ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > ttb analytics > ttb analytics คาด รพ.เอกชนปี’65 รายได้โต 3.2 แสนล้าน

ttb analytics คาด รพ.เอกชนปี’65 รายได้โต 3.2 แสนล้าน

23 กันยายน 2022


ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนโตต่อเนื่อง ชี้ดีมานด์ในอนาคตจะเร่งขึ้นในพื้นที่ EEC และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปี 2565 เติบโต 15% ดันรายได้ 3.2 แสนล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ คาดการลงทุนเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะช่วยสร้างดีมานด์ความต้องการรักษาเพิ่มขึ้น

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นธุรกิจที่ฟื้นกลับมาได้เร็วหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 ภาครัฐมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศ โดยจำกัดการเดินทางและการใช้ชีวิตของประชาชนในประเทศรวมถึงไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง ส่งผลกระทบทำให้คนไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าทำการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนได้ ทำให้รายได้ในปี 2563 ลดลงกว่า 14.3% อย่างไรก็ดี เมื่อการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ภาครัฐจึงผ่อนคลายมาตรการจำกัดดังกล่าว รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนได้รับผลดีจากการเข้ารักษาของผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้รายได้พลิกฟื้นกลับมาขยายตัว 28.2% ในปี 2564

ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยฟื้นตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่แหล่งจ้างงานที่สำคัญ

แม้ว่าผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรก ทำให้รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหดตัวลงอย่างมากในปี 2563 แต่ในปี 2564 ก็ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับปกติได้ และเมื่อพิจารณาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) จะพบว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเติบโตเฉลี่ยกว่า 7.7% ต่อปี แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเจาะลึกการฟื้นตัวเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ซึ่งมีสัดส่วนรายได้รวมกว่า 80% ของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวม เป็นภูมิภาคที่ฟื้นได้ดีหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นแหล่งจ้างงานของประเทศ โดยในปี 2564 กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ขยายตัว 29.0% และ 24.7% จากปี 2563 ที่หดตัว 16.3% และ 9.3% ในขณะที่ ภาคกลางและภาคใต้ มีสัดส่วนรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมกัน 8.5% ของรายได้รวม ซึ่งมีอัตราของการฟื้นตัวเช่นกัน โดยในปี 2564 รายได้ในภาคใต้และภาคกลางขยายตัว 35.7% และ 30.0% จากปี 2563 ที่หดตัว 7.6% และ 2.7% ด้านภาคอีสานและภาคเหนือ แม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% ของประชากรในพื้นที่ใช้บริการรักษาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐเป็นหลัก แต่พบว่ารายได้ของโรงพยาบาลเอกชนก็ฟื้นตัวไม่ต่างกัน โดยในปี 2564 ภาคอีสาน และภาคเหนือ ขยายตัว 26.8% และ 18.8% จากปี 2563 ที่หดตัว 12.8% และ 8.0% จะเห็นว่ารายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนได้ฟื้นกลับมาในทุกภูมิภาคของประเทศ

ttb analytics คาดว่าปี 2565 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยจะเติบโต 15% จากปี 2564 โดยมูลค่าตลาดจะอยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท โดยได้รับผลดีจากความต้องการทั้งตลาดคนไทย และชาวต่างชาติ

ตลาดคนไทย คาดว่าจะเติบโตได้ดีจากการไม่มีข้อจำกัดในการเดินทางของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินธุรกิจได้และแรงงานสามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัว ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถออกมาใช้บริการทางการแพทย์ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในตลาดคนไทย โรงพยาบาลเอกชนยังมีรายได้เพิ่มเติมจากการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่

ตลาดชาวต่างชาติ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) หดตัวค่อนข้างรุนแรงจากการไม่อนุญาตให้นักชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่นับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา ภาครัฐผ่อนคลายเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ทำให้ดีมานด์ชาวต่างชาติที่ต้องการรักษาพยาบาลในไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง นอกจากนี้ จากการที่ธุรกิจในประเทศสามารถดำเนินกิจการได้ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่ทำประกันตนกับประกันสังคมจำนวนกว่า 9.6 แสนคน (คิดเป็น 40% ของแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายรวม) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ได้ออกมาใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนในตลาดชาวต่างชาติภาพรวมฟื้นตัวขึ้น

ttb analytics ประเมินว่าสถานการณ์การเปิดประเทศและการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นปกติ จะสร้างแรงส่งให้ตลาดชาวไทยและชาวต่างชาติเติบโตต่อไป โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภาพรวมจะเติบโตได้ 8-10% ในปี 2566

ปี 2566 ประเด็นที่ต้องติดตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ เงินเฟ้อ ปัจจัยเสริม คือ เงินบาทอ่อนค่า

แม้ว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะฟื้นตัวแล้ว แต่ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านต้นทุนพลังงานและอาหาร โดย ttb analytics คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6.7% และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 2.1% อันเป็นผลจากค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของตลาดคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศ นับเป็นปัจจัยลบของธุรกิจในปี 2566 ในขณะที่ปัจจัยบวกของธุรกิจในปี 2566 ได้แก่ แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า อันเนื่องมาจากทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ทำให้เงินไหลกลับไปหาสกลุเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หากค่าเงินบาทของไทยเปรียบเทียบกับประเทศที่ชาวต่างชาติอาศัยอยู่มีทิศทางอ่อนค่ามากกว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสของตลาดชาวต่างชาติที่จะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น

ttb analytics แนะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพุ่งเป้าไปที่ตลาดในประเทศ กลุ่มผู้มีประกันสังคม กลุ่มผู้ทำประกันสุขภาพ ในพื้นที่ EEC และตลาดต่างประเทศ กลุ่ม Medical Tourism

จากข้อมูลสถิติโครงสร้างการใช้สวัสดิการทางการแพทย์ของคนไทย พบว่าในช่วงกว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา (2554-2564) แนวโน้มคนไทยใช้บริการการแพทย์ด้วยการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 สัดส่วนการใช้สวัสดิการประกันสังคมและทำประกันสุขภาพรวมกันมากถึง 24.5% ของการใช้สวัสดิการทางการแพทย์รวม โดยเพิ่มขึ้นจาก 15.7% ในปี 2554 ชี้ถึงดีมานด์ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่มากขึ้นจากแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 11 ล้านคน และประชาชนที่ยินดีจ่ายประกันสุขภาพเพื่อความคุ้มครองจากการเจ็บป่วย

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินแนวโน้มพื้นที่ EEC ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในอนาคตสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากเป็นฐานรองรับเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2564 ในพื้นที่ EEC มีประชากรไทยรวมจำนวน 3,059,193 คน แรงงานไทย (มาตรา 33) จำนวน 1,478,343 คน และแรงงานต่างด้าวจำนวน 244,007 คน และในปี 2565 คาดว่าจะมีแรงงานรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve เพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกกว่า 3 แสนคน นับเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนสำหรับตลาดในประเทศ

ด้านตลาดต่างประเทศ ประเมินว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ โดยคาดว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวมกว่า 9.5 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากชาวเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 15-20 ล้านคน ซึ่งก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นฐานรายได้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย (Medical Tourism) ถือเป็นโจทย์ท้าทายที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนจะร่วมมือกันในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเหล่านั้นให้กลับมาเที่ยวในเมืองไทยและใช้บริการทางการแพทย์ดังเดิม เพื่อดันรายได้จากชาวต่างชาติให้กลับคืนมา