ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC วิเคราะห์ “เจาะลึกเทรนด์สุขภาพเวลเนสชาวไทย…โอกาสในธุรกิจมาแรง” โดยมองว่า ธุรกิจสุขภาพและเวสเนส (Health & Wellness) เป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงทั้งในระดับโลกและในไทยเอง โดยมูลค่าตลาดสุขภาพและเวลเนสของไทยมีขนาดใหญ่มากอยู่ที่ราว 1.5 ล้านล้านบาทในปี 2562 คิดเป็น 8% ของ GDP ไทย อีกทั้ง มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจาก 4 เมกะเทรนด์สุขภาพ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์, พฤติกรรมการใส่ใจสุขภาพมากขึ้นของผู้บริโภค, อัตราการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น และนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจในการเกาะกระแสที่กำลังเติบโต
SCB EIC ได้สำรวจผู้บริโภคชาวไทยในด้านสุขภาพและเวลเนสพบว่า หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ผู้บริโภคชาวไทยให้ความใส่ใจต่อสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยความใส่ใจสุขภาพที่มากขึ้นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้บริการด้านสุขภาพและเวลเนสเพิ่มสูงขึ้นตามมาโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสุขภาพและเวลเนสด้านบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละธุรกิจมีฐานลูกค้าหลักและพฤติกรรมการใช้บริการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
5 กลุ่มธุรกิจสุขภาพและเวลเนสด้านบริการและการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง ได้แก่
ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ : เป็นธุรกิจที่กลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยให้ความสำคัญและพร้อมที่จะใช้จ่าย เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 70% มีพฤติกรรมเลือกรับประทานอาหาร ทั้งหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารบางประเภท และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่อยู่ระหว่างลด/ควบคุมน้ำหนัก ทั้งนี้กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพที่ผู้บริโภคสนใจและหาซื้ออย่างต่อเนื่องนั้นจะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มสุขภาพ กลุ่มอาหารทั่วไปแต่หลีกเลี่ยงบางประเภท อย่างเช่นอาหารหวาน-มัน-เค็มจัด หรือสารก่อมะเร็ง และกลุ่มอาหาร Organic ทั้งนม ไข่ ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ทั้งนี้ ราคา รสชาติ ความสะดวก และความชื่นชอบถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ โดยกลุ่มผู้บริโภค Gen Z จะหาข้อมูลอาหารสุขภาพตามรีวิวออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่น นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่สนใจอาหารเพื่อสุขภาพยังมีการซื้ออาหารเสริมควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะอาหารเสริมเพื่อเสริมสุขภาพและโภชนาการ
ธุรกิจออกกำลังกาย : เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในธุรกิจอุปกรณ์เสริมในการออกกำลังกายที่กำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจให้บริการออกกำลังกายอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ออกกำลังกายที่คุ้นชินกับการออกกำลังกายที่บ้านเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 ซึ่งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเท่าไหร่นัก ทั้งนี้ผู้บริโภคกว่า 90% ระบุว่ามีการออกกำลังกาย และส่วนใหญ่นิยมการเดินออกกำลังกายโดยเฉพาะใน Baby boomer, การวิ่งใน Gen Z, การเข้ายิม/ฟิตเนสในกลุ่ม Gen Y และคลาสโยคะ พิลาทิส ใน Gen X อีกทั้ง มีสถานที่ตั้งเป็นปัจจัยสำคัญในการไปออกกำลังกาย
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านความงาม : เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสดใส โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ กลุ่มผู้หญิงและ LGBTQIA+ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะใช้จ่ายในผลิตภัณฑ์ด้านความงามสูง โดยผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคให้ความสนใจสูงสุด ตามด้วยการดูแลผิวกายและการป้องกันแสงแดด ซึ่งผู้บริโภคเลือกใช้แบรนด์ทั่วไปเป็นหลัก รองลงมาเป็นเวชสำอางต่างชาติ และเคาน์เตอร์แบรนด์ แต่กลุ่ม Gen Z จะนิยมแบรนด์ไทยที่โปรโมตในออนไลน์สูงกว่า นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะพร้อมจ่ายมากขึ้นหากเป็นผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ Organic
ธุรกิจนวดและสปา : เป็นอีกธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น แม้ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังใช้บริการนวดและสปาค่อนข้างน้อย แต่ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการนวดและสปาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงาน โดยบริการนวดแผนไทยในร้านนวดขนาดเล็กยังยืนหนึ่งครองใจผู้บริโภค ด้วยค่าบริการที่ไม่แพงนัก แถมยังมีบริการที่หลากหลาย ตามด้วยสปาขนาดกลาง-ใหญ่ที่ออกโปรโมชันอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น นอกจากนี้ การบริการนวดและสปารูปแบบใหม่ ๆ เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นแต่ยังมีผู้ใช้บริการเฉพาะกลุ่มอยู่
ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ : เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงจากกระแสการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้นทั้งในระดับโลกและไทย โดยแม้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของนักท่องเที่ยวไทยยังเน้นการออกมาใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ในบรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย แต่การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและเวลเนสโดยเฉพาะ หรือการทำกิจกรรมเวลเนส ระหว่างการท่องเที่ยวก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวสายสุขภาพไม่น้อย ซึ่งบริการที่นักท่องเที่ยวสายสุขภาพส่วนใหญ่สนใจที่จะใช้บริการระหว่างท่องเที่ยว ได้แก่ บริการนวดและสปา อาหารเพื่อสุขภาพ และห้องพักที่ใส่ใจสุขภาพของผู้เข้าพัก เป็นต้น
จากที่ผู้บริโภคแต่ละคนมีเป้าหมายด้านสุขภาพและเวลเนสที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมเสี่ยง ธุรกิจด้านสุขภาพและเวลเนสจึงจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจเป้าหมายของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดย 3 กลยุทธ์หลักที่จะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการและเสริมจุดแข็งของธุรกิจให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น ได้แก่
1. การนำเสนอแพ็กเกจสินค้า/บริการสุขภาพและเวลเนสที่ครอบคลุมในหลากหลายด้าน เนื่องจากผู้ซื้อสินค้า/ใช้บริการด้านสุขภาพมักจะเป็นกลุ่มรักสุขภาพและสนใจบริการเวลเนสที่หลากหลายควบคู่กัน เช่น ผู้ที่ให้ความสนใจในอาหารเพื่อสุขภาพมักจะมีความสนใจการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการขยายขอบเขตไปยังด้านอื่น ๆ ของธุรกิจเวลเนสเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจอาจจะต้องเลือกขยายบริการที่เหมาะสมกับจุดแข็งของตนเอง หรือหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีจุดแข็งในด้านนั้น ๆ เพื่อไม่สร้างภาระต่อธุรกิจในระยะข้างหน้า
2. การนำเสนอบริการในรูปแบบ Personalization หรือการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล เนื่องจากผู้ใช้บริการด้านสุขภาพและเวลเนสส่วนใหญ่มีความต้องการเฉพาะบุคคล (Personalization) ดังนั้น การแสดงถึงความเอาใจใส่และความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มจะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการใหม่และมัดใจผู้ใช้บริการเดิมได้ อีกทั้ง ธุรกิจยังสามารถออกแบบการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้ตรงจุดมากขึ้น
3. การตั้งราคาที่เข้าถึงได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่าสินค้า/บริการด้านสุขภาพและเวลเนสนั้นจะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ ซึ่งการสร้างความเข้าใจใหม่ควบคู่ไปกับการตั้งราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นถือเป็นโจทย์อันท้าทายของผู้ประกอบการ
อ่านต่อรายงานฉบับเต็มได้ที่… https://www.scbeic.com/th/detail/product/health-wellness-261223