ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเปิดตัว FTA Index วัดการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี

ASEAN Roundup เวียดนามเปิดตัว FTA Index วัดการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี

13 เมษายน 2025


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 เมษายน 2568

  • เวียดนามเปิดตัว FTA Index วัดการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี
  • สวิตเซอร์แลนด์บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับมาเลเซีย
  • มาเลเซียขอจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ นัดพิเศษหารือประเด็นภาษีศุลกากร
  • เวียดนาม-สหรัฐฯบรรลุข้อตกลงที่จะเจรจาภาษี
  • กัมพูชา-สหรัฐฯ เปิดเจรจาภาษีศุลกากรเร็วๆนี้
  • มาเลเซียเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและจีนครั้งแรก
  • อินโดนีเซียตั้งเป้าส่งออกข้าวทั่วโลก คาดมีข้าวเกิน 12 ล้านตัน

    เวียดนามเปิดตัว FTA Index วัดการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าเสรี

    ที่มาภาพ: https://en.baochinhphu.vn/viet-nam-releases-first-fta-index-111250409095513158.htm

    เมื่อวันที่ 8 เมษายนในกรุงฮานอย เวียดนามได้เปิดตัว FTA Index ซึ่งเป็นดัชนี FTA ชุดแรกที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เพื่อเป็นเครื่องมือในการวัดการนำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA)ไปใช้ ในระดับท้องถิ่นและระดับธุรกิจ อีกทั้งยังให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นกลางแก่รัฐบาล หน่วยงานกลาง และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ตรวจสอบ และบริหารจัดการการบูรณาการทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นรากฐานสำหรับการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาในท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้การส่งออกเติบโตอย่างยั่งยืน

    ดัชนี FTA มีพื้นฐานด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ การเผยแพร่และสนับสนุน การนำกฎหมายเกี่ยวกับ FTA ไปปฏิบัติ การสนับสนุนนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปฏิบัติตามพันธกรณีในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    ในดัชนี FTA พื้นที่ที่มีคะแนนสูงสุดในปี 2567 ได้แก่ ก่าเมา ทัญฮว้า บิ่ญเซือง คั้ญฮว่า จ่าวิญ ลองอาน ห่าซาง บั๊กเลียว นิญบิ่ญ และเดียนเบียน

    ดัชนี FTA ปี 2567 มีคะแนนเฉลี่ย 26.20 คะแนนจาก 63 จังหวัดและเมือง ในขณะที่พื้นที่ที่มีคะแนนต่ำสุดได้เพียง 14.49 คะแนน ซึ่งบ่งชี้ถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างพื้นที่ต่างๆ ในด้านความสามารถในการดำเนินการตามพันธกรณีการบูรณาการ

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามกล่าวในงานเปิดตัว FTA Index ว่า รัฐบาลจะยังคงใช้ข้อได้เปรียบของ FTA ให้เป็นประโยชน์สูงสุด เสริมสร้างความมุ่งมั่นระหว่างประเทศ ขยายตลาด ทำข้อตกลงการค้าใหม่กับพันธมิตรที่มีศักยภาพ และสร้างความหลากหลายให้กับตลาดและห่วงโซ่อุปทาน

    การนำ FTA ไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลนั้นไม่เพียงแต่จะบรรลุตามพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิรูปภายในประเทศ การขยายตลาด และการสร้างความหลากหลายอีกด้วย

    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ทศวรรษของกระบวนการปฏิรูป ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างการป้องกันประเทศ ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประชาชน เวียดนามยังคงยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวกับเอกราช การพึ่งพาตนเอง ความหลากหลาย และพหุภาคี เป็นมิตรที่ดีและเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสันติภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนาในภูมิภาคและโลก เวียดนามกำลังสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้ ขณะเดียวกันก็บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างแข็งขันและเชิงรุก

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ยืนยันว่า การบูรณาการเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าและก้าวข้ามความก้าวหน้าด้านการพัฒนาได้ แต่ต้องไม่แลกมาด้วยต้นทุน การบูรณาการทางเศรษฐกิจต้องเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยต้องสร้างผลประโยชน์ที่สมดุลและแบ่งปันความเสี่ยง การส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโต แต่ไม่ใช่จุดเน้นเพียงอย่างเดียว และเวียดนามต้องขยายตลาดให้กว้างไกลออกไปนอกคู่ค้าหลักเพียงไม่กี่ราย

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ย้ำว่า การนำข้อตกลงการค้าเสรีไปใช้อย่างมีประสิทธิผลนั้นไม่เพียงแต่จะบรรลุตามพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิรูปภายในประเทศ การขยายตลาด และความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่างๆ ยังคงมีอยู่ เช่น ความตระหนักรู้ในระดับท้องถิ่นที่จำกัด ความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและสินค้าที่อ่อนแอ การใช้ข้อตกลงการค้าเสรีที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และความเชื่อมโยงที่อ่อนแอระหว่างการบูรณาการกับคุณภาพ ประสิทธิภาพ และยกระดับความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

    นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงทั้งโอกาสและความท้าทายในการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับโลก และเรียกร้องให้มีการปรับตัวอย่างยืดหยุ่น ทันท่วงที และมีประสิทธิผล โดยกล่าวว่าการใช้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงการค้าเสรีเป็นแนวทางสำคัญในการรักษาการเติบโตและยกระดับสถานะของเวียดนามในระดับโลก

    ผู้นำรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเพื่อปรับปรุงเครื่องมือนี้ให้สมบูรณ์แบบเพื่อการพัฒนาประเทศ

    เวียดนามได้ลงนามและดำเนินการ FTA จำนวน 17 ฉบับกับพันธมิตรมากกว่า 60 รายในทั้ง 5 ทวีป จากข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) จนถึงช่วงต้นปี 2568 มี FTA ประมาณ 328 ฉบับที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 98 ฉบับในปี 2543

    เวียดนามประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เกือบ 38,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่แข็งแกร่งของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเบิกจ่ายเงินของ FDI พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 25,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับปี 2566 เวียดนามได้รับการลงทุนจาก 114 ประเทศและเขตการปกครอง โดยสิงคโปร์เข้ามาลงทุนเกือบ 10,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือเกาหลีใต้ที่ 7,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    จังหวัดบั๊กนิญทางตอนเหนือเป็นจังหวัดที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดรวมจำนวน 5.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาคือเมืองไฮฟองที่ได้รับเงินลงทุน 4.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมืองโฮจิมินห์ที่ได้รับเงินลงทุน 3.04 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    สวิตเซอร์แลนด์บรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับมาเลเซีย

    ที่มาภาพ: https://www.swissinfo.ch/eng/swiss-politics/switzerland-concludes-free-trade-agreement-with-malaysia/89148392
    สวิตเซอร์แลนด์ได้ขยายเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีออกไปอีก โดยร่วมกับประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป(European Free Trade Association: EFTA) อื่นๆ ได้บรรลุข้อตกลงกับมาเลเซีย รัฐบาลได้ ประกาศเมื่อวันศุกร์ (11 เมษายน) ที่ผ่านมา

    มาเลเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ข้อตกลงใหม่นี้เปิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับบริษัทสวิส สำนักงานเลขาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ (State Secretariat for Economic Affairs :SECO) ทวีตข้อความว่า “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ข้อตกลงการค้าเสรีได้ข้อสรุป”

    รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ นายกี ปาร์เมอแล็ง ยังได้แสดงความคิดเห็นใน X ว่า “ข้อตกลงนี้จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าของเรา เปิดตลาดที่ดีขึ้นให้กับบริษัทของเรา และให้การรับประกันที่แข็งแกร่งสำหรับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงาน”

    ตามคำแถลงของสำนักงานเลขาธิการ EFTA ข้อตกลงนี้จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและเพิ่มการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังรวมถึงพันธกรณีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สิทธิมนุษยชน แรงงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

    มาเลเซียขอจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ นัดพิเศษหารือประเด็นภาษีศุลกากร

    เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศมาเลเซีย ที่มาภาพ : https://www.ditp.go.th/ja/post/137516
    มาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้ร้องขอผ่านกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้มีการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นกรณีพิเศษเพื่อหารือประเด็นภาษีศุลกากร

    เต็งกู ดาโต๊ะ สรี ซาฟรูล อับดุล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ยืนยันว่าผู้นำอาเซียนทุกคนเห็นพ้องที่จะเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในระหว่างการประชุมสุดยอด

    “เลขาธิการอาเซียนได้แจ้งให้ผมทราบแล้วว่าขณะนี้เรากำลังรอให้สหรัฐฯ ตอบกลับพร้อมกำหนดวัน” เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อวันที่ 11 เมษายนตามรายงานของ สำนักข่าว Bernama

    รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม ย้ำว่าอาเซียนไม่เชื่อในการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ และเน้นย้ำว่ากลุ่มการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการที่จะร่วมมือกับวอชิงตันต่อไป

    สำหรับมาเลเซียเอง เต็งกู ซาฟรูลกล่าวว่า กำลังใช้แนวทางทั้งทวิภาคีและพหุภาคี

    “เรายังเห็นด้วยว่าระบบการค้าพหุภาคีที่มีพื้นฐานตามกฎเกณฑ์เป็นสิ่งที่มาเลเซียเลือก”

    “เรามีเจ้าหน้าที่ของเราในกรุงวอชิงตัน ทั้งจากกระทรวงและสถานทูตของเรา ที่กำลังติดต่อกับสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของเรายังได้ติดต่อกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ด้วย” เต็งกู ซาฟรูลกล่าวพร้อมระบุว่า อัตราภาษีศุลกากรที่มาเลเซียที่ใช้กับสหรัฐฯโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6%

    ในขณะเดียวกันเต็งกู ซาฟรูล กล่าวว่า มาเลเซียได้ดำเนินการเชิงรุกกับทางการและบริษัทของสหรัฐฯ โดยเสนอข้อตกลงคุ้มครองเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเพื่อให้มั่นใจว่าห่วงโซ่อุปทานจะมีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง

    เต็งกู ซาฟรูลกล่าวว่า ความเต็มใจของมาเลเซียในการเสนอข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทของสหรัฐฯ

    “สิ่งหนึ่งที่ต้องจำไว้คือ บริษัทหลายแห่งที่ดำเนินกิจการในมาเลเซียและส่งออกไปยังสหรัฐฯ ก็เป็นบริษัทของสหรัฐฯ เช่นกัน

    “ดังนั้น เราจึงกำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทของสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลกระทบหากเซมิคอนดักเตอร์รวมอยู่ในรายการภาษีศุลกากรที่จะเรียกเก็บด้วย” เต็งกู ซาฟรูลกล่าว

    เต็งกู ซาฟรูลย้ำว่า 30% ของการส่งออกของมาเลเซียไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่อีก 30% เป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E)

    เมื่อถูกถามว่าสภาพแวดล้อมภาษีศุลกากรทั่วโลกที่กว้างขึ้นจะส่งผลกระทบต่อแผนแม่บทอุตสาหกรรมของมาเลเซียหรือไม่ เต็งกู ซาฟรูลยอมรับถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

    “เรากำลังศึกษาผลกระทบเนื่องจากมาเลเซียเป็นเศรษฐกิจที่เปิดกว้างอย่างมาก เราเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และผลิตภัณฑ์ E&E รายใหญ่ ดังนั้น จากการคำนวณของเรา ผลกระทบเชิงลบจะเกิดขึ้น ไม่เพียงแต่เพราะภาษีศุลกากรในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษีศุลกากรที่เก็บจากจีนด้วย เนื่องจากบริษัทในสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง รวมถึงบริษัทในมาเลเซียที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ส่งออกไปยังสหรัฐฯเพียงที่เดียว” เต็งกู ซาฟรูลกล่าว

    ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการแยกตัว(decoupling)ของเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในด้านปัญญาประดิษฐ์และการผลิตชิป เต็งกู ซาฟรูลเตือนว่า การแยกตัวจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และห่วงโซ่อุปทานก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

    “เราได้เห็นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาคือต้นทุนจะเพิ่มขึ้น และเราก็เห็นแนวโน้มนี้ ผมคิดว่าต้นทุนจะสูงขึ้นอีกเมื่อมีการกำหนดภาษีศุลกากรต่อจีนและส่วนอื่นๆ ของโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานด้วย” เต็งกู ซาฟรูลกล่าว

    เวียดนาม-สหรัฐฯบรรลุข้อตกลงที่จะเจรจาภาษี

    รองนายกรัฐมนตรีเวียดนามโฮ ดึ๊ก ฟุก พบกับนายโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐ ที่มภาพ:https://en.baochinhphu.vn/deputy-prime-minister-ho-duc-phoc-met-scott-bessent-howard-lutnick-11125041109270113.htm

    รองนายกรัฐมนตรีโฮ ดึ๊ก ฟุก แห่งเวียดนามในระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐ ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโต เลิ่มได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ฮาวเวิร์ด ลุตนิก

    ในการประชุมกับรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ รองนายกรัฐมนตรีโฮ ดึ๊ก ฟุก ยืนยันว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้านกับสหรัฐฯ และปรารถนาที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีในลักษณะที่สมดุล ปรองดอง และยั่งยืน

    รองนายกรัฐมนตรีโฮ ดึ๊ก ฟุก กล่าวชื่นชมการที่ทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงที่จะมีการเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าแบบตอบแทน โดยเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงในเร็วๆ นี้

    รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ กล่าวว่า เวียดนามได้ดำเนินมาตรการเชิงบวกเพื่อแก้ไขปัญหาที่สหรัฐฯ กังวล และบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าคณะเจรจากับเวียดนาม

    นายเบสเซนต์ เชื่อว่าในไม่ช้า ทั้งสองประเทศจะหาทางออกที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และให้คำมั่นว่าจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเวียดนามในกระบวนการเจรจา

    ในระหว่างการพบปะกับนายโฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีโฮ ดึ๊ก ฟุก เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อตกลงของทั้งสองประเทศในการเริ่มการเจรจาข้อตกลงการค้าซึ่งกันและกัน

    รองนายกรัฐมนตรีโฮ ดึ๊ก ฟุก ยินดีที่ได้เห็นการพัฒนาในเชิงบวกของความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา และคาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน ซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเป็นเสาหลักสำคัญ

    รองนายกรัฐมนตรีเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามในระหว่างกระบวนการเจรจา

    นายลุตนิก ยืนยันว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์กับเวียดนาม โดยกล่าวว่าเวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงและเป็นหุ้นส่วนสำคัญของสหรัฐฯ
    และสัญญาว่าจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเวียดนามในระหว่างกระบวนการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงที่เอื้อต่อการพัฒนาในทั้งสหรัฐฯ และเวียดนาม

    กัมพูชา-สหรัฐฯ เปิดเจรจาภาษีศุลกากรเร็วๆนี้

    นายซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรี กัมพูชา ที่มาภาพ:https://www.cpp.org.kh/en/details/402905
    กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเผยแพร่แถลงการณ์ในวันที่ 10 เมษายนว่า สหรัฐฯตกลงตามข้อเสนอของกัมพูชา ที่จะเจรจาในประเด็นภาษีศุลกากร

    แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่รัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งกระทรวงและสถาบันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการจัดเก็บภาษีศุลกากรร่วมกันของสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด และกำลังดำเนินการหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับสหรัฐอเมริกา

    “รัฐบาลของกัมพูชาได้รับการตอบรับเชิงบวกต่อคำขอเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน หลังจากได้ออกจดหมายตอบกลับทันทีผ่านจดหมายของฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรกัมพูชา ลงวันที่ 4 เมษายน 2568 และจดหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จอม นิมล ในวันเดียวกัน” แถลงการณ์ระบุ

    แถลงการณ์แสดงให้เห็นถึงความสุจริตใจของกัมพูชาในการเจรจาหาแนวทางแก้ไขร่วมกันและการมุ่งมั่นที่จะลดภาษีจาก 35% เหลือ 5% สำหรับสินค้าสหรัฐฯ จำนวน 19 ประเภทที่นำเข้าสู่กัมพูชาโดยทันที

    แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่าคณะทำงานเฉพาะกิจเจรจาที่มีกระทรวงและสถาบันเข้าร่วมและนำโดยนายซุน จันทอล รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานคนแรกของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา และฝ่ายสหรัฐฯ จะเปิดการเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ในเร็วๆ นี้

    ความคืบหน้านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ระงับภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วันในวันพุธ(9 เมษายน)สำหรับทุกประเทศ รวมถึงกัมพูชาด้วย

    อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากภาคธุรกิจต่างๆ ในกัมพูขาเชื่อว่าเส้นทางข้างหน้านั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก

    นักธุรกิจชาวอเมริกันซึ่งอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรมาเป็นเวลานาน กล่าวกับสำนักข่าว Khmer Times ว่า การตัดสินใจระงับการบังคับใช้ภาษีของสหรัฐฯครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความกังวลต่อประเทศต่างๆ เช่น กัมพูชา แต่เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวอเมริกันเริ่มสูญเสียเงินในตลาดหุ้น การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ และด้านอื่นๆ

    นักธูรกิจรายนี้กล่าวว่าประเทศต่างๆ ต้องประเมินรูปแบบการค้ากับสหรัฐฯ อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาโอกาสและตลาดใหม่ๆ

    “BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนเป็นตัวอย่างชัดเจน โดยขณะนี้บริษัทกำลังก้าวล้ำหน้า Tesla และประสบความสำเร็จในการไม่เพียงเจาะตลาดสหรัฐฯเท่านั้น แต่สามารถสร้างสถานะในตลาดเกิดใหม่หลายแห่งได้สำเร็จ”

    นอกจากนี้ยังชี้ว่ากัมพูชา แม้จะพบห่วงโซ่มูลค่าใหม่ๆ ก็ตาม จะต้องเน้นที่ห่วงโซ่มูลค่าสูง ไม่ใช่ห่วงโซ่มูลค่าต่ำ “โลกกำลังเปลี่ยนแปลง และมีตลาดเกิดใหม่หลายแห่งที่มีความสามารถในการรองรับสินค้าจากกัมพูชา และความท้าทายนี้ควรได้รับการมองว่าเป็นโอกาสในการสำรวจเส้นทางนั้น” และชี้ว่าหนทางที่จะเอาชนะความท้าทายนี้อยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ การเปลี่ยนตลาดส่งออก การกระจายความเสี่ยงของอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างสังคมแห่งความรู้ให้ประสบความสำเร็จ

    โรเบิร์ต ฮวาง รองประธานสมาคมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเดินทางของกัมพูชา (Textile, Apparel, Footwear and Travel Goods Association of Cambodia:TAFTAC) และประธานสถาบันฝึกอบรมเครื่องนุ่งห่มกัมพูชา(Cambodian Garment Training Institute) กล่าวกับ Khmer Times ว่า TAFTAC เห็นว่าการระงับภาษีศุลกากร 90 วันนั้นช่วยบรรเทาความกังวลได้มาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาษีศุลกากรเพิ่งจะถูกระงับไป จึงให้ความสนใจการเจรจาระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลสหรัฐฯ ในอนาคต

    “เราเชื่อด้วยว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนมีความสำคัญมากในการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ เรายังหวังว่ารัฐบาลจะสนับสนุนคำขออย่างต่อเนื่องของเรา เช่น การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ลดอัตราค่าไฟฟ้า และอนุญาตให้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์โดยไม่ต้องชดเชย”

    วิกาส เรดดี้ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ กล่าวว่า พัฒนาการนี้ถือเป็นข่าวดีสำหรับกัมพูชาและประเทศอาเซียนอื่นๆ “ผมมองในแง่ดีว่ากัมพูชาและประเทศอาเซียนอื่นๆ สามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นมิตรได้ภายในระยะเวลา 90 วันนี้ เนื่องจากไม่มีประเทศใดเลยที่ใช้มาตรการตอบโต้ และอาเซียนต้องการสหรัฐฯ มากพอๆ กับที่สหรัฐฯ ต้องการอาเซียน”

    มาเลเซียเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและจีนครั้งแรก

    ที่มาภาพ: https://www.pmo.gov.my/2024/01/photo-gallery-assembly-with-staff-of-the-finance-ministry/

    มาเลเซียเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ในเดือนหน้าด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC)-จีน

    นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะเป็นการรวมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดและประเทศอ่าวอาหรับ 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน โอมาน คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย และจีนได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนคาดว่าจะเดินทางเยือนมาเลเซียพร้อมกับการประชุมสุดยอดครั้งนี้

    “ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า ภายในสิ้นเดือนหน้า มาเลเซียจะสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ” นายอันวาร์กล่าว

    “นี่เป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมสุดยอดดังกล่าว ซึ่งมีผู้นำจากอาเซียนและประเทศอ่าวอาหรับเข้าร่วม การเป็นเจ้าภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการรักษาความสัมพันธ์อันเป็นมิตรกับทุกประเทศ

    “มาเลเซียยังได้ส่งคำเชิญไปยังจีนด้วย เนื่องจากแนวทางของเรามีความครอบคลุมและเปิดกว้าง” นายอันวาร์กล่าว

    ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ดาโต๊ะ สรี โมฮัมหมัด ฮะซัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าการประชุมสุดยอดอาเซียน-GCC(Asean-GCC Summit ) คาดว่าจะช่วยสร้างพันธมิตรไตรภาคีที่แข็งแกร่งและปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลสำหรับความร่วมมือพหุภาคีในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากทั้งสามกลุ่มประเทศต่างมีจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

    “GCC มีทุนจำนวนมาก อาเซียนอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพในการพัฒนา และจีนมีตลาดที่ใหญ่” นายโมฮัมหมัดกล่าว และว่าหากความร่วมมือนี้ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ อาเซียน GCC และจีนอาจก่อตั้งกลุ่มใหม่ที่แข็งแกร่งซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก

    อินโดนีเซียตั้งเป้าส่งออกข้าวทั่วโลก คาดสำรองข้าวเกิน 12 ล้านตัน

    นายอันดี อัมราน สุไลมาน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร อินโดนีเซีย ที่มาภาพ:https://jakartaglobe.id/business/indonesia-eyes-global-rice-export-market-with-projected-12-million-ton-surplus

    อินโดนีเซียกำลังจะบรรลุเป้าหมายปริมาณข้าวสำรองเกินถึง 12 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งช่วยเสริมความมุ่งหวังที่จะเป็นผู้เล่นหลักในตลาดส่งออกข้าวของโลก นายอันดี อัมราน สุไลมาน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์( 11 เมษายน)

    ณ วันที่ 10 เมษายน หน่วยงานโลจิสติกส์ของรัฐ Bulog ได้รับข้าวเพิ่มอีกเทียบเท่ากับ 840,000 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2,000% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันสต๊อกข้าวในโกดังของ Bulog อยู่ที่ 2.4 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านตันภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งอาจสร้างสถิติใหม่ของประเทศ

    “เราเห็นผลแล้ว” นายอัมรานกล่าวกับผู้สื่อข่าว “ปริมาณสำรองข้าวของเรามั่นคง และเราพร้อมที่จะเป็นผู้ส่งออก”

    รัฐบาลกำลังเร่งเพิ่มผลผลิตผ่านโครงการสำคัญหลายประการ เช่น การปรับปรุงพื้นที่ การขยายพื้นที่นาข้าวใหม่ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดหาปุ๋ย นอกจากนี้ ราคาขั้นต่ำสำหรับข้าวเปลือกยังได้รับการปรับขึ้นเป็น 6,500 รูเปียะฮ์ (0.39 ดอลลาร์) ต่อกิโลกรัม ซึ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับเกษตรกร

    นายอัมรานกล่าวว่าโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะระบบชลประทาน ถนนในไร่นา และเครื่องอบแห้ง ซึ่งมีความต้องการสูงในภูมิภาคที่ผลิตข้าว นอกจากนี้ ภาคการแปรรูปปลายน้ำยังพร้อมขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่ที่เคยรองรับการเก็บเกี่ยวได้ปีละ 1 ครั้ง ปัจจุบันมีการเพาะปลูกมากถึง 3 ครั้งต่อปี

    ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การรับข้าวประจำปีของ Bulog อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านตัน ในไตรมาสแรกของปี 2568 เพียงไตรมาสเดียว การรับข้าวเข้าโกดังก็มีจำนวนได้เกือบเท่าของปีก่อนแล้ว คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 2 ล้านตันภายในสิ้นเดือนเมษายน

    รัฐบาลตั้งเป้าพื้นที่นาข้าวใหม่ 3 ล้านเฮกตาร์ หากสามารถขยายพื้นที่ได้ครึ่งหนึ่ง และแต่ละเฮกตาร์สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ 2 ครั้งต่อปี โดยเก็บเกี่ยวได้ครั้งละ 10 ตัน ประเทศอาจเก็บเกี่ยวได้ถึง 30 ล้านตัน ซึ่งจะปูทางไปสู่ผลผลิตส่วนเกิน 12 ล้านตัน แนวโน้มที่สดใสนี้เกิดขึ้นหลังจากที่อินโดนีเซียนำเข้าข้าว 4.52 ล้านตันในปี 2567 เพิ่มขึ้น 47% จาก 3.06 ล้านตันในปี 2566 ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติกลาง ซึ่งทำให้ปริมาณการนำเข้าข้าอินโดนีเซียสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา

    “สิ่งสำคัญคือต้องไม่มีใครเข้ามาแทรกแซง เพราะมีบางคนไม่พอใจเมื่ออินโดนีเซียสามารถพึ่งพาตนเองได้” นายอัมรานกล่าว “เราสามารถส่งออกข้าวได้ และนั่นคือข้อเท็จจริง”

    ยุทธศาสตร์ดังกล่าวสอดคล้องกับวาระประเทศด้านอาหารของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งรวมถึงการบรรลุการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของประเทศ การเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ และการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำด้านการเกษตร

    “เรากำลังทำงานภายใต้การบังคับบัญชาจากที่เดียวซึ่งนำโดยประธานาธิบดี” นายอัมรานกล่าว “ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียทำให้เรามีความได้เปรียบ เราไม่มีฤดูหนาว ซึ่งทำให้เราสามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี ความท้าทายในตอนนี้คือการใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

  • ป้ายคำ :