จิตเกษม พรประพันธ์*
ผู้เขียนได้มาเยี่ยมเยือน อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ระหว่าง 15-17 ก.พ. 2568 เพื่อลงพื้นที่พบผู้ประกอบการตามโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program) และร่วมประชุมกับหอการค้าภาคใต้ 14 จังหวัด รับฟังสถานการณ์ SME และภาวะการค้าการลงทุนจังหวัดชายแดน ก็เลยมีโอกาสและเป็นผลพลอยได้ตระเวนชมเมืองทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบพหุวัฒนธรรมของคนไทยจีนพุทธ และไทยมุสลิม ส่วนคนมาเลย์ที่ข้ามมามีทั้งมุสลิมและจีน พวกเขาใช้ชีวิตในเมืองนี้กินอยู่ผสมผสานกันอย่างลงตัว บทความนี้เป็นบทความเบาสมองแต่หนักท้องนิดนึงโดยเล่าบรรยายภาพจุดเช็คอินในเมืองและแนะนำร้านอาหารและรายการอาหารที่ได้ลองชิมครับ
โก-ลกไม่คราคร่ำวุ่นวายนัก หลังจากทางการมาเลเซียปิดจุดผ่อนปรนชายแดน 7 จุดบริเวณจังหวัดนราธิวาสปลายปีก่อน ทำให้การข้ามมาของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และไปมาหาสู่ทางธรรมชาติของพี่น้องไทย-มาเลย์โดยข้ามฟากระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโก-ลก ไม่สะดวก ส่งผลกระทบกับโรงแรมและร้านค้าซบเซา ขณะที่สถานบันเทิงยอดฮิตต้องปิดตัวลง เหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 8 มี.ค. 2568 ยิ่งซ้ำเติมให้ภาพบรรยากาศแย่ลงไปอีกทั้งๆ ที่เป็นเมืองเต็มไปด้วยศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจ
ผังเมืองสุไหงโก-ลกเป็นจัตุรัสบนที่ราบสลับเนินน้อยๆ รถวิ่งสองรอบก็จำได้แล้ว ใจกลางเมืองมีศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ที่เป็นที่นับถือของชาวไทยเชื้อสายจีน มาเลย์เชื้อสายจีน และชาวสิงคโปร์ ข้อมูลจากเว็บไซด์จังหวัดนราธิวาส บอกไว้ว่า “เจ้าแม่โต๊ะโมะ องค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล หรือเจ้าแม่มาจู หรือเจ้าแม่ทับทิม คือ เทพองค์เดียวกัน มีตำนานเรื่องเล่าที่มาของท่าน ณ เหมืองทองคำที่เขาโต๊ะโมะ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งชาวบ้านได้มีการตั้งศาลให้ท่านครั้งแรกที่บริเวณนั้น และต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลที่ อ.สุไหงโก-ลก จึงได้ตั้งชื่อศาลเจ้าตามแหล่งที่มา คือ เขาโต๊ะโมะ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลภูเขาทอง” โดยมี “เจ้กุง คุณสุชาดา พันธ์นรา” นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ผู้พาคณะไปกราบนมัสการและแจ้งว่าจะมีการจัดงานสมโภชเฉลิมฉลองประจำปีในช่วงวันที่ 15-22 เดือนเมษายน 2568 รวมทั้งจะมีการแข่งขันเชิดสิงโตนานาชาติด้วย น่าสนใจตื่นเต้นมากครับ จึงขอประชาสัมพันธ์งานเจ้าแม่ฯมาให้ทราบโดยทั่วกันครับ
หน้าศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะทางขวามีร้านอาหารจีนแต้จิ๋ว “บักมุ้ย” ผู้เขียนได้พบกับเจ้าของร้านชื่อ “คุณตี้ นิมิต เด่นรัศมีเทพ” ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกหอการค้าไทย YEC หรือ Young Entrepreneur Chamber of Commerce คุณตี้ได้เล่าถึง 6 เมนูชื่อดังของร้าน ได้แก่ “ผักบุ้งเปรี้ยว” เป็นผักบุ้งดองผัดน้ำมันโรยกระเทียมเจียว อร่อยแปลกที่ไม่เคยชิมมาก่อน ก้านใบผักบุ้งมีรสเปรี้ยวผัดรสชาติออกเค็มนิดหน่อยหอมกระเทียมเจียว เป็นจานเริ่มเรียกน้ำย่อยที่ดี ส่วนจานถัดมาเป็น “เป็ดพะโล้กระเทียมหมัก” เป็นจานธรรมดาที่ไม่ธรรมดา คัดเป็ดตัวกำลังดีหนังไม่มีมันมากแล่จัดใส่จานไม่ราดน้ำพะโล้แต่โรยด้วยกระเทียมหมักที่เป็นกระเทียมสดรสเปรี้ยวแต่ไม่ใช่กระเทียมดองที่มีรสหวานปน มีน้ำส้มให้จิ้ม แต่สำหรับผู้เขียนทานพร้อมกระเทียมแบบไม่จิ้มอร่อยกว่าครับ ต่อมาก็เป็นแฮ่กึ๊นทอดจิ้มบ๊วยเจี่ยรสชาติมาตรฐาน จานเด็ดคือ ขาหมูหม้อดินหมั่นโถวทอด ขาหมูเนื้อหนังละลายในปากแกล้มกับหมั่นโถวกรอบนอกนุ่มในกำลังดีเข้ากันสุดๆ ต่อมาเป็นปลากะพงนึ่งเกี้ยมบ๊วยที่ได้ความสดของทะเลและน้ำซุปกลมกล่อมเปรี้ยวเค็มกำลังดี จบด้วยด้วยโอ่วนี้แปะก๊วยที่กวนเผือกได้เนียนละมุนลิ้นและฟันมากครับ
อีกร้านหนึ่งที่ทำเผือกได้น่าทานและอร่อยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ร้านวรรณะโภชนา หรือ ร้านรสสยาม เขาว่าเป็นตำนานแห่งโกลก จะว่าเป็นภัตตาคารก็ไม่ใช่ ร้านกุ๊กช้อปก็ไม่เชิง เพราะมีกับข้าวหลากหลายคล้ายร้านข้าวต้ม เขาทำ “คับบะ” หรือ “เคาหยก” หรือ “หมูสามชั้นอบเผือก” เขาหั่นหมูสามชั้นเป็นแว่นหนาประมาณ 1 ซ.ม. วางสลับกับเผือกและผสมเครื่องยาจีนกลิ่นคล้ายพะโล้และมีกลิ่นเต้าหู้ยี้นัวๆ อยู่ นึ่งจนเปื่อยยุ่ยทานง่าย พร้อมน้ำซอสขลุกขลิก คล้ายกันอีกเมนูหนึ่ง คือ หัวปลาอบเผือกก็อร่อยไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ยังมีแกงกระหรี่ปลาที่ทำได้ดีมากกลิ่นกระหรี่ไม่แรงนักขณะที่เนื้อปลาทอดก่อนนำมาแกงไม่มีกลิ่นคาวทานกับข้าวสวยลงตัวอย่างยิ่ง ส่วนซิกเนเจอร์ของที่นี่ คือ ไก่ทอดราดครีมซอสมะนาว เห็นหลายโต๊ะสั่งกัน เนื้อไก่ชุบเกล็ดขนมปังทอดกรอบเหลืองทองเป็นแผ่นประมาณฝ่ามือกว่าๆ ตกแต่งล้อมรอบคะน้าหั่นฝอยทอดกรอบราดครีมซอสแบบมายองเนสเข้มข้นกลิ่นมะนาวรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ลงตัวในคำเดียวกับไก่กรอบๆ ที่ออกเค็มเล็กน้อยเคี้ยวสนุกฟันอร่อยลิ้นครับ จึงเป็นที่มาว่าอาหารคล้ายกุ๊กช้อป สำหรับร้านนี้ คำกล่าวนี้ “จะกินอาหารให้อร่อย ต้องใจเย็นๆ ” ยังเป็นจริงเสมอครับ วันนั้นในร้านมีสี่ห้าโต๊ะแต่เรารอนานกว่าครึ่งชั่วโมง เห็นใจครับ เฮียแกทำคนเดียวตะหลิวมือหนึ่งเดียว ที่เห็นยืนกันหลายคนนั่นเป็นลูกมือครับ
มาถึงโก-ลกแล้วถ้าขาดสิ่งนี้เหมือนมาไม่ถึงครับ “อ้วน บะกุ๊ดเต๋” ของแทร่ เจ้าตำหรับสุไหงโก-ลก หมูหลายส่วน ทั้งเนื้อ เครื่องใน ส่วนขา และและหาง ตุ๋นเครื่องยาจีนพร้อมเห็ดหอม ใส่เห็ดเข็มทอง ผักกาดขาว และฟองเต้าหู้ เสิร์ฟในหม้อดินแบบน้ำแกงร้อนจัดคู่กับข้าวสวยแนมบางคำด้วยปาท่องโก๋ กับน้ำจิ้มที่เป็นซีอิ๊วท้องถิ่นหอมๆ ใส่พริกสดหั่นขวางตัดเลี่ยน โอยน้ำซุปเชงเชงซดไปเหงื่อแตกซิ่กไปเลยครับ “อ้วน” เขามีสาขาที่หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งครับ จากภารกิจหลายวันคงรับบะกุ๊ดเต๋ทุกวันไม่ไหว เดินถัดไปสามสี่ร้านมีข้าวมันไก่บ้าน 1000% อยู่หัวมุมมถนน ข้าวมันหุงได้เรียงเม็ดสวยทีเดียวและยืนยันว่าเป็นไก่บ้านเนื้อสะโพกหนึบนุ่มมาพร้อมน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสดสะอาด ทั้งสองร้านช่วงนี้ลูกค้าไม่หนาแน่น แต่ก็เห็นชาวมาเลย์มาอุดหนุนประปรายครับ
ขาดไม่ได้อีกเหมือนกันคืออาหารมุสลิมครับ ข้าวหมกไก่ ขวัญใจชาวโก-ลก วันนึงน่าจะหุงหลายหม้อครับ ร้านจีราพันธ์ 2 ข้าวหมกไก่และข้าวแกง ข้าวหมกไก่ 3 สี คือ มีทั้งไก่ต้ม ไก่ย่าง และไก่ทอด แต่ผู้เขียนชอบข้าวหมกไก่ต้ม ตอนแรกก็งงว่าต้มอย่างไร จริงๆ แล้วก็คือข้าวหมกไก่ที่หุงไก่พร้อมข้าวไปด้วยกันจนทำให้ไก่มีรสชาติและกลิ่นของเครื่องเทศซึมเข้าเนื้อและเปื่อยจนถึงกระดูกอ่อนบางส่วน เขาหุงข้าวได้ร่วนเป็นเม็ดเคี้ยวอร่อยดีหอมเครื่องเทศครับ ร้านนี้เป็นขวัญใจชาวบ้านข้าวเพิ่มเติมฟรี ไก่ก็เพิ่มได้แต่เสียตังค์ คนจึงแน่นขนัดมากยามเที่ยงครับ ที่ไม่ได้ลองในครั้งนี้ เห็นจะเป็น “นาซิดาแฆ” ข้าวมันหุงด้วยกะทิ กินกับแกงกะทิข้นๆ ใส่ไก่ ปลา หรือเนื้อ และไข่ต้ม ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองมลายูที่จังหวัดชายแดนใต้นิยมกันครับ รวมทั้งไม่ได้ลองโรตีร้านดังใดๆ เลยเนื่องจากอยู่ในวัยที่ควรงดของหวานบ้างแล้วครับ
ทีมสำรวจเศรษฐกิจมีข้อสังเกตประการหนึ่งว่าเวลาเข้าร้านอาหารแทบทุกร้านจะมีโต๊ะเก้าอี้จำนวนมากในพื้นที่ร้านที่กว้างขวาง แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่สามารถรองรับลูกค้าได้เยอะ แต่วันนี้กลับดูโหรงเหรง ทุกฝ่ายคงอยากเห็นภาพบรรยากาศเหล่านั้นกลับมาครับ
ทุกวันศุกร์ ช่วงเย็น-ค่ำจะมี “ถนนคนเดินเที่ยวเพลินเมืองโกลก” ผู้คนหลากวัยทั้งไทยและมาเลย์นิยมมากจนเรียกว่าหนาแน่นถนนแคบไปเลยก็ว่าได้ นอกจากอาหารและขนมต่างๆ แล้ว ของขึ้นชื่อของที่นี่น่าจะเป็นตลาดเสื้อผ้าและรองเท้ามือสอง กางเกงยีนส์และรองเท้าแบรนด์ถูกนำออกจากกระสอบมาวางขาย แบรนด์ดังรุ่นยอดฮิตก็มีราคาสูงอยู่เหมือนกัน ไม่ได้อะไรติดมือเลย เพราะไม่รู้จริงๆ ว่าคนเล่นของมือสองเค้านิยมซื้อแบรนด์/รุ่นอะไรกันบ้าง
แถมท้ายด้วยร้านกินดื่มเปิดใหม่ที่มีโอกาสได้ไปอุดหนุนเยี่ยมเยียนกัน “มโหรี” ของ “คุณโอ๊ก วัตรพงศ์ เลิศคุณากร” ประธาน YEC นราธิวาส คนสำคัญที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการจัดประชุมฯ เป็นร้านกึ่งผับกึ่งบาร์ที่พร้อมด้วยวงดนตรีแสดงสดยามค่ำคืนที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและมาเลย์กลุ่มที่ชื่นชอบเพลงไทยเข้าออกกันขวักไขว่ คุณโอ๊กนำเสนอสินค้าท้องถิ่น คือ “เบียร์สุดสยาม” คราฟต์เบียร์ โดย SME บริวเวอร์จากแดนใต้ เมืองเบตง มีส่วนผสมของมอลต์วีท และเปลือกส้มโชกุนผลไม้ประจำถิ่นของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา รสชาติเบียร์จึงมีกลิ่นกรุ่นๆ แบบซิตรัสและรสอมเปรี้ยวของส้มค่อนข้างชัด เขาว่าเป็นของดีเมืองยะลา แต่ได้ทดลองชิมที่โก-ลกครับ
ก่อนบินกลับระหว่างทางไปสนามบินนราธิวาส เจ้าถิ่น “เฮียลิ้งค์ คุณธิติพงศ์ นราธรบุญสวัสดิ์” หนุ่มใหญ่ใจดี สมาชิกหอการค้าไทย จังหวัดเดียวกัน ให้ผู้เขียนโดยสารรถมา และชวนแวะพักคอยเครื่องบินที่ Idyllic Café นำบ้านไม้เก่ามาปลูกใหม่โชว์โครงสร้างลุควินเทจแบบลอฟท์บนชายหาดบ้านทอน กลิ่นกาแฟปรุงหอมกรุ่น มีขนมหลากหลายให้เลือก พนักงานร้านลูกหลานมุสลิมชายหญิงกุลีกุจอให้บริการ มีอาหารเย็นให้บริการด้วย คงจะดีไม่น้อยหากมีเวลานั่งกินกับข้าวไทยรสท้องถิ่นไปพร้อมกับชื่นชมบรรยากาศทะเลสีครามตัดกับเส้นขอบฟ้าครับ
นอกจากสุไหงโก-ลก แล้ว อำเภออื่นๆ ของจังหวัดนราธิวาส ใน ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งที่มีความหลากหลายเชิงพื้นที่ทั้งทะเล ภูเขา และป่าไม้ รวมถึงด้านพหุวัฒนธรรมและประเพณีของประชาชนแถบนี้ก็น่าค้นหาเรียนรู้ การเดินทางก็สะดวกทั้งทางบกและอากาศ อยากจะขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเยี่ยมเยือนกันเยอะๆ ในท้องถิ่นไผทของเราเองครับ ทั้งนี้ เมื่อบทความนี้ออกปลายเดือนมีนาคม ก็เลยเหตุการณ์ความรุนแรงมากว่า 20 วันแล้ว แต่ ณ ขณะที่นั่งเขียนอยู่นี้เหตุเกิดได้ 2-3 วันแล้ว สร้างความสูญเสียมาก จึงขอประณามผู้ร้ายก่อความไม่สงบที่ใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวญาติมิตรของผู้วายชนม์และผู้บาดเจ็บ และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนคนดีสุไหงโก-ลก และนราธิวาสเดินหน้าต่อไปครับ