ThaiPublica > เกาะกระแส > องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเห็นพ้องสหภาพยุโรป ออกกฎเข้มจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ฟาร์ม

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเห็นพ้องสหภาพยุโรป ออกกฎเข้มจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ฟาร์ม

1 กุมภาพันธ์ 2022


เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่มีผลในการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องในสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เห็นพ้องว่าการบังคับใช้กฎหมายครั้งสำคัญนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวด้านนโยบายที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลก

ในแต่ละปี ทั่วทวีปยุโรปมีการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มในกรงขังกว่า 300 ล้านตัว1 และในแต่ละปีมีการผลิตไก่พันธุ์เนื้อถึง 7,200 ล้านตัว2 สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์ทรมานในฟาร์มขนาดใหญ่ และได้รับยาปฏิชีวนะทางอาหารหรือน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากวิธีการเลี้ยงที่โหดร้าย ซึ่งกฎระเบียบฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปได้กำหนดให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาสัตว์ที่ป่วยเท่านั้น (ไม่ใช่ให้รวมทั้งคอก) ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ปัญหาจากการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่มีสวัสดิภาพต่ำนับแต่นี้ไปจึงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ที่ผ่านมาปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขทั่วโลก3 ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากถึง 3,500 คนจากการติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ (Superbugs)4 ซึ่งประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาณยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ทั่วโลกถูกใช้กับสัตว์ฟาร์ม5 โดยเฉพาะในฟาร์มอุตสาหกรรมที่มีการเลี้ยงดูอย่างทารุณโหดร้าย ในทางกลับกันสัตว์ที่ได้รับการเลี้ยงในฟาร์มที่มีสวัสดิภาพสูงจะมีสุขภาพดีกว่า มีภูมิต้านทานโรคได้ดีกว่า และแทบไม่ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะ

เนื่องจากทวีปยุโรปเป็นแหล่งนำเข้าอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้นกฎระเบียบใหม่นี้จะส่งผลกระทบไปยังผู้ผลิตทั่วโลก เนื่องจากสหภาพยุโรปจะสามารถปฏิเสธการนำเข้าสัตว์ที่มีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเติบโตของสัตว์ สหภาพยุโรปจะดำเนินการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่นี้สำหรับผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทั้งภายในทวีปยุโรปและรวมถึงประเทศคู่ค้า

Jacqueline Mills หัวหน้าฝ่ายสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “เราพบเห็นสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ฟาร์มในกรงขังที่น่าหดหู่ เช่น ไก่ที่มีอัตราการเจริญโตเร็วมากจนยืนไม่ได้ และลูกหมูก็ถูกตัดตอนอวัยวะอยู่เป็นประจำ สัตว์นับพันล้านตัวที่เกิดในฟาร์มอุตสาหกรรมต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยาก นี่อาจทำให้เราได้บริโภคเนื้อสัตว์ราคาถูก แต่เรากลับลืมนึกถึงสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพของเราเอง”

“วันนี้สหภาพยุโรปกำลังเดินหน้าแนวทางใหม่ที่เข้มข้นขึ้นในการแก้ไขปัญหาวิกฤติ Superbugs ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ฟาร์มจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์ ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องลุกขึ้นเผชิญความจริงที่ว่า เราต้องยุติการเร่งผลิตเนื้อสัตว์ที่เต็มไปด้วยยาปฏิชีวนะที่เป็นผลจากการปกปิดปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ เราต้องหยุดการทำฟาร์มอุตสาหกรรมเพื่อให้แน่ใจว่าสัตว์ในฟาร์มที่เหลืออยู่จะมีชีวิตที่ดีในระบบที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืน” Jacqueline Mills กล่าวเพิ่มเติม

นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เสริมว่า “ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเพราะเชื้อดื้อยากว่าปีละ 38,000 คน6 หรือเสียชีวิต 1 คนทุกๆ 15 นาที ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มีความน่ากลัวเป็นอย่างมาก ปีที่ผ่านมาเราทำได้การสำรวจเนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตตลอดจนแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ฟาร์ม พบว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาเป็นจำนวนมาก หลายตัวอย่างที่พบเป็นการดื้อต่อยาหลายขนาน รวมถึงดื้อต่อกลุ่มยาที่มีความรุนแรง ซึ่งทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระบบการผลิตเนื้อสัตว์แบบปัจจุบันเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพคนอย่างรุนแรง

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยุติวิกฤตเชื้อดื้อยาในประเทศไทย เราจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่มในสัตว์ฟาร์มและให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด นอกจากนั้นต้องมีแนวนโยบายในการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มตามแนวทางมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงสัตว์ฟาร์ม (FARMS: Farm Animals Responsible Minimum Standard) เพื่อทำให้สัตว์ฟาร์มมีชีวีตที่ดีขึ้นและลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่จำเป็น”

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกทำงานเพื่อยุติการเกิดขึ้นของฟาร์มอุตสาหกรรมที่เป็นต้นตอของผลกระทบต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่มีอยู่ให้สูงขึ้น โดยนอกจากจะทำให้สัตว์มีชีวิตที่ดีขึ้น ยังช่วยลดความต้องการในการใช้ยาปฏิชีวนะอันเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยาที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อคนเป็นจำนวนมหาศาลได้

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

อ้างอิง

1. EuroNews, European Parliament overwhelmingly backs ban on caged animal farming, https://www.euronews.com/2021/06/10/european-parliament-overwhelmingly-backs-ban-on-caged-animal-farming, 10 June 2021.

2. FAO Stat 2018, https://www.fao.org/faostat/en/#home

3. WHO has declared that AMR is one of the top 10 global public health threats facing humanity

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/antimicrobial-resistance

4. The Lancet, Global burden of bacterial antimicrobial resistance in 2019: a systematic analysis, https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)02724-0/fulltext

5. World Economic Forum, Three-quarters of antibiotics are used on animals. Here’s why that’s a major problem, 24 Nov 2017, https://www.weforum.org/agenda/2017/11/three-quarters-of-antibiotics-are-used-on-animals-heres-why-thats-a-major-problem
6. https://amrthailand.net/Home/Thailand