นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกในปี 2020 เศรษฐกิจโลกประสบกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ความท้าทายในตลาดแรงงาน และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลง ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเกือบ 97 ล้านคนตกไปอยู่ภายใต้ความยากจนสุดขั้วจากการระบาดใหญ่
เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ รัฐบาลทั่วโลกได้เพิ่มการใช้จ่ายเพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น การว่างงาน ความไม่มั่นคงด้านอาหาร และเพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด หลายประเทศได้ก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้ดำเนินการมาตรการสนับสนุนเหล่านี้ ส่งผลให้ระดับหนี้โลกสูงสุดในรอบครึ่งศตวรรษ
เว็บไซต์ visual capitalistได้รวบรวมข้อมูลอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP Ratio) ของประเทศต่างๆจากรายงาน World Economic Outlook ล่าสุดของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP Ratio) เป็นมาตรวัดภาระหนี้ภาครัฐเทียบกับเศรษฐกิจ เป็นการบอกว่าประเทศผลิตได้เท่าไร และมีหนี้เท่าไรในแต่ละปี ที่บ่งถึงความสามารถในการชำระหนี้ ประเทศไหนที่มีอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP สูงก็มีความเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ
จากการวิเคราะห์ พบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี Debt-to-GDP สูงสุดในโลก ถึง 256.9%
สำหรับประเทศที่มีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูง 10 อันดับแรก นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ซูดานและกรีซ ติดอยู่ใน 3 อันดับแรกเพราะอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ทะลุ 200% และมีสิงคโปร์จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดอันดับ 9 ด้วยอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ 138%
อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับสูงก็ไม่ได้เป็นที่แปลกใจ ในปี 2010 ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่มี อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP แตะระดับ 200% และปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 257% รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกพันธบัตรชดเชยหนี้ก้อนใหม่ โดยมีธนาคารกลางเป็นผู้ซื้อรายแรก ณ สิ้นปี 2020 ธนาคารกลางญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลราว 45% จากยอดพันธบัตรคงค้างทั้งหมด
ความเสี่ยงหลักของอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ที่สูงคืออะไร?
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ภาครัฐเป็นประเด็นหลักที่สร้างความกังวล โดยทั่วไป ยิ่งอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของประเทศสูงขึ้น โอกาสที่ประเทศจะผิดนัดชำระหนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดตลาดเงินแตกตื่น
ธนาคารโลกเผยแพร่ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่คงอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ไว้ที่มากกว่า 77% เป็นเวลานาน ประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมวิกฤติหนี้ นับตั้งแต่ภาวะถดถอยทั่วโลกในปี 2008 รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าอย่างน้อย 100 ประเทศจะต้องลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม นอกจากนี้ 30 ประเทศในประเทศกำลังพัฒนายังมีภาวะหนี้สินในระดับสูง ซึ่งหมายความว่ากำลังประสบปัญหาอย่างมากในการชำระหนี้
วิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ยากจนและรายได้ปานกลางมากกว่าประเทศร่ำรวย ประเทศร่ำรวยกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางไม่สามารถใช้มาตรการเช่นเดียวกันได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกสูงขึ้น
IMF เตือนผลจากอัตราดอกเบี้ย
หนี้ทั่วโลกแตะระดับ 226 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2020 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
ในจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้น 28 ล้านล้านดอลลาร์นั้น การกู้ยืมโดยรัฐบาลมีสัดส่วนสูงกว่าครึ่งเล็กน้อย ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะทั่วโลกอยู่ที่ 99% ของ GDP IMF เตือนว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะลดผลของการใช้จ่ายทางการคลัง และทำให้ความกังวลเรื่องความยั่งยืนของหนี้สูงขึ้น “ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้และการเติบโตลดลง”
“สภาวะทางการเงินที่ตึงตัวอย่างมีนัยสำคัญจะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล ครัวเรือน และบริษัทที่มีหนี้สูง หากภาครัฐและเอกชนต้องลดหนี้พร้อมๆ กัน ก็จะกระทบการเติบโต”