ThaiPublica > Sustainability > Contributor > 9 ปี “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” : เข้าเป้า 17%, เหมือนเดิม 18%, แย่กว่าเดิม 17%

9 ปี “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” : เข้าเป้า 17%, เหมือนเดิม 18%, แย่กว่าเดิม 17%

25 กุมภาพันธ์ 2025


ประสาท มีแต้ม

ผมเชื่อว่าคนไทยเราคงได้ยินคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรืออย่างน้อยก็วลีที่ว่า “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” กันพอสมควร ทั้งจากสื่อและจากคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี เพราะการประกาศเป้าหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยองค์การสหประชาชาติที่มีสมาชิก 195 ประเทศให้การรับรอง บัดนี้ ปี 2568 รวมเวลา 10 ปี ทางองค์การสหประชาชาติได้ทำรายงานประเมินผลงานในรอบ 9 ปี โดยใช้ชื่อว่า “The Sustainable Development Goals Report 2024”

เรามาทำความเข้าใจในเรื่องใหญ่และสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติกันสักหน่อยนะครับ

ก่อนอื่น เพื่อเอาใจคนที่อยากรู้ผลโดยเร็ว ผมขอนำภาพปกของรายงานและสรุปผลการประเมินด้วย 2 ภาพ โดยภาพแรกน่าจะเข้าใจได้ง่าย สำหรับภาพที่สอง โปรดดูกันอย่างช้าๆ ดังนี้

ในช่วงปี 2000-2015 องค์การสหประชาชาติได้เคยกำหนดเป้าหมายของพัฒนาที่ชื่อว่า “เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (MDGs)” ซึ่งมี 8 เป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลักคือ ทุนมนุษย์ (โภชนาการ การดูแลสุขภาพ การศึกษา)โครงสร้างพื้นฐาน (ระบบน้ำดื่มที่ปลอดภัย เทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่งและสิ่งแวดล้อม) และสิทธิมนุษยชน (ส่งเสริมสิทธิสตรี ลดความรุนแรง เพิ่มสิทธิทางการเมือง)
ต่อมาเมื่อใกล้จะจบเป้าหมาย MDGs ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ที่เรียกว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน,SDGs” ซึ่งก็ขยายมาจากเป้าหมายเดิม โดยเน้นไปที่ 3 ด้าน คือสันติภาพ ความเจริญของมนุษย์และของโลกด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการในช่วง 2015-2030 เหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 ปีก็คงต้องว่ากันต่อไป

คงด้วยเหตุนี้กระมัง ภาพปกของรายงานครบ 9 ปีฉบับนี้จึงเป็นภาพคนกำลังต่อจิ๊กซอร์รูปนกพิราบ

พูดมาถึงตรงนี้ กรุณาเหลือบไปดูภาพที่ 2 ในเป้าหมายที่ 16 “สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก” พบว่า ผลจากการพัฒนาในช่วง 9 ปีที่ผ่านไม่ประสบผลสำเร็จเลย กล่าวคือ ไม่เข้าเป้าหรือไม่อยู่ในร่องรอยที่จะเข้าเป้าเลย (ดูที่สัญลักษณ์สีเขียว)

ในรายงานขนาด 51 หน้า มีข้อมูลที่เป็นรายละเอียดจำนวนมาก แต่ในคำนำของรายงานซึ่งเขียนโดยเลขาธิการสหประชาชาติ (นายอังตอนียู กูแตรึช) กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีสันติภาพ ความสามัคคีและการกระทำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความขัดแย้งในยูเครน (หมายเหตุ ไม่ได้ใช้คำว่าสงครามรัสเซียบุกยูเครนซึ่งส่งผลให้ราคาพลังงาน ราคาอาหารธัญพืชขึ้นไปหลายเท่าตัว) ซูดาน กาซา และอื่นๆ ทำให้ประชาชนกว่า 120 ล้านคนต้องถูกบังคับให้ต้องอพยพ

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูง(นาย Li Junhua ซึ่งแต่งตั้งโดยเลขาธิการ UN) ได้สรุปเป็นเชิงหลักการว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากสันติภาพ”

กลับมาที่ผลการประเมินซึ่งทำโดยองค์การสหประชาชาติเอง ดังแสดงในภาพที่ 2 เนื่องจากมีจำนวนทั้งหมด 17 เป้าหมาย แต่ละเป้าหมายมีการแบ่งเป็น 5 เกรด แต่ละเกรดให้คะแนนเป็นร้อยละรวมกัน 5 เกรดเท่ากับ 100% ดังนั้น ผมจึงขอเลือกเอาเกรดที่ “อยู่ในร่องที่จะเข้าเป้าหรือเข้าเป้า” (ระบายด้วยสีเขียว) และที่ “แย่กว่าเดิม (regression)” (ระบายด้วยสีแดง) อย่างละ 2 เป้าหมายที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 และ 2

ขอเริ่มที่ผลการประเมินว่าแย่กว่าเดิมก่อน ที่แย่มากที่สุดคือเป้าหมายที่ 2 “ยุติความหิวโหย” ซึ่งได้คะแนนแย่กว่าเดิมถึง 50%
รายงานระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้หิวโหยของโลกและความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่ในระดับสูงและเกือบจะไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 3 ปี ในปี 2023 จำนวนผู้หิวโหยมีถึง 733 ล้านคน และ 2,330 ล้านคน ต้องเผชิญกับความไม่มั่งคงทางอาหารในระดับปานกลางถึงรุนแรง

จากปี 2019 ถึง 2022 จำนวนผู้หิวโหยเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน (ทั้งจากโควิด-19 ความขัดแย้งและความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ในปี 2030 หนึ่งในห้าของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบจะอยู่ในสภาพอันตราย

คราวนี้มาถึงเป้าหมายที่แย่กว่าเดิมอันดับที่ 2 ของทั้งหมดก็คือ เป้าหมายที่ 14 “การอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล” ที่ได้คะแนนแย่กว่าเดิม(ระบายสีแดง) ถึง 40%

รายงานระบุว่า มหาสมุทรกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทาย 5 ด้านคือ (1) การเติบโตอย่างเกินขอบเขตของแพลงก์ตอนพืชเนื่องจากสารเคมีที่มีปุ๋ยมากเกินไป (eutrophication) (2) ความเป็นกรดของน้ำทะเล (3) การลดลงของสัตว์น้ำ (4) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำ และ (5) การแพร่กระจายของมลพิษ

ผมไม่ทราบว่าผู้ประเมินมีวิธีการให้คะแนนกันอย่างไร แต่ข้อมูลในรายงานระบุว่า “ความยั่งยืนของทรัพยากรประมงโลก” ได้ลดลงจากระดับ 90% จากเมื่อ 50 ปีก่อน (ปี 1974) ลงมาเหลือ 65% และ 62% ในปี 2019 และ 2021 ตามลำดับ เนื่องจาก มีการทำประมงเกินขนาด มลพิษ และการจัดการที่ไม่ดี

หากแบ่งเป็นบริเวณต่างๆของโลก พบว่าในบริเวณที่เรียกว่า Southeast Pacific สัดส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่อยู่ในระบบนิเวศที่ยั่งยืนได้ลดลงเหลือ 33% ในปี 2024 (น้อยที่สุดของทุกบริเวณของโลก) จากที่เคยมี 57% ในปี 2021

แหล่งปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำทะเลถึง 1 ใน 4 ของโลกกำลังประสบกับอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กว่า 90% ของปะการังจะหายไปภายในปี 2050 เมื่ออุณหภูมิถึง 1.5 องศาเซลเซียส และจะหายไปถึง 99% หากอุณหภูมิโลกสูงถึง 2 องศาเซลเซียส ความอยู่รอดของปะการังคือความสมบูรณ์ของมหาสมุทรและสุขภาวะของประชาชน

เมื่อเดือนเมษายน 2024 อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้นจนทำลายสถิติเดิม 13 เดือนติดต่อกัน ในปี 2023 กว่า 90% ของพื้นที่มหาสมุทรต้องประสบกับคลื่นความร้อน

จากที่กล่าวมาแล้ว เราจะเห็นว่าทั้ง 2 เป้าหมายดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน โดยที่ความเสื่อมโทรมของทะเลเป็นเหตุ และความหิวโหยของมนุษย์เป็นผลลัพธ์

ในตอนท้ายของบทความนี้ ผมจะชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องที่สำคัญของการเขียนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ โปรดอดใจรอนะครับ
คราวนี้มาพูดถึง 2 เป้าหมายที่ “อยู่ในร่องรอยที่จะเข้าเป้าหรือเข้าเป้า” สองอันดับแรกคือพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (เป้าหมายที่ 7) และ การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) ซึ่งได้คะแนนเท่ากันคือ 40%

  • เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
  • รายงานบอกว่า จำนวนผู้ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ลดลงจาก 958 ล้านคนในปี 2015 แต่ในปี 2022 ได้ลงมาเหลือ 685 ล้านคน ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2015 เป็น 28% ในปี 2021 (หมายเหตุ ปี 2023 ของโลกเท่ากับ 30% ในขณะที่ของไทยเท่ากับ 16%, ข้อมูลจาก our world in data)

    ในปี 2022 ประชากรโลกที่ใช้พลังงานสะอาดในการทำครัวมีถึง 74% เพิ่มขึ้นจาก 64% ในปี 2015
    ผลการประเมิน เข้าเป้าหรืออยู่ในร่องของเป้า 40% ที่เหลืออีก 60% ถูกจัดให้เป็นเข้าเป้าปานกลางหรือเข้าเป้าเล็กน้อย ไม่มีอะไรที่หยุดนิ่งหรือแย่กว่าเดิม ก็น่าจะถือว่าเป็นเป้าหมายที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย

  • เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
  • รายงานระบุว่า หลายประเทศได้มีสัญญาผูกมัดในระดับนานาชาติเกี่ยวกับการลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยมลพิษและสารเคมีอันตราย ในปี 2022 มีขยะอาหาร (food waste-อาหารเหลือทิ้งในห่วงโซ่อาหาร) ทั่วโลกถึง 1,050 ล้านตัน แต่มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่นำเอาเรื่องขยะอาหารเข้าไปอยู่ในแผน “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution, NDC) อย่างไรก็ตามการบริโภคและการผลิตที่ไม่ยั่งยืนยังคงอยู่ การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ต้องใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การผลิตที่มีความยั่งยืนและการบริโภคที่มีความรับผิดชอบ

  • เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับโลกร้อน (Climate Action)
  • ผลการประเมินในเป้าหมายนี้ได้เพียง 2 เกรดเท่านั้น คือ เข้าเป้าเล็กน้อย 67% และแย่กว่าเดิม 33%
    รายงานระบุว่า ปี 2022 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดทำลายสถิติเดิม (57,400 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) แต่ผมสืบค้นจากข้อมูลอื่นที่ทันสมัยกว่าพบว่า ของปี 2023 ก็มากกว่าของปี 2022 และ ของปี 2024 ก็มากกว่าของปี 2023 มีเพียงปีเดียวเท่านั้นที่ลดลงคือปี 2020 เนื่องจากโควิด-19

    รายงานระบุว่า ถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสจะต้องลดลงให้ได้ 42% ของปี 2019 ภายในปี 2030 นอกจากนี้ รายงานยังได้กล่าวอีกว่า ในปี 2022 รัฐบาลทั่วโลกได้จ่ายเงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิล(ที่มีราคาแพงจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน) ถึง 1.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ตามที่ผมได้เกริ่นไว้ก่อนนี้ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้มีข้อบกพร่องที่สำคัญ ความเห็นนี้ผมสรุปมาจากความเห็นขององค์กรที่ชื่อย่อว่า IRENA ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติเอง

    IRENA ซึ่งให้ความสนใจเรื่องพลังงานหมุนเวียนได้วิจารณ์ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญและความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกัน ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่สำคัญและอะไรเป็นผล

    ความจริงแล้วเป้าหมายที่ 7 คือต้นเหตุหรือหัวใจของทุกเป้าหมายครับ

    รายงานนี้(หน้า 34) บอกเองว่า 86% ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อย เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงาน แต่ถ้าเน้นมาใช้พลังงานหมุนเวียนนอกจากจะไม่ปล่อยก๊าซดังกล่าวแล้ว ยังมีการจ้างงานที่มากขึ้นหลายสิบเท่าตัว ลดความเหลื่อมทั้งทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ไม่ปล่อยน้ำเสีย ไม่ปล่อยมลพิษ และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 16 เป้าหมายที่เหลือ

    ผมเองได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเป็นร่างเป้าหมาย ในตอนแรกก็มีการพูดถึงพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน แต่สุดท้ายก็มีการล็อบบี้กันภายใน แล้วผลก็ออกมาอย่างที่เห็นกัน

    ผมได้นำแผนผังของเป้าหมายที่จัดทำโดย 2 องค์กรมาเปรียบเทียบกันให้ดูด้วย ผมเชื่อว่านี่คือหัวใจของปัญหาทั้งหมด และนี่คือข้อผิดพลาดที่สำคัญขององค์การสหประชาชาติ โดยตั้งใจหรือไม่ ขอช่วยกันวิเคราะห์ครับ