ThaiPublica > คอลัมน์ > ยางไทยไม่ใช่ยางเทา : EUDR โอกาสและการปรับตัว ยกเครื่องอุตสาหกรรมยางพาราไทย-เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง

ยางไทยไม่ใช่ยางเทา : EUDR โอกาสและการปรับตัว ยกเครื่องอุตสาหกรรมยางพาราไทย-เพิ่มรายได้ชาวสวนยาง

1 มีนาคม 2025


จิตเกษม พรประพันธ์*

ยางพารา

กระแสตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อนทำให้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่เป็นผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยางพารารายใหญ่ของไทยได้ออกกฎหมาย EUDR หรือ European Deforestation-free Regulation เพื่องดการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำลายป่าหรือบุกรุกป่าซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่เก็บกักคาร์บอนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

บทความนี้จะเล่าถึงที่มาของอุตสาหกรรมยางพาราไทยที่เผชิญกฏหมาย EUDR โดยทั้งภาครัฐ และเอกชน นำพาชาวสวนยางปรับกระบวนการผลิตตลอดโซ่อุปทานเพื่อให้ผ่านมาตรการ EUDR พร้อมทั้งชี้ให้เห็นโอกาสการเสริมรายได้ชาวสวนยางพาราที่เพิ่มขึ้นจาก EUDR และการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจตามมาตรฐาน Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

หลักการสำคัญของ EUDR กำหนดว่า 1) ผลผลิตยางพาราต้องไม่มาจากการบุกรุกป่า 2) กระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ 3) ต้องตรวจและประเมินสินค้า (Due Diligence) ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยต้องปรับกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ ตลอดโซ่อุปทานตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิตแปรรูป และผลิตภัณฑ์ ในกรณีของไทย ทั้งตลาดกลางยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้ผลิตเอกชน ที่ต้องส่งมอบยาง EUDR ต้องยืนยันความถูกต้องข้อมูลและมีรายงานกำกับทุกขั้นตอนรองรับการตรวจสอบและประเมินการผลิตยางพาราผ่านการ Due Diligence แล้ว

จะเห็นว่าการปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน EUDR มีต้นทุนสูงกว่าการผลิตยาง non-EUDR โดยผู้ผลิตฯต้องลงทุนขยายฝ่าย/แผนกงาน กำลังคนภาคสนาม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ ระบบฐานข้อมูล และ IT และปรับกระบวนการผลิตเป็นการเฉพาะ แยกต่างหากออกจากผลิตภัณฑ์ยาง non-EUDR รวมทั้งค่าใช้จ่ายให้ผู้ประเมิน Due Diligence ตลอดจนต้องสนับสนุนต้นทุนปฏิบัติการภาคสนามให้กับเกษตรกรต้นน้ำซึ่งต้องให้ความร่วมมือในทุกขั้นตอนด้วย

ในปี 2567 คาดการณ์ว่าไทยมีปริมาณการซื้อขายยาง EUDR แล้ว 297,703 ตัน คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของผลผลิตทั้งประเทศ ในจำนวนนี้แยกเป็นการซื้อขายผ่านตลาดกลาง การยางแห่งประเทศไทย 97,703 ตัน และบริษัทเอกชนประมาณ 200,000 ตัน1 ขณะที่พื้นที่ปลูกยางตามเกณฑ์ EUDR มี 6.4 แสนไร่ หรือร้อยละ 2.1 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งหมด 30 ล้านไร่ (คาดว่าพื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 25 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือคิดเป็น 83.3% ไม่มีการบุกรุกป่า2 ) จึงยังมีพื้นที่อีกมากที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ยาง EUDR ทั้งนี้ ต้องชื่นชมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรชาวสวนยาง ที่เริ่มขยับตัวเพื่อนำพาอุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนไปกับขบวนการมาตรฐานโลกสีเขียว ทำให้ไทยมีโอกาสก้าวหน้าไปกว่าประเทศคู่แข่งในตลาดโลก3

ในการปฏิบัติภาคสนามตามกรอบ EUDR กยท./ผู้ผลิตเอกชน ต้องจัดทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลประหนึ่ง “ระเบียน”เกษตรกรเป้าหมายที่จะเข้าโครงการ ข้อมูลที่จัดเก็บมีทั้งข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ สถานะจดทะเบียนกับรัฐ/สหกรณ์ และสอบทานกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายเฉพาะที่เป็นโฉนด หรือ น.ส.3ก. เท่านั้น โดยการสอบทานต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดสวนยางจากการรังวัดที่ดินในพื้นที่จริง ประกอบกับการวาดแปลงพื้นที่สวนยางด้วย Global Positioning System (GPS) ซึ่งต้องมีพิกัดรุ้ง/แวงถูกต้องตรงกับเอกสารสิทธิ์และยืนยันการไม่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยเทียบกับโปรแกรม Quantum Geographic Information System (QGIS) แล้วบันทึกลงในฐานข้อมูลในรูปแบบที่ลูกค้าผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยางกำหนดมาตรฐานให้รายงาน

ภาพแสดงการรังวัดที่ดินและการวาดแปลงพื้นที่สวนยางด้วย GPS และภาพถ่ายดาวเทียม

กยท./ผู้ผลิตฯ ต้องเก็บข้อมูลรูปแบบการทำสวนยางจากชาวสวนยาง ได้แก่ พันธุ์ยาง จำนวนต้นยางต่อไร่ (ระยะปลูกห่างระหว่างต้น อาทิ 2.5 คูณ 7 และ 3 คูณ 8 เมตร) ระยะเวลาการกรีด แรงงานกรีด วิธีการกรีด การใส่ปุ๋ยอินทรีย์/เคมี วิธีการกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชแบบชีวภาพ/เคมี และข้อมูลผลผลิตยาง เช่น ปริมาณการผลิตน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ รวมทั้ง ข้อมูลราคา และแหล่งที่ขาย เป็นต้น สำหรับกระบวนการผลิต ชาวสวนยางหรือยี่ปั๊วะจะรวบรวมผลผลิตยางก้อนถ้วย EUDR มาจากสวนยางส่งเข้าสู่โรงงานโดยแยกสายการผลิตออกจากยาง non-EUDR เพื่อแปรรูปเป็นยางแท่ง EUDR เพื่อส่งออกต่อไป ซึ่งในแต่ละขั้นตอนต้องมีการบันทึกข้อมูลสำหรับผู้ทำ Due Diligence ใช้ประกอบในการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงได้ทุกขั้นตอนสำหรับ ในส่วนของผู้ผลิตฯต้องมีการปฏิบัติตามกฎหมายในทุกขั้นตอน และการได้รับการรับรองมาตรฐานสากลด้านอื่นๆ อาทิ FSC PEFC ISO ด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการ เป็นต้น ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนยืนยันการปฏิบัติตามมาตรฐานและและส่งเสริมการส่งออกผ่าน EUDR
ภาพแสดงแบบสอบถามการจัดทำข้อมูลแหล่งที่มายาง และการตรวจสอบทางธุรกิจเพื่อประเมินความเสี่ยง

ภาพแสดงการบันทึกข้อมูลพิกัดแปลงสวนยางพารา และการส่งวัตถุดิบยาง EUDR เข้าโรงงานแยกจาก non EUDR

ไทยเรายังสามารถพัฒนาพื้นที่ปลูกยาง non-EUDR ให้เป็น EUDR ได้อีกมาก และหากปรับปรุงให้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ของประเทศได้ ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ซึ่งการขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจตามมาตรฐาน T-VER สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น4 (ที่ใช้ชุดข้อมูลและกระบวนการตรวจสอบใกล้เคียงกับ EUDR) จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการส่งเสริมการเพิ่มรายได้ของชาวสวนยาง

ภาพแสดงการจัดทำเอกสารรูปแปลงและการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินสวนยางพารา

ชาวสวนยางที่ผ่าน EUDR จะมีแต้มต่อในการปฏิบัติในภาคสนามของ T-VER สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้นที่ใช้กระบวนการใกล้เคียงกับ EUDR ซึ่งมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสูงจาก

    1) การลงพื้นที่ปฏิบัติงานรังวัดโฉนดที่ดินและใช้ GPS วาดแปลงเพื่อให้ได้พิกัดที่ตรวจสอบได้ว่าไม่รุกล้ำพื้นที่ป่า
    2) การรวบรวมข้อมูลเกษตรกร สอบยันเอกสารสิทธิ์ และบันทึกจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
    3) การตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง (Due Diligence)

ดังนั้น สวนยางพาราที่ผ่านการรับรอง EUDR แล้ว จะมีภาษีสำหรับการทำ T-VER ไปด้วย เพราะผ่านพ้นความยุ่งยากของเอกสารและอุปสรรคในขั้นตอนปฏิบัติในภาคสนาม การจัดเก็บ/บันทึกข้อมูลเข้าระบบ และผ่าน Due Diligence แล้ว นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำพิกัด/โฉนดรายต้นยางในแต่ละแปลงเพื่อคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตสำหรับสวนยางจะต่ำและสะดวกกว่าของป่าชุมชนเพราะต้นยางในสวนมีขนาดความสูงและเส้นรอบวงไร่เรี่ยกันและถูกจัดเป็นระเบียบตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกตามระยะที่แน่ชัด อาทิ 2.5 คูณ 7 และ 3 คูณ 8 เมตร จะได้ต้นยาง 91 ต้น และ 67 ต้น ต่อไร่ ตามลำดับ ขณะที่เทียบกับการทำแผนที่ในป่าชุมชนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเพราะไม้แต่ละต้นมีขนาดแตกต่างกันและอยู่ในตำแหน่งระเกะระกะต้องหักร้างถางพงเพื่อวัดขนาดและจัดทำทะเบียนต้นไม้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับร่วมกันว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถผ่านพ้นขั้นตอนเหล่านี้ได้โดยลำพังในการเข้าร่วมโครงการจึงยังจำเป็นต้องพึ่งพา กยท. หน่วยงานกลางอื่นๆ และผู้ผลิตเอกชน สนับสนุนความรู้และค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการประเมินอยู่ในเกณฑ์สูงเกินเอื้อม นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดและโต้แย้งกันว่าการทำสวนยางใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในการกำจัดโรค/แมลง/วัชพืช ซึ่งก่อให้เกิด Carbon Footprint อยู่มาก จึงเห็นควรนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาประกอบด้วย และอาจเป็นโอกาสในการเปลี่ยนเป็นกระบวนการไปสู่ชีวภาพเป็นลำดับต่อไป และผู้เกี่ยวข้องย่อมต้องตระหนักถึงแนวโน้มแปลงที่ดินสวนยางมีขนาดเล็กลงจากการแบ่งมรดกของรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกทำให้ชาวสวนยางรายย่อยไม่มีทางดำเนินการเพื่อให้ผ่านทั้ง EUDR และ T-VER ได้เลย จำเป็นต้องมัดรวมเป็นกลุ่มขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)

ภาพแสดงค่าใช้จ่ายในการประเมิน TVER

อย่างไรก็ดี นอกจากจะได้เห็นความตั้งใจของ กยท. ผู้ผลิตเอกชนหลายรายแล้ว ผู้เขียนได้เห็นความพยายามของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่มีนโยบายสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและอยู่ระหว่างทำแปลงทดลองตลาดคาร์บอนเครดิตกับสหกรณ์การเกษตรโนนสัง จำกัด หนองบัวลำภู ที่ให้สมาชิกชาวสวนยางประมาณ 70 คน ครอบคลุมจำนวนต้นยางประมาณ 80,000 ต้น โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้คาร์บอนเครดิตจากต้นยางเป็นรูปส่วนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสามารถใช้ต้นยางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชาวสวนยาง สามารถร่วมกันสร้างกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยางพาราสีเขียวอย่างเป็นระบบ ก็จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจภูมิภาคตัวนี้วิ่งฉิวไปได้อีกไกล

ผู้เขียนขอขอบคุณผู้สนับสนุนข้อมูล
1.คุณซอดีกีน ยะหรี่ ผู้อำนวยการ และคุณจักรพงศ์ อมรทรัพย์ นักวิชาการเกษตร สำนักงานกลางยางพาราจังหวัดสงขลา การยางแห่งประเทศไทย
2.คุณศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการ สมาคมยางพาราไทย
3.คุณพัฒน์พงศ์ เนียมมีศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)
4.คุณกฤตยา ตรีวรรณไชย ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

หมายเหตุ :
1.การยางแห่งประเทศไทย และข้อมูลจากโครงการ Business Laison Program (BLP) แลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับสมาคมยางนานาชาติ และผู้ประกอบการยางพารา
2.Krungthai COMPASS EUDR ความคืบหน้าและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
3.อุตสาหกรรมยางพาราไทย: เร่งพัฒนา คว้าโอกาส บนความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดย ภาวนิศร์ ชัววัลลี | กฤตยา ตรีวรรณไชยธนาคารแห่งประเทศไทย ส านักงานภาคใต้
4.องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก: การกักเก็บคาร์บอนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น(Carbon Sequestration and Reducing Emission for Perennial Crop Plantation)