ThaiPublica > เกาะกระแส > กรุงไทย – BJC หนุนร้านโชห่วย พลิกโฉม “ร้านโดนใจ” ด้วยสินเชื่อ SME ไซส์เล็กโตอย่างยั่งยืน

กรุงไทย – BJC หนุนร้านโชห่วย พลิกโฉม “ร้านโดนใจ” ด้วยสินเชื่อ SME ไซส์เล็กโตอย่างยั่งยืน

19 มกราคม 2023


ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับ BJC สนับสนุนร้านค้าปลีก ยกระดับบริหารจัดการ เพิ่มศักยภาพให้แข็งแกร่งกับเครือข่าย “ร้านโดนใจ” พร้อมติดปีกธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยสินเชื่อ “คู่ค้าพารวย” และ “สินเชื่อ SME ไซส์เล็ก” มุ่งมั่นผลักดันผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย และนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี

นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า บีเจซี ได้เปิดตัวโมเดลธุรกิจ “ร้านโดนใจ” ในปี 2565 ที่ผ่านมา ด้วยการพัฒนาระบบ POS เข้ามายกระดับร้านโชห่วยไทยให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยได้รับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเจ้าของร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในขณะนี้มีร้านโชห่วยเข้าร่วมโมเดลธุรกิจร้านโดนใจแล้วกว่า 1,200 ร้านค้า โดยในปี 2566 วางเป้าหมายเปิดร้านโดนใจที่ 8,000 ร้านค้า และเติบโตสู่ 30,000 ร้านค้า ภายในปี 2570

แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบลงทุนที่ไม่สูง ซึ่งรูปแบบของร้านแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.บีเจซีจะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีเป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน 2.นำเอาระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นเข้าไปเสริมแกร่งธุรกิจให้กับร้านโชห่วย โดยการนำระบบ POS หรือระบบขายหน้าร้าน การให้คำปรึกษาทางธุรกิจจากทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มจะช่วยยกระดับและเสริมประสิทธิภาพในการขายสินค้าให้กับผู้ค้า เปลี่ยนโฉมร้านโชห่วยให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค โดยความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในครั้งนี้ เพื่อต่อยอดในการสร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจ ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เพื่อปรับโฉมการบริหารจัดการยกระดับร้านค้า ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน และเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก ซึ่งจะทำให้ร้านโชห่วยของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสังคมและชุมชนด้วยความสมดุล

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้ารายย่อย ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ธนาคารพร้อมส่งเสริมการยกระดับธุรกิจค้าปลีกให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยร่วมมือกับ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ในโครงการการพัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ ภายใต้แบรนด์ร้าน “โดนใจ” โดยนำเสนอ 2 ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสริมศักยภาพให้กับร้านค้าและเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตของธุรกิจ เพื่อรองรับเป้าหมายของ BJC ที่ต้องการพลิกโฉมร้านค้าทั่วประเทศด้วยสินค้าและบริการที่ทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจบัน

เครือข่ายร้านโดนใจ ซึ่งเป็นสมาชิกของ BJC สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ผ่านสินเชื่อ คู่ค้าพารวย ภายใต้ โครงการ Digital Supply Chain Financing ซึ่งเกิดจากการพัฒนาแพลตฟอร์ม ภายใต้ยุทธศาสตร์การต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า โดยนำข้อมูลจากการค้าและการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับ Digital Supply Chain Financing Platform ของธนาคาร มาเป็นประโยชน์ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ทดแทนเอกสารแสดงฐานะทางการเงิน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสินเชื่อ ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีประวัติทางการเงิน โดยธนาคารสามารถพิจารณา และกำหนดวงเงินสินเชื่อจากข้อมูลการสั่งซื้อ เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ใช้จ่ายได้อย่างอุ่นใจ ซื้อของเข้าร้านได้เต็มที่ ด้วยวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม หากไม่ใช้วงเงิน ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงิน สูงสุด 5 ล้านบาท ไม่มีค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน ใช้งานสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแอปพลิเคชัน Krungthai Business และ Krungthai NEXT

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านค้าถุงเงิน หรือเป๋าตุง รวมถึงร้านค้าที่ใช้ระบบ POS (Point of Sale System) ในการรับชำระเงิน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายร้าน เติมสต็อค เปิดร้านสาขาใหม่ หรือเพิ่มเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผ่านสินเชื่อ SME ไซส์เล็ก ที่จะช่วยให้ร้านค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่ต้องใช้หลักประกัน โดย บสย.ค้ำประกันเต็มวงเงินสูงสุด 3 ล้านบาท และสำหรับลูกค้าที่มีหลักประกันรับวงเงินสูงสุด 20 ล้านบาท ไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ