ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ASEAN เดินหน้าสู่ภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น

ASEAN Roundup ASEAN เดินหน้าสู่ภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น

13 ตุลาคม 2024


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2567

  • ASEAN เดินหน้าสู่ภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น
  • กัมพูชา-ไทยเจรจาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
  • กัมพูชา-ลาว ยกระดับการค้าการลงทุน
  • มาเลเซียตอบรับข้อเสนอลงทุนมูลค่า 14.7 พันล้านดอล์จากบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐฯ
  • จีน-อาเซียนประกาศความคืบหน้าสำคัญใน CAFTA 3.0

    ASEAN เดินหน้าสู่ภูมิภาคที่มีการเชื่อมโยงและยั่งยืนมากขึ้น

    ที่มาภาพ: https://asean.org/secretary-general-of-asean-joins-the-opening-ceremony-of-the-44th-and-45th-asean-summits-and-related-summits-in-vientiane-lao-pdr/
    การประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 44 และ 45 หรือ The 44th and 45th Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องได้สิ้นสุดลงเมื่อวันศุกร์(12 ตุลาคม 2567) โดยเน้นย้ำถึงการเป็นภูมิภาคที่เชื่อมโยงและมีความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาระดับโลก

    นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวในพิธีปิดการประชุมสุดยอดว่า ที่ประชุมได้รับรองและบันทึกเอกสารผลการประชุมมากกว่า 90 ฉบับ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความพยายามร่วมกันของอาเซียน เพื่อเป็นหลักถึงความต่อเนื่องของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน เอกสารเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงกันและยั่งยืนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาในภูมิภาคและที่อื่นๆ

    นายกรัฐมนตรีประกาศความสำเร็จในการประชุมสุดยอดและการเป็นประธานอาเซียนของลาวในปี 2567 ว่า ประเทศที่เข้าร่วม ได้ตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน

    “เรามีการหารือที่ครอบคลุม ตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ และเกิดผล” นายสอนไซยกล่าว

    การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2568 (ASEAN Community Vision 2025) จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ เพื่อดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความยั่งยืน สร้างสรรค์ มีพลวัต และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นายสอนไซยกล่าว

    การประชุมสุดยอดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม ภายใต้หัวข้อ “อาเซียน: การเสริมสร้างการเชื่อมโยงและความยั่งยืน ASEAN: Enhancing Connectivity and Resilience” ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์อาเซียนปี 2025 และความสำเร็จของโครงการริเริ่มที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ 9 ด้านของลาวในช่วงการเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีส่วนทำให้ประชาคมอาเซียนมีการเชื่อมโยงและยั่งยืน

    ในพิธีปิด ลาวได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2568 ให้กับมาเลเซีย โดยการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของลาวจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และมาเลเซียจะเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2568

    กลุ่มอาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 โดยกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กลุ่มได้กำหนดกลไกต่างๆ เช่น จีน-อาเซียน(China-ASEAN) อาเซียนบวกสาม(ASEAN +3) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก(East Asia Summit) ซึ่งกลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับการพัฒนาความร่วมมือและการบูรณาการระดับภูมิภาค

    ในการประชุมสุดยอดปีนี้มีผู้นำใหม่หลายคนได้เปิดตัวเป็นครั้งแรก ทั้งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีของไทยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นนายชิเงรุ อิชิบะ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการเจรจาระดับทวิภาคีและพหุภาคีเช่นกัน

    กัมพูชา-ไทยเจรจาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501572163/cambodia-thailand-hold-talks-to-set-up-sezs/
    กัมพูชาและไทยได้มีการเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ

    การหารือประเด็นสำคัญมีขึ้นในระหว่างการประชุมทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีนาย ฮุน มาแนต และนายกรัฐมนตรีไทย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากการเปิดเผยของสำนักงานโฆษกรัฐบาล

    ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีไทยนางสาว แพทองธาร กล่าวขอบคุณนายฮุน มาแนต ที่เป็นคนแรกที่แสดงความยินดีกับเธอที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และชี้ไปที่พัฒนาการเชิงบวกในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศภายหลังการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายฮุน มาเน็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

    ด้านนายฮุน มาแนต ได้ชื่นชมความก้าวหน้าในความสัมพันธ์กัมพูชา-ไทย ซึ่งได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2567

    ผู้นำทั้งสองประเทศเรียกร้องให้นำกลไกการประชุมและกลไกทวิภาคีต่างๆ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว กลาโหม และความมั่นคง

    ทั้งสองผู้นำมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ จัดเตรียมการหารือเพิ่มเติมในประเด็นเหล่านี้ และจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-กัมพูชาในปี 2568

    นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมนาย เชย เตช กล่าวกับสำนักข่าว Khmer Timesเมื่อวันพฤหัสบดี( 10 ต.ค.)ว่า โครงการริเริ่มเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคี ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศและย้ำว่าการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มขึ้น จะส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี โดยการลดอุปสรรคทางการค้าและปรับปรุงกระบวนการศุลกากร

    “เมื่อร่วมมือกัน เราสามารถสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงตลาดหลักๆ โดยดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการขยายการดำเนินงานและเข้าถึงลูกค้าใหม่ๆ” นายเตช กล่าว นอกจากนี้ยังชี้ว่า การพัฒนาเหล่านี้สามารถสร้างงานได้มากขึ้น และยกระดับทักษะแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดความยากจน

    “การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนน ทางรถไฟ และสาธารณูปโภค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศในระยะยาว”

    ในการให้สัมภาษณ์กับ Khmer Times เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นายฮง วันนาค นักวิจัยเศรษฐศาสตร์จาก Royal Academy of Cambodia กล่าวถึงแผนความร่วมมือดังกล่าวว่าเป็นส่วนขยายที่สำคัญของความพยายามในอดีต โดยย้ำถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างกัมพูชาและไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนและพื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงการโยกย้ายของแรงงานชาวกัมพูชามายังประเทศไทย

    “การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับสิ่งที่บรรลุผลสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความร่วมมือในอนาคตมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น” นายฮงกล่าวและว่า “หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น เราก็สามารถคาดหวังเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจะเอื้อต่อการร่วมมือที่ดีขึ้นและแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ การลงทุน และการท่องเที่ยว”

    นอกจากนี้การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยในปี 2566 มีมูลค่ามากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ และทั้งสองประเทศต้องการเห็นตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 15 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ปัจจุบันไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ในกัมพูชา

    กัมพูชา-ลาว ยกระดับการค้าการลงทุน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501571530/cambodia-laos-to-upgrade-trade-investment-ties/

    ภายหลังที่ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาการพัฒนาที่เรียกว่าพื้นที่สามเหลี่ยมพัฒนากัมพูชา-ลาว-เวียดนาม หรือ Cambodia-Laos-Vietnam Development Triangle Area (CLV-DTA) เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกัมพูชาได้เปลี่ยนท่าทีมาส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งรวมถึง การยกเลิกการจัดเก็บภาษีซ้อน การค้า การท่องเที่ยว และภาคพลังงาน

    นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีฮุน มาแนต และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีของ สปป. ลาว ได้หารือถึงแนวทางในการเสริมสร้าง ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมและระยะยาว ในเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม

    โดยมีนายซก เจินดาโซเพีย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา และ นางจาม นิมล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมในโอกาสนี้ด้วย

    ในระหว่างการหารือ คณะผู้แทนระดับสูงของกัมพูชาและลาวได้พิจารณาความเป็นไปได้ของการเสริมสร้างและขยายความร่วมมือทวิภาคีในภาคส่วนที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเงิน พลังงาน การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การเมือง กลาโหม และความมั่นคง

    นายกรัฐมนตรีนายสอนไซ สีพันดอน ยกย่องความสำเร็จของรัฐบาลกัมพูชา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองกัมพูชา และยกระดับชื่อเสียงในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

    นายฮุน มาแนตขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นและเน้นย้ำการสนับสนุนกลไกและยุทธศาสตร์ของอาเซียนภายใต้การเป็นประธานของ สปป. ลาว

    ผู้นำทั้งสองแสดงความพอใจ โดยให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในการยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้าน

    จากการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชา นายฮุน มาแนต และนายสอนไซย สีพันดอน ตกลงที่จะสรุปข้อตกลง การขจัดการเก็บภาษีซ้อน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีจากรายได้และการป้องกันการหนีภาษีและการหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อให้ลงนามโดยเร็วที่สุด

    นอกจากนี้ยังแสดงความปรารถนาร่วมกันที่จะโน้มน้าวให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัมพูชา-ลาว ครั้งที่ 15 ให้ความร่วมมือทวิภาคีในเร็วๆ นี้

    ในด้านการค้าและการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางในการเพิ่มการค้าทวิภาคีให้เต็มศักยภาพ โดยเปิดการประชุมคณะกรรมการการค้าร่วมอีกครั้ง และตกลงที่จะปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานชายแดน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและนักท่องเที่ยว

    สำหรับความร่วมมือด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าในการขยายการจัดหาพลังงานสีเขียวและในภูมิภาค ที่มีส่วนในการทำให้โครงการไฟฟ้าของอาเซียน(ASEAN Power Grid)เกิดขึ้นจริง

    Khmer Times ได้ขอความเห็นจากนายเชย เตช นักวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความร่วมมือทวิภาคีกัมพูชา-ลาวและโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) ซึ่งได้คำตอบว่า ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ BRI อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงทั้งสองประเทศ ผ่านเครือข่ายการขนส่ง เส้นทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในวงกว้าง

    นายเตชกล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่ดีทั้งสองมีศักยภาพในการกระชับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโดยรวม เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง ประเด็นสำคัญสำหรับความร่วมมืออาจรวมถึงโครงการร่วมในด้านการขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม การศึกษา และแม้แต่การพัฒนาแพ็คเกจการท่องเที่ยวที่ใช้ร่วมกัน

    มาเลเซียตอบรับข้อเสนอลงทุนมูลค่า 14.7 พันล้านดอล์จากบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://www.nst.com.my/news/nation/2024/10/1117904/malaysia-welcomes-proposed-us147bil-investment-us-tech-giants-pm

    มาเลเซียตอบรับกับข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 14.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ทั้ง Google, Microsoft, Enovix Corporation, Amazon Web Services, Abbott Laboratories และ Boeing

    จากการเปิดเผยของนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม ในระหว่างการประชุมทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเกน นอกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องในสปป.ลาว

    นายอันวาร์กล่าวว่า มาเลเซียพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมใหม่ด้วย

    นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียต้อนรับคณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่จะเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งต่อไปที่เมืองปุตราจายาในปลายเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงทั้งสองประเทศเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างมาเลเซียและสหรัฐฯ

    “มาเลเซียชื่นชมบทบาทผู้นำของสหรัฐฯ ในมติที่ 2735 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้พลังเพื่อดำเนินการตามมติดังกล่าวอย่างรวดเร็ว”

    มติที่ 2735 ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทุกฝ่ายในฉนวนกาซาโดยทันที

    ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับการหารือว่า นายบลิงเกนเน้นย้ำถึงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อมาเลเซียที่จะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า และหารือถึงโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาคในการสนับสนุนเสรีภาพ เปิดกว้าง ปลอดภัย แข็งแกร่ง และ ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เจริญรุ่งเรือง

    “รัฐมนตรีบลิงเกนและนายกรัฐมนตรี (อันวาร์) อิบราฮิม เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือที่ครอบคลุมระหว่างสหรัฐฯ-มาเลเซียในวาระครบรอบ 10 ปี และความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน เศรษฐกิจ และความมั่นคง” แถลงการณ์ที่โพสต์บนเว็บไซต์ของกระทรวงฯ ระบุ

    จากแถลงการณ์นาย บลิงเกนและนายอันวาร์ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สำคัญในการหยุดยิง การปล่อยตัวตัวประกันทั้งหมด และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการเริ่มความพยายามฟื้นฟูในฉนวนกาซา

    จีน-อาเซียนประกาศความคืบหน้าสำคัญใน CAFTA 3.0

    ที่มาภาพ: https://www.chinadaily.com.cn/a/202410/11/WS67086019a310f1265a1c6f65.html

    จีนและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศข้อสรุปที่สำคัญของการเจรจาเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(China-ASEAN Free Trade Area) เวอร์ชัน 3.0 ขณะที่นายกรัฐมนตรีนายหลี่ เฉียงของจีนและผู้นำกลุ่มภูมิภาค 10 ประเทศพบกันเพื่อการประชุมประจำปีที่เวียงจันทน์ เมืองหลวง ของประเทศลาว

    จีนและอาเซียนเห็นพ้องกันว่าความคืบหน้าล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยืนหยัดในการรักษาสภาพแวดล้อมทางการค้าที่อิงกฎเกณฑ์ และมุ่งมั่นที่จะกระชับบูรณาการทางเศรษฐกิจและความร่วมมือเชิงปฏิบัติให้ลึกยิ่งขึ้น ท่ามกลางภูมิทัศน์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อน จากการเปิดเผยของกระทรวงพาณิชย์จีน

    ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนครั้งที่ 27 นายหลี่กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่สำคัญนี้ถือเป็นการปกป้องเชิงสถาบันสำหรับจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดหลักสองแห่งที่มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคนและ 600 ล้านคน ตามลำดับ เพื่อสร้างตลาดขนาดใหญ่พิเศษร่วมกัน

    อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอเริ่มเด่นชัดมากขึ้น ตลาดจึงกลายเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน นายหลี่กล่าวและว่า CAFTA 3.0 ถือเป็นก้าวสำคัญในการเป็นหัวหอกในการบูรณาการทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก รวมไปถึงแสดงความพร้อมของจีนที่จะทำงานร่วมกับอาเซียน ในการสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงหลายมิติเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ไร้อุปสรรคสำหรับเอเชีย

    จีนต้องการยกระดับความร่วมมือทางรถไฟ ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ กับอาเซียน เร่งการลงนามและการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชัน 3.0 และเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนมากกว่าอย่างอื่น นายหลี่กล่าว

    นายกรัฐมนตรีของจีน ยังเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมเกิดใหม่เพื่อทำให้การเติบโตของเอเชียยั่งยืน

    “จีนต้องการร่วมมือกับอาเซียนเพื่อคว้าโอกาสของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมรอบใหม่ และใช้ประโยชน์จากศักยภาพของความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว” เขากล่าว

    ด้วยการก่อตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนในปี 2553 และยกระดับเป็น CAFTA 2.0 ในปี 2562 ทั้งสองฝ่ายได้มีการค้าสองทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมูลค่ารวม 552 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้

    จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมานาน 15 ปีติดต่อกัน และอาเซียนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในปี 2563

    การเจรจาสำหรับ CAFTA 3.0 เริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ เช่น การลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี การเพิ่มการเชื่อมต่อ และการส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว

    ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกซบเซาและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ CAFTA 3.0 จะช่วยให้เอเชียตะวันออกมีความริเริ่มมากขึ้นในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยังเป็นตัวอย่างสำหรับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและการปฏิรูปธรรมาภิบาลระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

    นายหลี่ กวง ฮุ้ย คณบดีฝ่ายวิชาการประจำ China-ASEAN School of Economics แห่งมหาวิทยาลัยกวางสี กล่าวว่า ความร่วมมือในด้านที่เกี่ยวข้องกับ CAFTA 3.0 เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทาน และเทคโนโลยีขั้นสูง จะช่วยส่งเสริม พัฒนาการใหม่ๆ ในการค้า การลงทุน และการค้าบริการระหว่างจีนและอาเซียน

    นายกรัฐมนตรีจีนยังเข้าร่วมการประชุมผู้นำประจำปีระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งเขาเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเสริมสร้างจิตสำนึกของเอเชีย

    ในการปราศรัยในการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามครั้งที่ 27 (the 27th ASEAN Plus Three Summit)ที่เวียงจันทน์ เขากล่าวว่าประเทศในเอเชียให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระ และกิจการของเอเชียควรได้รับการจัดการผ่านการปรึกษาหารือจาก ประชาชนชาวเอเชีย และชะตากรรมของเอเชียจะต้องอยู่ในมือของตัวเอง

    จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับอาเซียน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกของเอเชีย สานต่อภูมิปัญญาตะวันออก และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงเพื่อสร้างเอเชียแห่งสันติภาพและความเงียบสงบ ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ความเปิดกว้าง และการเชื่อมโยงระหว่างกัน

  • ป้ายคำ :