ข่าวประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2568 เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี นำโดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเครือฯ และบริษัทในเครือ อาทิ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น ร่วมให้การต้อนรับ คาธิริน ฮอว์คส์ รองคณบดีอาวุโสฝ่ายกิจการภายนอก เดนา แพตเตอร์สัน กรรมการบริหารฝ่ายการพัฒนา และ ซู เซียง หว่อง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียฝ่ายความริเริ่มสาธารณกุศล ในฐานะผู้แทนจากสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมการดำเนินธุรกิจและกิจการทางสังคมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมหารือกรอบความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงานในอนาคต ที่สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และ True Digital Park ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์ ระบุว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ ที่สนับสนุนความร่วมมือของบทบาทภาคเอกชน และภาคการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับการพัฒนาต่อยอดความรู้ และนวัตกรรม มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และการสร้างโลกที่ยั่งยืน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะผู้นำภาคธุรกิจมีทรัพยากร พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ MIT เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

“เรามีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและสร้างสรรค์การทำงานร่วมกันกับภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อที่จะยกระดับความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การร่วมมือกับ MIT จะเป็นก้าวสำคัญในการเปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเราหวังว่าจะได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าต่อทุกภาคส่วนในสังคมและโลกของเราในอนาคต” ดร.ธีระพล กล่าว
ขณะที่ คาธิริน ฮอว์คส์ รองคณบดีอาวุโสฝ่ายกิจการภายนอก สถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เยี่ยมชมการดำเนินกิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และหารือกรอบความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ สถาบัน MIT ได้ดำเนินการเปิดสำนักงานในกรุงเทพมหานครไม่นานมานี้ เพื่อตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เราหวังว่าจะสามารถขยายการร่วมมือในด้านการศึกษาวิจัยและการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการเสริมสร้างความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความท้าทายของโลกในปัจจุบัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีอาทิ AI หรือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” คาธิริน กล่าว
สำหรับกรอบความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายวางเป็นกรอบแนวทาง 7 กรอบ เพื่อพัฒนาต่อยอด ประกอบไปด้วย 1. โปรแกรมการศึกษา (Education Program) 2. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Action Learning) 3. โครงการวิจัย (Research projects) 4. ความร่วมมือด้านสถานที่ (Presence) 5. โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ (Entrepreneur & Start-up) 6. องค์กรนวัตกรรม(Innovative Organization) ส่วนประเด็นความร่วมมือที่สามารถมาร่วมกันแก้ไขปัญหา และพัฒนา ซึ่งจะอยู่ในโครงการวิจัย ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ ความมั่นคงทางอาหาร อาหารเป็นยา เป็นต้น พร้อมๆกับการวางโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้บริหาร พนักงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับนักศึกษาของสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) เพื่อสอดรับกับประเด็นวิจัยดังกล่าวด้วย
อนึ่งคณะผู้แทนสถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) ยังมีกำหนดการรับประทานค่ำกับนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย