เปิดข้อเสนอยกระดับ ‘กองทัพไทย’ จากหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นแรก (วปอ.มินิ) นักศึกษา 150 ราย ระดมสมอง 7 เดือน ส่งต่อนโยบายความมั่นคงให้รัฐบาล พบปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงไทย 2 ข้อสำคัญคือ (1) ปัญหาสังคมสูงวัยขั้นสูงสุด (super aged society) และ (2) ปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงทุกรูปแบบ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จัดงานแถลงข่าวการนำเสนอผลงานทางวิชาการโดยผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรสำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) หรือ วปอ.มินิ รุ่นที่ 1 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เข้าร่วมการรับฟัง
พ.อ. เอกรักษ์ สิงหพงษ์ ประธานรุ่นนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. รุ่นที่ 1 กล่าวว่า หลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้บริหารรุ่นใหม่ ทั้งจากส่วนราชการ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป ให้มีความเข้าใจในมิติต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และเข้ามามีบทบาทหรือส่วนร่วมจัดการปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในขอบเขตที่พึงกระทำได้
พ.อ. เอกรักษ์กล่าวต่อว่าตลอดระยะเวลา 7 เดือนของหลักสูตร คณะนักศึกษาได้คาดการณ์สถานการณ์ความมั่นคงของประเทศไทยในอนาคต โดยใช้เทคนิค strategic foresight จนได้ผลลัพธ์การศึกษาว่า ในทศรรษข้างหน้า ประเทศอาจพบกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) ปัญหาสังคมสูงวัยขั้นสูงสุด (super aged society) และ (2) ปัญหาภัยคุกคามความมั่นคงทุกรูปแบบ ทั้งที่มีอยู่และอาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต (dynamic emerging treats)
คณะนักศึกษาหลักสูตร วปอ.บอ. จึงร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนากองทัพสำหรับอนาคต ทั้งหมด 3 มิติ คือ
- มิติที่ 1 level up กองทัพเพื่อความเป็นประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกับสังคมอนาคต
- มิติที่ 2 level up กองทัพเพื่อประสิทธิภาพ
- มิติที่ 3 level up กองทัพเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
4 แนวทางสร้างกองทัพอาสาสมัคร
เริ่มที่มิติที่ 1 level up กองทัพเพื่อความเป็นประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกับสังคมอนาคต นำเสนอโดย ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ โดยมิตินี้ประกอบด้วยข้อเสนอ 3 ประการ
ข้อเสนอแรกคือ การปรับโครงสร้างกองทัพไปเป็นกองทัพอาสาสมัครที่นำด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับโลกอนาคต และแก้ปัญหาด้านศักยภาพของกำลังพลที่เกิดจากความไม่สมัครใจรับราชการทหาร ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมสูงวัยขั้นสูงสุดในอนาคต
“กองทัพจำเป็นต้องพัฒนาระบบ recruitment เพราะการเกณฑ์ทหารอาจไม่ใช่สิ่งที่สอดคล้องกับความมั่นคงที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยเฉพาะสังคมที่ผู้คนมีความหลากหลายทางความคิดและมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น และเมื่อกำลังพลไม่เต็มใจหรือไม่สมัครใจ หลายครั้งนำมาซึ่งปัญหาด้านศักยภาพของกำลังพล ตามด้วยปัญหาสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ‘กองทัพอาสาสมัคร’ ที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนกำลังพลบางส่วนอาจตอบโจทย์เพนพอยต์ และยกระดับกองทัพไทยให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงขึ้น“
โดยวิธีการสร้างกองทัพอาสาสมัครมี 4 องค์ประกอบ คือ (1) ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน นำมาสู่ (2) ปรับปรุงโครงสร้างภาระงาน
“ผมในฐานะคนที่เคยทำงานในกองทัพ รู้ว่ากองทัพมีเพนพอยต์ความไม่สมดุลระหว่างคน มีงานหลายงาน ใส่หมวกหลายใบ หลายครั้งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของกำลังพล ร้ายแรงกว่านั้นกระทบผลลัพธ์ของงาน หมุดหมายที่เราจำเป็นต้องไปถึงคือการปรับโครงสร้างของภาระงานให้สอดคล้อง โดยเฉพาะการลดภาระงานที่ไม่จำเป็นที่ผ่องถ่ายไปยังหน่วยงานอื่นได้ ตัวอย่างเช่น งานบริการต่างๆ ปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือทำความสะอาด และเริ่มปรับทดลองโดยใช้เอาต์ซอร์ซหน่วยงานภายนอก”
ร้อยเอก ดร.จารุพลขยายความว่า กองทัพจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มก้อนของกำลังคนและภาระงานให้ชัดเจน โดยกลุ่มแรกคือ national guard ที่จะใช้กำลังพลสำรองให้มีประโยชน์ มีภารกิจช่วยเหลือประชาชน และกลุ่มที่สองคือ combat force ที่ใช้กำลังพลประจำการ สำหรับการฝึกและภารกิจทางทหารเท่านั้น
จากองค์ประกอบ (2) ปรับปรุงโครงสร้างภาระงาน นำมาสู่ (3) การพัฒนาหรือนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อทดแทนกำลังพล และ (4) การปรับลดกำลังพล
“เหตุผลที่เราจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างภาระงานก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาดและผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้น สมมติกองทัพลดขนาดกำลังคนจำนวนมากโดยยังไม่ปรับลดภาระงาน และไม่มีเทคโนโลยีทดแทนกำลังคนที่หายไป เราอาจได้กองทัพที่อ่อนแอลง แต่เมื่อเราสามารถทำให้กองทัพลดขนาดลงโดยยังคงศักยภาพ เราจะสามารถบริหารจัดการข้อจำกัดด้านงบประมาณได้ดีขึ้น การปรับปรุงค่าตอบแทนเพื่อตอบโจทย์ด้านเศรษฐศาสตร์ก็จะทำได้ง่ายขึ้น อาจนำไปสู่กองทัพอาสาสมัครได้ในอนาคต”
“เราพยายามไม่มีพลทหารอีกต่อไป จะมีแต่ modern troops ที่สมัครใจรับใช้ชาติ พร้อมรับการฝึก ได้ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ใช้กำลังพลสำรองให้มีประโยชน์และพร้อมดูแลยุทโธปกรณ์ราคาแพงที่มาจากภาษีของประชาชน… แน่นอนว่าอาจมีขั้นตอนที่มากขึ้นและอาศัยการลงทุนที่มากขึ้นในช่วงแรก แต่เป็นกระดุมเม็ดแรกๆ ที่เราจำเป็นต้องกลัดให้ถูก เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงตอบโจทย์ทั้งสังคมและความมั่นคง”

MRE อาหารไทย ตีตลาดครัวทหารโลก
ข้อเสนอที่สองคือ การสร้างโอกาสของกองทัพด้วยอาหารไทย โดยเน้นไปที่การเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้ประเทศ
“ที่ผ่านมากองทัพถูกมองว่าเป็น tax consumer เป็นหน่วยใช้งบประมาณมาโดยตลอด จนกระทั่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับท่าน สส. ทั้งหลายในสภา…แต่สถิติการใช้จ่ายของรัฐบาลทั่วโลกพบว่า งบประมาณก้อนใหญ่คือค่าใช้จ่ายทางทหาร นี่คือข้อเท็จจริงว่าทุกประเทศให้ความสำคัญ และไม่เคยหยุดให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพของตัวเอง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าสิ่งที่กล่าวมาคืออุปสงค์และกำลังซื้อที่จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง”
“หลายประเทศขายเครื่องบิน ขายปืน คำถามคือแล้วเราจะเอาอะไรไปขายในตลาด เราขอเสนอ ration อาหารไทย เวลาทหารไปฝึกหรือไปรบจะมี military ration โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว หรือ MRE (meal ready to eat) คืออาหารแปรรูปที่อยู่ได้นาน น้ำหนักเบา พกและกินได้ทุกที่ทุกเวลา เติมน้ำแล้วฟูเป็นสปาเกตตีบ้าง มะกะโรนีบ้าง”
“ทหารอังกฤษหรืออเมริกันมองว่า อาหารไทยคืออาหารไฮโซ ไปฝึกรบเหนื่อยๆ เปิดห่อแล้วเจอแกงเขียวหวาน ผัดไทย หรือกะเพรา มันจะน่าสนใจขนาดไหน ถ้าพูดถึงอาหารไทยตลาดเราไม่เล็กแน่นอน และถ้าเพิ่มเรื่องฮาลาลเข้าไปก็ได้ตะวันออกกลางอีก”
ร้อยเอก ดร.จารุพลกล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีผลผลิตการเกษตรวัตถุดิบจำนวนมาก และมีอาหารไทยเป็นจุดเด่นของประเทศ จึงเป็นโอกาสของชาติในการเอาจุดแข็งมาใช้ โดยดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม (DTI) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และภาคเอกชน
“แนวคิดนี้จะทำให้เราช่วยเกษตรกรที่เปรียบเสมือนต้นน้ำ และกลางน้ำเป็นภาคเอกชนเพิ่มมูลค่า และมีปลายน้ำเป็นกองทัพที่จะช่วยกันหาตลาด วิธีเล่นกับจุดแข็งคือใส่ทุกภาคส่วนเข้าไปในสมการ และสร้างโอกาสให้ประเทศ”
“ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นครัวโลกได้โดยสมบูรณ์ ไหนๆ ก็มีเป้าหมายเรื่องนี้แล้ว ก็ยึดมันให้หมดทั้งตลาด ทั้งตลาดทั่วไปและครัวทหาร เราจะเป็นครัวของกองทัพทั่วโลก และเดินหน้าเป็นครัวของโลกแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ และเอาสิ่งนี้เป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือผลประโยชน์อื่นๆ ของชาติ”
ร้อยเอก ดร.จารุพลกล่าวต่อว่า แม้ทหารจะไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการสร้างรายได้ แต่แนวคิดนี้นำทหารเข้าไปอยู่ในสมการของการสร้างรายได้ และไม่ได้ทำให้ทหารออกมาจากหน้าที่ของทหาร แต่เป็นการปรับปรุงบทบาทเพื่อให้มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศในฐานะสมาชิกของประเทศ
สร้างสะพานเชื่อมกองทัพ-พลเรือน ลบภาพแดนสนธยา
ข้อเสนอที่สามคือ การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างกองทัพและประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ประชาชนจำนวนไม่น้อยมองกองทัพเหมือนดินแดนลึกลับ ยากจะเข้าถึงและเข้าใจ กลายเป็นความหวาดกลัวและความเคลือบแคลงสงสัย ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างกองทัพและประชาชน”
ร้อยเอก ดร.จารุพลกล่าวต่อว่า ความไม่ไว้วางใจอาจทำให้การรับมือภัยคุกคามต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เพราะกองทัพทั่วโลกต่างต้องการบทบาทของประชาชนเป็นหูเป็นตา ช่วยกันสอดส่องมองหาสัญญาณภัยคุกคามต่างๆ จึงจำเป็นต้องลดช่องว่างระหว่างกองทัพและประชาชน
“เราต้องสร้างสะพานเชื่อมภายใต้หลักการ two-way communication หรือใช้กลไก citizen’s panel ให้ประชาชนมีโอกาสพูดคุย แสดงความเห็นและต้องการ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรหรือการศึกษา สร้างพื้นที่ที่ไม่อึดอัด ใช้นักเรียนนายร้อยรุ่นใหม่ๆ ที่มีไอเดียสร้างสรรค์และเป็นอินฟลูเอนเซอร์มาร่วมพูดคุย ใช้คนรุ่นใหม่คุยกับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการของคนรุ่นใหม่ และให้กองทัพรับฟังประชาชน รวมถึงสื่อสารกลับไปหาประชาชน”
ร้อยเอก ดร.จารุพลกล่าวต่อว่า คณะนักศึกษา วปอ.บอ. ยังเสนอให้จัด Thai Military Exhibition หรืออีเวนต์ใหญ่ให้มีทั้งเวทีเสวนาวิชาการ รับฟังความเห็นจากวิชาการ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมกันทำ design thinking ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของกองทัพมากขึ้น
“กองทัพสามารถนำเสนอยุทโธปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่กองทัพต้องการจัดหา ให้ประชาชนเห็น ดู ทำความเข้าใจว่ามันดีอย่างไร และมีความจำเป็นอย่างไร เป็นเวทีให้กองทัพได้อธิบาย”
“ถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นจากความไม่รู้ กองทัพไม่รู้ว่าประชาชนคิดอะไร ประชาชนไม่รู้ว่ากองทัพคิดอะไร ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการทำให้รู้ด้วยการสื่อสารแบบ two way ถ้าเราทำได้สำเร็จ ผมเชื่อว่าเราจะสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามในอนาคต”

ปฏิรูปกองทัพ เริ่มจากประสาน 3 เหล่าทัพ ตอกย้ำอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ถัดมามิติที่ 2 level up กองทัพเพื่อประสิทธิภาพ นำเสนอโดย นาวาโท ภาคภูมิ ไพโรจนานันท์ โดยมิตินี้ประกอบด้วยข้อเสนอ 4 ประการ
นาวาโท ภาคภูมิ อ้างอิงข้อมูลจากรายงาน Global Risks 2024 ของ World Economic Forum 2024 ว่า โลกเผชิญกับสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม เป็นปัญหาหลายมิติและเชื่อมโยงกัน และในมิติความมั่นคงที่ต้องใช้กำลังทหารยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น การที่โลกแบ่งมหาอำนาจเป็น 2 ขั้ว ซึ่งกระทบกระเทือนกับคววามมั่นคงในภูมิภาคอย่างมาก เป็นตัวเร่งให้เกิดความขัดแย้งต่างๆ รวมถึงปัญหาชายแดนที่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน เส้นทางการคมนาคมทางทะเล ฯลฯ
นาวาโท ภาคภูมิ ย้ำว่า จากเหตุผลข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘กองทัพยังมีความจำเป็น และเพิ่มขนาดหรือสเกลให้ใหญ่ขึ้น’ แต่ต้องมุ่งเน้นที่ภารกิจการป้องกันประเทศและรักษาชายแดนของประเทศ พร้อมทั้งสามารถสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัย ความมั่นคงภายใน ตลอดจนการพัฒนาประเทศ
ข้อเสนอแรกของมิตินี้คือ (1) การเชื่อมองค์กร ปรับโครงสร้างกำลังกองทัพให้มีความชัดเจนในหน้าที่ เชื่อมโยงทั้งสามเหล่าทัพให้ปฏิบัติภารกิจร่วม โดยเปลี่ยนกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นกองบัญชาการปฏิบัติการร่วมทัพไทย และยกระดับให้ควบคุมบังคับบัญชาทั้งสามเหล่าทัพ ตลอดจนรวมทรัพยากรที่เหมือนกันไว้ด้วยกัน แต่ยังคงความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถของกองทัพ เพื่อเตรียมกำลังและใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลง
“จากเดิมที่กองทัพเป็นจุดศูนย์กลางของความมั่นคง แต่ปัจจุบันต้องเปลี่ยนจุดยืนเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมมือร่วมกับภาคอื่นๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี กระทั่งการเมือง เพื่อบรรเทาภัยคุกคามต่างๆ”
(2) เชื่อมบุคลากร ต้องยกระดับกองทัพด้วยการสร้างมาตรฐานศักยภาพของกองทัพด้วยระบบ เพื่อจะได้ทราบว่าตรงไหนคือกล้ามเนื้อหรือไขมัน
“กองทัพรับคนตั้งแต่อายุ 20 ปีและทำงานจนเกษียณ จะเห็นว่า ขณะที่องค์กรเป็นพีระมิด เกิดความหนาแน่นคับคั่ง ถ้าแก้ไขแบบไม่มีกลยุทธ์จะเกิดความแน่น ส่งผลต่อขวัญกำลังใจและอนาคตของชาติที่มองมา ต้องมีช่องทางการผ่องถ่ายกำลังคนที่ต้องการลดไปสู่ภาคที่เราขาดแคลนทรัพยากรคือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ”
นาวาโท ภาคภูมิกล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาครัฐกำลังดำเนินการสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในพื้นที่ EEC และพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งได้รับการขอสิทธิประโยชน์ BOI
“ยกตัวอย่างกองทัพสิงคโปร์ มีการคัดเลือกบุคลากรเป็นสูงสุดของกองทัพ ปัจจุบันผู้นำกองทัพสิงคโปร์อายุ 42 ทำไมเขาไว้ใจคนรุ่นใหม่ให้มาปฏิบัติหน้าที่ เพราะเขาพิจารณาศักยภาพ ประสบการณ์ การศึกษา และลดระบบอุปถัมภ์หรือระบบอาวุโสลง ทำให้เราได้บุคลากรที่กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าขับเคลื่อนกองทัพ”
“ท่านอยากได้ผู้นำรุ่นใหม่เช่นเดียวกันหรือไม่ รุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงอายุ แต่หมายถึง vision และแนวความคิด ความเท่าทันเทคโนโลยี ถ้าจะลองสังเกตว่าตัวเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่เท่าทันเทคโนโลยีหรือไม่…ทบทวนง่ายๆ คือการ generate เอไอในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ทหารรุ่นใหม่ๆ เริ่มเท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ ถ้าท่านยังไม่ได้ใช้ ก็เริ่ม out แล้ว”
เสนอตั้งหน่วยงานจัดซื้อ ‘ยุทโธปกรณ์’ เอื้อจัดซื้อโปร่งใส
นาวาโท ภาคภูมิกล่าวถึงข้อเสนอที่ (3) การเชื่อมยุทโธปกรณ์ เพราะทหารจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีในการช่วยให้เกิดประสิทธิภาพและขีดความสามารถ
“จากเดิมที่การจัดหายุทโธปกรณ์ทำแบบไซโล (silo) คือจัดหาแยกกัน เราต้องมาออกแบบและกำหนดกำลังรบร่วมกัน เมื่อทั้งสามเหล่าทัพมีการคิดว่าต้องการอะไรในการป้องกันประเทศ ก็จะเกิดความเหมือนหรือ overlap กันในเทคโนโลยีที่ใช้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูง มานั่งคิดร่วมกันแล้วจะทำให้นำไปสู่การเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ถูกจุด และได้สเกล การต่อยอด R&D และพึ่งพาตัวเองในอนาคต”
นาวาโท ภาคภูมิกล่าวว่า วปอ.บอ. เสนอว่า เรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์จำเป็นต้องจัดตั้ง สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหาร ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานกลางที่เหนือกว่ากระทรวงกลาโหม เพื่อ trade-off หรือลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน และเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือเจ้าของภาษีมีส่วนร่วมในการจัดหา เข้ามาดูว่ากองทัพใช้เทคโนโลยีอะไรในการเลือกอุปกรณ์ เกณฑ์มีความเป็นวิทยาศาสตร์ วัดค่าได้หรือไม่ และมองภาพรวมตลอดอายุการใช้งาน
“ปัจจุบันเรามีเรือรบที่ใช้งานเกินอายุของเรือแล้ว 10 ลำ หมายความว่าเรากำลังอยู่ในความเสี่ยงหากไม่มีเรือเข้ามาทดแทน ทำให้ต้องใช้ต่อไป เหมือนถังแก๊สที่หมดอายุ เป็นระเบิดเวลาได้ตลอดเวลาทั้ง 10 ลำนี้ แล้วอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะเหลือเรือที่มีอาวุธปล่อยอาวุธนำวิถีเพียง 2 ลำ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย และต้องดูแลพื้นที่ทางทะเล 320,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 60% ของพื้นที่ทางบก”
นาวาโท ภาคภูมิกล่าวต่อว่า หากเป็นมุมคิดเก่าคือ กองทัพตั้งงบประมาณ และของบจัดซื้อจากต่างประเทศ ถ้าไม่ได้ปีนี้ก็ตั้งปีหน้าใหม่ ซึ่งวิธีการนี้ไม่สามารถทำให้กองทัพมีเรือที่เพียงพอต่อการใช้งานภายใน 10 ปีได้
“เราพยายามมองหาโอกาสในวิกฤติ คำตอบคือการมุ่งเน้นผลิตยุทโธปกรณ์ขั้นสูงที่ใช้เองในประเทศ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา กองทัพเรือเคยร่วมกับบริษัทของอังกฤษต่อเรือขนาดใหญ่ 2,000 ตัน เป็นการต่อเรือขนาดใหญ่ครั้งแรกและมีระบบซับซ้อน หลังจากนั้น 5 ปีทำเรือต้นแบบอีกลำ และติดอาวุธปล่อยนำวิถีระยะเกิน 100 กิโลเมตร”
ดังนั้น กองทัพจะเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศ โดยประเทศไทยมีอู่ต่อเรือที่สามารถต่อเรือระดับ 2,000 ตันขึ้นไปได้มากกว่า 7 อู่ จึงต้องมุ่งผลักดันและร่วมมือกับภาคเอกชน ทดแทนการจ่ายเงินซื้อเรือจากต่างประเทศ มาเป็นจ่ายเงินในประเทศ
ข้อเสนอสุดท้าย (4) การเชื่อมความร่วมมือกับภูมิภาค โดยเฉพาะกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางการทหาร การฝึกผสมทางทหาร การแลกความเข้าใจระดับยุทธวิธี ผู้บังคับหน่วยมีคอนเนกชันหรือการติดต่อสื่อสาร เมื่อเกิดปัญหาตามแนวชายแดนก็สามารถร่วมมือยกหูคุยกัน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยและได้ประสิทธิผลมาก
“เมื่อเชื่อม 4 อย่างแล้ว องค์กร-บุคลากร-ยุทโธปกรณ์ และความร่วมมือ สิ่งสุดท้ายคือ กองทัพต้องเชื่อมใจกับประชาชนให้เห็นว่ากองทัพคือของพวกเราทุกคนที่ต้องดูแล ส่งผ่านอุดมการณ์ของทหารให้ประชาชนเข้าใจว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่กองทัพต้องพัฒนา และเราจริงใจแค่ไหนที่จะพัฒนาไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด”

เพิ่มบทบาท ‘ผู้ลงทุนในเทคโนโลยีขั้นเริ่มต้น’
มิติที่ 3 level up กองทัพเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจ นำเสนอโดย ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ โดยมิตินี้จะเน้นไปที่การสร้างหลักคิดให้ทุกภาคส่วน และวิธีการที่จะทำให้กองทัพมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย
ดร.แบ๊งค์เริ่มจากกล่าวว่า ในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นและกองทัพมีขีดความสามารถสูง ประเทศเหล่านั้นจะเอื้ออำนวยให้กองทัพเล่นบทบาทที่ 3 คือการเป็นหน่วยงานส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือสามารถเป็น growth engine ทางด้านเศรษฐกิจได้
ดร.แบ๊งค์กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของกองทัพไทยที่จะเพิ่มมาอีก 3 บทบาท ได้แก่
- การสร้างเทคโนโลยีโดยเฉพาะในขั้นเริ่มต้น (early phase technology) ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้เงินลงทุนมากจนภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการลงทุน
- สร้างแรงงานฝีมือที่ใช้งานร่วมกันระหว่างกองทัพและภาคเศรษฐกิจพลเรือน
- ถ่ายทอดเทคโนโลยีและแรงงานทักษะไปสู่ภาคเอกชนในจังหวะที่เหมาะสม
วิธีการที่ 1 หน่วยงานวิจัยของกองทัพ เช่น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defense Technology Institute หรือ DTI) ตั้งโจทย์และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยภาครัฐ (Public Research Institute หรือ PRI) มหาวิทยาลัย หรือหน่วยวิจัยภาคเอกชน เพื่อสร้างงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในระยะเริ่มต้น และถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านั้นให้แก่ภาคเอกชนได้ใช้งาน
“ในสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงานชื่อ DARPA หรือ Defense Advanced Research Project Agency ภายใต้สังกัดกองทัพสหรัฐฯ ลงทุนเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าใหม่ๆ อาจมีความเสี่ยงสูง และภาคเอกชนอาจไม่พร้อมลงทุน ในอดีต DARPA ลงทุนในเทคโนโลยีชิป ลงทุนในอากาศยานไร้คนขับ ถูกนำไปใช้ต่อหลากหลาย และเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่งอนาคต เช่น เกษตรอัจฉริยะ การประมวลผลควอนตัม นี่คือบทบาทของหน่วยงานวิจัยภายใต้กองทัพ”
วิธีการที่ 2 ใช้กลไกจัดซื้อของกองทัพ เพื่อต่อรองขอมาตรการชดเชยทางเศรษฐกิจ (economic offset policy) จากการจัดซื้อดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากกองทัพต้องจัดซื้อยุทธภัณฑ์ในมูลค่าสูงมากกว่า 1 พันล้านบาท สามารถที่จะใช้ต่อรองเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยียุทธภัณฑ์ดังกล่าว ขอให้มีการลงทุนและตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนยุทธภัณฑ์ในประเทศไทย ร่วมกับบริษัทไทย ขอการอบรมทักษะแรงงานที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาและผลิตชิ้นส่วนยุทธภัณฑ์
“มาเลเซียในช่วงปลายทศวรรษ 80 เคยจัดซื้อเครื่องบินรบและเครื่องบินลำเลียงมูลค่าสูง โอกาสนั้นมาเลเซียรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินและถ่ายทอดต่อให้กับเอกชนที่ทำสินค้ากับปีกเครื่องบิน ตอนหลังมาเลเซียสามารถแทรกตัวเข้าไปในห่วงโซ่อากาศยานโลกได้ สามารถผลิตปีกชิ้นส่วนเครื่องบินให้ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์”
วิธีการที่ 3 การจัดทำเครื่องข่ายความร่วมมืออย่างครบวงจรตั้งแต่การวิจัย การผลิต และเชื่อมโยงสู่ตลาด (consortium) มาทำงานร่วมกันเพื่อตั้งเป้าสร้างให้เกิดตลาดใหม่สำหรับสินค้าเป้าหมาย วิธีนี้เหมาะกับการระดมความร่วมมือเพื่อผลิตสินค้าหรือเทคโนโลยีที่มีตัวแบบชัดเจน เช่น รถยานเกราะที่สามารถแข่งขันกับรถต้นแบบ A ที่ผลิตในประเทศ X ให้ได้แบบเฉพาะเจาะจง
วิธีการที่ 4 การสร้างระบบนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) ที่เปิดพื้นที่หลากหลายมาช่วยสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงแบบองค์รวม และพยายามผลักดันให้วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กลับไปสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างออกไป ตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดแฮกกาทอน (hackathon) ระดมสมองเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งในเชิงกระบวนการ สินค้า หรือการจัดการ เพื่อที่จะแก้โจทย์สำคัญร่วมกันโดยระคมสมองของคนจำนวนมากในเวลาอันจำกัด
“กองทัพอาจไม่ต้องมีคนวิจัยและจัดการทั้งหมดแต่เพียงลำพัง แต่ใช้ภูมิปัญญาทางสังคม ใช้ wisdom ของสังคมไทยเข้ามาช่วย กองทัพต้องตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง และตั้งเงื่อนไขของการระดมความเห็นที่ถูกฝ่ายสบายใจจะแก้ปัญหาให้กองทัพ และสังคมไทย ใช้วิธีการเช่นแฮกกาทอนตั้งโจทย์ที่คมคาย มีความหมายต่อประเทศ และระดมความเห็นของทั้งสังคมมาแก้ปัญหาในระยะเวลาอันสั้น ทุกคนเต็มใจลงแรงเพราะโจทย์มันสำคัญต่อคนไทยทุกคน”
ยกนาซาเหยียบดวงจันทร์ – กองทัพไทยต้องร่วมกับเอกชน
ดร.แบ๊งค์กล่าวต่อว่า วิธีการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้หากปราศจาก 5 หลักคิด ดังต่อไปนี้
หลักคิดที่ 1 การกำหนดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีเป้าหมาย เชื่อมโยงกับภาพอนาคต ตอบโจทย์ความมั่นคงองค์รวม
หลักคิดที่ 2 เทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมาควรใช้ได้ทั้งฝ่ายความมั่นคงและพลเรือน (dual-use) ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี ซึ่งนำไปต่อยอดได้การเกษตร การตรวจตรา สภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติต่างๆ ฯลฯ
หลักคิดที่ 3 ควรบริหารความเสี่ยงและสร้างผลพลอยได้ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี
“ตัวอย่างโครงการ Moon Mission ของนาซาวันที่เขาเสนอว่าอยากไปเหยียบดวงจันทร์ แม้ปลายทางจะเป็นการสำรวจ แต่ระหว่างทางได้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยไม่ต้องรอถึงวันเหยียบดวงจันทร์ นาซาและสหรัฐอเมริกาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ไปก่อนแล้ว เช่น ถ้าส่งคนไปดวงจันทร์ต้องมีเทคโนโลยีการทำให้อาหารมีน้ำหนักเบา ปลอดภัย มีคุณค่าสูง เก็บได้นาน เทคโนโลยีนี้นำไปใช้ได้หมด”
หลักคิดที่ 4 รัฐเป็นผู้ริเริ่ม เอกชนเป็นผู้สานต่อด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
“เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีที่รัฐลงทุนพร้อมจะถูกใช้งานในตลาดเชิงพาณิชย์ ภาครัฐควรถอยกลับมาและ relocate ทรัพยากรช่วยสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะได้ มันมีจังหวะที่รัฐต้องส่งไม้ต่อให้เอกชน จังหวะนี้ต้องการธรรมาภิบาลระดับสูง เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งต่อจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และแข่งขันได้”
หลักคิดที่ 5 หาจุดแข็งให้เจอและพยายามเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลกให้ได้
“เวลาพูดถึงบทบาทกองทัพในการช่วยส่งเสริมสินค้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เราไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด ขอแค่ทำบางส่วนได้เก่งจริงๆ และโลกยอมรับ สามารถ plug-in บทบาทของทุนไทยที่ผลิตสินค้าต่างๆ เข้าไปใน global value chain ได้ หากทำได้ก็กระตุ้นสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้”
“ตัวอย่างเครื่องบินหนึ่งลำ มีองค์ประกอบจำนวนมาก แต่ละชิ้นถูกผลิตโดยประเทศที่ไม่ซ้ำหน้ากัน ถ้าไทยสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในบางชิ้นส่วนที่เครื่องบินปลายน้ำทุกยี่ห้อต้องมาพึ่งพิง เราก็สามารถทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็น growth engine ให้เศรษฐกิจไทยได้ นี่คือสูตรที่หลายประเทศดำเนินการ”
“หากเรามีการลงทุนทางเทคโนโลยี โดยมีกองทัพเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการสร้างและผลักดันให้เอกชนใช้งาน ผมเชื่อว่าจะทำให้เราก้าวสู่สถานะจากไทยร่วงเป็นไทยรุ่งได้สำเร็จ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจสู่สถานะที่ประเทศเติบโตด้วยความเร็วที่เหมาะสมอีกครั้ง”