ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกสมัยใหม่

EIC วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกสมัยใหม่

7 พฤษภาคม 2025


Client using touch screen board in trendy clothing store, shopping for fashion collection items in shop. Young buyer buying clothes on interactive monitor, self ordering concept.

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)วิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมร้านค้าปลีกสมัยใหม่

……

กลุ่มธุรกิจ Modern trade ในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายหลายด้านของเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกประเภท Modern trade มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แม้ว่ายังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกำลังซื้อจากภาวะหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 และในปี 2025 ยังได้อานิสงส์ชั่วคราวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเติบโตของธุรกิจ Modern trade ในปี 2024 อยู่ที่ 5% และคาดว่าจะเติบโตราว 4.6% ในปี 2025

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกยังมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจากช่องทางออนไลน์ทั้งภายในและภายนอกประเทศตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้บริโภคที่มากขึ้นจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริโภคของผู้บริโภค นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางออนไลน์ รวมทั้งความท้าทายจากการปรับกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเทรนด์ ESG โดยการแข่งขันที่รุนแรงมาจากทั้งกลุ่มร้านค้าประเภทเดียวกันและร้านค้าออนไลน์ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญกับการขายสินค้าผ่าน Omnichannel ทั้งหน้าร้านควบคู่กับออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการร้านค้าและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ เทรนด์ ESG ยังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ จากการผลักดันของภาครัฐ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของผู้บริโภค สะท้อนได้จากการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริม Circular economy ตลอดจนการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและธรรมาภิบาลและการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมไปถึงการเพิ่มสัดส่วนของสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้บริโภคจะให้ความสนใจในสินค้าที่มีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ราคาที่ค่อนข้างสูงและตัวเลือกในตลาดที่น้อยยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินค้ากลุ่มนี้ ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

……

ภาพรวมธุรกิจModern trade

กลุ่มธุรกิจ Modern trade ต้องปรับตัวท่ามกลางการแข่งขันจากร้านค้าออนไลน์ รวมทั้งต้นทุนสินค้าและการดำเนินงานที่สูงขึ้น
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย (Modern trade) ประกอบไปด้วยผู้เล่นหลากหลายประเภท ทั้งกลุ่ม Modern grocery, ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านขายสินค้าเฉพาะทางต่าง ๆ โดยพบว่ากลุ่ม Modern grocery มีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทยอยเข้ามาแทนที่กลุ่ม Traditional grocery มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้เล่นกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ

นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย ยังประกอบไปด้วย ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงร้านขายสินค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ครอบคลุมร้านค้าที่จำหน่ายวัสดุก่อสร้างไปจนถึงของตกแต่งบ้าน ร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่เน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ รวมทั้งอาหารเสริมและยารักษาโรคต่าง ๆ รวมไปถึงร้านขายสินค้าแฟชั่น ที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Fast fashion, Traditional fashion และ Sportswear เป็นต้น

อนึ่ง พฤติกรรมการซื้อสินค้าและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีส่วนช่วยหนุนให้มูลค่าตลาด E-commerce ในไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนตลาด E-commerce มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ราว 25% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมดในปี 2025 เทียบกับปี 2019 ซึ่งอยู่เพียงแค่ราว 7% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ร้านค้าหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดโดยเพิ่มความหลากหลายของช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ทั้งหน้าร้านและผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มของ Social commerce ซึ่งเป็นผลจากการผสมผสานกันระหว่าง E-marketplace และ Social media ที่ทยอยเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่กำลังเริ่มเข้ามาสู่ตลาดแรงงานและเริ่มมีศักยภาพในการจับจ่ายที่สูงขึ้น

นอกจากบทบาทของตลาด E-commerce ที่มีความสำคัญมากขึ้นแล้ว ธุรกิจ Modern trade ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มรายได้น้อย-ปานกลาง รวมไปถึงต้นทุนสินค้าและต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความคาดหวังในเรื่องสินค้าและบริการที่สูงขึ้น รวมทั้งใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นฐานผู้บริโภคและกำลังซื้อสำคัญในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์ม E-commerce ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน เช่น Taobao, Temu และ Shein เป็นต้น ซึ่งกำลังรุกคืบตลาดไทย และมีความได้เปรียบด้านราคาจากต้นทุนที่ต่ำ อีกทั้ง ยังมีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้เล่นในประเทศจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์การตัดราคาขายเพื่อดึงดูดลูกค้า และมีผลให้มาร์จินของผู้ประกอบการน้อยลงได้

หมายเหตุ : *ตัวอักษรสีทองคือกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด MAI ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อานิสงส์จากนโยบายภาครัฐ

ท่ามกลางสถานการณ์ภาคครัวเรือนที่ยังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงราคาสินค้าที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ธุรกิจ Modern trade ยังมีแนวโน้มขยายตัวโดยได้รับปัจจัยหนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าธุรกิจ Modern trade ในปี 2025 จะขยายตัวที่ 4.6%YOY ไปอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านบาท

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Easy E-Receipt 2.0 ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2025, โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 (ผ่านผู้สูงอายุ) ที่ดำเนินการไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคม 2025 และเฟส 3 (กลุ่มอายุ 16-20 ปีตามเงื่อนไข) ที่คาดว่าจะดำเนินการในไตรมาสที่ 2 – ไตรมาสที่ 3 ปี 2025 ผ่านระบบเงินดิจิทัล อย่างไรก็ดี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฯ ในเฟสที่ 4 (กลุ่มอายุ 21-59 ปีตามเงื่อนไข) คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ผ่านระบบเงินดิจิทัลเช่นเดียวกัน แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในพื้นที่ 4 จังหวัด 1 อำเภอที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จะส่งผลดีต่อยอดขายธุรกิจ Modern trade โดยเฉพาะกลุ่ม Modern grocery ที่จำหน่ายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน จะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐค่อนข้างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้คาดว่ายอดขายกลุ่ม Modern grocery จะเติบโตต่อเนื่องที่ราว 4.6%YOY ในปี 2025 หลังจากขยายตัว 5.3%YOY ในปีที่ผ่านมา

กลุ่ม Department store เปิดตัวหลายโครงการ

สำหรับธุรกิจกลุ่ม Department store ในปี 2025 คาดว่ายอดขายจะเติบโตที่ราว 4.6% จากที่มูลค่าตลาดเติบโต 6% ในปี 2024 โดยแม้ว่าภายใต้สถานการณ์กำลังซื้อที่ยังคงเปราะบางและฟื้นตัวได้อย่างจำกัดอาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่ธุรกิจ Department store ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในปี 2025 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นยอดขายในห้างสรรพสินค้าให้ฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในปี 2025

การฟื้นตัวของกลุ่ม Department store ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของห้างสรรพสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าภายใต้ Trump 2.0 อาจส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชะลอตัวลง และยังมีปัจจัยฉุดรั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ และแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเปิดตัวโครงการ Commercial real estate ขนาดใหญ่หลายโครงการ จะยิ่งทำให้ธุรกิจ Department store เผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากร้านค้าปลีกเฉพาะทางที่สินค้ามีความหลากหลายและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากกว่า

กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงามการแข่งขันรุนแรงขึ้น

สำหรับกลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงาม คาดการณ์ว่ารายได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในทุกช่วงวัย รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลดีต่อการขายสินค้าประเภทนี้ อาทิ ยา วิตามินและอาหารเสริม ขณะที่ เทรนด์ Travel retail หรือร้านค้าในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่นิยมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามของไทยได้รับความนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยและเครื่องหอม โดยมูลค่าตลาดสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพและความงามในปี 2024 อยู่ที่ราว 7.5% ทั้งนี้สินค้ากลุ่มนี้อาจเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น จากผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบันที่มีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยเน้นการซื้อของที่ระลึก แทนกลุ่มเครื่องสำอางและน้ำหอม โดยคาดว่ามูลค่ายอดขายของร้านค้าปลีกกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามจะเติบโตราว 4.9% ในปี 2025 ซึ่งการแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเติบโตของการขายสินค้ากลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social media ที่เอื้อให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาในตลาดมากขึ้น

มูลค่ายอดขายของร้านขายสินค้าเฉพาะทางในกลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตราว 4.5% ในปี 2025 ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2024 ที่เติบโตที่ประมาณ 4.6% โดยในปี 2025 นี้กลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จะได้รับแรงสนับสนุนจากตลาด Renovate ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงความต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2025 ความท้าทายสำคัญที่ต้องจับตาคือความต้องการที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลงตามกำลังซื้อและการเข้าถึงสินเชื่อของผู้บริโภค ดังนั้น การขยายสาขาของร้านค้ากลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย และนำเสนอนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เทรนด์เรื่องความยั่งยืนและการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการให้บริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการติดตั้งและการบริการหลังการขาย กลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านค้าออนไลน์ที่มีราคาถูกกว่าอย่างมาก โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มออนไลน์จากจีน ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันและเติบโตในระยะต่อไปจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด รวมไปถึงการให้บริการหลังการขายที่ร้านค้าออนไลน์ไม่สามารถทำได้

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลุ่มสินค้าแฟชั่นคาดว่าจะมียอดขายเติบโตราว 4.6% ในปี 2025 โดยยอดขายชะลอตัวลงจากปี 2024 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ราว 5% ซึ่งประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไปคือการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะส่งผลให้ยอดขายของสินค้ากลุ่มนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่ากลุ่ม Fast fashion จะยังคงมีการเติบโตที่ดีกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับให้ทันสมัยได้อย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในระยะสั้นได้ อีกทั้ง สินค้ากลุ่มนี้ยังมีราคาที่จับต้องได้ ทำให้สามารถซื้อได้บ่อยครั้งและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง ภายใต้สภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของยอดขายสินค้าประเภทแฟชั่น

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Euromonitor หน่วย : ล้านล้านบาท
หน่วย : %YOY ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC
ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Euromonitor หน่วย : พันล้านบาท/ %YOY
หน่วย : ดัชนี (2019 = 100) ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ Euromonitor

กลุ่มผู้เล่นที่มีหน้าร้านและกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รุกตลาดมากขึ้น

ร้านค้าปลีกสมัยใหม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งจากกลุ่มผู้เล่นที่มีหน้าร้านและจากกลุ่มแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามารุกตลาดมากขึ้น โดยนอกจากการนำเสนอสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์แล้ว ยังต้องเน้นการสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความยั่งยืนร่วมด้วย
ผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Modern grocery ยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง โดยพบว่ากลุ่ม Convenience store ยังมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามการขยายตัวของเมืองเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่มากขึ้น

ขณะที่กลุ่ม Supermarket และ Hypermarket มีแนวโน้มขยายสาขาอย่างระมัดระวัง โดยเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโต สำหรับกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ในกลุ่ม Modern grocery มีการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการลูกค้าผ่านหลากหลายช่องทางและเพิ่มความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า รวมถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วเพื่อสร้าง Customer loyalty อีกด้วย นอกจากนี้ กลุ่ม Modern grocery ยังได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความสะดวกและประสบการณ์การซื้อที่สินค้าที่ดีขึ้นได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายแม้จะเป็นสินค้าที่จำเป็นก็ตาม ผู้ประกอบการจึงอาจพิจารณาใช้กลยุทธ์การตลาดสำหรับผู้บริโภคที่เน้นการใช้จ่ายแบบประหยัด เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยหรือมองหาสินค้าที่มีราคาถูกลง ทำให้การปรับเพิ่มราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเรื่องยาก รวมทั้งยังอาจมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอสินค้าของแบรนด์ตัวเอง (House brand) ที่แม้คุณภาพอาจจะด้อยกว่าแต่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าของเงิน (Value for money) มากขึ้น หรือขายสินค้าในราคาเท่าเดิมแต่ปรับลดปริมาณลง

กลุ่มธุรกิจขายปลีกสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากแนวโน้มการดูแลสุขภาพและการแพทย์เชิงป้องกันที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบว่าผู้เล่นรายใหญ่มีการเปิดสาขาใหม่ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องระวังการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ค้าปลีกขนาดเล็กที่เน้นการขายผ่าน E-commerce ซึ่งมีกลยุทธ์การขายผ่าน Social media ในหลากหลายรูปแบบในการโปรโมตสินค้าที่ดึงดูดความสนใจ ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่จึงต้องเน้นสร้างความต่างจากธุรกิจขนาดเล็ก โดยอาจนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

กลุ่มห้างสรรพสินค้าท้าทายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ

กลุ่มห้างสรรพสินค้า เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มเผชิญกับความท้าทายสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านอุปสงค์จากกำลังซื้อที่เปราะบางและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงความเสี่ยงด้านอุปทานจากคู่แข่งในตลาดที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการห้างสรรพสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างหรือเพิ่งเปิดตัว รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากตลาด E-commerce ซึ่งกลายเป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการในกลุ่มห้างสรรพสินค้าหันมาทำการตลาดผ่าน Omnichannel เพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่การนำเสนอสินค้าหรือแบรนด์ที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมาซื้อที่ร้านของตนมากขึ้น

สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย นอกเหนือไปจากปัจจัยฉุดรั้งจากภาวะตลาดอสังหาฯ ที่ซบเซาแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น กดดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องชูจุดขายของตนเองเพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาด ตัวอย่างเช่น การเพิ่มประเภทของสินค้าให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการนำเสนอสินค้า House brand ที่มีราคาต่ำกว่าเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น รวมไปถึงการให้บริการหลังการขายเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการซื้อของที่หน้าร้าน

กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ยังอาจพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ทั้งทางหน้าร้านและทางออนไลน์เพื่อสร้างประสบการณ์ในการช็อปปิง ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีอย่าง AR/VR ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเห็นภาพเสมือนจริงว่าเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านต่าง ๆ จะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อวางในพื้นที่จริง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเลือกซื้อสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดเวลามากขึ้น เป็นต้น สำหรับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยยังต้องเผชิญการแข่งขันจากร้านค้าจากต่างประเทศ อย่าง IKEA และ Nitori ที่จำหน่ายสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กดดันให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าตกแต่งที่อยู่อาศัยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจาก Platform marketplace ที่มาจากต่างประเทศอีกด้วย

อนาคตค้าปลีกของไทย

ในระยะต่อไป การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากผู้เล่นในตลาด E-commerce ทั้ง Platform marketplace ในประเทศ รวมถึงการเข้ามาของ Marketplace สัญชาติจีนอย่าง Temu และ Shein ที่มีความได้เปรียบจากสินค้าที่มีความหลากหลายและสินค้ามีราคาไม่สูง ส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าปลีกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าเกี่ยวกับบ้านและกลุ่มสินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคอาจไม่ได้คาดหวังให้สินค้าเหล่านี้มีการใช้งานนาน จึงเน้นการซื้อสินค้าราคาถูกและสามารถซื้อซ้ำได้บ่อย ๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์ได้ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กำลังซื้อยังเปราะบาง

ดังนั้น กลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ขายสินค้าเฉพาะทาง อย่างกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินค้าแฟชั่น ควรเน้นการปรับตัวด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีเอกลักษณ์และคุณภาพสูง เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ยินดีจ่ายเพื่อสินค้าที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืน

อนึ่ง ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนยังคงเป็นกระแสหลักที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เนื่องจากได้รับความสนใจมากขึ้นจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภคที่สนใจในความยั่งยืนมากขึ้น รวมไปถึงแรงกดดันจากการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก อีกทั้ง ภาครัฐยังผลักดันเพื่อมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้ประเด็นด้าน ESG เข้ามามีบทบาทสำคัญกับธุรกิจ Modern trade ถึงแม้ผู้ประกอบการค้าปลีกจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมมากที่สุด ซึ่งธุรกิจเองไม่สามารถควบคุมได้ แต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ได้มีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้ถุงพลาสติก ปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานสะอาดอย่างการติดตั้ง Solar rooftop รวมไปถึงการส่งเสริม Circular economy ตลอดจนการสนับสนุนผู้ประกอบการและสินค้า Local มากขึ้น และการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เป็นอีกกลยุทธ์สำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน ทั้งนี้จากผลสำรวจของ SCB EIC พบว่าผู้บริโภคชาวไทยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ราคาสินค้าที่สูงและตัวเลือกที่น้อยยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่เผชิญอยู่ โดยพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีจ่ายเงินสำหรับสินค้าที่มีความยั่งยืนเพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จากราคาสินค้าปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พร้อมที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีความยั่งยืนโดยเฉพาะสินค้าที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น มีการออกแบบที่คำนึงถึงเรื่อง Eco-design อย่างบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในประเด็นด้านความยั่งยืนมากที่สุด คืออาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ธุรกิจค้าปลีกควรปรับตัวโดยให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าพร้อมกับการเน้นจุดขายด้านความยั่งยืน มีกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มลูกค้า ซึ่งอาจจะนำเสนอสินค้าที่หลากหลายและตัวเลือกราคาที่มากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขาย