ThaiPublica > คอลัมน์ > อีกต้นทุนของรอยสัก

อีกต้นทุนของรอยสัก

26 เมษายน 2025


วรากรณ์ สามโกเศศ

หนุ่มสาวที่ร่างกายเต็มไปด้วยรอยสักอย่างภาคภูมิใจในศิลปะส่วนตัวและ “ความเจ๋ง” เหมือนดาราและคนในโลกตะวันตก ควรรับฟังข้อค้นพบทางการแพทย์ที่มีออกมาเนือง ๆ ว่าการสักอาจทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นมะเร็ง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ผู้ที่คิดกำลังจะสักและผู้มีรอยสักอยู่แล้วคงต้องใคร่ครวญ หากไม่อยากมีชีวิตที่มีสุขภาพดีสั้นกว่าที่ควรจะเป็น

การสักมีต้นทุนที่สูงพอควรอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจสำหรับผู้ต้องการเสรีภาพบนร่างกายของเขา คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับการต่อสู้ระหว่าง “ขนบธรรมเนียม” กับ “ค่านิยม” จนเกิดต้นทุนที่สูง

“ขนบ” หมายถึง แบบอย่างแผนหรือระเบียบ ดังคำว่า “ขนบธรรมเนียม” ซึ่งหมายถึง “แบบอย่างที่นิยมกันมา” แต่ละสังคมมี “ขนบ” ในเรื่องต่าง ๆ เช่นการพูด การแต่งกาย และการใช้ชีวิต ฯลฯ ที่ถือกันว่าเป็นบรรทัดฐาน (norm) เเละเปลี่ยนแปลงได้ยาก ตัวอย่างเช่นสังคมไทยถือว่าการพูดคำสุภาพในที่สาธารณะ การไม่มีรอยสักนอกร่มผ้า การใช้ภาษาอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับกาละเทศะ การมีมารยาท ฯลฯ เป็น ”ขนบนิยม” ซึ่งไม่มีใครเขียนไว้ แต่เป็นที่รู้กันโดยสืบทอดกันมาในสังคม

อย่างไรก็ดี “ค่านิยม” ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่บุคคลหรือสังคมยึดถือเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจ และกำหนดการกระทำของตนเอง” นั้นไม่มีบรรทัดฐานหรือ norm ที่ตายตัว มันเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ตัวอย่างเช่นเรื่องการสักบนร่างกาย หากจะว่าไปเเล้วการสักเป็น “ขนบนิยม” โบราณที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรม คนในอุษาคเนย์นิยมการสักยันตร์เหมือนลงคาถาอาคม อย่างไรก็ดีในยุคอิทธิพลฝรั่งเมื่อประมาณ100กว่าปีที่ผ่านมา กะลาสีเรือ ผู้ใช้แรงงาน นักเลงอันธพาล คนคุก ฯลฯ นิยมสักกัน ดังนั้น “ขนบนิยม” ของสังคมโลกและสังคมไทยที่มีต่อการสักจึงเปลี่ยนเป็นไปในทางลบ

อย่างไรก็ดีในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา การสักเป็นที่นิยมในหมู่ดารานักแสดง นักร้องในสังคมตะวันตก คนไทยก็เริ่มนิยมการสักมากขึ้นจนกลายเป็น “ค่านิยม” ของคนส่วนหนึ่ง แต่ “ขนบนิยม” ของสังคมไทยไม่สั่นคลอนไปตาม “ค่านิยม” ของการสักนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือใครที่มีรอยสักบนร่างกาย โดยเฉพาะในบริเวณที่คนอื่นเห็นได้โดยง่ายถูกมองอย่างดูแคลนว่าเป็นคนคุก คนแปลกแยก มีประวัติที่ “กร้านชีวิต” “โลดโผน” “เฮ้ว” (ผู้หญิงจะดูเสียหายมาก) มีวิจารณญาณที่ไม่ดี เป็นคนที่ไม่เต็มบาท ฯลฯ จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเเละเกิดข้อเสียเปรียบในเรื่องความไว้วางใจหรือความสัมพันธ์กับคนอื่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น การร่วมงาน การรับเข้าทำงาน การร่วมลงทุน การทำธุรกิจ ฯลฯ

ล่าสุดมีข่าวในสื่อต่างประเทศว่า Lund University ในสวีเดน วิเคราะห์ข้อมูลระหว่างปี 2007-2011 จาก 11,205 คน อายุระหว่าง 20-60 ปี พบว่าผู้มีรอยสักมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 21% ในการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนังเมื่อเทียบกับผู้ไม่มีรอยสัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เพิ่งมีรอยสักในรอบ 2 ปี และผู้มีรอยสักครั้งแรกมากกว่า 11 ปีมาแล้ว

สาเหตุหลักอาจมาจากหมึกที่ใช้สัก เมื่อซึมเข้าไปในร่างกายก็จะเป็นสิ่งแปลกปลอม ระบบภูมิคุ้มกันจึงมีปฏิกริยาตอบโต้ เศษเล็กมาก ๆ ของหมึกหลุดไปสะสมที่ต่อมน้ำเหลืองจนทำให้เกิดการอักเสบอยู่นานและนำไปสู่มะเร็งในที่สุด

บางชนิดของหมึกดำที่ใช้ในการสักมาจากคาร์บอนซึ่งเป็นสารเคมีที่ทราบกันดีว่าก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้บางชนิดของหมึกมีส่วนผสมของโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ปรอท สารหนู นิกเกิล ตะกั่ว ฯลฯ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งด้วย โลหะหนักเหล่านี้ใช้ในการสัก สีแดง เขียว น้ำเงิน และเหลือง

องค์กรระดับชาติ และโลกยังไม่มีระเบียบควบคุมหมึกที่ใช้ในการสักกันอย่างชัดแจ้ง ดังนั้นจึงต้องระวังมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่เกิดน้อย และมะเร็งผิวหนังนั้นสำหรับคนเอเซียที่มีผิวไม่เข้มมากนักมีโอกาสเป็นน้อยกว่าคนคอเคเชียน (ฝรั่งผิวขาว) และคนผิวสี (อาฟริกัน) ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า งานศึกษาเหล่านี้อยู่ในขั้นต้นเท่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยที่ลึกซึ้งกว่านี้ อย่างไรก็ดีเป็นที่เชื่อกันในวงการเเพทย์ปัจจุบันว่าการสักทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเป็นมะเร็ง

ผมได้ลองไปค้นคว้าดูว่าการลบรอยสักทำได้ง่ายเพียงใดก็พบว่าโดยทั่วไปเเล้วเป็นเรื่องยากแม้แต่การใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ดังเป็นที่นิยมในปัจจุบันก็ตาม ความยากง่ายอยู่ที่ความลึกของการสัก อายุของรอยสัก ลักษณะและสีของผิวหนัง สีของรอยสัก ขนาด และตำแหน่งของรอยสัก ฯลฯ

วิธีลบเดิมคือ ผ่าตัดผิวหนังเเต่ก็มีรอยแผลเป็น และใช้ได้กับรอยสักเล็ก ๆ ส่วนการขัดด้วยทราย ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมก็ไม่ได้ผลเพราะเกิดแผลเป็นและลบไม่ได้หมด ส่วนการทาครีมลบรอยนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง

สีดำและน้ำเงินเเก่นั้นง่ายกว่าเพื่อนในการลบด้วยแสงเลเซอร์ ยากขึ้นเป็นลำดับคือสีแดง เขียวแก่ เขียวสด ม่วง เหลืองและส้ม ที่ยากสุดจนอาจลบไม่ได้คือ สีขาว และสีสะท้อนแสง การลบใช้เวลา 6-12 ครั้ง แต่ละครั้งต้องห่างกัน 6-8 อาทิตย์ และเสียเงินมาก หากมีรอยสักทึบเป็นบริเวณกว้างขวาง การลบทั้งหมดเป็นไปไม่ได้เลย

การสักเป็นการตัดสินใจที่สำคัญ ก่อนการสักควรคำนึงถึงต้นทุนด้านสุขภาพพร้อมตระหนักว่ารอยสักเปรียบเสมือนอายุที่หมุนกลับไปไม่ได้ เเละสามารถสร้างความเข้าใจผิดได้เสมอ หากต้องการมีรอยสักเพื่อความเก๋ ที่ง่ายและถูกคือ ติดสติกเกอร์ มันจะอยู่ได้นานเป็นอาทิตย์ หมุนเวียนเปลี่ยนลายได้ตามใจชอบและตามรสนิยมของยุคสมัยครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 22 เม.ย. 2568