ThaiPublica > คนในข่าว > ‘อัสสเดช คงสิริ’ ผู้จัดการ ตลท.คนใหม่ ประกาศความตั้งใจ มุ่ง ‘ส่วนรวม-ความเท่าเทียม’ ในตลาดทุน

‘อัสสเดช คงสิริ’ ผู้จัดการ ตลท.คนใหม่ ประกาศความตั้งใจ มุ่ง ‘ส่วนรวม-ความเท่าเทียม’ ในตลาดทุน

2 ตุลาคม 2024


นายอัสสเดช คงสิริ
กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันที่ 2 ตุลาคม 2567 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน Meet the Press เพื่อให้นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนที่ 14 พบปะกับสื่อมวลชนครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและเปิดให้ซักถามถึงแนวทางการทำงานพัฒนาตลาดทุน

ก่อนการพูดคุย นายอัสสเดช ได้ขอให้สื่อมวลชนลุกขึ้นยืนเป็นเวลา 1 นาทีเพื่อไว้อาลัยแก่เด็กนักเรียนและครูที่เสียชีวิตจากรณีไฟไหม้รถบัส ระหว่างการเดินทางไปทัศนศึกษา โดยกล่าวว่า “ในฐานะคนหนึ่งที่เป็นพ่อที่เคยส่งลูกสาวขึ้นรถบัสไปทริปโรงเรียน ก็เป็นเรื่องที่เศร้าโศรกจริงๆ”

จากนั้นนายอัสสเดช แนะนำตัวเองว่า มีชื่อเล่นคือ กวาง “พี่พี่สื่อมวลชนช่วยเรียกชื่อกวางดีกว่า จะได้สนิทสนมกัน และขออนุญาตเรียกพี่พี่”

โอกาสทำงานเพื่อประเทศอีกครั้งในบทบาทตลาดทุน

นายอัสสเดชเล่าถึงที่มาของการได้รับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯว่า “ถ้าถามผมว่าทําไมมาสมัครงานที่ตลาดหลักทรัพย์ ทำไมมาสมัครตําแหน่งนี้ ก็ขอพูดตามตรง เมื่อ 5 เดือนที่แล้วผมไม่เคยคิดจะสมัครงานเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เลย ตลาดหลักทรัพย์เปิดรับสมัครเดือนเมษา แล้วตอนปลายๆระยะเวลาสมัคร ไม่มีใครสมัคร ยังไม่มีใครลงชื่อ ก็เลยมีผู้ใหญ่ 2-3 ท่านแนะนําให้ลองไปสมัคร จึงได้ลองดู และพยายามเต็มที่เตรียมวิสัยทัศน์และหลายอย่างเยอะ ก็ได้งานนี้มา เตรียมพร้อมก่อนสมัครสองอาทิตย์เอง”

นายอัสสเดชกล่าวว่า ได้เริ่มงานด้วยการมาประสานช่วง transition ตั้งแต่เดือนสิงหาคมกับ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ได้คําแนะนําจากดร.ภากรหลายๆเรื่อง

นายอัสสเดชให้ข้อมูลประวัติส่วนตัวว่า เริ่มต้นชีวิตทํางานหลังเรียนจบมาจากอังกฤษ ซึ่งครอบครัวได้ส่งไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่จบป. 4 ไปอยู่โรงเรียนประจําจนถึงขั้นมหาวิทยาลัยจบการศึกษาสาขาวิศวกรรม เมื่อกลับมาไทยคุณพ่อ(อัศวิน คงสิริ)ได้แนะนําให้ไปสอบถามผู้ใหญ่หลายคนว่า อยู่เมืองนอกมานาน ควรจะทําอะไร ควรจะเริ่มสายงานไหน โดยผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ได้ไปขอคำแนะนำคือ ผู้ว่าปตท.ในขณะนั้นที่ยังเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นายเลื่อน กฤษณกรี ซึ่งได้แนะนําให้ไปร่วมงานกับเอสโซ่(Esso) ให้ไปอยู่องค์กรต่างประเทศขนาดที่มีระบบการทํางานที่ดี

“แต่ผมบอกท่านไปวันนั้นว่า ผมอยู่เมืองนอกมานานตั้งแต่เด็ก อยากจะกลับมาทําอะไรให้ประเทศชาติบ้าง ท่านก็เลยบอกว่าวันจันทร์มาเริ่มทํางานเลย จากนั้นก็ถูกส่งไปโรงแยกที่ระยอง ตอนนั้นไปไปดูแลการก่อสร้างโรงแยกหน่วยที่ 3 ที่ระยอง ก็ได้เห็นการพัฒนาของประเทศชาติมหาศาล ไม่นึกว่าเมืองไทยมีแบบนั้นมาก่อน ตอนหลังก็ได้รับทุนจากปตท.ไปเรียนต่อ MBA ที่อเมริกา และกลับมาใช้ทุนอยู่ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนสายงานมาทางการเงินบ้าง” นายอัสสเดชกล่าว

ในสายงานทางการเงิน นายอัสสเดช กล่าวว่า ช่วงแรกทำงานกับ JP Morgan ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปทำงานกับ Merril Lynch ที่ปัจจุบันคือ Bank of Amercia ซึ่งระยะเวลาการทำงานกับ Merril Lynch ค่อนข้างยาว จึงเป็นจุดที่ได้เริ่มสัมผัสกับตลาดทุน จากภาระงานที่เกี่ยวข้อง IPO ซึ่งหุ้นหลายตัวที่ได้ทํา IPO อยู่ในตลาดทุกวันนี้ ตลอดระยะเกือบ 10 ปี ได้รับผิดชอบงานทั้ง M&A ทั้ง IPO รวมไปถึงการออกตราสารหนี้ให้บริษัทต่างๆ ให้ธนาคารต่างๆ ในช่วงหลังก็ต้องการที่จะสัมผัสกับบริษัทไทยที่เป็นไทยจริงๆและเป็นบริษัทเล็กมากขึ้น จากที่เคยดูแลลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างจำกัดวง จึงได้ย้ายมาร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า และได้ทำงานกับฟินันซ่ายาว 10 ปีเช่นกัน

“ตอนนั้นได้สัมผัส ได้ทําความรู้จักกับธุรกิจที่เล็กลงมา เจ้าของเป็นคนไทยหลากหลาย ได้ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจ ในการบริหารธุรกิจหลากหลายเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เพิ่มความรู้ให้กับเรา จากที่ได้ทำงานแบบฝรั่ง และจากที่ทำงานกับฟินันซ่าซึ่งเป็น localมากมาก ก็เลยตัดสินใจตามที่ได้รับการทาบทามไปอยู่เป็น Deloitte Thailand รับผิดชอบงานด้าน Financial Advisory ที่เลือกไปอยู่ Deloitte เพราะเป็นบริษัทไทย แต่ใช้ชื่อแบรนด์ฝรั่งเท่านั้น มีพนักงาน 1,600 คน มีศักยภาพในการที่จะให้คําปรึกษา ให้คําแนะนําความช่วยเหลือกับบริษัทในเมืองไทยได้มหาศาล แล้วก็เชื่อมต่อกับความเป็นสากลของบริษัทด้วยเรื่องเทคโนโลยี เรื่องทุน ก็เลยตัดสินใจไปอยู่ อันที่จริงตอนแรกอยากจะอยู่ Deloitte จนเกษียณ” นายอัสสเดชกล่าวและว่า เมื่อพูด Deloitte หลายคนอาจจะมีคําถามค้างคาใจ แต่ตอนที่เข้าไปทำงานกับ Deloitte นั้นหลังจากที่ Deloitte ได้หยุดเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้วและหน่วยงานภายใต้การรับผิดชอบ เป็นหน่วยงานที่ดูแลด้าน Financial Advisory เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน จึงไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ไม่มีความสามารถทางนั้นพอ

จากนั้นก็มาสมัครงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคณะกรรมการให้เกียรติเลือกมาประจำตำแหน่งนี้…”

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของผม นึกถึงคําพูดที่ผมถามหรือบอกกับท่านผู้ว่า เลื่อน กฤษณกรี ไว้ว่าอยากจะทําอะไรให้กับประเทศชาติ ผมมองว่าโอกาสนี้ ตําแหน่งนี้ บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ เป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่ผมจะทําอะไรให้กับประเทศชาติได้ ในการพัฒนาตลาดทุนของเรา ในการที่จะช่วยเหลือศักยภาพของธุรกิจในเมืองไทยหลายๆด้าน เป็นการสร้างโอกาสให้คนไทยและคนต่างชาติ มีโอกาสที่จะลงทุน ออมเงิน สร้างศักยภาพทางการเงินของตัวเองด้วย ผมขอพี่พี่สื่อทั้งหลายว่าอยากจะให้ร่วมช่วยกัน พัฒนาตลาดทุนของเรา ผมพูดว่าของเรา เพราะว่าตลาดทุนไม่เป็นของตลาดหลักทรัพย์ หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของเราทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วม มีความรู้หลากหลายมุมมอง ที่ผมเชื่อว่าเรามาช่วยกันพัฒนาตลาดทุนนี้ได้”

…นายอัสสเดชกล่าว

ทำเพื่อส่วนร่วม-สร้างความเท่าเทียมหัวใจของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายอัสสเดชกล่าวถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ต้องการจะทําในฐานะผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ว่า มีด้วยกัน 5 ด้านหลัก คือ Fainess, Inclusiveness, Re-imagine, Sustainability และ Trust& Confidence ซึ่งในช่วงที่เตรียมตัวเพื่อเข้าสัมภาษณ์กับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คิดว่าหัวใจ หลักการ ในการบริหารจัดการตลาดทุนหัวข้อควรเป็นอะไร และได้ปรึกษาผู้ใหญ่หลายคนที่มีประสบการณ์มากมาย แล้วก็รับฟังความคิดเห็นหลายๆอย่างมา ในที่สุดแล้วก็เสนอไป….

“สองหัวใจหลักที่ผมคิดว่า capture สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ควรจะปฏิบัติเป็นหลักการ ก็คือ ทําเพื่อส่วนรวม และความเท่าเทียม สร้างความเท่าเทียม ความเท่าเทียม มีหลายหลายมิติ ไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนอย่างเดียว ผมมองไปถึงความเท่าเทียมถึงโอกาสที่จะให้ทุกคนเข้าถึงตลาดทุนด้วย ในหัวข้อย่อยๆต่างๆ ก็คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอาจจะคุ้นเคยและเห็นมาบ้างแล้ว สมดุลเท่าเทียม(Fairness) เข้าถึง ทั่วถึง Inclusiveness หมายถึงอยากจะให้มีบทบาทในการให้หลายๆคนเข้าถึง”

นายอัสสเดชกล่าวถึงด้าน Re-imagine ว่า คือ อนาคต เทคโนโลยี มีการพัฒนามหาศาล ไม่ว่าจะเป็น AI เป็นการสื่อสารต่างๆ จะต้องนําเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในเรื่อง Inclusiveness เรื่อง Fairness เป็นหัวข้อทั้งหมดนี้ เป็นองค์ประกอบที่เชื่อมกัน ไม่ได้แยกจากัน ส่วน Sustainability ก็เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสําหรับทุกคน ในอนาคต บจ.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็คงต้องมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมมากขึ้นหลายอย่างในเรื่อง Sustainable ก็เป็นโอกาสของทั้งบริษัทเป็นความเสี่ยงของบริษัท และของตลาดหลักทรัพย์ด้วยที่จะต้อง capture และ balance สร้างความสมดุลให้เหมาะสม

“และสุดท้ายซึ่งเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาก Trust & Confidence ในฐานะที่เพิ่งมารับตําแหน่ง ผมก็ต้องยอมรับว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ ที่ทําให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนของเราลดลงไป แล้ววันนี้ตลาดหลักทรัพย์รวมถึงองค์กรอื่นๆ ก็ได้มีมาตรการหรือมี action มีแผนงานหลายๆอย่าง หน้าที่ผมก็ต้องเชื่อมต่อแผนพวกนั้นให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นกลับมาที่เดิม เพราะว่าทําเพื่อส่วนรวมและสร้างความเท่าเทียม เป็นหัวใจในวิสัยทัศน์ที่ผมอยากจะนําสู่ตลาดทุนของเรา” นายอัสสเดชกล่าว

Trust&Confidence อยู่ที่สมดุลและเท่าเทียม

จากนั้นนายอัสสเดชได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม โดยคำถามแรกคือ สิ่งที่มีการเสนอบอร์ดในเรื่องของ trust นั้น pain-pointที่ตลาดหลักทรัพย์อาจจะต้องปรับในยุคของคุณอัสสเดชคืออะไร เรื่องของ trust เพราะว่าหน่วยงานอื่นก็ค่อนข้างจะมีแผนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯเองก็มีแผนออกมาหลายหลายด้าน และเมื่อเข้ามารับตำแหน่งแล้วจะทําอะไรได้เพิ่มเติมอีก เพื่อจะสร้าง Trust ซึ่งวันนี้ตลาดหุ้นอาจจะกําลังปรับตัวขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับบจ.แล้วก็สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดด้วย

นายอัสสเดชตอบว่า สิ่งที่นำเสนอบอร์ดในตอนนั้น ก็คล้ายกับหลายอย่างที่ได้เห็นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา คือ “การดําเนินการเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น การดําเนินการที่รัดกุมและรวดเร็ว เป็นสิ่งสําคัญอันหนึ่ง” การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯล่าสุดได้ลงนามใน MoU กับปปง.(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) และก.ล.ต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) รวม 3 หน่วยงาน เป็นแนวคิดคล้ายคล้ายกับที่ได้เสนอบอร์ด และเป็นสิ่งที่จะต้องสานต่อให้เกิดผล ให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ 3 หน่วยงานได้ร่วมมือมีความตั้งใจที่จะดําเนินการให้รัดกุม ให้รวดเร็วขึ้น ได้เกิดขึ้นจริง

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การสื่อสารด้วย ที่ได้เสนอไป โดยนายอัสสเดช ยกตัวอย่างจากข่าวที่เห็นแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจหรือเสียใจ คือ เหตุการณ์ที่คนโดนหลอกให้ไปลงทุน ไปเรียนแล้ว ก็ไปลงทุน เงินครอบครัวที่สะสมขึ้นมาเป็น 10 ปีหายไป แล้วมีการฆ่าตัวตาย “พอเห็นข่าวนี้ก็ รู้สึกที่แบบว่า ไม่ควรจะเกิดขึ้น เราทุกคนคงเห็นด้วยไม่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งข้อลบของเทคโนโลยีสมัยนี้ การโกงการหลอกที่ไม่ใช่แค่การลงทุน เกิดขึ้นมาก ตลาดหลักทรัพย์ฯมีบทบาทอะไรได้บ้าง การสื่อสารของตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะเร็วกว่านี้หรือไม่ ทําอย่างไรให้เร็วกว่านี้ได้”

นายอัสสเดชเล่าว่า โดยส่วนตัวก็มีประสบการณ์จากการถูกหลอกเช่นเดียวกัน แต่เป็นการซื้อสินค้าจาก IG ที่ดึงดูดความสนใจ สิ่งที่ได้รับไม่ใช่สินค้าตามที่โฆษณา หลังจากนั้นก็มาทบทวนว่าทําไมถึงตัดสินใจซื้อไปวันนั้น ก็พบว่า สิ่งที่โฆษณาชวนชื่อ ถ้าใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ Too Good to Be True (ดีเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้) ซึ่ง Too Good to Be True ส่วนใหญ่จะ Too Good to Be True จริง เพราะฉะนั้นจากวันนั้นแล้ว เมื่อเห็นโฆษณาแบบนี้ก็จะนึกถึงคํานี้ Too Good to Be True หรือไม่

“เราจะฝังความคิดอย่างนี้ง่ายๆอย่างนี้ให้กับคนทั่วไปได้อย่างไร ให้เห็นว่า ก่อนที่ตัดสินใจลงทุน จะโฆษณามีลงทุนบริษัทนี้ได้ปันผลเดือนละ 50% มัน Too Good to Be True ให้มีสติสักนิด ลองคิดสักนิด” นายอัสสเดชกล่าว

คำถามต่อมา Trust&Confidence โดยเฉพาะเรื่องของ NVDR, Robot trade เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่น มี vision และ mission อย่างไร

นายอัสสเดชตอบว่า ในเรื่องนี้กำลังหารือกับทีมงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเป็นประเด็นที่ทั้งสื่อมวลชน นักลงทุนหลายหลายกลุ่มพูดถึง แต่ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ต้องเข้ามาศึกษา หาทางออก ซึ่งก็กลับมาที่จุด สมดุลและเท่าเทียม ณ วันนี้ รับทราบว่า มีความรู้สึกว่ามีความไม่สมดุล ระหว่างไม่ว่าจะเป็น robot หรือนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนสถาบัน

“แนวคิดของ ผม ณ วันนี้ก็คือ ผมมองนักลงทุนไม่ใช่ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ หรือเป็นบุคคล หรือเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ใหญ่ แต่ผมอยากจะแยกแยะในที่สุดแล้วจากพฤติกรรม ผมว่าในที่สุดการใช้ชีวิตทั่วไป พฤติกรรมสําคัญที่สุด พฤติกรรมอะไรที่ที่เราคิดว่าไม่เหมาะสมกับตลาดทุนไทยเรา หรือเอาเปรียบก็ไม่ควรจะสนับสนุน พฤติกรรมอะไรที่ดีต่อตลาดทุน ทําให้เราพัฒนาได้ยั่งยืน และดีมากขึ้น ก็เป็นพฤติกรรมที่ควรจะสนับสนุน นี่คือหลักการกว้างๆ”

คำถามต่อมา การที่ชูประเด็นเรื่องความเท่าเทียมกันเป็นหัวใจหนึ่งในการทํางาน แสดงสะท้อนให้ถึงถึงว่าที่ผ่านมาความเท่าเทียมความไม่เท่าเทียมเป็นอุปสรรคหรือว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทําให้นักลงทุน ทิ้งตลาดหุ้นไทยหรือไม่ ส่วนเรื่อง HFT ที่พูดกันมากมีความไม่เท่าเทียมกัน จะดูแลตรงนี้อย่างไรบ้าง และตลาดหุ้นไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดทุนไทยยังขาดส่วนไหนที่จะต้องมาต่อเติมให้ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยครบวงจรได้มากขึ้น

นายอัสสเดชกล่าวว่า ขอนำกลับมาที่ Re-imagine ตลาดหลักทรัพย์ไทยเติบโตมา 50 ปี ผู้บริหารในยุคที่ผ่านมา สร้างตลาดทุนที่ แข็งแกร่งเป็นที่น่าสนใจของตลาดโลกมานาน มีสภาพคล่องที่เหนือกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคค่อนข้างมาก มีบริษัทหลายบริษัทที่เติบโต และยังเป็นเสน่ห์ให้กับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทยด้วย แต่เรื่อง Re-imagine หมายถึง เทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้มีการพัฒนา ในตลาดทั่วโลกก็ได้เห็นว่ามีการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาบางจุด ทําให้ความสมดุลในความเท่าเทียม เปลี่ยนไป “ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ต้องต้องคอยมองถึงประเด็นพวกนี้ เพื่อ Rebalance ฉะนั้น ผมใช้ทั้ง Re-imagine และ Rebalance ความเท่าเทียมให้มากขึ้นต่อสถานการณ์ทั้งปัจจุบันและในอนาคต”

ส่วนเรื่อง High Frequency Trade นายอัสสเดชกล่าวว่า ประเด็นที่คิดว่าสําคัญกว่าก็คือ พฤติกรรม ที่ผ่านมามี HFT แม้แต่นักลงทุนรายย่อยก็มีหลายประเภท “นโยบายของผม ณ ปัจจุบันนี้ ก็คืออยากจะกลับมาที่พฤติกรรม ถ้าพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ดีสําหรับต่อตลาดทุน ผมว่านักลงทุนอื่นๆ คงชอบเหมือนกันแทนที่จะมาตีกรอบว่าเป็น HFT หรือเป็น Robot หรือเป็นนักลงทุนรายย่อยใหญ่ หรือนักลงทุนรายย่อยเล็ก” ซึ่งสามารถ define (จำกัดความ) ได้ระดับหนึ่ง

นายอัสสเดชยกตัวอย่างถึง การ Short-sell พฤติกรรมการ short ที่ไม่เหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์จึงได้ออกมาตรการ Up-tock ขึ้น จากการติดตามการประเมินผล ซึ่งก็ช่วยให้การ Short-sell น้อยลงอย่างมีประสิทธิภาพ จากก่อนหน้านี้ประมาณ 13-14% ตอนนี้เหลือเพียง 4% ของของการซื้อขายแต่ละวัน

“เพราะฉะนั้นตลาดหลักทรัพย์จะต้องคอยมองพฤติกรรมพวกนี้ แล้วก็สถานการณ์ของตลาด ณ วันนั้นหรือช่วงนั้น เพื่อออกมาตรการหรือ
ให้ความรู้ที่เหมาะสม ณ จุดนั้น”นายอัสสเดชกล่าวและว่า สิ่งจะเพิ่มเข้าไปในตลาดทุนอีกได้ คือ ความเท่าเทียม หรือ Inclusiveness “ผมว่าเราโชคดีที่มีเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าในระบบนิเวศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องพึ่งพา Stakeholder ผู้มีส่วนได้เสีย หลายหน่วยงาน”

โดยยกตัวอย่างการเชื่อมถึงระหว่างโอกาสการลงทุนกับนักลงทุน stakeholder หลัก ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการต่างๆ ก็ต้องมีการลงทุนและมุ่งในการทําธุรกิจ ถ้าตลาดหลักทรัพย์นําเทคโนโลยี สร้างแพลตฟอร์ม ที่ทําให้บริษัทเข้าถึงนักลงทุนรายเล็กที่ไม่ได้ซื้อขายทุกวัน หรือไม่ได้ซื้อขายทุกเดือน แต่มีแพลตฟอร์มที่ตลาดหลักทรัพย์ฯพัฒนาให้ ทําให้ค่าใช้จ่ายในการทําธุรกิจเข้าถึงรายเล็กเหมาะสมและยังทํากําไรได้ ก็เป็นประโยชน์และเป็นการสร้างทางความเท่าเทียม โดยใช้พัฒนาการใหม่ๆในวันนี้

คำถามต่อมา แผนความเท่าเทียมมีกรอบชัดเจนหรือไม่ว่า ต้องการทําให้เกิดความชัดเจนขึ้นภายในระยะเวลากี่เดือน และประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นในไตรมาส 4 ว่าภาวะดอกเบี้ย สถานการณ์สงคราม หรือปัจจัยภายนอกจะกดดันตลาดหรือไม่

นายอัสสเดชกล่าวว่า ความเท่าเทียม ความเข้าถึง ก็ต้องการที่ทําให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทําได้ เพราะมีอายุงาน 4 ปี ถ้าเกิดขึ้นปีหน้าได้ก็ดีใจ แต่ต้องถามทีมงานว่าทํางานทันหรือไม่ ก็ต้องยอมรับการการวางพื้นฐานพวกนี้ต้องมีกรอบหลายอย่าง ที่จะไม่สร้างความเสี่ยงให้กับนักลงทุนใหม่ๆ โดยที่ยังอาจจะยังไม่มีความรู้หรือองค์ประกอบหลายๆอย่างที่จะเข้ามาถึงตลาดทุนได้รวดเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ฯที่ผ่านมา ก็ได้ให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ใน Financial Literacy ค่อนข้างมาก ก็จะเป็นองค์ประกอบที่ไปด้วยกัน

ส่วนสถานการณ์ในไตรมาส 4 ปัจจุบันประเทศไทยกําลังฟื้นตัวค่อนข้างดี ถ้ามองจากการเติบโตของ GDP ตั้งแต่ไตรมาส 1 ไตรมาส 2 มาถึงไตรมาส 3 เป็นทิศทางที่ดี รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีการออกมาตรการหลายๆอย่างที่มาสนับสนุนตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น Thai ESG หรือ กองทุนวายุภักษ์ เพราะฉะนั้น โดยรวมก็มีมุมมองทางบวกกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 กับตลาดทุนไทย

เตรียมมาตรการ Disclosure กันเจ้าของเอาเปรียบนักลงทุน

คำถามต่อมา ที่เน้นว่าจะให้เกิดความเท่าเทียมไม่ให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ และสําหรับนักลงทุนรายย่อยเองรู้สึกคนที่เอาเปรียบมากแล้วก็เห็นพฤติกรรมมาเป็นระยะก็คือตัวเจ้าของบจ.เอง จะมีวิธีการหรือจะทำความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า บจ.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมีความน่าเชื่อถือ แล้วก็ไม่เอาเปรียบผู้ลงทุนทั่วไป

นายอัสสเดชกล่าวว่า เรื่องความเชื่อมั่นตลาดหลักทรัพยฯมีโปรแกรมร่วมกับสํานักงานก.ล.ต. ค่อนข้างมาก เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการจัดงานให้ความรู้ ที่เรียกว่า Three Lines of Defence สนับสนุนให้ กรรมการ กรรมการอิสระ ผู้บริหารบจ. มารับข้อมูลความรู้ใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะช่วยป้องกันนักลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมราว 500 คน และให้ความสําคัญกับเรื่องนี้มาก แล้วก็จะช่วยกระจายให้กับตลาดทุนได้มา

ส่วนเรื่องความเท่าเทียม เจ้าของกับผู้บริหาร ตลาดหลักทรัพย์ฯกับสำนักงาน ก.ล.ต.หารือกันค่อนข้างมาก แลคาดว่าภายในปีนี้ จะมีการออกมาตรการให้เปิดเผยข้อมูล Disclosure ทั้งข้อมูลการเอาหุ้นไปจํานํา หรือเงินกู้ส่วนตัว “เรากําลังให้ความสำคัญกับตรงนี้ค่อนข้างเยอะว่าจะออกมาตรการอย่างไรให้เหมาะสม เพราะว่าเรามองว่าเป็นข้อมูลที่สําคัญและนักลงทุนควรจะรับทราบ” นายอัสสเดชกล่าว

คำถามต่อเนื่องในเรื่อง Disclosure มี 2 ข้อคือความสมบูรณ์ของข้อมูล และความเร็วที่นักลงทุนในวงกว้างจะได้รับข้อมูลโดยเท่าเทียมกันหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่อง CG เพราะว่าหลังๆก็จะเห็นพฤติกรรมมากมายที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาอยากเอาเปรียบอย่างชัดเจน

นายอัสสเดชกล่าวว่า ช่วงที่เตรียมความพร้อมเพื่อสมัครตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ค้นคว้าว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯมีข้อมูล มีกิจกรรมอะไรบ้าง โดยเข้าไปในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าหาข้อมูลยากมาก แม้มีข้อมูลมากมาย ขณะนี้ได้หารือกับ ทีม IT ถึงแนวทางที่จะทําให้เข้าถึงง่ายขึ้น เพราะข้อมูลมีมาก

“เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่จะเสนอบอร์ด แต่พอบอกได้ว่าเทคโนโลยีปัจจุบัน ทําให้แต่ละคน Customize กำหนดได้เอง ในการเปิดหน้า ตามความต้องการ ความสนใจ จะเป็นบจ.ไหน หรือข้อมูลอะไร เรากําลังหารือกันเพราะเทคโนโลยีปัจจุบันน่าจะทําได้ ส่วน AI ก็มีแผนชัดเจนอยู่แล้วว่าจะทําอย่างไรในการให้ข้อมูลต้องยอมรับว่า จุดนี้ที่ผ่านมาเป็น pain-point ของบจ. ในการอัพเดทข้อมูล ให้นักลงทุน เราใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้ทุกคนง่ายขึ้นสะดวกขึ้น และเทียบกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งในเรื่องความเร็ว ถ้าใช้ AI ทุกอย่าง สภาพการทํางานคล่องขึ้น ข้อมูลก็จะเร็วขึ้นไปในตัวและครบถ้วน และเทียบกันได้ง่ายขึ้นด้วย” นายอัสสเดชกล่าว

นอกจากนี้จากการศึกษากฎเกณฑ์ของทั้งสํานักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า กฎเกณฑ์การให้ข้อมูลจริงๆต้องเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นคงต้องหาทางร่วมกับสํานักงานก.ล.ต. ในการให้เกิดความเท่าเทียม ในเรื่องความเร็วของการรับข้อมูล

คำถามต่อมา จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น นอกจากมาตรการความเชื่อมั่นที่ได้ใช้ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมาตรการ หรือไม่ และรายละเอียดที่จะออกมา จะนำเสนอเข้าไปในบอร์ดในรอบนี้เลยหรือไม่

นายอัสสเดชกล่าวว่า โดยบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ต้องไม่หยุดพัฒนา ต้องไม่หยุดมาตรการต่างๆ แต่ต้องติดตามประสิทธิภาพว่าสําเร็จตามผลที่ต้องการหรือไม่ ทําให้หลายๆอย่างที่ตลาดดีอยู่แล้วลดลงด้วยหรือไม่ เพราะคงมีนักลงทุนบางกลุ่มมองว่ามาตรการมีมากเกินไป สถานการณ์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ หน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯก็คือ ต้องค่อยๆพัฒนา คอยเฝ้าระวังต้องปรับเปลี่ยนอะไรหรือไม่ คงไม่ได้หยุด อยู่เฉยเฉยได้ รวมถึงการเปรียบเทียบหรือ benchmark กับตลาดในต่างประเทศด้วย

“ต้องยอมรับว่าตลาดแต่ละประเทศพัฒนามาความยาว ไม่เท่าเทียมกัน เราจะไปเทียบตัวเองกับตลาดหุ้นนิวยอร์กก็คงจะไม่ใช่ เราควรจะเทีย บจากประสบการณ์ของเขาที่ผ่านมา จากประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านของเราว่า มีการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาอะไรบ้าง ในที่สุดเราก็ต้องต้องดูข้อมูล” นายอัสสเดชกล่าว

คำถามต่อมา จะมีมาตรการอะไรที่ทําให้การทำงานกับ ก.ล.ต.เร็วขึ้นหรือไม่ และตอนนี้หุ้น IPO เริ่มกลับมาตลาดมากขึ้น จะมีมาตรการในการเลือกหุ้น IPO อย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น

นายอัสสเดชตอบว่า มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ออกร่วมกับสํานักงานก.ล.ต. ล่าสุดคือ Dynamic Price Band เป็นมาตรการที่จะ ช่วยไม่ให้มีความผันผวนที่ผิดปกติมากขึ้น รวมไปถึงการทํา Auction วิธีจับคู่ซื้อขายในคราวเดียว ก็เป็นอีกขั้นตอนหนี้งในประเด็นเดียวกันซึ่งการทํางาน ก็มีประสิทธิภาพพอใช้ได้ และระยะเวลาที่ใช้ยังอาจจะสั้นไปที่จะบอกได้ชัดเจนว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ต้องติดตามต่อไป

ส่วนกฎเกณฑ์ IPO ตลาดหลักทรัพย์ฯกับสํานักงานก.ล.ต. ได้ปรับให้เข้มงวดขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเริ่มมีผลใช้ เดือนมกราคมปีหน้า เข้าใจว่าบจ.ที่จะเข้าตลาดได้เตรียมการบนกฎเกณฑ์ใหม่มาสักพักใหญ่ กฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น ก่อนที่จะเข้ามาในตลาด

ชวนบจ.คิดนอกกรอบเพิ่มมูลค่า

คำถามต่อมา โจทย์อนาคตการแข่งขัน ปัจจุบันมีบจ.เข้ามาจดทะเบียนกว่า 800 บริษัทแต่กว่า 50% ที่นิ่ง ROA, ROE ไม่ขยับ จะดําเนินการหรือจะชักจูงอย่างไรไม่ให้เป็น deadwood ในตลาด

นายอัสสเดชกล่าวว่า เรื่องก็มีแนวคิดอยู่เช่นหัน และมีตัวอย่างจากต่างประเทศ ในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค มีโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Value-up ของเกาหลี หรือ Corporate Reform ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งได้เตรียมการกับทีมงานที่จะเสนอให้บอร์ดว่าภายในสิ้นเดือนนี้หรือต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเรื่องที่ตั้งใจจะทําอยู่แล้ว และเป็นแนวคิดหนึ่งที่เสนอไปตอนสมัครเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรพัย์ฯด้วย

“บทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ น่าจะต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐด้วย ผมคิดไปกว้างกว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเราจะจูงใจให้เขาเพิ่มมูลค่าของตัวเองอย่างไร มีคําหนึ่งที่ใช้กันคือ Lazy Balance Sheet มีทุน แต่ไม่ได้ทําให้มีผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราจะชักจูง ส่งเสริม ให้คิดนอกกรอบ หรือคิดมากกว่าปัจจุบันอย่างไร กําลังเตรียมการกับทีมงาน” นายอัสสเดชกล่าว

คำถาม ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการพบปะกับนักลงทุนต่างชาติในช่วงจังหวะนี้อย่างไรบ้าง ที่จะเรียกความเชื่อมั่น แล้วก็ดึงดูดให้กลับเข้ามาลงทุน

นายอัสสเดชกล่าวว่า การที่จะพบนักลงทุน ต้องมีของไปขาย เพราะฉะนั้นโปรแกรมหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชักจูงหรือสนับสนุนให้บจ.เพิ่มมูลค่าของตัวเอง เมื่อมีแผนที่มีความชัดเจนมากขึ้น มีความตั้งใจที่ต้องไปหานักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนที่เคยอยู่กับไทยมาก่อน ในช่วงที่จัดงานไทยแลนด์โฟกัส ก็ได้มีการพบกับผู้บริหารนักลงทุน แบบส่วนตัว ก็ได้ถามว่าเสน่ห์ของตลาดไทยคืออะไรเพื่อที่จะได้ส่งเสริมจุดนั้นได้มากขึ้น “ในทางกลับกันนักลงทุนที่ไม่อยู่กับไทย ก็ต้องให้ความสําคัญกับเขา ต้องไปเรียนรู้ว่าทําไมเขาถึงไม่อยู่กับเราแล้วเราจะมาแก้ไขมาสื่อสารต่อกับบจ. ในปัจจุบันและอนาคต ในเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร”

“จะมีนักลงทุนหรือกองทุนที่ลงทุนระยะยาวที่ยังเห็น บางบจ.ในตลาดเราที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต ยกตัวอย่างบริษัทใน mai ที่เติบโตและ้เข้ามาอยู่ใน SET ถึง 60 บริษัท เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาตัวเอง มี Ambition ที่จะเติบโต เราควรจะชูบริษัทพวกนี้ให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่น แล้วตลาดหลักทรัพย์ฯควรจะชูบริษัทกลุ่มนี้ให้กับนักลงทุนต่างชาติด้วย ให้เขาเข้าถึง ให้เขาสนใจ”นายอัสสเดชกล่าว

วางแผนระยะยาวสู่ Listing Hub

คำถามต่อมา การปรับขึ้นของหุ้นช่วงนี้ ยอมรับว่าขึ้นแบบผิดธรรมชาติไปบ้าง คือมาโดยการหนุนของกองทุน ESG และวายุภักษ์ในระยะยาวตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีสินค้าที่ดึงดูดนักลงทุนหุ้นไทยและต่างประเทศได้อย่างไร และมีสินค้าอะไรที่คิดว่าจะสามารถนําเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาวที่น่าสนใจมากกว่านี้

นายอัสสเดชกล่าว่า คงมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว บางโปรแกรมที่คิดไว้ กว่าจะเห็นผลสําเร็จคงหลังจากทีมงานเกษียณกันไปหมดแล้ว แต่ก็ต้องวางโครงการระยะยาว ขอยกตัวอย่างเรื่องระยะยาว คือ การพัฒนาของ Eastern Seaboard จนประเทศไทยที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็น Detroit of Asia ซึ่งรากฐานที่ผู้ใหญ่ในอดีตวางไว้เริ่มต้นมา 30-40 ปีที่แล้ว จนประเทศได้ผลประโยชน์เศรษฐกิจเติบโตจากตรงนั้น อย่างมหาศาล

“ในแนวเดียวกัน ก็ได้คุยกับทีมงานว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็น Listing Hub หรือเป็นศูนย์รวมในการระดมทุนของอุตสาหกรรมประเภทใดได้หบ้าง บ้านเรามีความสามารถในอุตสาหกรรมไหนที่เหนือประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ในโลก ยกตัวอย่าง เรื่อง Healthcare, Wellness เราเป็นผู้นําโลกในการเข้าถึง คนต่างชาติมาจากทั่วโลกเพื่อมารักษาบ้านเรา ไม่ใช่เพราะหมอเราเก่งอย่างเดียว หรือโรงพยาบาลเราดีอย่างเดียว ราคาเราดีด้วย แต่องค์ประกอบของประเทศก็น่ามา อาหารดี คนยิ้มแย้ม เราจะเสริมสร้างจุดเด่นของบ้านเราตรงนี้ได้อย่างไร กําลังคิดกันอยู่ว่า ในที่สุดอยากจะเห็น ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลในเวียดนามที่สักวันเติบโต และอยากจะเข้าระดมทุนในตลาดทุน ทําอย่างไรให้เขาคิดถึง SET เป็นที่แรก” นายอัสสเดชกล่าว

นายอัสสเดชกล่าวว่า ความคิดเหล่านี้คือสิ่งที่อยากจะวางรากฐานวาง วางพื้นเพื่อทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ซึ่งคงต้องไปหาแนวทางความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ภาครัฐในการสนับสนุนเป็นภาพใหญ่ทําให้ถึงจุดเป้าหมายนั้น “ผมไม่ได้นึกถึงว่าแค่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ประโยชน์ จากการเป็น Destination แต่ถ้าสร้างได้สําเร็จ supply chain ทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ควรจะมาอยู่บ้านเรา”

ส่วนระยะสั้นคือ โปรแกรมสนับสนุน ดึงดูดหรือจูใจให้บจ.มีแผนที่จะพัฒนาสร้างมูลค่าให้ตัวเอง นํา Balance Sheet(งบดุล) มาเสริม ROE, ROI แล้วก็สร้างมูลค่า เป็นโปรแกรมที่กําลังวางแผนกันอยู่

คำถามต่อมา SET Index เป็นตัวชี้วัดของภาพรวมเศรษฐกิจ การเติบโต GDP ของเราเทียบแล้วก็ไม่ได้มีเสน่ห์เหมือนกับหลายประเทศ โอกาสที่จะทํากําไรจากตลาดไม่ได้เด่นเหมือนเพื่อนบ้าน เราจะแก้อย่างไร จะต้องเพิ่มสินค้าในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านที่โตได้ดีกว่าหรือไม่ จะต้องเพิ่มผู้เล่นในตลาดหรือไม่ รวมไปถึงการใช้ AI มีแนวคิดอย่างไรที่จะทําให้ดูน่าสนใจ

นายอัสสเดชกล่าวว่า ด้าน supply หรือ สินค้าใหม่ๆที่น่าสนใจที่ช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสมากขึ้น จากแผนปัจจุบันและแผนที่กําลังเริ่มพัฒนากันในตลาดหลักทรัพย์ฯมีค่อนข้างมาก รวมไปถึงไม่ใช่แค่หุ้นอย่างเดียว แต่ดูจากตลาดเพื่อนบ้าน futures, options น่าควรจะพัฒนาและกําลังจะพัฒนากันให้มากขึ้น ส่วน product ระหว่างประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ทํามาค่อนข้างแล้ว เช่น DR, DRx ที่ปัจจุบันมีหุ้นสิงคโปร์ จากอเมริกา จากไต้หวัน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนในประเทศลงทุนเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน และในบางตลาด อย่างสิงคโปร์ เริ่มมีหุ้นไทยเข้าไป Listให้ นักลงทุนในสิงคโปร์เข้าถึงเช่นเดียวกัน และจากการสื่อสารกับผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์ต่างๆทั่วโลก มีความสนใจที่จะพัฒนา DR ให้มากขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ New Economy ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ให้ความสนใจมาก มีการพัฒนายกระดับ Live Exchange เป้าหมายหลัก คือ อยากจะให้มี New Economy ธุรกิจใหม่ๆ สตาร์ทอัพเข้าถึงตลาดทุน เพราะจะเติบโตไปเข้า mai ไปเข้า SET ในอนาคต ก็เป็นทางเลือก หรือการสนับสนุน New Economy ธุรกิจใหม่ๆในประเทศให้เกิดขึ้นได้

ส่วนด้านการซื้อขาย Demand Side ต้องมีการใช้เทคโนโลยีให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น จํานวนมากขึ้น ให้ความรู้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งสายงานตลาดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำอยู่แล้ว มีการพัฒนาหลักสูตร ที่จะพัฒนานักลงทุน Professional Tradee หานักลงทุนที่เป็นอาชีพลงทุนจริงๆ เช่น TFEX ที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ก็อยากให้เรียนรู้และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข่าร่วมพันคน จากที่คาดไว้ 30-40 คน เพราะนั้นมีความสนใจของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก การจัดกิจกรรม SET สัญจรในต่างจังหวัดก็มีนักลงทุนรุ่นใหม่เข้าร่วมมาก

คําถามต่อมา เป็นคำถามต่อเนื่อง ถึงการพัฒนานักลงทุนรุ่นใหม่แต่ข้อจํากัดของตลาดหุ้นไทยก็คือต้องอายุ 20 ปีถึงจะเปิดบัญชีได้ จะสามารถลดอายุลงในยุคนี้ได้หรือเปล่า

นายอัสสเดชกล่าวว่า ขอปรึกษากับสํานักงานก.ล.ต.ก่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่หารือกันว่าจุดไหนคือความเหมาะสม เพราะหากความรู้ไม่เพียงพอก็เป็นการสร้างความเสี่ยงไปในตัวด้ว คงต้องต้องหาแนวทางที่ สมดุล

คำถามต่อมา จากที่เล่ามาว่าอยากจะหลายอย่าง ให้ความสำคัญกับด้านใดเป็นอย่างแรก และวาง KPI ตัวเองไว้อย่างไรในวาระ 4 ปีนี้ ด้านไหนที่ถือว่าประสบความสําเร็จ ด้านไหนที่ถือว่ายังต้องทําต่อ หรือว่าอะไรที่ถ้าทําไม่ได้แล้ว คือล้มเหลว

นายอัสเดชกล่าวว่า อย่างแรกคือ ประเด็นการสื่อสาร คือ การวางแผนก็ต้องมีระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สิ่งที่ทําได้เร็วภายใต้บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การสื่อสาร “เรื่องที่คนไปลงทุนขาดทุนแล้วฆ่าตัวตาย ในความรู้สึกของผมอยากจะรีบพัฒนาการสื่อสารในเรื่องพวกนี้ให้รวดเร็ว ซึ่งอยู่ในอํานาจหรืออยู่ในบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯที่จะทําด้วยตัวเองได้ สิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาหรือร่วมทํากับหน่วยงานอื่น องค์กรอื่น คงใช้เวลามากกว่านั้น เรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จําเป็นต้องให้ประโยชน์กับทาง บล.ต่างๆ ให้คนเข้าถึง การพัฒนา product ใหม่ๆอย่างเช่น optionห ที่หลากหลาย ก็มีขั้นตอน ซึ่งก็จะพยายามผลักดันให้เกิดในเร็ววันได้”

ส่วนในระยะยาว คือ การเป็น Listing Hub หรือเป็น จุดที่ดึงดูด ทั้งบริษัทในไทย บริษัทใหม่ๆในอุตสาหกรรม ที่อาจจะมุ่งเน้นไปที่ตลาดต่างประเทศด้วย เป็นแพลตฟอร์มที่วางพื้นฐานให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามนายอัสสเดชกล่าวว่า แผนทั้งหมดจะประกาศได้อย่างชัดเจนในราวเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากต้องนำเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายอัสสเดชกล่าวปิดท้ายการพบปะกับสื่อมวลชนว่า…

” ตลาดทุนนี้เป็นของเราทุกคน ทุกคนในตลาดมีบทบาทแตกต่างกันไป ผมพร้อมฟังทุกความคิดเห็น คือ ทุกคนมีมุมมอง มีข้อมูลที่แตกต่างกันไป ผมเชื่อว่า ทุกคนมีความตั้งใจดีให้ตลาดทุนของเราพัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจให้กับบ้านเมือง การฟังสําหรับผมมีผู้ใหญ่สอนไว้ การฟังเราได้เรียนรู้ มุมมองใหม่ใหม่ การพูดนั้นพูดในสิ่งที่เรารู้แล้วออกไป เพราะฉะนั้นผมให้ความสําคัญกับการฟังแล้วหวังว่า ทุกคนมีไอเดียมีความคิดเห็นมีมุมมองอะไร ผมจะน้อมรับ ถือว่าทุกอย่างที่อาจจะเขียนอาจจะลงผ่านสื่อต่างๆ ผมจะมองว่าเป็นคําแนะนําให้กับผม ให้กับตลาด”