ThaiPublica > เกาะกระแส > TDRI ชำแหละ แผน PDP 2024 สุดท้ายประชาชนเสี่ยงแบกรับค่าไฟแพง

TDRI ชำแหละ แผน PDP 2024 สุดท้ายประชาชนเสี่ยงแบกรับค่าไฟแพง

20 กรกฎาคม 2024


TDRI ชำแหละร่างแผนพัฒนาไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP 2024 รั้งการก้าวสู่เป้าหมายคาร์บอนต่ำ แม้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด แต่ต้องเร่งให้เร็วขึ้น เพื่อรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถการแข่งขัน  อีกทั้งไม่ชี้ชัดเรื่องโซลาร์ภาคประชาชน-เปิดตลาดไฟฟ้าเสรี แถมคาดการณ์ความต้องการไฟเกินจริง กระทบราคาค่าไฟ สุดท้ายประชาชนเสี่ยงแบกรับค่าไฟแพง

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ(TDRI) จัดงานสัมมนา “PDP 2024 เร่ง หรือ รั้ง พาไทยสู่เป้าพลังงานสะอาด” โดยดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ  นำเสนอบทวิเคราะห์ ต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (Power Development Plan :PDP 2024) ที่อยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ว่า ร่างแผน PDP 2024 มีสิ่งที่แตกต่างจากฉบับ 2018 ทั้งประเด็นที่ก้าวหน้าจากฉบับเดิม และประเด็นที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ในส่วนประเด็นที่เป็นบวก พบว่าภาครัฐได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น เดิมเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอยู่ที่ 36% แต่เพิ่มเป็น 51% ภายในปีค.ศ. 2037

แม้จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่จะดีกว่านี้ได้ โดยผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าระยะเวลาที่วางเอาไว้ เนื่องจากระหว่างการไปสู่ปี 2037 มีหลายภาคส่วนต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เร็วกว่านี้ค่อนข้างมาก เช่น ในปี 2026 เป็นปีที่เริ่มบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism:CBAM) ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคส่งออก

ขณะที่ภาคการผลิตขององค์กรเอกชน เช่น กลุ่ม RE100(สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย) มีความต้องการพลังสะอาด 100% ในการผลิตสินค้าภายในปี 2030 โดยขณะนี้เริ่มเห็นแล้วว่าอุตสาหกรรมบางแห่งแบ่งฐานการผลิตบางส่วนจากที่เคยอยู่ในไทยเพียงที่เดียวไปยังเวียดนามด้วย เพราะเวียดนามมีไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากกว่าไทยมาก ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอย่าง Data Center ก็เกิดความลังเลในการลงทุน เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขสำคัญ คือ ประเทศไทยต้องสามารถจัดสรรไฟฟ้าพลังงานสะอาด 100% ให้กับบริษัทเหล่านี้ได้

“ถ้าเราไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้า แล้วมีการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเกินมาตรฐานที่กำหนดจากยุโรป ก็ต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าเราอาจจะต้องลดมูลค่าการส่งออกลง เพราะสินค้าไม่สามารถแข่งขันในเรื่องของราคาได้ โดยตัวอย่างมูลค่าการส่งออกของไทยปี 2564 หากลดไปเพียง 10% จากมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 4 ล้านล้านบาท ในปี 2564 จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ 4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว” ดร.อารีพรกล่าว

คาดการณ์ไฟฟ้าสูงเกินจริงแต่ยังสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่ม 8 แห่ง

ดร.อารีพร ยังระบุด้วยว่า พบว่าตัวเลขที่นำมาใช้การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในร่างแผน PDP 2024 ไม่อัปเดต เช่น ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใช้ตัวเลขเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้านั้นน่าจะสูงเกินจริง ขณะเดียวกันยังพบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง กำลังการผลิตรวมกันถึง 6,300 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันไทยมีโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยประมาณครึ่งหนึ่งจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งหมด

“เนื่องจากว่ามีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริงกว่าความต้องการใช้จริง ส่งผลให้ 16 ปีที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายนี้สุดท้ายจะถูกส่งผ่านมายังประชาชนในรูปของค่าไฟ” ดร.อารีพรกล่าว

ห่วงแผนนำเข้าLNG สูงขึ้น-สร้างเทอร์มินอลใหม่ กระทบต้นทุนค่าไฟแพงขึ้น

ดร.อารีพร ระบุว่า ในแผนมีการนำเข้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) สูงขึ้น เพราะจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมและจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ้าวไทยลดลง ซึ่งราคาของ LNG มีความผันผวนตามตลาดโลก ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ และประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ราคา LNG จะสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้สูงขึ้นตาม นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการสร้าง LNG เทอร์มินอลเพิ่มเติมด้วย โดยต้นทุนดังกล่าวถ้าไม่มีการจัดสรรที่ดี ก็จะถูกส่งผ่านมาในรูปของค่าไฟเช่นกัน

“ในขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปัจจุบันกำลังจะหมดอายุสัญญา ราคาที่รับซื้ออยู่ตอนนี้ค่อนข้างถูก คำถามคือทำไมไม่ต่อสัญญาเดิม แต่ไปสนับสนุนให้สร้างเขื่อนใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบในหลายมิติ ทั้งเป็นการทำลายระบบนิเวศใหม่ และราคารับซื้อแพงขึ้น 20 สตางค์ต่อกิโลวัตต์” ดร.อารีพร กล่าว

สำหรับประเด็นการปรับหลักเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับ (Loss of Load Expectation:LOLE) 0.7 วันต่อปีในแผน PDP ฉบับใหม่ ที่นำมาใช้แทนปริมาณไฟฟ้าสำรองนั้น เห็นว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป เนื่องจากในร่างแผน PDP 2024 มีการคำนวณเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับตลอดแผนที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว โดยโอกาสการเกิดไฟดับที่สูงที่สุดอยู่ที่ปี 2032 ที่ 0.68 วันต่อปี จึงไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์โอกาสการเกิดไฟดับทั้งแผนที่ 0.7 วันต่อปี เพราะจะทำให้เกิดการสำรองไฟฟ้าเพิ่ม กระทบต่อค่าไฟในท้ายที่สุด

ประเมินประสิทธิภาพ Energy Technology ต่ำเกินไป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าไฟ โดย ดร.อารีพร ระบุว่า ร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้ สามารถทำให้ค่าไฟลดลงกว่านี้ได้อีก หากมีการใช้ไฟฟ้าพลังสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดร่วมกับแบตเตอรี่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกลงอย่างชัดเจน นอกจากนั้นมีการจำกัดเป้าหมาย Smart Microgrid (ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะขนาดเล็ก) และ Demand Response (การตอบสนองต่อมาตรการเพิ่มศักยภาพในการใช้ไฟ) ที่ต่ำเกินไป ทั้งที่เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้า และช่วยเสริมเสถียรภาพการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด

แต่ในขณะเดียวกันมีความพยายามในการนำเทคโนโลยี เช่น ไฮโดรเจน และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก มาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่คาดว่าภาครัฐอาจจะยังไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนต่อราคาค่าไฟที่เสี่ยงจะสูงขึ้นหากมีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ รวมถึงผลกระทบต่อความกังวลของประชาชนต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์ด้วย

ยึดติดกับระบบผู้ซื้อรายเดียว Enhanced Single Buyer

ดร.อารีพร ระบุว่า การที่ร่างแผน PDP2024 ยึดติดกับระบบ Enhanced Single Buyer (รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้) ทำให้โครงการโซลาร์ภาคประชาชน ไม่มีในร่างแผน PDP ทั้งที่มีความสำคัญมาก เพราะสามารถเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้เป็นอย่างมาก มีเพียงการระบุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่ 17% ไม่ได้ระบุไว้ว่าใน 17% นี้จะมาจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในสัดส่วนเท่าไร

ทำให้แผนนี้ไม่มีการพูดคุยถึงเรื่อง Net Metering หรือการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยที่ 2.20 บาทให้สูงขึ้น รวมทั้งไม่มีการระบุถึงการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด และการให้เอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรง

การเปิดสิทธิให้เอกชน สามารถเชื่อมต่อระบบสายส่งไฟฟ้าของภาครัฐ (Third Party Access หรือ TPA) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเร่งการเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ประเทศไทย และทำให้ราคาค่าไฟเป็นไปตามกลไกตลาดที่เป็นที่รับได้ของผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า

ส่วนบทบาทการผลิตไฟฟ้านั้น ร่างแผน PDP 2024 ไม่ได้แยกบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างชัดเจน ว่า สัดส่วนการผลิตของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ควรเป็นอย่างไร ทั้งที่การแยกบทบาทชัดเจนจะทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถวางแผนในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3 ข้อเสนอปรับแผน PDP เร่งเข้าสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด

ดร.อารีพรกล่าวว่า โดยสรุปจะเห็นว่าภาพรวมของร่างแผน PDP 2024 เป็นตัวรั้ง มากกว่าช่วยเร่งให้ไทยรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขันรวมถึงการบรรลุเป้าพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ได้ โดยยังมีหลายประเด็นที่สามารถปรับเพื่อให้เกิดการเร่งไปสู่พลังงานสะอาดได้มากกว่านี้ ดังนั้นถ้าภาครัฐอยากจะให้ไทยบรรลุเป้าหมายของแผน PDP 2024 ที่สามารถเพิ่มการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดได้ 51% และยังคงสามารถรักษามูลค่าทางการค้าให้กับไทย รักษาฐานการผลิต รักษาความสามาถทางการแข่งขัน รวมถึงสามารถนำพาไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2050 ภาครัฐต้องเร่งการปรับแผน PDP ฉบับนี้

โดยมีข้อเสนอใน 3 ประเด็น

  1. ปรับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่โดยใช้การคาดการณ์ GDP ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น
  2. ใช้ศักยภาพของ Energy technology มากขึ้น โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ energy storage มากขึ้นเนื่องจากต้นทุนถูกลงมาก รวมถึงเร่งการพัฒนาระบบ Microgrid และ Demand Responce
  3. ปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า โดยการระบุบทบาทการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนให้ชัดเจน ระบุการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้ชัดเจน อนุมัติระบบ Net Metering หรือปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing และเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด