“เอสซีจี” เป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ที่มุ่งแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่การดำเนินธุรกิจโดยมีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทได้มีการปรับทิศทางและมาตรการต่างๆ ในการทำงานทั้งด้าน mitigation และ adaptation ให้มีความคมชัดมากขึ้น เพื่อช่วยลดโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจก และมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน 25% ภายในปี 2030 และเป็น net zero ภายในปี 2050
ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีไม่ได้ทำเรื่องลดโลกร้อน ลดคาร์บอน เพื่อให้โลกสวยงามหรือว่าเป็น green อย่างเดียว แต่ต้องมองว่าธุรกิจได้อะไร สังคมรอบข้างได้อะไร สะท้อนถึงการดำเนินงานที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของบริษัท หรือแม้กระทั่งเรื่องของการเติบโต สร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน
ดร.ชนะเล่าว่า เรื่องธุรกิจก็เหมือนชีวิต คือทำแล้วต้องปรับ ต้องพัฒนา ที่ผ่านมาเอสซีจีทำเรื่องความยั่งยืนมาเยอะมาก โดยได้ปรับทิศทางและรายละเอียดการดำเนินงานให้สอดคล้องกันในแต่ละช่วง แต่ยังใช้หลักเรื่องอุดมการณ์ 4 แล้ว ก็ขยับมาเป็นเรื่อง ESG 4 Plus ที่มีเรื่อง net zero, go green, lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ บวกด้วยความเป็นธรรมและความโปร่งใส
“มาวันนี้เราปรับมาเป็นเรื่อง “inclusive green growth” โดยเติมเรื่องของ double materiality ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พยายามเข้าไปดูแลให้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งชุมชนที่อยู่ใกล้เราและไม่ได้อยู่ใกล้เรา โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ช่วงนี้เราโฟกัสอย่างมาก ทำอย่างไรให้เขาได้เห็นสิ่งที่เอสซีจีเคยทำทั้งสำเร็จ บางอันก็ไม่สำเร็จ แล้วเราทำจนสำเร็จ แต่การทำเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระยะยาว ทำคนเดียวไม่ได้ อันนี้สำคัญมาก ต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน เพราะว่าบางเรื่องเราทำคนเดียวมันยาก แต่พอทำหลายๆ คน เขาใช้จุดแข็งช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เพราะฉะนั้น ทางเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของเอสซีจี เราให้เขาทำงานเป็นกลุ่ม“
อย่างไรก็ตาม เอสซีจี ยังมีหลากเรื่องราวที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาความยั่งยืน ไม่ว่าจะหลักคิด “regenerative” การทำบทบาทในฐานะ facilitator หรือการสร้างคุณค่าเพิ่มด้วย “Partnership-Philanthropy” หรือการ “Go Together” เคลื่อน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” หรือศึกษา use case จากระดับโลก ข้อเสนอปลดล็อกกฎหมายให้ทันกับยุคสมัย รวมทั้งการสร้าง working environment ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้มันเกิดขึ้น คือเรื่องคน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่เอสซีจีทำเรื่อง adaptation เพื่อไปส่งเสริมเรื่อง mitigation
“ผมคิดว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพสูงมาก ขอให้ทำยังไงก็ได้ เริ่มทำ แล้วก็อย่าไปเปลี่ยนแผนเยอะ แผนอันไหนที่ทำได้ ไม่ต้องดีเลิศหรอก ทำแล้วก็ปรับ ทำแล้วก็ปรับไป แล้วก็อันไหนดี แม้กระทั่งไม่ใช่ความคิดเรา ก็ขอให้ทำต่อ”
อ่านเพิ่มเติม “ชนะ ภูมี” เอสซีจี มุ่งสร้างคน-สร้าง working environment สู่ ‘adaptation’ รับโลกเดือด