้เทคโนโลยีเล็กๆ ใส่เข้าไป
ในเรื่องของหุ่นยนต์ก็ใช้หลัก lean process หรือ ECRS คือก่อนที่จะใส่หุ่นยนต์ ก็ต้องไปทดลองแบบแมนนวลก่อน แล้วก็จัด rearrange ตัว process จนสามารถดีไซน์ให้หุ่นทำงานตลอดเวลาหรือเกิน 70% บางอันใช้เรื่องหลักของการเปลี่ยนทิศทางสองสามทิศ แทนที่จะต้องใช้หุ่นยนต์ สิ่งเหล่านี้เราทำเข้าไป และทำมานานแล้ว และเปิดให้เอสเอ็มอีดูด้วย
อีกอันหนึ่งที่เราทำก็คือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) พอใช้หลัก regenerative ตัวย่อยระดับเลเวลลงมาที่เป็น tools ก็ใช้ energy efficiency ใช้ renewable energy แล้วก็ใช้ทางด้าน circular economy เช่น ใช้วัสดุทดแทน อย่างที่เป็นเชื้อเพลิงเยอะๆ ก็คือขยะเทศบาลนี่แหละ เรามาทำเป็น RDF (refuse derived fuel)
ในส่วนขยะเทศบาลที่แยกขวด แยกพลาสติก อันนี้เอาไปเป็นวัตถุดิบของทางด้านปิโตรเคมี ซึ่งเทรนด์มันไปอย่างนั้นหมด แม้แต่กล่องเศษกระดาษเอาเข้าไปใช้ในแพกเกจจิ้ง หรือเถ้าจากโรงไฟฟ้า เอาไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
หรือว่าตัว industrial waste จากหลายๆ โรงงานอุตสาหกรรม จริงๆ เอาไปใช้เป็นวัสดุทดแทนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมซีเมนต์ใช้เยอะเลย อย่างโรงอิฐทนไฟที่สามารถทนอุณหภูมิได้เป็น 1,500 1,800 2,000 องศา อันนี้ใช้วัสดุทดแทนเข้าไปเป็นวัตถุดิบเยอะมาก เช่น ลูกถ้วยไฟฟ้าที่แตก พวกนี้เราใช้หลัก energy efficiency, renewable energy, แล้วก็ circular economy
ศึกษา use case จากระดับโลก
ดร.ชนะ กล่าวว่า ใน ESG Symposium ปีนี้เราก็มีการนำตัวอย่าง use case ของโกลบอลเข้ามาแชร์ อย่างกรณีของ circular economy เราเอาบริษัทไออีไอ ซึ่งเป็นตัวบริษัทลูกของบริษัทอิโตชูของอังกฤษมาแชร์ให้ฟังเรื่องการบริหารจัดการขยะชุมชนที่อังกฤษ ดูไบ แล้วก็ที่เบลเกรด คือเดิมเขาถมเป็นกองอย่างบ้านเราเลย สุดท้ายเขาเอาเทคโนโลยีเข้าไปจับ แล้วเอาหลักพวก circular economy ใส่เข้าไป
เหมือนอย่างโครงการถังขยะลดโลกร้อนที่กระทรวงมหาดไทยทำที่สระบุรีหรือทั่วประเทศ อันนั้นแค่แยกขยะเปียกกับขยะแห้งนะ ไม่เชื่อลองไปทำที่บ้านดูสิ ถ้าเราแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะแห้ง แล้วขยะเปียกมันมีถังหมักที่ฝังลงไปในดินนิดเดียว จะพบว่าขยะบ้านเราหายไปหมดเลยนะ เพราะขยะแห้งมันจะมีขยะที่มีมูลค่าหมดเลย หรือเราไม่แยกเอง เราใส่รวมๆ กันไป แล้วมัด แล้วเขียนอะไรสักหน่อย คนเอาไปแยกเขาจะแยกได้ง่ายมาก อันนี้เป็นสิ่งที่เราเอาจากโกลบอลเข้ามา
อีกอันนึงที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ คือ คือเมืองอู่ฮั่น ผมบินพูดไปเมื่อสัก 2 เดือนที่แล้ว ตามคำเชิญของ WBCSD พอไปถึงก็เลยเข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นตัวเกิดโควิดแล้วมันแพร่กระจาย เพราะอู่ฮั่นเป็นเมืองหลักสำคัญมากของจีน
แต่วันนี้เขาเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เข้าใจว่าช่วงที่เขาเกิด pandemic ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาไปได้เยอะมาก อย่าง คนขับรถแท็กซี่เขาขับดีมาก เป็นคนไม่ใช่ AI คือแต่ก่อนไปจีนเราจะรู้สึกว่าไม่ค่อยปลอดภัย แต่ปัจจุบันไม่เลย ขับรถตามกฎเป๊ะๆ แล้วก็ไม่มีเบี้ยว จ่ายเท่าไหนเท่านั้น ไม่มีโกง หรือเดินไปตามร้านอาหาร เขาจะใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงถึงกันหมด
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ไปคุยกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต จีนเขาพร้อมที่จะออกต่างประเทศแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกไปเต็มรูปแบบ การซื้อขายคาร์บอนของที่อู่ฮั่นเป็นศูนย์ใหญ่ของประเทศ เขาแบ่งเป็นสองระดับ ระดับบนก็คืออุตสาหกรรมที่ปล่อยเกินสมมติเกิน x ตัน ก็ให้อยู่บนแพลตฟอร์มในการซื้อขายระดับประเทศ พร้อมที่จะออกไปต่างประเทศ ระดับล่างคือพวกเล็กๆ น้อยๆ เอสเอ็มอี อันนั้นเอาไว้มอนิเตอร์เฉยๆ
สิ่งที่เขาทำคือเริ่มซื้อขายคาร์บอน เพราะเขาเริ่มมีแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2021 ทำให้การซื้อขายคาร์บอนเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตของเขาขึ้นไปเยอะมากถึง 70-80%
แต่สิ่งหนึ่งพอไปเยี่ยมศูนย์เขา ก็ถามเขาว่า engage กับคนส่วนใหญ่ได้ยังไง คำตอบคือเขาใช้เทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เวลาเราเข้าไปซื้อของโดยใช้ WeChat กับ Alipay พวกนี้มันเป็นตัวบันทึกว่าคนแต่ละคนหรือวัยรุ่นแต่ละคน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพฤติกรรมเขายังไง
เช่น เวลาเราไปซื้อกาแฟในร้านเมืองไทย เอาแก้วไปใส่เขาจะลด 5 บาท แต่ที่อู่ฮั่นจะถูกบันทึกว่าเด็กคนนี้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนโดยพฤติกรรมของเขาโดยการเอาแก้วไป หรือแม้แต่การใช้จักรยาน หลังจากนั้นเขาสามารถจะ collect แต้มเหล่านี้ แล้วเอาไปแลกเป็นอาหารได้ สุดยอดมั้ย
ดังนั้น ของประเทศไทยจริงๆ ผมยังอยากจะส่งเสริมว่าแอปเราที่ใช้ เช่น แอปเป๋าตัง หลังๆ มันมีเรื่องสวัสดิการ เรื่องอะไรดีมาก ถ้าเราเอาแพลตฟอร์มเหล่านี้ แล้วเอาเรื่องพวกนี้ไปให้วัยรุ่นที่มีใจรัก แล้วเขาสแกนไปซื้ออะไร ช่วยนู่นช่วยนี่ เก็บขยะได้ก็สแกน แล้วก็ collect เป็นแต้มบุญ แต้มความดี แล้วเอาไปแลกสวัสดิการต่างๆ ผมว่าเด็กไทยมีศักยภาพ แล้วมันจะสุดยอด
เอสซีจีเองก็พยายามส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ คือในชุมชนที่เราไปร่วมอยู่ด้วย เราพยายามสร้างจิตสำนึก ในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ก็กำลังจะทำโครงการโรงเรียนไร้ขยะร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย พึ่งเริ่มคิกออฟไปไม่นาน โดยใช้หลักบวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เป็นจุดเริ่มในการสร้างเจเนอเรชันใหม่ขึ้นไป
นอกจากนี้ ยังใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านรัชกาลที่ 9 ที่ว่าด้วย 3 ห่วงโซ่ บวก 2 คุณค่า เพื่อสร้างความยั่งยืนแล้วก็พัฒนาอย่างสมดุล ซึ่งอันนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับทางด้านการเกษตร แต่หลักของพระองค์ท่านใช้ได้กับธุรกิจทั้งหมด ซึ่งเอสซีจีก็ใช้เรื่องนี้มาตลอด

ปลดล็อกกฎหมายให้ทันกับยุคสมัย
อย่างไรก็ดี ที่มีข้อสังเกตว่า circular economy ในเมืองไทยยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ดร.ชนะมองว่า จริงๆ คนส่วนใหญ่อยากไป แต่ติดเรื่องกฎหมายบ้านเรา ซึ่งทางเอสซีจีเองก็พยายามเสนอแนะภาครัฐมาโดยตลอด โดยข้อเสนอข้อแรกจากทั้งหมด 4 ข้อ ในงาน ESG symposium ปีนี้คือ จะต้องมีการปรับปรุงหรือออกกฎหมายมาให้สอดคล้องทันกับยุคสมัย
บางทีการเปลี่ยนหรือกิโยตินกฎหมายมันอาจจะช้าไป มันอาจจะต้องออก omnibus law หมายถึงออกตัวนี้ออกมาแล้วคลุม ตัวอื่นที่ไม่เหมือนตัวนี้ก็ตายไป อย่าง circular ถ้าออกตัวนี้ได้ มันจะทำให้เกิดการส่งเสริมและการเปลี่ยนผ่านได้เร็ว
ยกตัวอย่างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เท่าที่มีข้อมูลแล้วก็ไล่สแกนดู ไม่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการขยะค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขยะเลยก็ได้ เพราะว่าอุตสาหกรรมซีเมนต์เขารับได้หมด เพียงแต่ว่าต้องใส่เทคโนโลยี แล้วก็ทำงานร่วมกันโดยที่บริหารจัดการแบบโปร่งใส ตรงไปตรงมา เพราะว่าขยะมันใช้ประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความร้อนสูง
ฉะนั้น ในเรื่อง circular economy ยังมีโครงข่ายเป็น physical ที่พอจะเชื่อมต่อกันได้ แต่ทำอย่างไรให้มันมีกฎหมายที่เป็นกฎหมายที่ใช้ได้จริงๆ ไม่ต้องไปประกาศคลุมทั้งประเทศก็ได้ แต่ประกาศกฎหมายออกมาแล้วบอกว่าจังหวัดไหนที่พร้อมใช้ ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของใครก็แล้วแต่ เช่น ปลัดกระทรวงถ่ายอำนาจไปให้ผู้ว่าฯ แล้วพอจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งทำสำเร็จ ผมเชื่อว่ามันจะทำต่อเนื่อง
บางทีพอไปประกาศว่าจะใช้ทั้งประเทศ อันนี้ก็ไม่ค่อยถูก เพราะบางพื้นที่ยังไม่พร้อม ในต่างประเทศเวลาเขาทำอะไรก็แล้วแต่ พอกฎหมายดีแล้ว มันไม่จำเป็นต้องประกาศทั้งประเทศ อันนี้หมายถึงกฎหมายที่ไม่ได้เกี่ยวกับอาญา แต่เป็นกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการกลไก ตรงไหนพร้อมให้ทดลองใช้ไป ใช้แล้วอันไหนที่จะทำตามก็ทำ
ดังนั้นในส่วน mitigation ต้องเป็น issue based เราเลยเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้ ทั้งเรื่องพลังงาน เรื่อง circular หรือแม้กระทั่งเรื่องคาร์บอนต่างๆ ควรจะออกกฎหมายให้มันเหมาะสมแล้วก็ทันกับยุค
สื่อสาร Adaptation ให้คนเข้าใจ
ในส่วนของ adaptation ดร.ชนะกล่าวว่า เอสซีจีได้ปรับทิศทางของธุรกิจ โดยพยายามมอง business model หรือ product ที่ไปตอบโจทย์สภาพแวดล้อมที่มันเปลี่ยน เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น ฝุ่นเยอะขึ้น ก็ไปดูว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่ทำให้บ้านมีองค์ประกอบหรือไปประกอบเป็นบ้านแล้วมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือเรียกว่า well being เช่น ปูนลดโลกร้อน วัสดุผนังกันความร้อน หรือระบบที่ไปจับฝุ่น
จริงๆ บ้าน HEIM ของเราไม่กลัว PM2.5 แต่ราคาก็เป็นไปตามคุณภาพของอุปกรณ์กับสิ่งที่ใส่เข้าไป เพราะเราเลือกอุปกรณ์ที่ดี เพราะฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ของเอสซีจีคืออยู่สบาย มีระบบจับเชื้อโรค จับฝุ่น หรือในส่วนของพลาสติกเคมิคัล เขาก็มีพวกไบโอพลาสติก มีพวกเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งให้ทางผู้ผลิตทรานส์ฟอร์เมอรส์อื่นๆ
แพกเกจจิ้งก็มีพวกถนอมอาหาร หรือตัวแพกเกจจิ้งที่เหมาะกับการขนส่ง หรือเราจะเห็นว่าวัสดุกระดาษเขารีไซเคิลได้หมด เพราะฉะนั้น ตัวป้ายเวทีต่างๆ หลังๆ แพกเกจจิ้งเขาเริ่มทำคล้ายๆ สไตล์ญี่ปุ่นที่ออกแบบให้พับแล้วยกไปติดตั้งเป็นฉากได้ง่ายแล้วนำกลับมาใช้ได้ มันต่อยอดมาจากโต๊ะ ส้วม เก้าอี้ เตียง ที่เราบริจาคตอนน้ำท่วม เพราะฉะนั้น ทางด้านธุรกิจเราปรับตัวไปอย่างนั้น
ส่วนทางด้านชุมชนที่เข้าไปช่วย adaptation เราใช้คำว่า inclusive ที่บอกว่าเรื่อง go green เราเปิดโครงการ go together เพื่อให้เอสเอ็มอีปรับตัวได้ด้วย ในขณะที่ชุมชน เราก็เข้าไปร่วมกับป่าชุมชนในการที่จะสร้างอาชีพให้เขา อย่างที่สระบุรีก็ 38 ป่าชุมชน เข้าไปดูว่าเขาสามารถที่จะทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ข้ามป่าได้ไหม เพราะเดิมเขาไม่ได้คุยกันข้ามอำเภอ เราก็ไปทำไดอะล็อกให้เขา
แล้วก็มีเรื่องที่จะไปส่งเสริมให้เขาทำเรื่องคาร์บอนเครดิต เพราะเราเองก็สามารถที่จะทำให้เกิดรายได้จากป่าที่เขาปลูกได้ มันก็จะเกิดการอนุรักษ์เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเชื่อมโยงเรื่องของโรงเรียนมัคคุเทศก์น้อย เป็นต้น
แต่ที่เราห่วงที่สุดก็คือเรื่องของการปรับตัวของชาวบ้าน ปัจจุบันอุณหภูมิเดือนเมษายนร้อนมาก อันนี้ผมพูดมาสักประมาณเกือบปีแล้วเรื่อง adaptation ว่า climate emergency มันเป็นเวฟแรก แต่เวฟที่สองที่พูดไว้คือ loss of nature เหมือนอย่างที่เราเจอที่ภาคเหนือหรือในหลายๆ จุดของประเทศไทย

คือโดยหลักการมันไม่มีอะไรมาก เพราะสิ่งแวดล้อมหรือโลกเขาปรับตัวของเขาเองมาตลอด อย่างกรณีที่เราเห็นตอนนี้ก็คือ อุณหภูมิมันสูงขึ้น หลักการมันก็ง่าย สูงขึ้นน้ำมันก็ระเหยไปได้มากขึ้น พอมันไปรวมกันแต่ทำไมฝนมันถึงตกในจุดเดียว เพราะบางจุดมันร้อนแต่ฝนก็ไม่ตก แต่ทุกวันนี้เป็นเพราะจุดที่เย็นมันน้อยลง ฝนเลยตกกระจุกตัว แล้วอากาศชั้นลมมันเปลี่ยนของเขาเองหมด หลังจากนี้ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ถี่ขึ้น เพราะว่าโลกเขากำลังปรับ
เพราะฉะนั้น เรื่อง adaptation ผมคิดว่าอยากจะให้ภาครัฐและเอกชนหลายๆ แห่งที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว คืออยู่ตรงไหนก็ต้องพยายามดูลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องว่าเราสามารถจะช่วยหรือจะทำอะไรได้บ้างในการที่จะสื่อสาร ผมคิดว่าต้องสื่อสารให้คนเข้าใจ ชาวบ้านปรับตัวเก่งกว่าพวกเรา โดยเฉพาะชาวบ้านตามชนบท
บางจุดน้ำมันไหลผ่านตลอด มันคงไม่ได้ 10 ปีมาที สมัยเดิมเขาก็ยกบ้านเป็นเรือนสูง บางจุดก็เดินทางกันทางน้ำได้ เขาก็ปรับตัวไปอย่างนั้น รวมถึงการปลูกต้นไม้รอบๆ ตามจุดที่สามารถปลูกได้ ในหน้าร้อนแทนที่จะไปใช้แอร์ เขาก็ไปอยู่ใต้ร่มไม้ได้
แล้วภาครัฐเอง โดยเฉพาะทางกระทรวงมหาดไทยที่ใกล้ชิด ซึ่งแนวคิดของผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยส่วนตัวคิดว่าไปได้ เพียงแต่ทำยังไงให้ระดับนโยบายมองว่าเรื่อง adaptation สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่พื้นที่ ไม่ใช่อยู่ในเมือง เขาจะปรับตัวในช่วงหน้าฝน หน้าแล้ง หน้าร้อน ได้ยังไง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าควรจะทำ
เอสซีจีเองก็ทำในจุดที่เราทำได้ โดยเข้าไปทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง double materiality หลังๆ inclusive เราไปดูตั้งแต่เรื่องทำให้เขาสามารถที่จะมีแหล่งน้ำเป็นสระพวง แล้วบางจุดก็ทำฝาย ยกตัวอย่างอย่างเช่นที่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง นครศรีธรรมราช ก็ได้รางวัลระดับประเทศ
คือเดิมเขาป่าน้อย น้ำท่วมพังหมดเลย แล้วก็ไม่มีน้ำใช้ เราก็ทำมางานร่วมกับทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ตอนหลังๆ เขาจะเริ่มทำจากแผนที่น้ำ มีการทำฝายชะลอน้ำในบางจุดเพื่อเติมให้เกิดความชุ่มชื้น แล้วก็มีการทำฝายเก็บน้ำ มีการไปติดตั้งอุปกรณ์เตือนกรณีน้ำป่า
จะสังเกตว่าปัจจุบันนี้ที่ทุ่งใหญ่น้ำไม่ขาด มีไร่นาสวนผสมอยู่ ในช่วงหน้าน้ำ น้ำก็ไม่ท่วม หรือกรณีถ้าจะมีอุทกภัย ก็จะมีสัญญาณเตือนภัย อันนี้อยู่ตรงใกล้ๆ โรงงานเรา ส่วนสภาพป่าก็กลับมาชุ่มชื้น แล้วก็มีอีกหลายจุดที่เราเข้าไปทำเป็นกึ่งๆ ลักษณะของการฟื้นฟูระบบนิเวศ แล้วก็ทำให้เขามีแหล่งท่องเที่ยว
ดร.ชนะมองว่า จริงๆ ชาวบ้านรู้ว่าเขาต้องการอะไรในการที่จะเปลี่ยน เพียงแต่เราต้องเข้าไปเป็น facilitator แล้วก็ให้เขาเห็นคนอื่นที่เปลี่ยนไปก่อนเขา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ของเอสซีจีเอง ตัวธุรกิจเองเราก็เปลี่ยน เรามีการไปลงทุนธุรกิจที่เรียกว่า clenergy ก็เพื่อจะไปขยายให้เกิดการสร้าง renewable energy มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกับของเรา แต่ของคนอื่นด้วย
รวมถึงธุรกิจในการนำพวก agriculture waste เข้าไปที่โรงงานซีเมนต์ของเรา ช่วยลด PM2.5 เพราะเรามีโรงงานทุกภูมิภาค เหนือก็มีลำปาง ใต้มีทุ่งสง ตรงกลางมีหลายจุด ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เราปรับตัว

สร้างคน–สร้าง Working Environment
ที่สำคัญที่สุดที่ต้องปรับก็คือ “คน” พนักงานเรา 5 หมื่นกว่าคน ตอนนี้เรามีหลักสูตรซึ่งพึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ เรียกว่าหลักสูตร Net Zero Accelerator โปรแกรม เอาผู้บริหารระดับสูง ระดับกรรมการผู้จัดการที่ดูแลบริษัทตั้งแต่สามพันล้านขึ้นไปถึงเป็นหลักหมื่น หลักหลายหมื่น มาเรียนรู้เกี่ยวข้องกับเรื่องการโลกร้อน การลดคาร์บอน
ทำอย่างไรที่จะทำเรื่อง 4P ทำอย่างไรที่จะต้องสะท้อนภาครัฐเรื่องกฎหมายที่เหมาะสม เพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันได้ อันนี้เป็นหลักสูตรที่เราปูพื้นเพื่อลดช่องว่างเรื่องความรู้ความเข้าใจในคนของเรา
นอกจากนี้ ก็กำลังจะเปิดหลักสูตรให้เอสเอ็มอี เงินหลักสูตรประมาณ 5 หมื่นบาท เราสนับสนุนครึ่งหนึ่ง แล้วก็ให้คนที่มาสมัครจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง แล้วก็เชิญทางภาครัฐ สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าไทย มาเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะเราไม่ได้อยากจะให้เป็นหลักสูตรของเรา แต่เป็นหลักสูตรที่ทุกคนเข้ามาเชื่อมกัน
อันนี้เพื่อจะสร้าง working environment คือเราอยากได้ยังไง ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้มันเกิดขึ้น นี่คือเรื่องคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เอสซีจีทำเรื่อง adaptation เพื่อไปส่งเสริมเรื่อง mitigation
“ผมคิดว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงมาก ขอให้ทำยังไงก็ได้ เริ่มทำ แล้วก็อย่าไปเปลี่ยนแผนเยอะ แผนอันไหนที่ทำได้ ไม่ต้องดีเลิศหรอก ทำแล้วก็ปรับ ทำแล้วก็ปรับไป แล้วก็อันไหนดี แม้กระทั่งไม่ใช่ความคิดเรา ก็ขอให้ทำต่อ” ดร.ชนะกล่าวสรุปทิ้งท้าย