ThaiPublica > เกาะกระแส > Paul Krugman วิจารณ์ ไม่มีทรัมป์ก็เกิดสงครามการค้า เพราะจีนใช้ “โมเดลการผลิตมุ่งส่งออก”

Paul Krugman วิจารณ์ ไม่มีทรัมป์ก็เกิดสงครามการค้า เพราะจีนใช้ “โมเดลการผลิตมุ่งส่งออก”

21 พฤศจิกายน 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ :Market Watch

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน The Wall Street Journal (WSJ) รายงานข่าวว่า การเผชิญหน้าเรื่องการค้ากับโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง เพราะทุกวันนี้ จีนกำลังพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหาฟองสบู่เศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ รัฐบาลมณฑลต่างๆ ประสบปัญหาฐานะการเงินไม่มั่นคง เพราะมีหนี้สินมากกว่าล้านล้านดอลลาร์ แต่รัฐบาลจีนแก้ปัญหาโดยการเหยียบคันเร่ง ผลักดันให้บริษัทจีนทุ่มผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศ

แต่สงครามการค้ารอบใหม่ครั้งนี้ จะเท่ากับเป็นการหยุดยั้งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่แสดงถึงการเอาจริงของทรัมป์ ในการเพิ่มภาษีนำเข้าจัดการกับปัญหาที่ทรัมป์มองว่าเป็นการค้าที่ไม่ยุติธรรม คือการที่ทรัมป์บอกว่าจะแต่งตั้ง Robert Lighthizer อดีตผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในรัฐบาลทรัมป์ครั้งแรก ให้เป็นคนมีอำนาจมากสุดเรื่องการค้า (trade czar)

แต่หากสหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าจีนลงได้ปีหนึ่ง 430 พันล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ สินค้าพวกนี้คงจะทะลักไปยังประเทศอื่นแทน

ภาษีทรัมป์ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าแค่ 4% จากจีน

The Wall Street Journal กล่าวว่า ทั้งยุโรป เอเชีย และลาตินอเมริกา ได้ใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการไต่สวนเรื่องการทุ่มตลาด ปฏิกิริยาเหล่านี้เหมือนเป็นการส่งสัญญาณที่แรงแก่จีนว่า จีนไม่สามารถจะอาศัยประเทศอื่น มาช่วยรองรับผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า นโยบายจีนของทรัมป์ และสถานการณ์การค้าโลกที่มืดมนลง อาจโน้มน้าวให้ สี จิ้นผิง หันมาใช้นโยบายที่เคยปฏิเสธมาก่อน คือการยอมให้การบริโภคของครัวเรือนในจีน มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน

หากทรัมป์เพิ่มภาษีสินค้าจากจีนทั้งหมดเป็น 60% จะทำให้สงครามการค้าขยายตัวครั้งใหญ่ ปี 2018 รัฐบาลทรัมป์เริ่มต้นสงครามการค้าครั้งแรก โดยเก็บภาษีสินค้าจากจีนบางอย่าง 25% เช่น เครื่องซักผ้าและเหล็ก จีนก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าสหรัฐฯ ในสมัยไบเดน สหรัฐฯ เพิ่มภาษีสินค้าจีน เช่น รถไฟฟ้า อุปกรณ์พลังงานสะอาด และเซมิคอนดักเตอร์

จีนสามารถรับมือได้อย่างดีกับระยะแรกหรือเฟส 1 ของสงครามการค้า โดยการย้ายการส่งออกไปตลาดประเทศอื่นแทน เช่น รัสเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนยังสามารถปกป้องที่มั่นของอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ EV การรับมือสงครามการค้าที่ผ่านมาดังกล่าว ทำให้สัดส่วนหรือส่วนแบ่งตลาดของจีน เทียบอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกของโลกทั้งหมด เพิ่มมากขึ้นนับจากปี 2018 เป็นต้นมา

แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า สงครามการค้าระยะต่อไป หรือเฟส 2 จะรุนแรงขึ้น หากเหตุการณ์เป็นไปตามแนวทางที่ทรัมป์หาเสียงไว้ บริษัทวิจัย Oxford Economics คาดการณ์ว่า การเก็บภาษีสินค้าจีน 60% จะทำให้การค้าจีนกับสหรัฐฯ ลดลงถึง 70% สินค้าจากจีนจะมีสัดส่วนเหลือ 4% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งหมด เทียบกับปี 2023 ที่มีสัดส่วน 14% ส่วนธนาคาร UBS บอกว่าภาษีสินค้าจีน 60% จะทำให้การเติบโตเศรษฐกิจจีนลดลง 1.5%

ที่มาภาพ : Global-Times.jpeg

ความสำเร็จของจีนมาจาก 2 ปัจจัย

ส่วน Paul Krugman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2008 และคอลัมนิสต์ The New York Times เขียนไว้ในบทความชื่อ Here’s How Trump Could Lose the Coming Trade War ว่า ถึงแม้ทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง ก็ยังจะเกิดสงครามการค้า เพราะจีนไม่ได้ทำตัวเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ ทรัมป์ไม่ได้เป็นต้นเหตุสงครามการค้า แต่อาจเป็นคนที่จัดการปัญหาได้ผลน้อยสุด ในการชี้นำนโยบายสหรัฐฯ ต่อความปั่นป่วนทางการค้าที่กำลังรออยู่ข้างหน้า

จีนเป็นประเทศที่มีเรื่องราวความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศยากจนมาก หลังจากปฏิรูปในปี 1978 เศรษฐกิจก็พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน จีนยังเป็นประเทศรายได้ปานกลาง รายได้ต่อคนต่ำกว่าประเทศตะวันตก แต่เนื่องจากมีประชากรจำนวนมหาศาล หากใช้มาตรการตัววัดเศรษฐกิจบางอย่างเช่น ความเสมอภาคของกำลังซื้อ (PPP) จีนจะมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก อยู่ที่ 34.6 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ อยู่ที่ 27.3 ล้านล้านดอลลาร์

Paul Krugman กล่าวต่อไปว่า ดัชนีชี้วัดหลายอย่างบอกให้รู้ว่า จีนได้ผ่านพ้นยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงไปแล้ว หลายสิบปีที่ผ่านมา การเติบโตของจีนอาศัยพลังจากปัจจัย 2 อย่าง คือ (1) ประชากรวัยทำงานที่เพิ่มมากขึ้น จากตัวเลขธนาคารโลก ปี 1960 จีนมีประชากรวัยทำงานต่ำกว่า 400 ล้านคน ปี 2014 เพิ่มถึงจุดสูงสุดเกือบ 1 พันล้านคน ล่าสุดปี 2023 ลดมาที่ 972 ล้านคน

ปัจจัยที่ (2) คือการเติบโตของผลิตภาพเศรษฐกิจ (productivity) ที่มาจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่อัตราการเติบโตทางเทคโนโลยีของจีน ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “total factor productivity (TFP)” ก็เริ่มชะลอตัว

แนวคิด TFP คือผลิตภาพของเศรษฐกิจโดยรวม หากเศรษฐกิจสามารถเพิ่มรายได้มากขึ้น โดยใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิม เช่น แรงงาน เงินทุน และจักรกลการผลิต หมายถึงเศรษฐกิจมีผลิตภาพสูงขึ้น แต่การเติบโตลดต่ำลง ไม่ได้หมายถึงความเสียหายที่ใหญ่หลวง ในทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นก็เคยผ่านช่วงนี้มาแล้ว เมื่อเผชิญปัญหาการลดลงของประชากรและการพัฒนาเทคโนโลยี โดยญี่ปุ่นสามารถรับมืออย่างดี จนไม่เกิดการว่างงานจำนวนมาก และปัญหาสังคม

ต้นเหตุ “สงครามการค้า”

Paul Krugman กล่าวว่า แต่จีนสร้างระบบเศรษฐกิจที่ออกแบบมาสำหรับยุคการเติบโตที่สูง ระบบนี้จะบีบรัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ไปส่งเสริมการลงทุนในอัตราที่สูง ระบบนี้ยังทำงานได้ผล ตราบใดที่การเติบโตของเศรษฐกิจที่อาศัยการอัดฉีด ทำให้เกิดความต้องการมากขึ้นในเรื่องโรงงาน สำนักงาน และสิ่งอื่นๆ การลงทุนที่สูงจึงจะถูกนำไปใช้ในทางที่เกิดดอกผล

เศรษฐกิจที่เติบโตสูงปีหนึ่ง 9% สามารถมีการลงทุนที่ทำให้เกิดดอกผลในสัดส่วน 40% ของ GDP แต่เศรษฐกิจที่เติบโต 3% ไม่สามารถลงทุนที่จะได้ดอกผผลในแบบเดียวกันนี้ ทางออกคือการกระจายรายได้สู่ครัวเรือน และปรับทิศทางเศรษฐกิจ ออกจาก “การลงทุน” มาสู่ “การบริโภค” แทน

แต่รัฐบาลจีนยังไม่ยอมเปลี่ยนเศรษฐกิจมาทิศทางนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนยังคงมีเป้าหมายขยาย “ความสามารถในการผลิต” มากกว่าการจะให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อในการใช้ประโยชน์จากผลผลิตต่างๆ ผู้นำจีนพูดมานานหลายปีแล้ว ว่าจะปรับสมดุลใหม่ของเศรษฐกิจจากการลงทุนและการส่งออกมาเป็นการบริโภคภายใน

ทางสำนักข่าว Reuters คาดว่า จีนจะต้องใช้เงินนับล้านล้านหยวน แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของจีน ส่วนใหญ่คือไปฟื้นการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ที่มีปัญหาทางการเงิน

บทความของ Reuters ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลของธนาคารโลก การบริโภคของประเทศส่วนใหญ่ในโลกมีสัดส่วน 75% ของ GDP แต่กรณีของจีน มีสัดส่วน 53% ขณะที่การลงทุนของจีนมีสัดส่วน 43% ของ GDP

ดังนั้น เมื่อจีนมีความสามารถในการผลิตมากมาย แต่ผู้บริโภคคนจีนไม่สามารถซื้อผลผลิตเหล่านี้ ทางออกคือ “การส่งออก” ปัญหาเศรษฐกิจไปต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจจีนยังคงรักษากำลังการผลิตอย่างเต็มที่ โดยอาศัยการได้เปรียบดุลการค้ามหาศาล มาหล่อเลี้ยงกำลังการผลิต รายงานล่าสุดของ Bloomberg บอกว่า การได้เปรียบดุลการค้าของจีนในปีนี้ จะมากเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มกว่า 16% จากปี 2023

Paul Krugman สรุปว่า จุดนี้คือสิ่งที่ทำให้สงครามการค้ากำลังจะเกิดขึ้น ประเทศต่างๆ ในโลกไม่ยอมง่ายๆ ที่จะให้จีนได้เปรียบดุลการค้าในปริมาณมากขนาดนี้ การส่งออกของจีนที่พุ่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2000 ซึ่งเรียกกันว่า “China Shock” ได้ให้บทเรียนแก่ประเทศต่างๆ ว่า ไม่ว่าการค้าเสรีจะมีคุณประโยชน์มากมายก็ตาม แต่การนำเข้าที่พุ่งขึ้นมาอย่างมาก จะสร้างความเสียหายที่ยอมรับไม่ได้ ที่มีต่อแรงงาน การจ้างงาน และชุมชนของประเทศที่นำเข้า

เอกสารประกอบ
Facing a Trade War With US, China’s Options Have Narrowed, 15 NOV 2024, The Wall Street Journal.
Here’s How Trump Could Lose the Coming Trade War, Paul Krugman, Nov 14, 2024, nytimes.com