ThaiPublica > Sustainability > Headline > ก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

ก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

7 กันยายน 2022


ก้าวพอดี 2565 พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2022: Transforming Thailand towards Sustainable Growth)

​สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีกำหนดจัดงานก้าวพอดี 2565 ภายใต้หัวข้อพลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ระหว่างวันที่ 22 – 25 กันยายน 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ของประเทศไทยให้เกิดการรับรู้ในสังคมอย่างทั่วถึง

การจัดงานก้าวพอดี 2565 ในครั้งนี้มีขึ้นในโอกาสเดียวกันกับที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีความยึดโยงและเชื่อมโยงกับหลักการของ SDGs โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนทั้งแผนพัฒนาประเทศที่จะใช้ใน 5 ปีต่อจากนี้กับ SDGs สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน

งานก้าวพอดี 2565 ภายใต้หัวข้อพลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มาระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาดังกล่าวให้สามารถก้าวเดินไปพร้อมกันได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานก้าวพอดี 2565 จะประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก

1. เวทีเสวนาวิชาการ จัดขึ้น ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 โดยมีหัวข้อการเสวนาที่หลากหลาย อาทิ การขับเคลื่อน SDGs กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13, การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ภาคเศรษฐกิจมูลค่าสูงกับ SDGs, การแบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อน SDGs ของภาคประชาสังคม,การสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำด้วยแนวทาง SDGs,เศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับ SDGs และภาครัฐทันสมัยและการพัฒนากำลังคนกับการขับเคลื่อน SDGs โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและ
ผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อน SDGs เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน วิชาการ และภาคประชาสังคม อาทิ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานอนุกรรมการคณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ดร.สุวิทย์เมษินทรีย์ ประธานคณะอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดร.ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ การเสวนาดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Facebook Live ของสภาพัฒน์ ตลอดการดำเนินกิจกรรมยกเว้นวันที่ 23 กันยายน 2565 เวลา 10.30 – 12.00 น. จะถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของ D-พอ รายละเอียดเบื้องต้นสามารถดูได้จากร่างกำหนดการตามเอกสารแนบ

2. การแสดงนิทรรศการ จัดขึ้น ณ บริเวณพื้นที่โถงชั้น 1 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 และโถงหน้าห้องสมุดชั้น L โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมมากกว่า 30 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น และสหประชาชาติ (ประจำประเทศไทย) และหน่วยงานภายใต้สังกัด เพื่อนำเสนอผลงานการดำเนินงานเกี่ยวกับ SDGs ทั้งนี้ เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการจะยึดโยงกับ 4 มิติการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ประกอบด้วย

(1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย (เศรษฐกิจมูลค่าสูง) และมิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดแสดง ณ บริเวณโถงชั้น 1 และห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 และ

(2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม และมิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ จัดแสดง ณ บริเวณโถงหน้าห้องสมุดชั้น L

นอกจากนี้ ยังสามารถรับชมนิทรรศการออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ประเทศไทยกับการพัฒนาที่ยั่งยืน https://sdgs.nesdc.go.th/ ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานที่สอดคล้องกับ SDGs ควบคู่ไปกับบริบทการพัฒนาประเทศทั้ง 4 มิติของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 – 2570) ที่ประกอบไปด้วย

    1) บริบทการพัฒนาประเทศในมิติด้านเศรษฐกิจ
    2) บริบทการพัฒนาประเทศในมิติด้านสังคมและทรัพยากรมนุษย์
    3) บริบทการพัฒนาประเทศในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    4) บริบทการพัฒนาประเทศในมิติด้านการบริหารจัดการภาครัฐ

โดยทั้งนี้จะมีการนำเสนอทั้งรูปแบบสื่อวิดีโอรูปภาพอินโฟกราฟิก และในรูปแบบการนำเสนอต่างๆอีกมากมายให้ทุกท่านได้รับชมผลงาน

3. เวทีกิจกรรมย่อย จัดขึ้น ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 โดยจะเป็นการกิจกรรมการเสวนาแบบไม่เป็นทางการที่เน้นการแบ่งปันประสบการณ์หรือเรื่องราวด้านการขับเคลื่อน SDGs ในมิติต่าง ๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบและร่วมแลกเปลี่ยน โดยมีเจ้าภาพเวทีต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน อาทิ สหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บริษัท อิน เดอะ ลีด(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และห้องปฏิบัติการนโยบาย (Thailand Policy Lab)ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มต้นในช่วงบ่ายของทุกวันและมีการถ่ายทอดผ่าน Facebook Live ของ D-พอ

4. เวทีการแสดงกิจกรรมกลางแจ้ง (Inclusive space and Thailand 2030) จัดขึ้น ณ ลานด้านหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ โดยกิจกรรมกลางแจ้งนี้จะจัดขึ้นในช่วงเย็นถึงหัวค่ำของวันที่ 23 – 24 กันยายน 2565 โดยเน้นไปที่การเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่มได้มีพื้นที่การแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ อาทิ การจัดแสดงดนตรีของผู้พิการ และการแสดงอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อน SDGs ที่แท้จริงจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่อาคารหอศิลปะกรุงเทพฯ ก็จะมีร้านค้าที่ส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้ต้องขังและนักโทษ และกิจกรรมการแจกกล้าไม้ รวมถึงเมล็ดพันธ์ ภายในงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้

5. การประกวดและแสดงผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับ SDGs จัดขึ้น ณ บริเวณหน้าห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 โดยเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะของนักเรียนและนักศึกษาที่ร่วมกันส่งเข้าประกวดศิลปะด้วยเทคนิค Digital Art ในหัวข้อ “พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน” ผ่านการนำเสนอบทบาทความเชื่อมโยงของ SDGs ต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน โดยทั้งนี้จะมีการบอกเล่าถึงผลงาน รวมไปถึงการประกาศและมอบผลรางวัลโล่เกียรติยศ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มอบโดยผู้บริหาร สศช. ในวันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2565 ช่วงเวลา 14.30 – 15.25 น.

งานก้าวพอดี 2565 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม การศึกษา และองค์การระหว่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการเร่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ SDGs ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งผลักดัน SDGs ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง