ในปี 2566 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ประกาศผลการจัดทำดัชนีชี้วัดการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยได้ 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 108 ของประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 180 ประเทศทั่วโลก เป็นการได้คะแนนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ได้ 36 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด สะท้อนว่าปัญหาการทุจริตในภาครัฐยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
นอกจากการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนแล้ว ปัญหาการทุจริต ในภาคเอกชนก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน เพราะได้สร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจ ในที่สุดแล้วจะเป็นต้นทุนแฝงที่ผู้บริโภคหรือผู้รับบริการต้องจ่าย ปัญหาการทุจริตในภาคเอกชนมีตั้งแต่การถูกปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำทุจริต เช่น จำเป็นต้องจ่ายเงิน “ใต้โต๊ะ” เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ การทุจริตฉ้อโกง โดยผู้บริหารองค์กร การทุจริตภายในที่กระทำโดยพนักงาน การรับของขวัญเพื่อตอบแทนการอำนวยความสะดวก การจับจ่ายเพื่อความรื่นรมย์ต่าง ๆ แม้กระทั่งการจ่ายสวัสดิการที่สูงเกินจริง เป็นต้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการลงโทษและเอาผิดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนอยากทำความดีด้วยการให้รางวัล ตามหลักการ “ทำดีต้องได้ดี” สร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมเกิดความตระหนักรู้และเห็นความสำคัญเรื่องการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส EXIM BANK จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) โดยสมาคมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สนับสนุนให้ภาคเอกชนที่มีกระบวนการต่อต้านการทุจริตในองค์กรตามมาตรฐานสากลได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่องให้พร้อมเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจสู่เวทีการค้าโลกอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน

“EXIM BANK อยากเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการสีขาว จึงได้พัฒนานวัตกรรมการเงินด้านธรรมาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยและในโลกคือ เงินทุนสีขาว (สินเชื่อ White EX) และ บัตรเงินฝากสีขาว (White Certificate of Deposit : White CD) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยที่มีเจตนารมณ์ในการยกระดับองค์กรเรื่องการควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต จนได้มาตรฐานหรือได้รับการรับรองโดย ISO (International Organization for Standardization) และ CAC เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม” ดร.รักษ์ กล่าว
สินเชื่อ White EX เป็นโครงการเงินทุนสีขาวของ EXIM BANK เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่พร้อมร่วมต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- “White Starter” สำหรับใช้ในกิจการของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันกับ EXIM BANK วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 5.60% ต่อปีใน 6 เดือนแรก พร้อมลดค่าธรรมเนียมสินเชื่อ
- “White Intermediate” สำหรับผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมกับ CAC (CAC Declared 1 ดาว) และอยู่ระหว่างการขอรับรอง CAC Certified (2 ดาว) หรืออยู่ระหว่างการขอรับรองมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่ออเนกประสงค์ หรือสินเชื่อเพื่อการลงทุน วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 4.75% ต่อปีในปีแรก โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระคืนสูงสุด 5 ปี
- “White Advanced” สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง CAC Certified (2 ดาว) หรือได้รับรอง CAC Change Agent (3 ดาว) ตลอดจนผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 37001 หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง EXIM BANK พร้อมสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้ในกิจการวงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นตลอดปีแรก 3.75% ต่อปี ผ่อนชำระคืนสูงสุด 7 ปี
สำหรับโครงการบัตรเงินฝากสีขาว วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 อายุคือ ระยะเวลา 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.15% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.20% ต่อปี และระยะเวลา 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปี วงเงินฝากขั้นต่ำ 50 ล้านบาท ช่วงเวลารับฝากเงินตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2568 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน
ดร.รักษ์ กล่าวว่า บัตรเงินฝากสีขาวเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยผู้ประกอบการที่มีสภาพคล่องเหลือให้มีแหล่งลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง ธนาคารจะรับฝากและนำเงินที่ได้จากบัตรเงินฝากนี้ไปใช้ปล่อยสินเชื่อสีขาว โดยยอมเฉือนกำไรและดอกเบี้ยลงเพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับคนทำความดีให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม จูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมให้มากขึ้น ยิ่งมีคนร่วมโครงการมาก ยิ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวม
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์ใช้นวัตกรรมการเงินสีขาวของ EXIM BANK ที่ได้ใบรับรอง (Certificate) จาก สำนักงาน ป.ป.ช. และ CAC แล้วราว 1,000 ราย ผู้ที่ได้การรับรองเท่านั้นจึงจะได้เข้าร่วมโครงการนี้ แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการ 3.1 ล้านรายทั่วประเทศ คาดว่า
ความร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้จะทำให้ตัวเลขของผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานหรือการรับรองด้านธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล โดย ISO หรือ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 รายภายใน 3-5 ปี และเป็น 300,000 รายภายใน 10 ปี” ดร.รักษ์ กล่าว
นายพรหเมศร์ เบ็ญจรงค์กิจ ผู้อำนวยการ CAC กล่าวว่า ปัจจุบัน CAC มีสมาชิกเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินนโยบายและดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล จำนวน 1,804 ราย และได้รับการรับรองเป็นองค์กรโปร่งใสแล้วจำนวน 631 ราย โดยความสมัครใจในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดย CAC สนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ กำหนดนโยบาย ประเมินความเสี่ยง วางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการคอร์รัปชัน ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจที่โปร่งใส จากนั้นให้ยื่นขอการรับรองจากคณะกรรมการ CAC ภายในกรอบระยะเวลา 18 เดือน ซึ่ง CAC ได้พัฒนาระบบการรับรองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทสามารถนำมาตรฐานการดำเนินงานที่สามารถควบคุมความเสี่ยงด้าน คอร์รัปชันมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังสนับสนุนและส่งเสริมให้คู่ค้า บริษัทตัวแทนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน นำนโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตของ CAC ไปใช้ และพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก CAC และสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของการรับและให้บริการภาครัฐ และการทำธุรกรรมระหว่างภาครัฐกับเอกชนโดยรวมตัวกับบริษัทในภาคธุรกิจให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชนและองค์กรระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนการใช้มาตรการต่อต้านการทุจริต การเปิดเผยข้อมูล และกำหนดมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่สะอาด เน้นการแข่งขันด้วยระบบกลไกตลาดที่โปร่งใสและเป็นธรรม
“CAC ได้พัฒนาระบบการรับรองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทสามารถนำมาตรฐานการดำเนินงานที่สามารถควบคุมความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันมาใช้ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และจะให้การรับรองเป็นเครื่องหมาย “ดาว” แก่องค์กรที่เข้าร่วม มีตั้งแต่ 1 ดาวจนถึง 3 ดาว ซึ่ในระดับ 3 ดาวหรือ CAC Change Agent องค์กรสามารถเชิญชวนและสนับสนุนให้คู่ค้าใน Supply Chain เข้าร่วมกับ CAC ในโครงการรับรอง SMEs เพราะการสร้างสังคมไร้คอร์รัปชันต้องอาศัยความร่วมมือกับ ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่ธุรกิจ เมื่อภาคธุรกิจไทยขยายความโปร่งใสออกไปได้มากขึ้นก็จะแข็งแกร่งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมี 40 บริษัทที่เข้าร่วมเป็น CAC Change Agent” นายพรหเมศร์ กล่าว
EXIM BANK พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบาท Green Development Bank เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999