ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงหนักในวันเดียว ย้อนรอย Black Monday

ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงหนักในวันเดียว ย้อนรอย Black Monday

5 สิงหาคม 2024


ที่มาภาพ: https://english.kyodonews.net/news/2024/08/030e5c4a1314-urgent-nikkei-stock-index-plunges-over-4-on-us-economy-fears-firmer-yen.html

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิกตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ดัชนีหลักๆ ปรับตัวลดลงอย่างมาก ดัชนีหุ้น Nikkei ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ร่วงลงในวันเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในช่วงหนึ่งของวันทรุดลงมากกว่าที่เคยตกลงในสมัยที่เกิด “แบล็กมันเดย์” Black Monday ในปี 1987 ก่อนที่จะปิดตลาดลดลง 4,451.28 จุดหรือ 12.40% จาก 31,458.42 จุดในวันศุกร์

ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงติดต่อกันเป็นวันที่สามตั้งแต่เปิดการซื้อขายเช้าวันนี้ ในช่วง 15 นาทีของการซื้อขายดัชนี Nikkei 225 ดิ่งลง 2,225.41 จุดหรือ 6.20% มาที่ 33,684.29 จุด ส่วนดัชนี Topix ลดลง 178.27 จุดหรือ 7.03% มาที่ 2,359.33 จุดและตกลงทุนต่อเนื่องในช่วงบ่าย

“ถือว่าตลาดตกรุนแรง มันมีกลิ่นอายเหมือนปี 1987” นีล นิวแมน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Astris Advisory ในโตเกียวกล่าวกับ CNN โดยหมายถึง “Black Monday” ในเดือนตุลาคม 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดโลกดิ่งลง และ Nikkei ร่วงไป 3,836 จุด

โดยดัชนี Nikkei ตกลง 3,836 จุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1987 หลังจากตลาดหุ้นล่มสลายในวัน Black Monday ได้หนึ่งวัน และยังเป็นการลดลงเป็นเปอร์เซนต์ที่มากเป็นอันดับสองนับตั้งแต่การลดลง 14.9% ในวันรุ่งขึ้นหลังจากการขายในวันจันทร์ทมิฬ

ตลาดหุ้นอื่นๆของเอเชียต่างก็ปรับตัวลงทำลายสถิติ โดยดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ร่วงลงมากกว่า 9% ขณะที่ตลาด Taiex ของไต้หวันร่วงลง 8.4% ส่วนตลาดสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ก็ลดลงประมาณ 2% และ 3% เช่นกัน

การลดลงของดัชนีหลักทำให้มีการใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์(circuit breaker หรือ การระงับการซื้อขายชั่วคราวเมื่อตลาดปรับลงมากกว่าปกติ) ในญี่ปุ่นมีการระงับการซื้อขายชั่วคราวสำหรับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี Topix และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี Nikkei ซึ่งเป็นการระงับการซื้อขายชั่วคราวของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี Topix เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น 4 วัน ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลีก็ได้ใช้ circuit breaker เช่นกัน

แรงเทขายในเอเชียแปซิฟิกส่งผลกระเพื่อมไปทั่วโลก ดัชนี FTSE 100 ในตลาดหุ้นอังกฤษลดลง 2% ในช่วงแรกของการซื้อขายของวันจันทร์ ส่วนดัชนี FTSE 250 ลดลงกว่า 3% ตลาดยุโรปอื่นๆต่างอยู่ในแดนลบ โดย Euronext 100 ร่วงลง 3.5%

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ (Nasdaq futures) ลดลงมากกว่า 4% ในขณะที่สัญญาซื้อขายดัชนีล่วงหน้า S&P 500 ลดลงประมาณ 3% ก่อนที่ตลาดหุ้นของสหรัฐฯจะเปิดการซื้อขาย หลังจากการเทขายหุ้นที่เริ่มต้นในญี่ปุ่นและแพร่กระจายทะเลสีแดงไปทั่วตลาดยุโรป

ดัชนี CBOE ที่วัดความผันผวนของตลาด พุ่งขึ้นกว่า 30 จุดมาอยู่ที่ 53.55 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2020

การเทขายของตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะนักลงทุนพากันเลี่ยงความเสี่ยง ด้วยความวิตกมากขึ้นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่น่าผิดหวัง และจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ที่ส่งผลให้มีการเทขายหุ้น และส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ บวกกับความกังวลว่าฟองสบู่ AI จะแตก

เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาญี่ปุ่น เงินดอลลาร์ขยับขึ้นมาที่ 143.47-52 เยน เทียบกับ 146.43-53 เยนในนิวยอร์กและ 149.20-23 เยนในโตเกียวเมื่อเวลา 17.00 น. วันศุกร์

การขายออกทั่วโลกรุนแรงขึ้นจากการคืนเงินกู้ยืมในสกุลเยน (Unwind Yen Carry Trade) ซึ่งผู้ค้าได้ใช้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำของญี่ปุ่น ด้วยการกู้เป็นเงินเยนและซื้อสินทรัพย์เสี่ยง

“มันไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในญี่ปุ่น แต่เป็นการตกลงทั่วโลก ซึ่งสะท้อนถึงการระเบิดของฟองสบู่สินทรัพย์ที่สูงเกินจริงจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่มากเกินไปหลังวิกฤตการณ์โควิด” โทโมอิจิโระ คูโบตะ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของบริษัทหลักทรัพย์มัตซุย กล่าว

นักลงทุนยังขายหุ้นเทคโนโลยีออก เนื่องจาก “ความคาดหวังที่สูงสำหรับ AI ได้ลดลงหลังจากรายงานผลประกอบการรายไตรมาส (น่าผิดหวัง) จากบริษัทในสหรัฐฯ” คูโบตะ กล่าว

เมื่อวันศุกร์กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่ง เป็นตัวเลขที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และอ่อนแอเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ในฝั่งตะวันตกเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ตลอดจนยังต่ำกว่า 185,000 ตำแหน่งที่นักวิเคราะห์คาด

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2021 และสูงกว่า 4.1%ที่นักวิเคราะห์คาด

ข้อมูลเมื่อวันศุกร์เป็นตัวบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ดัชนี Nasdaq Composite ร่วงลง 2.43%, ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 1.84% และดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 1.51%

โรเบิร์ต คาร์เนลล์ จาก ING ผู้ให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังดูอยู่ตอนนี้คือสถานการณ์ที่ตลาดกำลังมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ เป็นการชี้ถึงภาวะถดถอย”

นอกจากนี้การขายออก ยังมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ตัดสินใจเมื่อวันพุธ(31 กรกฎาคม)ที่จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 5.25%-5.5% จากที่คงดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ตลาดคาดว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน

นักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมนแซคส์กล่าวว่า ขณะนี้มีโอกาส 25% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 15% ในขณะที่นักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน มองในเชิงลบมากกว่า โดยให้ความน่าจะเป็น 50% ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

“ตอนนี้เมื่อเฟดดูเหมือนจะลดดอกเบี้ยช้าไป เราคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน ตามด้วยการปรับลดอีก 0.50% ในเดือนพฤศจิกายน” ไมเคิล เฟโรลี นักเศรษฐศาสตร์กล่าว

ย้อนรอยBlack Monday ในปี 1987

ตลาดหุ้นที่ทรุดในวันจันทร์ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ถูกเปรียบได้กับวันที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลกซึ่งเกิดขึ้นในปี 1987 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Black Monday

Black Monday เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1987 เป็นวันที่ดัชนีหุ้นทั่วโลกแดงเดือดไปทั้งกระดาน

จากบันทึกของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve) ทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่ตลาดหุ้นในและรอบๆ เอเชียดิ่งลง

ในเอเชีย Nikkei ของญี่ปุ่นร่วงลง 14.9% หรือ 3,836 จุด ในขณะที่เครื่องมือชี้วัดทางเทคนิค(RSI) ของดัชนีฮั่งเสง ของฮ่องกงร่วงลง 40% จากนั้นตลาดสหรัฐฯ ก็เปิดการซื้อขาย ก็ยิ่งทำให้มีความสับสนวุ่นวาย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 22.6% ในช่วงการซื้อขายเดียว ขณะที่ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 30% นับเป็นการตกลงครั้งใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่(Great Depression)

บาร์บารา แมนเทล อดีตนักข่าวเศรษฐกิจของ NPR รายงานว่า คนออกมาพักสูบบุหรี่ และดูตกใจมาก และใช้คำอย่างเช่น อุปาทานหมู่ (hysteria) ตื่นตระหนก(panic) เพื่อบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นข้างใน

จากนั้นก็ลุกลามไปยังยุโรป ในสหราชอาณาจักร ตลาดหุ้นลอนดอนร่วงลง 22% ภายในสองวัน ในบรรดาตลาดทั้งหมดอยู่ในแดนลบ ออสเตรียได้รับผลกระทบน้อยที่สุดโดยลดลง 11.4% และคาดว่ามูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกหายไปประมาณ 1.71 ล้านล้านดอลลาร์

เหตุการณ์ Black Monday ทำให้นักลงทุนวิตกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นอีก

ทำไมถึงเกิดขึ้น?

จากข้อมูลของ Investopedia ไม่มีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิด Black Monday แต่กลับมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งเป็นสถานการณ์ย่ำแย่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันสำหรับนักลงทุน

ตามข้อมูลของ Federal Reserve รัฐบาลสหรัฐรายงานการขาดดุลการค้าที่ใหญ่กว่าที่คาดไว้ ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนตัวลงเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญยังคิดว่าตลาดซึ่งอยู่ในช่วงขาขึ้นครั้งใหญ่มาตั้งแต่ปี 1982 นั้นสุกงอมสำหรับการปรับฐานแล้ว

การซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า program trading ก็คิดว่ามีส่วนเช่นกัน การประกันมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ(Portfolio insurance) ซึ่งขายชอร์ต(short-sells) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนี(index futures) เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนในหุ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อขายทางคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ program trading เริ่มขายหุ้นเป็นหลัก จึงสร้างผลกระทบแบบโดมิโน

ในขณะเดียวกัน ในวันศุกร์ก่อนเกิดเหตุการณ์หุ้นร่วง ก็เป็นวันที่สัญญา 3 อย่าง คือ stock options, stock index futures, และ stock index options หมดอายุพร้อมภายในวันเดียว ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากในช่วงสองสามชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขายในวันศุกร์ และต่อมาก็ไหลไปจนถึงวันจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญก็อ้างว่าอุปาทานหมู่ ทำให้ตลาดหุ้นตกครั้งใหญ่

เกิดอะไรหลังจากนั้น

อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่า “ธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งยึดมั่นกับความรับผิดชอบในฐานะธนาคารกลางของประเทศ ยืนยันในวันนี้ถึงความพร้อมในการทำหน้าที่เป็นแหล่งสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและการเงิน”

จากข้อมูลของ Investopedia ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินการทันทีโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% โดยหวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดสภาพคล่องในตลาด นอกจากนี้ยังอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ด้วยการซื้อพันธบัตรเพื่อดันราคาให้สูงขึ้นและดึงอัตราดอกเบี้ยลง

หน่วยงานกำกับดูแลยังได้นำเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้เป็นครั้งแรกเพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดทรุด จากการซื้อขายทางคอมพิวเตอร์

ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กจะระงับการซื้อขายชั่วคราวเมื่อดัชนีหุ้น S&P 500 ลดลง 7%, 13% และ 20%

เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กอธิบายว่า “เพื่อตอบสนองต่อตลาดที่ร่วงแรงในเดือนตุลาคม 1987 และตุลาคม 1989 ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กได้พัฒนาระบบเซอร์กิตเบรกเกอร์ พื่อลดความผันผวนและส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน ด้วยการระงับการซื้อขายชั่วคราว นักลงทุนจะได้มีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เข้ามาและสามารถตัดสินใจอย่างมีข้อมูลในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนสูง”

เรียบเรียงจาก

  • Fears of US recession send stock markets tumbling
  • Nikkei closes with largest point drop in history, down 12%
  • Stocks trampled, Nikkei tumbles past Black Monday milestone
  • Asia’s stock markets tanked, marking several recent records in today’s massive selloff
  • Japanese stocks crash in biggest one-day drop ever as global market rout intensifies
  • What was Black Monday in 1987 that is being compared to today’s stock market crash?