ThaiPublica > คอลัมน์ > “ทฤษฎีดอกซากุระ”

“ทฤษฎีดอกซากุระ”

10 พฤศจิกายน 2024


วรากรณ์ สามโกเศศ

“แม้มิได้เป็นดอกซากุระ ก็จงอย่ารังเกียจที่จะเกิดมาเป็นบุปผาพันธุ์อื่นเลย ขอเพียงแต่ให้เป็นดอกที่งามที่สุดในพันธุ์ของเราก็พอ

ภูเขาฟูจิมีอยู่ลูกเดียว แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่ แม้นเกิดเป็นดวงตะวันไม่ได้ ก็จงเป็นดวงดาวเถิด

เป็นอะไรก็จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง แต่เป็นอะไรไม่ใช่สิ่งสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

ข้อความที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษมายาวนานข้างบนนี้มาจากสุภาษิตญี่ปุ่น โดยปรากฏในนิยาย “ข้างหลังภาพ” (2497) โดยศรีบูรพา หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธุ์เรืองนาม ผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อสังคมยุคแรกๆ ของไทย ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลดีเด่นของโลกจากองค์กร UNESCO ในปี 2548

ถ้ามองจากสายตาของนักเศรษฐศาสตร์แล้ว นี่คือการทำตามกฎที่ยิ่งใหญ่ข้อหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ นั่นก็คือจงทำให้ “ดีที่สุด” (มากหรือน้อยที่สุด ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นธรรมที่สุด ฯลฯ) เสมอภายใต้ “ข้อจำกัด”

แม้มิได้เป็นดอกซากุระซึ่งถือว่าเป็นดอกไม้ชั้นยอด ก็จงอย่างรังเกียจที่จะเกิดมาเป็นดอกไม้พันธุ์อื่นเลย ขอเพียงแต่ให้เป็นดอกไม้ที่งามที่สุดในพันธุ์ของเราก็พอ ผู้ประพันธ์ได้ให้ที่สุดแห่งความจริงของชีวิตด้วยภาษาที่งดงามยิ่ง

“ข้อจำกัด” คือมิได้เกิดมาเป็นดอกซากุระ ไม่ต้องร้องห่มร้องไห้จะฆ่าตัวตายเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาและเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้วก็ต้องทำให้ “ดีที่สุด” ภายใต้สถานการณ์ กล่าวคือ เป็น “ดอกไม้ที่งามที่สุด” ในพันธุ์ของเรา และภูเขาฟูจิอันถือว่าเป็นยอดภูเขาของญี่ปุ่น มีอยู่ลูกเดียว แต่ภูเขาทั้งหลายก็หาไร้ค่าไม่ และแม้เกิดเป็นดวงตะวันไมได้ ก็จงเป็นดวงดาวเถิด

ข้อความนี้มิได้พูดถึงดอกไม้ ภูเขา และดวงตะวัน เท่านั้น หากพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต หากมิได้เกิดมามี IQ เป็นอัจฉริยะ หรือมิได้เกิดมาพร้อมกับคาบช้อนเงินช้อนทองมาด้วย ก็มิใช่ไร้ความหมาย

ทุกคนมีโอกาส “เป็นอะไรก็จงเป็นเสียอย่างหนึ่ง แต่เป็นอะไรไม่ใช่สิ่งสำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม”

ข้อความที่ทรงพลังนี้ให้ทั้งความอบอุ่น ความหวัง และประการสำคัญคือให้ความจริงของชีวิตที่สามารถนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในชีวิต

เศรษฐศาสตร์มองว่าทุกสิ่งมีความจำกัด ซึ่งหมายถึงว่า เมื่อต้องการสิ่งหนึ่งมากเกินกว่าจะมีให้ได้ ก็เกิดความจำกัดขึ้น ดังตัวอย่างของความจำกัดในเรื่องเวลาของชีวิตบนโลก ทรัพย์สิน เงินทอง โอกาสในชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ เมื่อมันมีจำกัดก็ต้องเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในช่วงหนึ่งของเวลา เมื่อข้ามเวลาก็ต้องหาทางขยายความจำกัดเพื่อให้ได้ “สิ่งที่ดีที่สุด” อย่างเกิดผลมากขึ้น

ในกรณีนี้ เมื่อไม่สามารถได้ first best (ดีที่สุดอันดับเเรก) คือเป็นดอกซากุระ ก็ขอให้ได้ second best (ดีที่สุดอันดับเเรก) คือจงป็นดอกไม้ที่สวยที่สุดในพันธ์ของเรา ในโลกจริงเราไม่อาจสร้างถนนสี่เลนทุกสาย ไม่อาจได้คู่ชีวิตที่พร้อมไปเสียทุกอย่าง (เเถมเหาะได้ด้วย) ไม่อาจสร้างสนามบินได้ในทุกจังหวัดฯลฯ เเต่เราก็สามารถบรรลุ second best ได้

ในชีวิตจริง มนุษย์ทุกคนมีสถานการณ์ของข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างในเรื่องต่างๆ อย่างแตกต่างกันไป เรื่องใหญ่ที่ต้องเผชิญก็คือรายได้ หากทำตามกฎ “ดอกซากุระ” ก็คือจงทำใจกับการไม่มีเงินมากดังใจ (first best) จงมุ่งไปที่ second best คือ พิจารณาเงินเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

จงหาความสุขจากสิ่งที่มี มากกว่ามีความทุกข์ใจกับสิ่งที่ยังไม่มี มีเงินน้อยก็มีความสุขได้ตามอัตภาพ โดยมิพักต้องไปพะวงกับสิ่งที่ยังไม่มีโดยเปรียบเทียบกับคนอื่น แค่มีเงินใช้ก็โชคดีมากแล้ว จะไปแบกความทุกข์ใจจากการยังไม่มีสิ่งอื่นๆ เพื่อเหตุอันใด ทุกช่วงชีวิตจงมีความสุข มิต้องรอเป็น “ดอกซากุระ” ก่อนจึงจะมีความสุข

มีวลีหนึ่งในภาษาอังกฤษที่ใช้กันมากว่า 100 ปีแล้ว คือ “make do” (เช่น make do with what you have) ซึ่งหมายความถึงการจัดการกับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดโดยใช้เท่าที่มีไปก่อน

ดังที่เกิดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 หรือในสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น เอาผ้าร่มมาเย็บเป็นเสื้อ เพิ่มปริมาณข้าวด้วยการเอามันเเละเผือกผสมลงไปด้วย “make do” กับ “ทฤษฎีดอกซากุระ” เกี่ยวพันกันเพราะ “make do” เป็นการกระทำในเรื่องที่พอให้อยู่รอดไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับ “ทฤษฎีดอกซากุระ” ที่ให้พอใจเเละจัดการกับสิ่งที่มี เมื่อคิดไปแล้วก็โยงไปถึงเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วย มนุษย์จะมีความสุขอย่างยั่งยืนได้ก็เพราะความคิดในสมองโดยแท้ การมองโลกในลักษณะหนึ่งก็นำไปสู่ชีวิตอีกแนวหนึ่ง

ถ้ามองว่าโลกมีความจำกัดในทุกสิ่งซึ่งเป็นเรื่องจริง “make do” ในระยะสั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะเป็นวิธีหนึ่งในการเอาชีวิตรอด และเมื่อได้ “ทฤษฎีดอกซากุระ” มาให้ความจริงของชีวิตเกี่ยวกับการไม่สามารถทำอะไรได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว พร้อมกับให้ความหวังว่าสามารถเป็นหนึ่งได้เช่นกัน เมื่อมองในภาพรวมแล้ว “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้แนวการดำเนินชีวิตที่ทำให้เกิดความสุขอย่างมีความหมาย และไม่สุ่มเสี่ยง ทั้งหมดคือวิธีการจัดการกับความจำกัดอย่างชาญฉลาด

การแนะนำให้ทำ “ดีที่สุด” ภายใต้ “ข้อจำกัด” มิได้หมายถึงการอยู่ในสภาวะ “มืออ่อน เท้าอ่อน” เมื่อประสบสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ หากเเนะนำให้ต่อสู้ “จงเป็นอย่างดีที่สุด ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ก็ตาม” อย่ามัวฟูมฟายเพราะมิได้เกิดเป็นดอกซากุระ เป็นภูเขาฟูจิ หรือเป็นดวงตะวัน อย่าลืมว่าคนที่เกิดมาเป็นสิ่งเหล่านี้ก็ใช่จะมีความสุขที่สุด ทุกอย่างมี “ราคา” ที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น คนเหล่านี้ต้องแบกภาระและความรับผิดชอบมหาศาล ไม่มีเสรีภาพดังเช่นพวกเราที่สามารถกระทำหลายสิ่งได้อย่างสบายใจ เช่น แต่งตัวสบายๆ ไปกินก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอย ไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่มีคนจ้องมองหรือขอถ่ายรูปด้วย คิดดูให้ดี ๆ จะเห็นว่าเป็น “ดอกไม้ที่งามที่สุดหรือใกล้งามที่สุดในพันธุ์ของเรา” คือยอดแห่งความสุข

วิธีคิดแบบ “ทฤษฎีดอกซากุระ” มีประโยชน์และนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง คนที่มุ่งมั่นจะเป็นหนึ่งในโลกหรือหนึ่งในอะไรสักอย่างให้ได้ในชีวิตในโลกคือคนเพ้อเจ้อ ในโลกจริงเต็มไปด้วยการต้องเผชิญกับการได้รับ second best หรือ “ดีที่สุดเป็นอันดับสอง” ด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ ประเด็นอยู่ที่จะจัดการอย่างไรกับมัน

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 5 พ.ย. 2567