ThaiPublica > คนในข่าว > ทางออก “ความยากจน” กับ “ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ใช้กลไก Change Agent เจาะ Area Development 20 จว. แบบมุ่งเป้า-แม่นยำ

ทางออก “ความยากจน” กับ “ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ใช้กลไก Change Agent เจาะ Area Development 20 จว. แบบมุ่งเป้า-แม่นยำ

29 มิถุนายน 2024


ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

“ความยากจน” อีกหนึ่งปัญหาที่ยังไม่หมดไปจากประเทศไทย

ข้อมูลรายได้ต่อหัวของคนไทย ทำให้เข้าใจว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว แต่หากลงลึกในรายละเอียดและข้อเท็จจริง ประเทศไทยยังมีคนจนตกหล่นอยู่เป็นหลักแสนคน จะจนเพราะ “ขาดโอกาส” เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ หรือจะจนเพราะพฤติกรรม ล้วนแต่ “ยากจน” ตกขอบการสำรวจ

ภาครัฐแก้ปัญหาด้วยโมเดลแก้จน หรือโครงการแก้จนต่างๆ โดยเฉพาะการให้เงินและสร้างงานระยะสั้น เมื่อโครงการสิ้นสุด ความยากจนไม่หายไป เป็นโมเดลแก้จนที่ไม่ยั่งยืน กลายเป็น “จนดักดาน” ที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.ชี้ให้เห็นว่า วิธีแก้ความยากจนของภาครัฐไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากนโยบายที่ไม่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นวิธีการแบบ one size fit all เพื่อนำไปใช้กับคนจนทั่วประเทศ โดยขาดการคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่ว่า คนยากจนแต่ละพื้นที่มีสาเหตุความยากจนแตกต่างกัน

เทียบให้เห็นภาพคือ ไม่ใช่แค่สอนให้จับปลาหรือให้เบ็ด แต่ต้องทำให้รู้วิธีจับปลาที่ถูกต้อง ตั้งแต่รู้ว่ามีแหล่งน้ำอยู่ตรงไหน ซื้อเบ็ดอย่างไร เมื่อจับได้แล้วจะกินเอง หรือขายปลาให้ใคร และขายที่ราคาเท่าไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ

ดังนั้น งานของ บพท. คือปรับกระบวนทัศน์ของครัวเรือนยากจนให้รู้วิธีหารายได้อย่างยั่งยืน ด้วยบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดย บพท. นำร่องดำเนินการ 20 จังหวัดที่ติดทอปยากจนที่สุดของประเทศ

ตั้งแต่ปี 2561 บพท. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม 151 หน่วยงาน จำนวน 660 โครงการวิจัย งบประมาณกว่า 3,766 ล้านบาท ผ่านการทำงาน 2 มิติ คือ

  • มิติการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนจนและครัวเรือนยากจน กลุ่มอาชีพ กลุ่มชุมชน
  • มิติการกระจายศูนย์กลางความเจริญ กลุ่มเป้าหมายการพัฒนา เมือง ท้องถิ่น จังหวัดและภูมิภาค สร้างกลไกพัฒนาพื้นที่ให้กับหน่วยงานระดับท้องถิ่น (local government)

“เวลาเราพูดถึง ‘เศรษฐกิจฐานราก’ กับ ‘ครัวเรือน’ มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน แต่เราพูดรวมกันๆ ถ้าเราไม่แยกแนวคิด แยกขนาดของปัญหา เราจะไม่รู้ว่ามันคนละเรื่องเดียวกัน”

เมื่อความยากจนเป็นโจทย์ที่ยังแก้ไม่ตก บทบาทของ บพท. จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างทางออกใหม่ๆ โดยใช้องค์ความรู้และงานวิจัย เพื่อพุ่งเป้าอย่างแม่นยำไปที่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง และปฏิบัติได้จริง

คนจน 1.2 ล้าน รวม “คนจนตกหล่น”

จากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด (Practical Poverty Provincial Connext: PPPConnext) โดย บพท. พบว่า มีจำนวนครัวเรือนฯ ที่ได้จากการสำรวจ 272,790 ครัวเรือน (ฐานข้อมูลครัวเรือนในระบบ 303,483 ครัวเรือน) และจำนวนสมาชิกครัวเรือนยากจนที่ได้จากการสำรวจ 1,297,253 ราย (สมาชิกครัวเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่ 1,065,008 ราย)

ขณะที่ฐานข้อมูล TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform: ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับ NECTEC พบว่ามีสมาชิกครัวเรือนยากจน 330,000 คน เท่านั้น

“คนชอบคิดว่าฐานรากที่สุดคือเศรษฐกิจฐานรากชุมชน ไม่ใช่ ฐานรากที่สุดคือ ‘ครัวเรือน’ ปรากฏว่าการพัฒนาที่ผ่านมาลงไม่ถึงครัวเรือน ส่วนใหญ่จะไปลงกลุ่มอาชีพ ทำให้ครัวเรือนฐานรากที่สุดหรือครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะยากจนข้ามรุ่นยังไม่หมดไป ทางวิชาการเรียกว่า absolutely poverty ซึ่งประเทศไทยเคยมีเปเปอร์บอกว่า ‘ไม่มีแล้วนะ’ แต่จริงๆ ‘มี’ ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า นอกจากยังไม่หมดไป มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากพลวัตใหม่ของการพัฒนา”

ถามว่าตัวบ่งชี้คืออะไร บพท. สร้างแพลตฟอร์มขจัดความยากจนขึ้นมา สิ่งแรกที่เราทำคือระบบชี้เป้าครัวเรือนระดับพื้นที่ เพื่อดูการพัฒนาทั่วประเทศไทย เราทำ 20 จังหวัด นี่คือ critical mass ของ 77 จังหวัด เอา TPMAP เป็นฐาน เราไปจับดัชนีความก้าวหน้าของคน เอาจังหวัดที่รายได้ภาคครัวเรือนต่ำ หนี้สินสูง

“พอไปค้นจริงๆ น่าสนใจมาก เราเจอทั้งคนจนที่ไม่น่าจะจนอยู่ในระบบ ที่น่าสนใจมากคือคนจนตกหล่นเยอะ และคนจนตกหล่นบางครัวเรือน จากข้อมูลมันเกิดมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกมาจากการพัฒนาที่ไปเร็วเกินไป เช่น สร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการโยกย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนวิถีชีวิต มีโอกาสที่จะโดนความยากจน disrupt หรืออุบัติภัยใหม่ เช่น climate change เกิดภาวะแล้งกะทันหัน ร้อนกะทันหัน กระทบรายได้ไม่มี หรือภัยพิบัติโควิด แรงงานที่มาอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคโรงงาน โดนออกจากงาน เพราะรายได้ไม่มี ขาดการติดต่อกับครัวเรือนทันที บางส่วนไม่ได้ส่งเงินกลับบ้าน พอขาดช่วง พ่อแม่พี่น้องญาติไม่มีรายได้จุนเจือ กลายเป็นครัวเรือนยากจน”

ส่วนที่สอง เป็นเรื่องพฤติกรรม behavior เราเจอคนจนที่ห้ามมายุ่งกับข้าพเจ้า ฉันจะอยู่อย่างนี้ ฉันจะนอนอย่างนี้ อย่ามายุ่ง มีเยอะพอสมควร คือจะไม่ทำอะไร รวมทั้งกลุ่มที่อยู่กับอบายมุข

“เราเจอคุณพ่อคนหนึ่ง มีลูกสาวสามคนที่ภาคเหนือ ตั้งแต่ตัวเล็กๆ จนถึงอายุประมาณ 12 ไม่เคยใส่ผ้าอนามัย คุณพ่อติดการพนัน แต่คุณพ่อมีสวนยาง 8 ไร่ ครอบครัวนี้ไม่เข้าระบบรัฐเลย เพราะมีสวนยาง มีบ้าน มี facility เพราะฉะนั้น เขาไม่สามารถเข้าสวัสดิการรัฐได้ เพราะทรัพยากรของเขาน่าจะมีรายได้ แต่พฤติกรรมทำให้เขาไม่มีรายได้ ก็มีเกิดครัวเรือนแบบนี้อยู่”

หรืออีกตัวอย่างที่เจอ “คุณย่าคนหนึ่งขาดการติดต่อกับลูกหลาน ตาบอด มองไม่เห็นแล้ว คลานอยู่พื้นบ้าน กินอาหารที่เพื่อนบ้านเอามาให้ เพื่อนบ้านก็เอามาให้ทุก 2-3 วัน อาหารบูด ก็ต้องทานอยู่อย่างนั้น ยังมีคนแบบนี้อยู่ในประเทศไทย น่าตกใจ”

นี่คือกระบวนการที่เราเข้าไปสำรวจไปดู state of development ของกลุ่มเป้าหมาย เขาอยู่อย่างไร เป็นอย่างไร โดยเสนอหลักการวัดระดับความยากจนโดยใช้ฐานรายได้ บวกชีวิตความเป็นอยู่ โดยเราไปสำรวจทุนสังคมด้วย ปรากฏว่าทุนสังคมบ้านเราน่าสนใจ มีโครงข่ายสังคม เขาช่วยเหลือกันเอง เราใช้โครงสร้างสังคมมาช่วยเรื่องสวัสดิการชุมชนได้เยอะ เอามาแมตช์ข้อมูลกัน

“บางทีฐานรายได้ได้ แต่ว่าจน บางคนทั้งฐานรายได้ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ไม่จน แต่ไม่มีฐานรายได้ ก็สามารถเข้าสู่สวัสดิการภาครัฐได้ informal sector (ส่วนที่อยู่นอกระบบ) บ้านเรามันเยอะ มีบางคนโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานหมดแล้ว ตัวเองเข้าสวัสดิการภาครัฐได้ ก็เกิดอารมณ์ประมาณนั้น จึงอยากจะชี้ให้เห็นว่า เรื่องอย่างนี้ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่จินตนาการมันเกี่ยวข้องกับกระทรวง ทบวง กรม อะไรบ้าง เยอะมาก พอเรารีวิวผู้มีส่วนได้เสียในระดับประเทศ เชื่อไหมว่าทุกกระทรวง ทบวง กรม มีโครงการแก้จน โครงการคนเปราะบาง แต่แทบจะไม่มีกระทรวงไหนที่ลงไปถึงครัวเรือน ยกเว้นกระทรวงเดียวคือ พม. สธ. แต่ พม. สธ. ทำเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ ทำได้แค่สงเคราะห์ จะไปส่งเสริมอาชีพไม่ได้ นี่คือจุดอ่อน”

บพท. จึงดำเนินการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน โดยนำร่อง 20 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุด กับกลุ่มคนจนและครัวเรือนยากจน 40% ล่างสุดในพื้นที่ (อ้างอิงจากดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Archievement Index: HAI Index) ปี 2562)

ทั้งนี้ ฐานข้อมูลของ บพท. มีทั้งหมด 21 จังหวัดที่เข้าข่ายครัวเรือนยากจนมากที่สุด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท นครราชสีมา นราธิวาส บุรีรัมย์ ปัตตานี พัทลุง พิษณุโลก มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี และนครสวรรค์ โดยนครสวรรค์ไม่ได้เข้าเกณฑ์ของ บพท.

ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า วิธีช่วยเหลือเบื้องต้นที่สุดคือทำให้คนจนเข้าถึงปัจจัยสี่ให้ได้ อาจใช้สวัสดิการรัฐ สวัสดิการชุมชน หรือโครงการซีเอสอาร์ของภาคเอกชน (CSR หรือ corporate social responsibility) จากนั้นสร้างกระบวนทัศน์ (paradigm) ให้รู้จักสร้างรายได้ ที่สำคัญคือให้ทักษะการรู้เท่าทัน (literacy) และความพอเพียง มิเช่นนั้นต่อให้มีรายได้ ก็จะเข้าสู่ครัวเรือนหนี้สิน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

พร้อมอธิบายว่า “ที่ผ่านมากลไกที่เข้าไปหมุน เรียกว่า “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน” ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ตั้งมาระดับชาติ มีรองนายกฯ เป็นประธาน ระดับพื้นที่มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และเอา TPMAP เข้ามาทำงาน ต้องยอมรับว่าพอเป็นนโยบายระดับพื้นที่ ทรัพยากรไม่ลงไปด้วย งบประมาณยังเท่าเดิม โครงการเหมือนเดิม ก็แล้วแต่ควากระตือรือร้นของแต่ละพื้นที่ บพท. ก็ขอให้มหา’ลัยไปหมุน เอางานวิจัยไปหมุน หมุนอะไร เรื่องแรกหมุนประชาคม หมุนกลไก คือช่วยให้ทุกคนมาสร้างเป้าหมายร่วมกัน ว่าจังหวัดเราคนยากจนมีเท่าไร ครัวเรือนยากจนจริงๆ อยู่ตรงไหน ซึ่งมีทั้งระบบข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย กระทรวง พม. กระทรวงสาธารณสุข เมื่อได้ตัวเลขออกมา แล้วเอาไปสร้างระบบข้อมูลชี้วัด พอเราเห็นกลุ่มคนที่ชัดเจน เห็นชีวิตความเป็นอยู่ชัดเจน วิธีแก้ไขมันจะล็อกเป้า เห็นวัฏจักรความยากจนรายครัวเรือนแบบข้อเท็จจริง เข้าไปดูชีวิตความเป็นอยู่ มีลูกกี่คน มีที่ดินไหม”

ส่วนที่สอง พอเกิดกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เกิดการส่งต่อความช่วยเหลือ เรียกว่าระบบส่งต่อ แชร์ข้อมูลกลับเข้ามาว่าใครช่วยอะไรไปแล้วบ้าง นั่นคือการล็อกเป้า แม่นยำ และระดมสรรพกำลังไปช่วย

ส่วนที่สามคือ การช่วยที่ดีที่สุดคือ ช่วยให้เขามีอาชีพ มีรายได้สม่ำเสมอ

ส่วนสุดท้ายคือสร้างโมเดลแก้จน เอาวิจัย เอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วย เกิดอาชีพครัวเรือน เช่น โรงเห็ดสร้างรายได้ 2,400 บาทต่อคน เพราะจากเห็ดโรงใหญ่ เอามาประยุกต์เป็นโรงที่เหมาะกับโมเดลครัวเรือน มีการช่วยที่ตรงกับความต้องการ เช่น ครัวเรือนที่ไม่มีที่ดิน เอาที่ดินสาธารณะมาบริหาร ที่ดินของนิคม ที่ดินเทศบาล จนไปถึงที่ดินของวัด มีเจ้าอาวาสสนับสนุน กลไกชุมชน พอช. ก็มาร่วม ทำเป็นกลุ่มเป็นก้อนขึ้นมา

“ของเราใช้คอนเซปต์ value chain คือเอาห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ห่วงโซ่ตลาดไปช่วยคนจน อย่างเช่น กระจูดแก้จน โดยกระจูดวรรณีเข้ามาโค้ช เขาเป็นผู้ประกอบการโอทอประดับบนแล้ว ส่งออกญี่ปุ่น เราก็ขอให้มหา’ลัยทักษิณเข้าไป ก็ไปช่วยกลุ่มธุรกิจ ช่วยเรื่องแบรนด์ ช่วยสีย้อม เทคโนโลยี จนเขาขายดีขึ้น แต่เรามี commitment คือ ขายดีขึ้น ขอพ่วงครัวเรือนยากจนเข้าไปช่วยจัดการ value chain ก็เกิดครัวเรือนยากจนที่ reskill-upskill มาร่วมผลิต สุดท้ายกลุ่มครัวเรือน ตอนแรกมี 30 ครัวเรือน ตอนนี้ 100 กว่าแล้ว สามารถสร้างกลุ่มเลน้อยคราฟ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนยากจน ตอนนี้ก็เริ่มขายเอง”

นี่คือโมเดลในการยกระดับรายได้ให้หลุดพ้นความยากจน

ฟื้น “เศรษฐกิจฐานราก” ด้วยความรู้และวัฒนธรรม

สิ่งที่ บพท. ตีโจทย์คือการสร้าง “เศรษฐกิจฐานราก” ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาค นำไปสู่แนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ หรือ area development

“เรามองภาพรวม เรียกว่า holistic approach และมอง systematic approach มองภาพรวมของประเทศที่ชื่อมโยงกับโลก และทำตัวอย่างให้เห็นกลุ่มเป้าหมาย เวลาลงทุนควรจะทำอะไรก่อน ใครควรจะเป็นเจ้าภาพ ใครควรจะสานพลัง…

“ถ้ามองเฉพาะ problem-based จะเห็นแต่ปัญหา เรากำลังพูดถึง target-based คือมองไปข้างหน้า นี่คือที่มาของคำว่า area development”

ดร.กิตติ กล่าวต่อว่า หัวใจการทำงานของ บพท. มีอยู่ 4 เครื่องมือ คือ (1) ข้อมูล-ความรู้ (2) กลไก (3) กระบวนการ และ (4) ผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หรือ change agent

ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือที่จะสร้าง “เศรษฐกิจฐานราก” โดย ดร.กิตติอธิบายว่า “เราไม่ได้คิด project-based กระจาย แต่โปรเจกต์เป็นเครื่องมือในการกระจาย และสังเคราะห์ออกมาเป็นแพลตฟอร์ม”

เริ่มจาก “ข้อมูล” ซึ่ง บพท. สังเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนยากจนทั้งหมดให้เห็นภาพผ่านแพลตฟอร์ม PPPConnext

ต่อด้วย “กลไก” และ “กระบวนการ” ดร.กิตติอธิบายว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านกำลังคนที่ดี มีมหาวิทยาลัยติดอันดับโลก และกระจายตัวแทบทุกจังหวัด อีกทั้งมีการลงทุนด้านการศึกษาสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศกำลังพัฒนา

ข้อได้เปรียบจุดนี้นำมาสู่แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคน และกลไกจากฐานทุนทรัพย์พื้นถิ่นและทุนทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาอาชีพ เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการทั้งประเทศ ช่วยส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรม ใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) เปลี่ยนวัตถุดิบพื้นถิ่นเป็นสินค้า สร้างนวัตกรชาวบ้านในชุมชน และพัฒนาเทคโนโลยี-นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่

ดร.กิตติเรียกวิธีการนี้ว่า “ระบบโค้ช” โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะเครือราชมงคลและราชภัฏ เพราะสถานศึกษาในพื้นที่จะเข้าใจพื้นที่ตัวเองดี อีกทั้งให้สถานศึกษาเป็นทั้งโค้ช ที่ปรึกษา และเป็นคนติดอาวุธให้ชาวบ้าน

บพท. จึงดำเนินการผ่าน 3 เงื่อนไข คือ (1) การติดอาวุธชาวบ้าน ผ่านชุดความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมใช้ (2) ความรู้เรื่องความต้องการว่าชุมชน-ชาวบ้านต้องการอะไร (real demand) เพื่อดึงศักยภาพของชุมชนนั้นๆ และ (3) สร้างการเรียนรู้แบบเรียนแล้วปฏิบัติจริง (learning by doing)

“ผมเลยร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล-ราชภัฏ ให้เขาพัฒนาพื้นที่ด้วย และรีวิวว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่เคยประยุกต์ใช้ในชุมชนแล้วได้ผล เรียกว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม ปรากฏว่ามีนวัตกรรมพร้อมใช้ 20,000 กว่าเทคโนโลยี แต่เราก็ยังไม่เชื่อ โห…ทำไมเยอะจัง พอสกรีนไปมาเหลือ 2,000 กว่าเทคโนโลยี ก็ถือว่าเยอะมาก”

“การปรับโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงเทคโนโลยี และการมีที่ปรึกษา มีโค้ช ก็จะทำให้ชุมชนยกขึ้น เห็นเลยว่าการพัฒนาครัวเรือน ชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจโดยธุรกิจชุมชน คือการพัฒนา community-based ระดับเศรษฐกิจฐานราก”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

Change Agent หัวใจหมุนพื้นที่

หัวใจสุดท้ายคือ “ผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่” หรือ change agent โดย ดร.กิตติเรียกสั้นๆ ว่า “คนหมุน” ประกอบด้วย นักวิจัย ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำเมือง รวมไปถึงผู้นำชาวบ้าน บุคลากรมหาวิทยาลัย ระดับรองอธิการบดี ที่เข้าใจการทำงานกับชุมชน และเป็นผู้วาง ecosystem ให้พื้นที่ ทั้งนี้ บพท. มีเงินทุนตั้งต้นให้ด้วย (seed money)ปัจจุบัน บพท. สามารถสร้างคนหมุนที่ยกระดับการเข้าถึงเทคโนโลยีชุมชนได้แล้ว 8,000 คนทั่วประเทศ

“กลไกความร่วมมือต้องมีข้อมูลเป้าหมายร่วม กฎกติการ่วม มีการระดมทรัพยากร กิจกรรมร่วมกัน และมีคนหมุนกลไกให้มาพูดคุย มองไปข้างหน้า เราทำงานด้วยสองกระบวนการ หนึ่ง กระบวนการสร้างและจัดการความรู้ สอง กระบวนการสร้างการเรียนรู้และจัดการความสัมพันธ์”

“ความร่วมมือนี้ไม่ได้มาจากเราเจ้าเดียว พอมันหมุน ทุกคนเริ่มเห็นการใช้ข้อมูล เห็นวิธีการใหม่ๆ ไม่ใช่แค่อบรมแล้วจบ หรือสงเคราะห์แล้วกลับ เริ่มมีการฟีดว่ารายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร อยู่ได้ไหม ยั่งยืนไหม ทุกคนก็จะเห็นว่าครัวเรือนนี้ ใครช่วยอะไรไปแล้วบ้าง”

สิ่งที่ บพท. และ change agent ค้นพบคือ ในประเทศไทยมี ‘กลุ่มอาชีพ’ จำนวน 2.3 – 2.5 ล้านคนกระจายตัวทั่วประเทศ แต่การช่วยเหลือชุมชนคือต้องใช้ธุรกิจชุมชน (local business และ local enterprise) และทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดย 1 ห่วงโซ่ธุรกิจ (value chain) ดูแลได้เกือบ 5 ครัวเรือน หรือประมาณ 10 คน

แต่จากข้อค้นพบว่า กลุ่มอาชีพระดับชุมชนเกือบ 80% มักจะไปไม่รอด กล่าวคือขายได้ แต่ก็ขาดทุนจนเจ๊ง ดังนั้น สิ่งที่ บพท. เข้าไปทำตามลำดับคือ (1) พัฒนาคน (2) พัฒนาสินค้า และ (3) สร้างตลาด

“อย่าว่าแต่ขีดความสามารถในการประกอบการ การดูสภาพคล่องทางธุรกิจยังไม่รู้เลย ถามคำเดียว ตั้งราคามาจากอะไร ไม่มีใครตอบได้ บอกว่าตั้งราคาจากกลุ่มอื่น ตลาดเขาขายอย่างนั้นก็ขายแบบนั้น เวลาคนลงไปเยี่ยมก็ดีใจ ลดราคาอีก”

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า ระบบโค้ชสำคัญมากต่อกลุ่มอาชีพ ทำให้เกิดความสามารถในการนำเทคโนโลยีความรู้ไปต่อยอด และเมื่อ “คน” กับ “สินค้า” ที่ถูกพัฒนาจาก “เทคโนโลยีที่เหมาะสม” จึงค่อยมาสร้างตลาดภายหลัง

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า กลุ่มอาชีพจะต่อยอดเป็น “คลัสเตอร์” (cluster) หรือที่เรียกว่าวิสาหกิจชุมชนขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น ล้งชุมชนทุเรียน กลุ่มสหกรณ์โคนม หรือกลุ่มปลาส้ม อีกทั้งคลัสเตอร์ที่ change agent เข้าไปช่วยจะสร้างมาตรฐานสินค้า ทั้งด้านการผลิตและคุณภาพ แล้วค่อยหาตลาดเพื่อจัดจำหน่าย

“ถ้าเราไม่ทำ และให้เขาบริการกันเอง ไม่มีทางที่ธุรกิจชุมชนจะโต เพราะธุรกิจชุมชนตอนนี้คือรอรัฐ incentive เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เทคโนโลยีที่เอามาให้ หรือ facility บางอย่าง มีห้องเย็นลงไป แต่ไม่มีชุดความรู้เข้าไป ไม่มีที่ปรึกษา”

อย่างไรก็ตาม ดร.กิตติกล่าวต่อว่า บพท. ได้ต่อยอดทุนวัฒนธรรมให้เกิดเป็นรายได้ ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมอนุรักษ์ที่ทำแล้วกอดไว้ แต่ต้องสร้างคุณค่าให้คนรู้รากเหง้า แล้วค่อยไปออกแบบการสร้างรายได้ผ่านย่านวัฒนธรรม ตลาดวัฒนธรรม ประชาคม ผู้ประกอบการ เกิดเป็นเมืองวัฒนธรรม โดยปัจจุบันประเทศไทยมี 4 เมืองที่เป็นเมืองวัฒนธรรม ได้แก่ พนัสนิคม ชุมทางทุ่งสง ไทลื้อ และสายบุรี

“คุณสุวิทย์ (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ) ใช้คำว่า BCG (bio, circular, green) ฐานทุนวัฒนธรรม มันเป็นเอกลักษณ์ (unique) และเป็น value creation ที่ใครเลียนแบบไม่ได้ ยกตัวอย่างทุเรียนหมอนทองกับทุเรียนหลินลับแลคนละตลาด uniqueness ไม่เหมือนกัน ทุเรียนลับแลเราไม่ต้องกลัวจีน หรือส้มโอเนื้อแดงไม่ต้องกลัวจีน เพราะมันเป็น specific local”

สรุปแล้ว ผู้นำในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนฐานรากและยากจนให้มีรายได้ แต่ธุรกิจชุมชนจะแข็งแรงได้ต้องมีการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปต่อยอดได้อย่างเป็นรูปธรรม จากนั้นค่อยหาตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่อีเวนต์เพราะคนในพื้นที่จะไม่ได้ประโยชน์นอกจากรายได้ แต่ต้องให้ประชาคมในพื้นที่จัดการและออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตัวเอง จึงจะเป็นการสร้างเศรษฐกิจจาก “ฐานราก” อย่างแท้จริง

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

ส่งต่อโมเดลแก้จน

“ผมไปตรวจตราเยี่ยมเยือนหลายพื้นที่ใน 20 จังหวัด ถามว่าดีขึ้นไหม ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่จังหวัดมีตัวเลขเป้าหมายว่าปีนี้จะช่วยเท่าไร ใครเป็นเจ้าภาพบ้าง”

ข้อมูลบพท. ระบุว่า บพท. ช่วยคนให้ได้รับประโยชน์กว่า 6,000-10,000 ราย เกิดชุมชนนวัตกรรม 954 ชุมชน (ตำบล) ครอบคลุม 35 จังหวัด สร้างนวัตกรชาวบ้านที่เป็นแกนนำชาวบ้านจำนวน 4,224 คน เกิดนวัตกรรมพร้อมใช้ (appropriate technology) และนวัตกรรมกระบวนการจำนวนมากกว่า 1,000 นวัตกรรม ก่อให้เกิดการยกระดับรายได้เศรษฐกิจฐานรากต้นแบบชุมชนนวัตกรรมร้อยละ 10-20 โดยมีจังหวัดนำร่อง 27 จังหวัดมีตัวอย่างรูปธรรมความสำร็จ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร จังหวัดกระบี่ และจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดแล้ว ยกระดับรายได้เกษตรกร และการบริการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10,000 บาทต่อเดือน จำนวน 4,971 ครอบครัว

ตัวอย่างที่ บพท. ช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จ ทำให้ชุมชนและชาวบ้านมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2561-2565 ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ แบ่งเป็น 3 มิติ ดังนี้

มิติครัวเรือนยากจน ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ช่วยเหลือคนจนแล้ว 957,764 คน ผ่านโมเดลแก้จนทั้งหมด 52 โมเดล ตัวอย่างเช่น

  • “กระจูดแก้จน” ในพื้นที่อำเภอควบขนุน จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการวิจัย “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง” โดยมหาวิทยาลัยทักษิณร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยนำภูมิปัญญากระฉูดและอัตลักษณ์ของชุมชน มาออกแบบโมเดลแก้จนชื่อ “กระฉูดแก้จน” ในพื้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และนำคนจนเป้าหมายเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าการผลิต (pro-poor value chain) มีการพัฒนาความรู้ reskil และ upskill เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการออกแบบลวดลาย สร้างรายได้เพิ่มกว่า 30%
  • “พุ่มพวงแก้จน” ชุมชนใหม่พัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้โครงการวิจัย “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์” โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลครัวเรือนยากจนในพื้นที่ตำบลสะแกโพรง พบว่ามีครัวเรือนยากจน จำนวน 773 ครัวเรือน และในพื้นที่มีกลุ่มผู้ประกอบการรถพุ่มพวงจำนวนมากแต่การค้าขายจะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ทีมวิจัยจึงสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หาจุดเชื่อมต่อระหว่างคนจนกับรถพุ่มพวง สร้าง “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลสะแกโพรง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์” ส่งเสริมครัวเรือนยากจนในการใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืชผัก ซึ่งศูนย์ฯ จะทำหน้าที่ส่งต่อสินค้าให้กับรถพุ่มพวง ปัจจุบันศูนย์ฯ มีสมาชิกรถพุ่มพวงประมาณ 30 คัน สามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆ

“รถพุ่มพวงซัพพอร์ตสินค้าชาวบ้านมาก มาช่วยกันซื้อพวกผักแพ็กไปห่อแล้วขาย รายได้ดีมาก เขาเลยมาจัดระเบียบใหม่ พุ่มพวงมีกี่เจ้า จัดระเบียบกัน แล้วสร้างศูนย์กระจายสินค้า เขาก็เห็นเลยว่าสินค้าอะไรที่ขายดีทอป 20 ก็มารับซื้อชาวบ้านแล้วแพ็กส่งพุ่มพวง มีแอปเรียกพุ่มพวง มันเกิดเศรษฐกิจชุมชน เหมือนตลาดชุมชน ชาวบ้านไปตีผึ้งมารังหนึ่งก็ขายได้ ไปฟันกล้วยมาหวีมาเครือก็ขายได้ อบต. มาซัพพอร์ตศูนย์กระจายสินค้า ชุมชนช่วยบริหาร ตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม”

กระจูดแก้จน ที่มาภาพ บพท. pmua.or.th

มิติเศรษฐกิจฐานราก ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา 29 แห่ง สร้างนวัตกรได้ 2,775 คน และมีนวัตกรรมพร้อมใช้ 763 นวัตกรรม ตัวอย่าง ดังนี้

  • การพัฒนาระบบผสมเทียมโคเนื้อสำหรับเกษตรรายย่อย จังหวัดน่าน ร่วมมือของสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน เกิดนวัตกรชุมชนที่ใช้ความรู้มาสร้าง พัฒนา หรือแก้ปัญหาการเลี้ยงโคเนื้อได้ จำนวน 36 คน เกิดการจัดตั้งกองทุนการผสมเทียม และสร้างเครื่อข่ายนักผสมเทียมโคเนื้อและระบบผสมเทียมโคเนื้อที่ดำเนินการและบริหารงานโดยผู้แทนเกษตรกรที่สามารถให้บริการการผสมเทียมโคเนื้อได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เกิดฐานข้อมูลเพื่อการจัดการโคเนื้อระดับจังหวัดแบบ real time ฝาน web/mobile app เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของหน่วยงานระดับจังหวัดอีกทั้งทางจังหวัดน่านได้บรรจุโครงการส่งเสริมเกษตรกรในการเลี้ยงโคเนื้อ
  • การยกระดับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จังหวัดพะเยา มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าและการจัดการผลผลิตล้นตลาดในบางฤดูกาล รวมถึงยกระดับห่วงโซ่คุณค่าด้านการตลาดโดยมีการบูรณาการทำงานในรูปแบบจตุภาคี เกิดการพัฒนานวัตกรชุมชน 61 คน เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุมชนมากขึ้น และร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนพะเยา รวมถึงมีพื้นที่แปลงอินทรีย์และสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจเข้ารับการตรวจแปลงและนำผลผลิตที่ได้รับการรับรองไปจำหน่ายได้ในราคาที่พึงพอใจมากขึ้น ก่อเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของชุมชนนวัตกรรมทั้ง 17 ชุมชน ผลการวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนนวัตกรรมเพิ่มขึ้น 26.6%

มิติทุนทรัพยากรพื้นถิ่นและทุนวัฒนธรรม ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 22 แห่ง พัฒนาแล้ว 74 ย่าน ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งสิ้น 6,000 คน รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 45%

  • “หลาดชุมทางทุ่งสง” อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร และเทศบาลเมืองทุ่งสง ส่งเสริมการเปิดพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมชุมชนด้วยวิถีชุมชนให้เป็นตลาดที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์สินค้าทางวัฒนธรรมของภาคใต้ โดยคนทุ่งสง 100% โดยมีกติกาประชาคมร่วมกัน ผ่านการสืบค้นรากเหง้าประวัติศาสตร์ของตนเองและยกระดับการตั้งเป้าหมายร่วม จนนำไปสู่การกำหนดข้อมูล กติกา และแผนดำเนินการโดยการมี ส่วนร่วมระหว่าง หน่วยงานของรัฐ ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายศิลปิน ภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จำนวน 200 ครั้ง มีผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมมากกว่า 236 ราย เกิดการสร้างรายได้มากกว่า 86.938. 199 บาท และต่อมาได้ขยายพื้นที่ย่านวัฒนธรรมเพิ่มเติมไปยังบริเวณบ้านพักของสถานีรถไฟทุ่งสง และอาคารสยามกัมมาจล เพื่อเป็นพื้นที่วัฒนธรรมแห่งใหม่ โดยความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทยและเทศบาลเมืองทุ่งสง
  • “ย่านวัฒนธรรมข่วงพันปี” อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เกิดการจัดกิจกรรมเปิดพื้นที่วัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ในทุกวันเสาร์จำนวน 117 ครั้ง จำนวนผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมประมาณ 65 ราย ก่อให้เกิดรายได้รวมประมาณ 12,726,727 บาท ทำให้จังหวัดลำพูนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวในพื้นที่และนอกพื้นที่มากขึ้น สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนและคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน เกิดสินค้าเชิงวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ได้แก่ โคม ซึ่งผู้ประกอบการวัฒนธรรมในพื้นที่สามารถผลิตและจำหน่ายโคมทั้งหมด 55,160 ดวง เป็นเงิน 2,206,400 บาท

“เราอยากให้ประชากรตื่นรู้ไปพร้อมรากเหง้า และความสำนึกในความรักถิ่นฐาน รักบ้าน รักประวัติศาสตร์ ไม่ได้หลุดแบบ disrupt ไปเลย เรากำลังสร้างประชากรแบบใหม่”

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า เมื่อช่วยเหลือแล้วต้องสร้างระบบส่งต่อ หรือระบบส่งต่อความช่วยเหลือ เพราะถ้าไม่เกิดระบบส่ง มันจะไม่ไปไหน และถ้าไม่ป้อนข้อมูลกลับเข้ามาว่าใครช่วยอะไรไปแล้วบ้าง มันจะเกิดการช่วยซ้ำซ้อน ครัวเรือนก็ไม่ดีขึ้น

“ถ้าเราเร่งเกินไป approach เข้าไป มันจะเกิดการสงเคราะห์ทันที มันไม่ยั่งยืน ต้องใจเย็น ต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้บริบท และต้องมี key agent ในการทำงาน”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

“ระบบรัฐ” และ “ปฏิบัติการร่วม” หมุดหมายที่ท้าทาย ของ บพท.

เมื่อถามถึงความสำเร็จของ บพท. ดร.กิตติตอบว่า “บรรลุเป้าหมายอยู่สัก…(นิ่งคิด) ยังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับผม แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องมันยาก เรื่องมันค่อนข้างซับซ้อน ถ้าเป็นพื้นที่เป้าหมายของเรา ความก้าวหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจสัก 70 ถึง 80% เราพยายามขยายความคิดให้จังหวัดอื่นๆ สิ่งที่เราทำได้คือเราจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้หลายจังหวัดไปด้วยตัวเอง”

“สองคือ การขยายเชิงนโยบาย เราไปพูดคุยกับผู้บริหารนโยบายหลายภาคส่วน บางกรมก็อยากให้เราเป็นโค้ชให้จังหวัดอื่นๆ เลย วางแพลตฟอร์มปุ๊ป…การปรับเปลี่ยนระบบรัฐมันเร็ว ท่านอธิบดีฯ ย้ายปุ๊ปต้องมาทบทวนใหม่ เป็นอุปสรรคพอสมควร แต่ movement ดี social movement และคอนเซปต์เริ่มไป paradigm ความคิดไป”

ดร.กิตติย้ำว่า สิ่งที่ บพท. ทำคือพัฒนาแพลตฟอร์มและทำตัวอย่างให้เห็นใน 20 จังหวัดว่าการช่วยครัวเรือนยากจนและเศรษฐกิจฐานราก ‘มันทำได้’ และอย่างน้อยที่สุดคาดหวังว่าครัวเรือนยากจนในระบบทั้งหมดเข้าถึงสวัสดิการ 100% และเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ 100%

นอกจากนี้ ดร.กิตติ บอกว่า change agent ที่ไม่สำเร็จก็มี เพราะส่วนใหญ่ใช้พรรคพวกกลุ่มก้อนในการบริหาร เห็นได้จากผู้นำชุมชนที่ทำไปนานๆ จะกลายเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่รวมกันสร้างอิทธิพล ส่วน บพท. ถ้าเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมดก็จะกลายเป็นผู้นำท้องถิ่น สุดท้ายเป็นผู้นำการเมือง ดังนั้น หนึ่งในความท้าทายคือการสร้าง change agent ที่ใช้ข้อมูลความรู้ในการบริหาร

“คนและกลไกในพื้นที่ ถ้าไม่เตรียมจะเกิดอะไรขึ้น ต่อให้มีนโยบาย คนก็ไม่พร้อมที่จะทำ ความเข้มแข็งเขาไม่ทัน เพราะฉะนั้น เราทำทั้ง top-down และโลกล้อมเมือง ทำขบวนในพื้นที่ เรามีขบวนแบบนี้กระจายตัวอยู่ 70 กว่าจังหวัด 10,000 กว่าผู้ประกอบการ และใส่ระบบคิดเรื่องเอื้อเฟื้อ คุณต้องจ้างงาน เอาฐานการผลิตในพื้นที่มาเชื่อมโยง เพราะถ้าเราไม่มีตรงนี้ บางคนเขารวยเป็นโรงงาน รวบเป็นครอบครัว มีโครงสร้างกระจายรายได้ เศรษฐกิจมันก็จะหมุน…เราต้องชวนทุกคนมาทำปฏิบัติการร่วม”

“ท้ายที่สุดเราพยายามสร้าง paradigm ว่า คุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำให้คนและกลไกในพื้นที่เติบโต ปฏิบัติการก็จะเกิด และมันก็ motivate แต่ motivation ที่ดีที่สุดไม่ใช่นโยบาย มันคือหลักคิด paradigm ที่เห็นตัวอย่างว่าทำได้จริง และเกิดการทำซ้ำ ขยายผล การเรียนรู้ ถ้าเกิด change agent แบบนี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเศรษฐกิจฐานรากไปแน่นอน”

กับดักรัฐ ช่วยคนจน ไม่หายจน

“รัฐถามว่ามันแตกต่างอะไรกับ ‘โมเดลแก้จน’ ที่รัฐลงไป ผมบอกความแตกต่างแรกคือมันลงไปมันถึงครัวเรือนชัดเจน สอง เราสร้างระบบโค้ช มหาวิทยาลัย ศจพ. (ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ) ส่งข้อมูลกลับเข้ามา”

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีโครงการแก้จนหรือโครงการคนเปราะบาง แต่แทบจะไม่มีกระทรวงไหนที่ลงไปถึงระดับครัวเรือน ยกเว้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ทั้งสองกระทรวงนี้ทำเรื่องเศรษฐกิจ-ส่งเสริมอาชีพไม่ได้ ทำได้แค่สงเคราะห์

“ถ้าอยากส่งเสริมธุรกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจในพื้นที่ ต้องร่วมมือกับใครบ้าง หรือสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีเพื่อส่งออกตลาดโลก เราต้องร่วมกับใครบ้าง กระทั่งขุดน้ำไปคุยกับกรมหนึ่ง ส่งเสริมการเกษตรไปคุยกับอีกกรมหนึ่ง ขนาดกระทรวงเดียวกันอยากได้องค์ความรู้ ต้องไปดูที่ศูนย์วิจัย ถ้าตลาดต้องไปกระทรวงพาณิชย์ ไปพาณิชย์จังหวัด พอถึงเวลาเราอยากไประดับโลกต้องกระทรวงการต่างประเทศ มันชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรายังทำงานแบบนี้ ไม่มีทางที่จะไปสู่เป้าหมายร่วมของการกระจายศูนย์กลางความเจริญได้”

ระบบบริหารราชการแผ่นดินติดกับดักการทำงานแบบ function-based ซึ่งเป็นกับดักที่ใหญ่โตมโหฬารมาก และเป็นฟังก์ชันที่แข็งตัวลงไปถึงระดับพื้นที่ ทุกหน่วยงานทำงานตามตัวชี้วัดที่ได้รับมอบหมาย แต่ไม่ได้อ้างอิงกับทุกข์สุขของประชาชน

ดังนั้น ดร.กิตติมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ข้อ คือ

1)ควรมีหน่วยงานเจ้าภาพที่แก้ปัญหาเรื่องคนจน และระบบข้อมูลชี้เป้า เหมือนที่ บพท. ทำแบบล็อกเป้า และต้องมีกลไกระดับชาติและพื้นที่มาขับเคลื่อน เพราะที่ผ่านมาไม่มีองค์กรเจ้าภาพที่รับผิดชอบ “ครัวเรือนยากจน” มีแต่โครงการแก้จน

“ไม่มีตัวเลขความยากจนเป็นตัวชี้วัด รู้แต่ว่า ‘ต้องไปช่วย อยู่ตรงไหนไม่รู้’ ทุกคนก็มีตัวชี้วัดของตัวเอง คนนี้มีตัวชี้วัดเรื่องคนติดเตียง มีตัวชี้วัดเรื่องครัวเรือนเปราะบาง มีตัวชี้วัดเรื่องกลุ่มอาชีพ บพท.จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเข้าไปว่า คนที่น่าจะรับผิดชอบเรื่องนี้ ทำทั้งระบบข้อมูล มันควรจะเป็นคนที่ดูภาพรวม คนที่เป็นกลไกระดับ ศจพ. โดยมีผู้ว่าฯ ดูภาพรวมของจังหวัด แต่ควรมีองค์กรระดับพื้นที่คือท้องถิ่น ติดตามครัวเรือนระดับพื้นที่ของตัวเอง มีระบบข้อมูลติดตาม”

2)ให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาข้อมูลระบบชี้เป้าเพราะมีความน่าเชื่อถือ

“รัฐทำระบบข้อมูลชี้เป้าก็เป็นแบบหนึ่ง ประชาสังคมทำก็เป็นแบบหนึ่ง ปรากฏว่าพอเรารวมข้อมูล มันได้ข้อเทจจริงออกมาค่อนข้างสูง เราทำให้เห็นว่าแพลตฟอร์ม 20 จังหวัด มันทำได้ และรัฐสามารถทำแพลตฟอร์มได้ในระบบและนโยบายเดิม โดยยังไม่แก้ระเบียบกฎหมาย แต่เพิ่มเติมอำนาจบางอย่างเข้าไป”

3)ช่วยให้ครัวเรือนยากจน-คนจน มีอาชีพและรายได้สม่ำเสมอ

“การช่วยที่ดีที่สุดคือช่วยให้เขามีอาชีพ ที่จีนเรียกว่าช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเอาครัวเรือนไปอยู่ในแรงงาน ระบบอุตสาหกรรม ระบบตลาด แต่การเมืองจีนไม่เหมือนเรา บ้านเราไปดูงานความยากจนที่จีน ทุกกระทรวง ทุกกรรมาธิการ แต่พอไปแล้ว มาถึงบ้านเรา ไม่นำมาปรับใช้”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

พัฒนา-กระจายความเจริญ ต้องคำนึงถึงฐานราก

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นว่าการกระจายศูนย์กลางความเจริญไปยังพื้นที่คือสิ่งสำคัญมาก และประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเสาหลักหลายๆ เสา เพื่อป้องกันความเสี่ยง ถ้ากรุงเทพฯ โดนปิดเมืองหรือโดน disrupt ดังนั้น เราควรดูโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่เชื่อมโยงกับ “เศรษฐกิจจุลภาค”

ดร.กิตติอธิบายว่า การพัฒนาเมืองที่ควรจะเป็นคือการสร้างกลุ่มก้อนของการพัฒนาเมือง เช่น บริษัทพัฒนาเมือง วิสาหกิจ สร้างการลงทุนของเมืองที่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านของพื้นที่ ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของรัฐ ถ้าไม่มีกลุ่มก้อนการพัฒนา มันจะเป็นการลงทุนที่มองมิติใดมิติหนึ่ง ไม่ได้มองภาพรวม

“ใครไปโคราชและขึ้นโทลเวย์บ้าง ชอบไหม ผมชอบ บ้านผมอยู่โคราช มันย่นเวลาผมได้เยอะ แต่เชื่อไหม เศรษฐกิจข้างทางหายไปหลายพันล้าน นี่คือการพัฒนาที่ไม่ได้มองภาพรวม แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามในพื้นที่ไม่มีการส่งเสียงออกมา รัฐก็จะวางแผนการพัฒนาของรัฐ มันกลายเป็นเศรษฐกิจที่โตบนรถยนต์ ไม่ได้ส่งเสริมขนส่งมวลชน”

“ในการลงทุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ระหว่างกรุงเทพฯ กับแต่ละจังหวัด บางจังหวัดเป็นจังหวัดขนาดเล็กได้เงินแค่ 5-6 พันล้านเท่านั้น เทียบกับกรุงเทพฯ ไม่รู้กี่แสนล้านต่อปี มันไม่มีทางที่มันจะโตทันกัน 15 ปีที่แล้วการพัฒนาระหว่างกรุงเทพฯ กับแม่ฮ่องสอน ห่างกันกว่า 350 เท่า ปัจจุบันเป็น 380 เท่า แสดงว่ามันถ่างออกมา”

ดร.กิตติกล่าวต่อว่า “ถ้ารัฐฟังเสียง แต่ไม่ใช่เสียงประชาชนฐานรากทั่วไป เป็นเสียงกลไกความร่วมมือ รัฐก็จะเข้าใจและออกแบบนโยบายให้มันตรงจุดมากขึ้น แต่กลไกความร่วมมือ ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯจัดตั้งขึ้นมา เซ็นอะไรบางอย่าง จะคิดนโยบายอะไรต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ เชื่อไหม… ระดับพื้นที่มีคณะกรรมการอย่างน้อย 300 ชุด ระดับส่วนกลางไม่ต้องพูดถึง ประชุมทั้งวัน”

การพัฒนาเมืองเป็น job creation แบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองวัฒนธรรม แต่ถ้าเมืองไม่เชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตของชุมชน ก็เป็นการพัฒนาที่ไม่ตรงจุด ดังนั้นต้อง empower ให้หน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการ ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

“การพัฒนาหรือการลงทุนภาครัฐที่เชื่อมโยงไปสู่การกระจายรายได้ ไม่ได้ ก็จะเกิดความถ่วง บพท.เกิดขึ้นมาเพื่อลดช่องว่างตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าความถ่วงจะหายไป พลวัตของกลไกตลาดไม่มีทางจะหายไป แต่เรากำลังจะบีบช่องว่างตรงนี้ นี่คือโจทย์ของ บพท.”