ThaiPublica > เกาะกระแส > เปิดข้อมูลทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังพัง เบิกเงิน 9 ครั้ง 337 ล้าน – งานก่อสร้างอืด

เปิดข้อมูลทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังพัง เบิกเงิน 9 ครั้ง 337 ล้าน – งานก่อสร้างอืด

11 กรกฎาคม 2023


เปิดข้อมูลโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังวงเงิน 1.6 พันล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน สิ้นสุดสัญญา ธ.ค.ปี’67 ชี้แก้สัญญามาแล้ว 2 ครั้ง เบิกจ่ายเงินไป 9 ครั้ง กว่า 337 ล้านบาท แต่งานก่อสร้างอืด เฉพาะเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ล่าช้ากว่าแผนงาน 66.54 %  ขณะที่ “ชัชชาติ” สั่งเร่งเยียวยาเหยื่อ เร่งเคลียร์-คืนผิวจรจรใน 3 วัน – ยืนยันไม่ได้สั่งเปลี่ยนแบบ จนไม่ได้มาตรฐาน เชื่อขั้นตอนก่อสร้างผิดปกติ เร่งประสานวิศวกรรมสถานตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง

เครดิตภาพจากเพจ สุดยอด ร่วมกตัญญู

จากกรณีเหตุการณ์โครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มใน ช่วงเวลาประมาณ 18.41 น.ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 17 ราย

จากการตรวจสอบเอกสาร พบว่าโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง งบประมาณค่าก่อสร้าง 1,664.55 ล้านบาท  โดยมีเป้าหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังมีความรวดเร็ว เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของชุมชนและสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตลาดกระบัง

ส่วนลักษณะของงาน ดำเนินการรวมระยะทางทั้งโครงการประมาณ 3,500 เมตร โดยก่อสร้างทางยกระดับคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) บนถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ขนาด 4 ช่องจราจร 1 แห่ง  ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟฟ้าแสงสว่าง ระบบจราจรสงเคราะห์ และงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าของโครงการ คือ สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร  และสำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ออกแบบ

สัญญาเลขที่ สนย.11/2564 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์  ระยะเวลาก่อสร้าง  900 วัน  โดยเริ่มสัญญาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2566  โดยมีการแก้ไขสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง (ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม(ครั้งที่ 2) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม2567

สำหรับงบประมาณก่อสร้างจากงบประมาณทั้งหมด 1,664.55 ล้านบาท ซึ่งใช้เงินงบประมาณของกรุงเทพมหานครลงทุนเอง 100%   โดยกรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณในปี 2566-2564 วงเงิน 239.49 ล้านบาท แต่ปีงบประมาณ 2565 ไม่ได้ตั้งงบประมาณ ส่วนในปีงบประมาณ 2566 ตั้งงบประมาณไว้ 505 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 ผูกพันงบประมาณ 920.06 ล้านบาท

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า ธาราวัญ -นภา  เป็นบริษัทรับเหมาดำเนินการก่อสร้าง โดยที่ผ่านมาเบิกเงินไปแล้ว จำนวน 9 ครั้ง เป็นเงิน 337.05 ล้านบาท ยังคงเหลือเงินที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 1,327.50 ล้านบาท

ชี้งานก่อสร้างอืด เดือน พ.ค.ที่ผ่านมาล่าช้ากว่าแผน 66.54%

อย่างไรก็ตาม กิจการร่วมค้า ธาราวัญ -นภา ตั้งเป้าหมายในการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 แต่ความคืบหน้าในการก่อสร้างต่ำกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด โดยในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566  ตั้งเป้าหมายตามแผนต้องทำได้ 92.98 % แต่สามารถก่อสร้างได้ 26.44 %  ทำงานช้ากว่าแผนติดลบ 66.54 %

ส่วนในวันที่ 30 มิถุนายน 2566  ตั้งเป้าหมายตามแผนต้องก่อสร้างได้ 39.71% แต่ทำได้เพียง 28.91% และล่าช้ากว่าแผน ติดลบ10.80 %

ทั้งนี้จากเอกสารรายงานผลการการดำเนินงานกับกรุงเทพมหานคร พบว่าผลการดำเนินงานที่ทำไปแล้วคืองานเสาเข็มเจาะ Barrette Pile ทำได้สะสม 76.32 %  งานรื้อโครงสร้างสะพานข้ามคลองหนองปรือทำได้สะสม 51.00% และงานก่อโครงสร้างสะพาน ข้ามคลองหนองปรือ โครงสร้างสะพานทำได้สะสม 55.00 %

งานโครงสร้างปรับการทรุดตัว Abutment Structure (กว้าง 670 เมตร)ทำได้สะสม 90.00% อย่างไรก็ตาม บริษัทระบุในเอกสารจะปรับตามแผนงานเร่งรัดเพื่อให้สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 17 ธันวาคม 2567

เครดิตภาพจากเพจ สุดยอด ร่วมกตัญญู

กทม.แถลงชี้แจงสาเหตุทางยกระดับอ่อนนุชถล่ม

หลังเกิดเหตุการณ์โครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังพังถล่ม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ร่วมแถลงโดยระบุว่าเกิดเหตุเวลา 17.40 น.ทำให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย ในที่เกิดเหตุและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 12 ราย

สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว มีผู้รับจ้างคือกิจการร่วมค้าธาราวัญและนภา โดยผู้รับเหมาดำเนินการ 2 ส่วน คือ ในส่วน launcher และในส่วนผู้รับเหมาดึงลวด

ส่วนสาเหตุจากการตรวจสอบเบื้องต้น ตัว launcher สำหรับร้อยติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีต เซกเมนต์(Concrete Segment) ซึ่งเป็นพื้นทางของทางยกระดับเกิดพลิกตัวระหว่างดึงตอม่อเสาต้นที่ 83 และ 84 ทำให้พื้นทางที่อยู่ระหว่างการติดตั้งช่วงดังกล่าวไม่สมดุล จึงหลุดจากหัวเสาตอม่อถล่มลงมา

เร่งเคลียร์พื้นที่เปิดการจราจรภายใน 3 วัน

แต่สาเหตุที่แท้จริงต้องตรวจสอบกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ขอเวลาตรวจสอบเบื้องลึกอีกครั้ง ขณะนี้ให้ผู้รับจ้างไปจัดทำแผนในการรื้อย้ายโครงสร้างดังกล่าว ซึ่ง กทม.จะร่วมกับ วสท.ประเมินแผน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดย กทม.จะเร่งรัดรื้อย้ายโครงสร้างเพื่อเปิดการจราจรให้ได้ภายใน 3 วัน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

กทม.แจงกรณีขอเปลี่ยนวิธีก่อสร้างจนไม่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า ทีมชัชชาติ มีการเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างจนไม่ได้มาตรฐานนั้น  โดยระบุว่าเป็นเรื่องกระบวนการก่อสร้างปกติ ผู้รับเหมาทำล่าช้า เลยขอเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างตั้งแต่ปีที่แล้ว (2565) เพราะฉะนั้นอย่าสร้างความสับสนให้สังคม และขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญออกมาพูด เป็นกระบวนการทางวิศวกรรม ไม่มีใครเสี่ยงเรื่องนี้

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น จะมีบริษัทประกันภัยเข้ามาตรวจสอบและจ่ายสินไหมเยียวยา รวมถึงมีการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบ

“ผมขอย้ำถึงประชาชนว่าการสื่อสารข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเหตุที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ขอให้พิจารณาเรื่องความถูกต้องของข้อมูลอย่างรอบคอบ เพราะการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าในระบบออนไลน์จะมีความผิดตามกฎหมาย เตือนว่าการแสดงความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรรับทราบจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจจะดีที่สุด”นายชัชชาติกล่าว

ยืนยันผู้รับเหมาขอเปลี่ยนวิธีก่อสร้างเอง

ส่วนวิธีการก่อสร้าง นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ชี้แจงว่าวิธีการก่อสร้างเป็นรูปแบบการประกวดราคา ใช้เป็นรูปแบบการหล่อในพื้นที่ โดยสำนักโยธาเปิดประกวดราคาไว้ว่าสามารถเสนอเป็นรูปแบบหล่อสำเร็จนอกพื้นที่ได้ ซึ่งในช่วงแรกผู้รับจ้างได้ทำการก่อสร้างเป็นรูปแบบหล่อในพื้นที่ แต่กระบวนการเป็นวิธีการที่เก่า และต้องมีการปิดพื้นที่ทำให้มีผลกระทบต่อการจราจร ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน ประกอบกับการก่อสร้างมีความล่าช้า

ดังนั้น ผู้รับจ้างจึงขอเปลี่ยนรูปแบบจากการหล่อในพื้นที่ไปเป็นการหล่อสำเร็จนอกพื้นที่ โดยในเรื่องนี้ผู้รับเหมาเสนอขอเปลี่ยนแปลงเอง เสนอขออนุญาตมาที่สำนักโยธาเมื่อเดือนกันยายน 2565 จากนั้นสำนักโยธาได้ตรวจสอบพิจารณาอนุญาตแบบปลายเดือนตุลาคม 2565

อย่างไรก็ตาม การหล่อในพื้นที่ก่อสร้างอาจจะทำได้ไม่ดี เพราะต้องใช้พื้นที่และปิดการจราจรและใช้เวลา ส่วนการหล่อโรงงานจากภายนอกอาจจะได้มาตรการดีกว่าเพราะควบคุมคุณภาพการหล่อได้ และยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

ชี้ขั้นตอนก่อสร้างอาจมีปัญหา แต่ไม่ใช่วิธีการ

ดังนั้นเมื่อผู้รับเหมาดูแล้วระยะเวลาการก่อสร้างอาจไม่ทัน และโดนค่าปรับสูง จึงเปลี่ยนมาใช้การหล่อรูปแบบโรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นวิธีทั่วไปที่ทำกันมานานแล้วในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้าง ไม่ใช่วิธีการก่อสร้างหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องตรวจสอบอีกครั้ง

ทั้งนี้ยืนยันว่าวิธีการนำเซกเมนท์จากโรงงานนอกสถานที่มาประกอบ ไม่ใช่โครงการนี้เป็นโครงการแรก เป็นวิธีการทำทั่วไป อย่างสะพานข้ามแยก ณ ระนองก็ใช้วิธีเดียวกัน จึงเป็นที่ขั้นตอนการก่อสร้าง ไม่ใช่วิธีการ

ส่วนผู้รับเหมามีประสบการณ์หรือไม่นั้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนกับกรมบัญชีกลางและเป็นผู้รับเหมาชั้นดีขณะเดียวกัน สำนักโยธาได้กำหนดคุณสมบัติของตัวผู้รับจ้างจะต้องมีผลงานโดยใช้วิธีการหล่อจากภายนอกมูลค่า 500 ล้านบาทต่อสัญญา อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะคัดเลือกผู้รับเหมาให้มีคุณภาพโดยจะหาทางเพิ่มมาตรการและกำหนดคุณสมบัติให้เข้มข้นขึ้น

เครดิตภาพจากเพจ สุดยอด ร่วมกตัญญู

 เร่งประสาน-เยียวยาผู้เคราะห์ร้าย

ส่วนความช่วยเหลือ ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายที่ติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังแล้ว ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเพราะโครงสร้างไม่เสถียร อาจเกิดการถล่มซ้ำได้ โดยคาดว่าจะเคลื่อนย้ายแล้วเสร็จ เร็ว ๆ นี้

สำหรับรายชื่อผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 จำนวน 5 คน คือ 1.นางสาวรัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี 2.นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี 3.นางสาวอุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี 4.นายศุภชัย พวงยี่โถ อายุ 15 ปี 5.นายอรัญ สังข์รักษ์ อายุ 24 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 8 คน นำส่งโรงพยาบาลลาดกระบัง คือ 1.นายอารักษ์ กิ่งคำ2.นายณัฐพงษ์ มัคนุโก๊บ 3.นายพรรษา พวงยี่โถ 4.นายศรศักดิ์ เหมือนพร้อม 5.นายสุเทพ สุวรรณทาง 6.นายวิสิทธิ์แจ้งทา 7.นายทัศนัย ทัศนแสง 8.นางสาวมัจฉา เสียงสุข ขณะที่ผู้เสียชีวิต คือ นายอรัญ สังข์รักษ์ เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 นายฉัตรชัย ประเสริฐ เสียชีวิตที่เกิดเหตุ