วรากรณ์ สามโกเศศ
เริ่มต้นปี 2025 ได้ไม่กี่วันก็มีข่าวเขย่าขวัญชาวโลกที่ปรารถนามีอายุยืนยาว มีสุขภาพดีเเละมีความสุขจากการดื่มเเอลกอฮอล์ไปด้วย U.S. Surgeon General (Dr. Vivek Murthy) ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งของภาครัฐของสหรัฐอเมริกาในการสื่อสารความจริงเกี่ยวกับสาธารณสุขของประเทศ และเป็นที่ปรึกษารัฐบาลออกมาเตือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2025 ว่าปัจจุบันมีหลักฐานอย่างหนักแน่นและน่าเชื่อถือมากขึ้นทุกทีว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง สำหรับผู้ที่ติดตามเรื่องสุขภาพคงรู้สึกแปลกใจเพราะมีข่าวออกมาเนือง ๆ อยู่เเล้วว่ามีหลักฐานจากงานศึกษาวิจัยในช่วงหลังมากขึ้นว่าการเชื่อมโยงเช่นนี้มีอยู่จริง แต่บัดนี้มีการแถลงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกจึงเท่ากับเป็นการยืนยัน
การแถลงครั้งนี้เตือนใจให้นึกถึงเรื่องราวของการเชื่อมโยงระหว่างการสูบบุหรี่กับโรคมะเร็งปอดและอีกหลายโรค เมื่อ 60 ปีก่อนเมื่อหน่วยงานเดียวกันนี้เสนอรายงานฉบับสำคัญในปี 1964 สรุปว่ามีการเชื่อมโยงดังกล่าว และได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของการตระหนักถึงภัยสุขภาพนี้ของสังคมอเมริกันและต่อมาของโลก หลังจากที่งานศึกษาก่อนหน้าพบการเชื่อมโยงนี้มาตลอด และมีหลักฐานมากขึ้นเป็นลำดับ
Dr.Vivek บอกว่าแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุของมะเร็งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตัวที่สามถัดไปจากยาสูบ และความอ้วนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในแต่ละปีมีคนอเมริกันเสียชีวิตจากมะเร็งหลายชนิดซึ่งเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 20,000 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุยานยนต์ในแต่ละปีซึ่งเกี่ยวพันกับการดื่มแอลกอฮอล์เสียอีก
สิ่งที่ Dr.Vivek (ขอเรียกชื่อต้น ดร.วิเวกเพราะดูคุ้นหูเเละเรื่องนี้วังเวงดี) กังวลก็คือ 17%ของจำนวนคนตายจากมะเร็งเหล่านี้ล้วนปฏิบัติตนตามเกณฑ์ที่ทางการสหรัฐเเนะนำ กล่าวคือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวันไม่เกินกว่า 2 หน่วยการดื่มมาตรฐานสำหรับชายและ 1 หน่วยสำหรับหญิง หลักฐานเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าควรมีการทบทวนเกณฑ์ใหม่ภายในปีนี้ โดยลดขนาดของการดื่มลงไปอีก
หน่วยของการดื่มมาตรฐาน หรือ standard drink ก็คือ 14 กรัมของ Ethanol Alcohol บริสุทธิ์ เมื่ออยู่ในเครื่องดื่มที่แตกต่างกันออกไปหนึ่ง standard drink จึงเป็นดังนี้ (ก) เบียร์ (มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5% กล่าวคือในเบียร์ 100 ซี.ซี. มี Ethanol Alcohol บริสุทธ์ อยู่ 5 ซี.ซี) มี standard drink อยู่ที่ 355 ซี.ซี. ซึ่งเท่ากับหนึ่งกระป๋องขนาดปกติของเบียร์ หรือหนึ่งขวดเล็ก (ข) ไวน์ (มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 12%) เท่ากับ 148 ซี.ซี. หรือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของหนึ่งขวดเบียร์ขนาดเล็กเพียงเล็กน้อยหรือหนึ่งแก้วไวน์ขนาดปกติ (ค) วิสกี้ (วอดก้า หรือ รัม) เท่ากับ 44 ซี.ซี. หรือ 3 ช้อนโต๊ะ
สรุปเกณฑ์ที่เเนะนำในปัจจุบันของสหรัฐต่อวันคือดื่มไม่เกินเบียร์สองกระป๋องหรือสองขวดเล็กสำหรับชาย ส่วนไวน์ไม่เกินเกือบหนึ่งขวดเบียร์ขนาดเล็ก และวิสกี้ไม่เกิน 6 ช้อนโต๊ะ สำหรับหญิงนั้นดื่มไม่เกินครึ่งหนึ่งของชาย มาตรฐานนี้มีหลายประเทศนำไปใช้ด้วย ประโยคสำคัญของ Dr. Vivek ก็คือ ไม่ว่าจะดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยเพียงใดต่อวันก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งทั้งนั้น
สิ่งที่ขอย้ำก็คือความเสี่ยงในการเป็นโรคหรือความเป็นไปได้ในการเกิดสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ไม่มีใครยืนยันได้ว่าการดื่มตามเกณฑ์แล้วจะไม่เป็นมะเร็งเพราะแต่ละคนมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เช่น มีพันธุกรรมแตกต่างกัน มีโรคอื่นที่เป็นอยู่ สถานสุขภาพที่เป็นอยู่ พฤติกรรมด้านสุขภาพ ฯลฯ กล่าวได้เพียงว่าความเสี่ยงจะเป็นอย่างไร มากขึ้นหรือน้อยลง
คนขี่จักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อคและชอบฝ่าไฟแดงเป็นประจำย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บอย่างร้ายแรงมากกว่าคนที่ปฏิบัติตามกฎจราจร คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ตามเกณฑ์แต่สูบบุหรี่และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาก ย่อมมีความเสี่ยงหรือความเป็นไปได้จากภัยของการดื่มมากกว่าคนที่มีลักษณะตรงกันข้าม ปัจจุบันหลายประเทศตะวันตกประชาสัมพันธ์ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดก็ตามล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็นมะเร็งทั้งสิ้น อีกทั้งเป็นโรคอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ฯลฯ การดื่มตามเกณฑ์เป็นเพียงคำแนะนำที่อาจช่วยให้ไม่ประสบความเสี่ยงมากเกินไปเท่านั้น
งานวิจัยหลายชิ้นล่าสุดหักล้างความเชื่อเรื่องการดื่มไวน์แดงช่วยให้มีสุขภาพดี (พบว่าหลายร้อยชิ้นของงานวิจัยที่สรุปเช่นนี้ได้รับเงินสนับสนุนในงานวิจัยจากสมาคมผู้ผลิตและค้าไวน์) และพบหลักฐานมากขึ้นว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง 7 ชนิด อันได้แก่ (1) มะเร็งปาก (2) มะเร็งลำคอ (3) มะเร็งหลอดอาหาร (4) มะเร็งตับ (5) มะเร็งเต้านม (6) มะเร็งลำไส้ใหญ่เเละลำไส้ตรง (7) มะเร็งกล่องเสียง (มะเร็งชนิดอื่นก็มีหลักฐานบ้างเเต่ยังไม่ชัดเจนเเละเป็นที่ยอมรับเท่า 7 ชนิดนี้)
คำอธิบายของการเกิดมะเร็งเท่าที่รู้ในขณะนี้ก็คือ (1) แอลกอฮอล์ทำลาย DNA กล่าวคือเมื่อร่างกายซึมซับแอลกอฮอล์ก็ทำให้เกิดสาร acetaldehyde ซึ่งเป็นสารเคมีพิษและทำร้าย DNA (2) การซึบซับแอลกอฮอล์ก่อให้เกิด oxidative stress ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งกระตุ้นให้เซลล์อักเสบเเละเสียหาย (3) แอลกอฮอล์เพิ่มระดับฮอร์โมนบางตัว เช่น estrogen ซึ่งเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งเต้านม
การค้นพบความจริงเหล่านี้เป็นลำดับในทศวรรษที่ผ่านมามีผลต่อคนในรุ่นที่เรียกว่า Millennials หรือ Gen Y (เกิดระหว่าง 1981-1994)และ Gen Z (เกิดระหว่าง 1995-2009) จนดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะไวน์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทางโน้มของสังคมโลกก็คือการหันเหสู่เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เเต่มีรสชาติและสีสันเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จริง เช่น เบียร์ 0% ที่มีการขายทั่วไปในปัจจุบัน ส่วนไวน์และวิสกี้ 0% กำลังทะยอยออกสู่ตลาดโดยบางยี่ห้อเก่าผลิตทั้งสองแบบ (จริง ๆ แล้วเครื่องดื่มเหล่านี้มีแอลกอฮอล์อยู่แต่มีน้อยมาก เช่น ในเบียร์เทียมมีเพียงไม่ถึง 0.5% จึงถวายพระไม่ได้ถึงแม้จะเคยได้ยินคนพูดว่าไม่มีแอลกอฮอล์เลยจนขนาดพระฉันได้ก็ตาม)
หลายคนคงไม่ชอบและไม่เชื่อข้อเขียนนี้เหมือนคนสูบบุหรี่ที่เกลียดและไม่เชื่อการค้นพบอันตรายของบุหรี่เมื่อ 60 ปีก่อน ผู้เขียนตั้งใจช่วยสร้างชีวิตที่มีคุณภาพให้ยาวไกลอย่างมีความสุข จึงฝืนใจเขียนทั้งที่ตระหนักดีว่าจะรบกวนความสุขของผู้อ่านบางท่าน สิ่งที่ต้องเผชิญก็คือความสุขเเลกกับความเสี่ยง มันเป็นเรื่องส่วนตัวที่เเต่ละคนต้องเลือกจุดนี้กันเอง การดื่มน้อยลงและทดแทนส่วนขาดไปด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เทียมไม่น่าจะทำให้ความสุขลดไปมากนัก และหากคำนึงถึงการได้รับความสบายใจเพิ่มขึ้นว่ามีโอกาสทำร้ายตนเองน้อยลงด้วยแล้ว ก็น่าจะช่วยทำให้หาจุดสมดุลของเเต่ละคนได้นะครับ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 21 มกราคม 2568