ThaiPublica > คอลัมน์ > การออมสู่ความยั่งยืน

การออมสู่ความยั่งยืน

21 มีนาคม 2023


ผศ.ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า

อาจจะเป็นเรื่องแปลกที่ผู้เขียนเลือกที่จะเขียนเกี่ยวกับการออมในช่วงเวลาที่กระแสโดยส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้น้ำหนักกับการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านรูปแบบของมาตรการภาครัฐหลากหลายมาตรการ และสำหรับประเทศไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงระยะเวลาของการเลือกตั้ง ก็จะเห็นภาพชัดเจนผ่านนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองนำเสนอออกมาที่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็จะเป็นไปในแนวทางของการส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่าย และหลายนโยบายก็มีลักษณะเป็นนโยบายเงินโอน (Money Transfer) คือ รัฐโอนเงินให้ประชาชนบางกลุ่มให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย หรือรัฐไปช่วยจ่ายบางส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายโดยมีเป้าหมายว่ามาตรการที่ดำเนินการไปนั้นจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่าจำนวนงบประมาณที่รัฐใช้จ่ายไป ในทางเศรษฐศาสตร์ก็จะเรียกว่าเกิดผลกระทบทวีคูณ (Multiplier Effects)

ปัญหาคือ ถ้าเราอยากเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้นมีความยั่งยืน ซึ่งก็หมายความว่า ประเทศต้องสามารถรักษาระดับของการเติบโตให้สม่ำเสมอต่อไปได้ ไม่ได้เป็นเพียงการเติบโตที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวจากการกระตุ้นเท่านั้น การจะรักษาระดับของการจับจ่ายใช้สอยให้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็ต้องถามต่อไปว่า คนที่มีการจับจ่ายใช้สอยหรือมีการบริโภคเพิ่มขึ้นนั้นเป็นกลุ่มใดในระบบเศรษฐกิจ คนกลุ่มเหล่านั้นจะสามารถรักษาระดับของการใช้จ่ายของเขาต่อไปได้เพียงใดเมื่อมาตรการกระตุ้นของภาครัฐหมดลง (คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีวันสิ้นสุด)

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นมาตรการเพียงในระยะสั้น เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และเงื่อนไขที่แท้จริงที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้ ก็ต้องทำให้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายนั้น สามารถนำพาไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของคนจำนวนมาก (หรือคนส่วนใหญ่) ในระบบเศรษฐกิจ หรือเท่ากับการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับสูงถึงกว่าร้อยละ 82 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในทิศทางเดียวกันกับการออกมาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายหลากหลายมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ก็ดูจะน่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะการส่งเสริมการใช้จ่ายดูเหมือนจะไม่สนับสนุนให้เกิดการสร้างรายได้ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจได้

ในภาพรวมกลับกลายเป็นว่า ครัวเรือนใช้จ่ายมากขึ้น (เพราะการกระตุ้น) แต่กลับมีภาระหนี้สินมากขึ้น เรียกว่ายิ่งใช้ยิ่งจน นานเข้าย่อมไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังอาจจะตั้งข้อสังเกตอีกได้ว่า สินค้าหรือบริการที่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนที่มากขึ้นนั้น มีสัดส่วนของสินค้านำเข้า (Import Content) มากน้อยเพียงใด เพราะถ้าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากขึ้น แต่เป็นการใช้จ่ายในสินค้าที่มีสัดส่วนของสินค้านำเข้ามาก ย่อมไม่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่า (ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างรายได้) ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ที่ผ่านมา ราคาอาหารและพลังงานปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก (อ้างอิงข้อมูลเงินเฟ้อ) โดยที่พลังงานเป็นสินค้าที่ประเทศไทยต้องนำเข้า การใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นส่วนหนึ่งจะไม่ได้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ แต่จะเป็นการจ่ายค่าพลังงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศผู้ส่งออกพลังงาน จริงอยู่การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้มีรายได้น้อยเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและมีความเหมาะสมในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในแง่ของความยั่งยืน การใช้พลังงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

เหตุที่ต้องพูดถึงเรื่องการออมในช่วงที่กำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกันนี้ด้วย เพราะกระบวนการในการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออม (Saving) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การพัฒนาได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสะสมทุน (Capital Accumulation) ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการสะสมของทุนนั้นก็จะมาจากการออม

ความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการออมในสังคมไทยที่สำคัญคือ เราถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่าการออมคือสิ่งที่เหลือจากการใช้จ่าย ซึ่งแทนจริงแล้วในทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน ธุรกิจ) ก็จะตัดสินใจว่าจะนำรายได้นั้นไปใช้จ่ายในสัดส่วนเท่าไหร่ ออม (หรือไม่ใช้จ่าย) ในสัดส่วนเท่าไหร่ เป็นการตัดสินใจและวางแผนการใช้จ่ายจากรายได้ที่มีตั้งแต่ต้น

ดังนั้น แม้จะมีรายได้น้อย ก็สามารถที่จะออมได้ หากมีการวางแผนและจัดสรรการใช้จ่ายและการออมไว้ล่วงหน้า เรียกว่ามีวินัยทางการเงิน มีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยตามศักยภาพในการสร้างรายได้ แตกต่างจากการคิดว่าใช้จ่ายก่อน ถ้าเหลือก็จะออม ซึ่งแสดงว่าจะมีการออมเมื่อใช้จ่ายเหลือแล้วเท่านั้น ในช่วงที่มีสภาวะค่าครองชีพแพงขึ้น ครัวเรือนที่คิดว่าใช้จ่ายก่อน เหลือแล้วจึงจะออม ก็มักจะจบลงด้วยการไม่เหลือเงินออม

หรือถ้าหนักไปกว่านั้นก็ นอกจากจะไม่เหลือเงินออมแล้ว ยังไปก่อหนี้มาเพื่อการใช้จ่ายอีก เท่ากับมีการออมติดลบ และเมื่อครัวเรือนจำนวนมากขึ้นมีการออมติดลบ เราก็จะเห็นข้อมูลหนี้ของภาคครัวเรือนขยับสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของหนี้ในระยะสั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามความผันผวนของรายได้ ความผันผวนของเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนจำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการจัดการกับความผันผวนที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะถ้าครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจบริหารจัดการการใช้จ่ายและการออมไม่ได้ ก็จะกลายเป็นสาเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากปัญหาหนี้ของภาคครัวเรือนได้

ภาครัฐเองก็ควรจะต้องระมัดระวังการดำเนินนโยบายไม่ให้นโยบายกลายเป็นสาเหตุของวิกฤติโดยการบ่มเพาะพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินศักยภาพการสร้างรายได้ (โดยคาดหวังว่ารัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้สามารถใช้จ่ายได้) จึงเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการดำเนินนโยบายเพิ่มส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Growth) หรือจะเลือกให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพ (Stability) ทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือมากกว่า ซึ่งผู้เขียนเห็นว่านโยบานทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีนี้น่าจะให้น้ำหนักกับการสร้างเสถียรภาพมากกว่าการจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้เกิดการเติบโต โดยกลับมาให้ความสำคัญกับการออมเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจ BCG เท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการสร้างผลิตภาพการผลิต (Productivity) และการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย

การสะสมทุนในประเทศด้วยช่องทางการออมจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพการผลิตได้ จำเป็นต้องอาศัยบทบาทและประสิทธิภาพของภาคการเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นช่องทางในการกระจายทุนจากการออมไปสู่การลงทุน (Investment) ถ้าการจัดสรรทุนจากการออมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุนที่สะสมก็จะถูกกระจายไปยังสาขาหรือกิจกรรมการผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง ทำให้มีการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในระดับเศรษฐกิจ และเมื่อมีรายได้สูงขึ้น คนในระบบเศรษฐกิจก็ย่อมมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนและมีศักยภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น

บทบาทหน้าที่ของภาครัฐจึงควรจะต้องเป็นการส่งเสริม อำนวยความสะดวกให้กลไกเหล่านี้ที่กล่าวถึงข้างต้นสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกลไกการทำงานของตลาด มากกว่าการอาศัยนโยบายเข้าไปแทรกแซงในช่องทางต่างๆ รวมทั้งช่องทางการบริโภค ซึ่งควรจะสงวนไว้ใช้เท่าที่จำเป็น และเป็นเพียงการใช้นโยบายในระยะสั้นๆ เท่านั้น

จริงอยู่ที่ระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปิดมากเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงการออมในตลาดโลก (International Saving) เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการเข้าถึงแหล่งทุนในต่างประเทศ ที่มักจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า แต่ก็จะต้องแลก (Trade-off) กับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น การสร้างความสมดุลระหว่างแหล่งทุนภายในประเทศและแหล่งทุนจากต่างประเทศให้เหมาะสมและมีความสอดคล้องกับความต้องการทุนเพื่อการลงทุน จึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการพยายามจะส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน พลังงาน น้ำ หรือทรัพยากรอื่นๆ น่าจะเป็นทางเลือกนโยบายที่สำคัญต่อความยั่งยืนของการพัฒนาของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง