ThaiPublica > คอลัมน์ > Apocalyptic Film แบบจำลองในจินตนาการของโลกที่กำลังสูญสิ้น

Apocalyptic Film แบบจำลองในจินตนาการของโลกที่กำลังสูญสิ้น

9 สิงหาคม 2021


Hesse004

ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีกว่าก่อน ภาพยนตร์แนวหนึ่งที่เริ่มถูกผลิตออกฉายมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ภาพยนตร์แนว “สิ้นโลก” หรือ apocalyptic film

ภาพยนตร์แนวนี้เกิดจากแรงบันดาลใจของผู้สร้าง ผู้เขียนบท ผู้กำกับ ที่มองเห็นถึงวิกฤติต่างๆ ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม การสูบใช้ทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน

ผลพวงจากน้ำมือมนุษย์นำไปสู่การเอาคืนของธรรมชาติ …“การเอาคืน” ที่มาในรูปแบบภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะน้ำท่วมโลก

apocalyptic film เรื่องแรกที่ถูกบันทึกในสารบบภาพยนตร์ คือ Verdens Undergang ภาพยนตร์จากประเทศเดนมาร์ก หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The End of the World

…ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1916 เป็นผลงานการกำกับของออกัสต์ บลูม (August Blom) ยอดผู้กำกับชาวเดนนิช

บลูมสร้างหนังเรื่องนี้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพอดี ก่อนที่ไข้หวัดสเปนจะระบาด… The End of the World ยังได้รับอิทธิพลมาจากการโคจรของดาวหางฮัลเลย์เมื่อปี ค.ศ. 1910 ซึ่งแน่นอนว่าความเชื่อเหล่านี้นำมาซึ่งเรื่องราวที่ว่าโลกเราอาจถึงกาลอวสาน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ The End of the World หรือ Verdens Undergang หนังแนว apocalyptic film เรื่องแรก ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/

อย่างไรก็ดีหนังแนว apocalyptic film ไม่ได้รับความสนใจมากนัก โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากหนังสงครามกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้างมากกว่าภัยธรรมชาติ

การสร้างหนังสงครามของสตูดิโอ Hollywood ยังผูกโยงกับการส่งออกแนวคิดประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของรัฐบาลวอชิงตันในช่วงสงครามเย็น บรรยากาศการต่อต้านคอมมิวนิสต์ รวมถึงฉายภาพกองทัพเยอรมนี ญี่ปุ่น สหภาพโซเวียต ให้กลายเป็นผู้ร้าย

ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์แนว apocalyptic film จึงลดบทบาทลงไปมาก เพราะน้ำหนักการสร้างหนังส่วนใหญ่ไปอยู่ที่หนังสงครามเป็นหลัก

ทศวรรษที่ 80 มีหนังแนว apocalyptic film ที่น่าสนใจ คือ หนังเรื่อง Virus(1980) หนังเรื่องนี้เป็นหนังญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า Fukkatsu no hi ผลงานการกำกับของเคนจิ ฟูกาซากุ (Kinji Fugasaku) ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้ทุ่มทุนสร้างมหาศาลในช่วงทศวรรษที่ 80

Virus ของ ฟูกาซากุ ดัดแปลงจากบทประพันธ์ทางไซไฟของซาเกียว โคมัตสุ (Sakyo Komatsu) ที่เล่าเรื่องไวรัสสายพันธุ์ MM88 ซึ่งหลุดจากห้องทดลองนักวิทยาศาสตร์ และระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบิน ปรากฏว่าเครื่องบินตก ทำให้ไวรัสตัวนี้แพร่ออกไปกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

Virus ภาพยนตร์จากญี่ปุ่นที่เริ่มส่งสัญญาณเตือนภัยเรื่องโรคระบาดครั้งใหญ่
ที่มาภาพ: https://avxhm.se/video/Fukkatsu_no_hi1980.html

สถิติที่น่าสนใจในการสร้างหนังแนว apocalyptic film เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษ 21 โดยตั้งแต่ปี 2000-2009 นั้น มีหนังแนวนี้ถูกสร้างออกมาถึง 65 เรื่อง ขณะที่ปี 2010-2019 มีการสร้างหนังแนวนี้สูงถึง 104 เรื่อง1

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์ออกมาหลายเรื่อง ตัวอย่างที่รู้จักกันมากที่สุด คือ The Walking Dead ที่ออกฉายตั้งแต่ปี 2010 ผลงานสร้างชื่อของผู้กำกับอเมริกัน แฟรงก์ ดาราบองต์ (Frank Darabont) ที่เล่าเรื่องการระบาดของไวรัสที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้จนไม่มีใครหยุดยั้งได้

The Walking Dead ซีรีส์ภาพยนตร์แนว apocalyptic film ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/

เหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังแนว apocalyptic film ถูกสร้างออกมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมทั่วโลก การสูบใช้ทรัพยากรอย่างละโมบ การละเลยประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมองเป็นแค่ “แนวคิดโลกสวย” ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง

…ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เมื่อถูกสะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงก่อตัวกลายเป็นวิกฤติที่ยากจะควบคุมแก้ไข

หนังที่ฉายภาพการล่มสลายของโลกได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ The Day After Tomorrow (2004) ผลงานการกำกับของ โรแลนด์ เอเมอริช (Roland Emmerich) ผู้กำกับชาวเยอรมนีที่มาสร้างผลงานเด่นๆ ใน Hollywood

The Day After Tomorrow นำเสนอภัยธรรมชาติจาก superstorm จนทำให้ทั่วโลกกลายเป็นยุคน้ำแข็งใหม่ เช่นเดียวกับ 2012 ซึ่งเป็นผลงานของโรแลนด์ เอเมอริช ออกฉายเมื่อปี 2009 เปรียบเสมือนภาคขยายของ The Day After Tomorrow เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช้แค่เรื่องการแสดงวาทกรรมบนเวทีระหว่างประเทศ โลกเรากำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติ ปัญหาการแพร่ระบาดที่ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งควบคุมได้

The Day After Tomorrow (2004) ภาพยนตร์ที่แสดงถึงโลกยุคหลังการล่มสลายไว้ได้ชัดเจน
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/

นอกเหนือจากเรื่องภัยธรรมชาติแล้ว การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่กลายเป็นอีกพล็อตเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างหนัง apocalyptic film ตัวอย่างเช่น I am legend (2007) ของผู้กำกับฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (Francis Lawrence) หรือ World War Z (2013) ผลงานกำกับของมาร์ก ฟอสเตอร์ (Marc Foster) ที่ตัวเอกต้องต่อสู้กับไวรัสที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี้

หนังตระกูล zombie มีหนังแนว zombie apocalypse ที่ว่าด้วยการสิ้นโลกเพราะการระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้กันหมด

I am Legend และ World War Z เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเสนอภาพการดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตัวเองในช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกะทันหัน

…ที่สำคัญ ช่วงเวลาดังกล่าว การเอาตัวรอดในทุกวิถีทางกลายเป็นหัวใจสำคัญของการเดินเรื่องของภาพยนตร์แนวนี้

World War Z หนังการเอาตัวรอดในยุคที่ไวรัสที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นซอมบี้และรัฐไม่สามารถควบคุมจัดการอะไรได้อีกต่อไป ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/

นอกจากนี้ apocalyptic film ยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันในช่วงเวลาวิกฤติ การแย่งชิงทรัพยากรให้มากที่สุดเพื่อตัวเองอยู่รอดโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอะไรอีกต่อไป

ตลอดจน ชี้ถึงความล้มเหลวของรัฐตั้งแต่การเตรียมพร้อม การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเยียวยา จนกระทั่งรัฐไม่ได้มีความหมายอีกต่อไปในช่วงเวลาวิกฤติ

หนังแนว apocalyptic film จึงเปรียบเสมือนแบบจำลองในจินตนาการของมนุษย์ที่เสนอภาพความโกลาหลเมื่อต้องรับมือกับวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดใหญ่

หมายเหตุ 1. ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2564 จาก Wikipedia เรื่อง List of apocalyptic film