ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > KKP Research > KKP Research วิเคราะห์ธุรกิจและนักลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนดำเนินนโยบาย Common Prosperity

KKP Research วิเคราะห์ธุรกิจและนักลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนดำเนินนโยบาย Common Prosperity

22 ธันวาคม 2021


KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ธุรกิจและนักลงทุนไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนดำเนินนโยบาย Common Prosperity โดยมองว่า ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นข่าวการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนและการออกมาตรการในหลากหลายด้าน ตั้งแต่ การห้ามไม่ให้บริษัท Ant Group เสนอขายหุ้นครั้งแรก การกีดกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี การถอดแอพลิเคชั่นของบริษัท Didi ออกจาก App store การห้ามการทำกำไรในธุรกิจการศึกษา การกำหนดชั่วโมงในการ เล่นเกมส์ของเยาวชน หรือ การห้ามเยาวชนตั้งกลุ่มแฟนคลับหรือเข้าร่วมกิจกรรมของคนดังที่มีค่าใช้จ่ายสูง มาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ นโยบาย Common prosperity ของจีนที่ต้องการที่จะนำพาประเทศจีนก้าวสู่สังคมที่รุ่งเรืองอย่างทั่วถึงและสร้างความมั่นคงทางสังคม

อย่างไรก็ตามมาตรการที่ออกมาก็ได้สร้างความปั่นป่วนและเพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้นจีนเป็นอย่างมาก และทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า การกระทำของจีนในครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการในการกำกับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเศรษฐกิจจีนกลับไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์สุดโต่งเหมือนยุคสมัยของเหมา เจ๋อตุงกันแน่

KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร จะวิเคราะห์ถึงอุดมการณ์ที่เป็นสิ่งชี้นำเศรษฐกิจจีนเพื่อพยายามหาคำตอบว่าทิศทางของเศรษฐกิจจีนในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย Common Prosperity คืออะไร และทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยอย่างไร

ทำไมเรื่องนี้ถึงมองข้ามไม่ได้?

ถึงแม้ว่าการดำเนินนโยบาย Common Prosperity ของจีนจะดูไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อไทย แต่ทิศทางที่เปลี่ยนไปของรัฐบาลจีนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนและส่งผลต่อเนื่องมายังธุรกิจและเศรษฐกิจไทยจากความสำคัญของจีนใน 4 ด้านสำคัญได้แก่

1.คนไทยไปลงทุนในจีนเป็นจำนวนมาก หากไปดูข้อมูลจาก Morningstar จะพบว่า กองทุนรวมต่างประเทศที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดในรอบ 9 เดือนของปี 2021 คือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นจีน คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 7.8 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นจีนเป็นตลาดที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนักลงทุนไทยและเป็นตลาดที่นักลงทุนคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระยะยาวที่ดี แต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้น อาจส่งผระกระทบทางด้านงบดุลของนักลงทุนและความมั่นใจในการลงทุนอีกด้วย

2.จีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย นอกจากจีนเป็นตลาดที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในระดับสูงแล้ว ตลาดจีนยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญที่สุดของไทยอีกด้วย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการไทยไปยังจีนในปี 2019 สูงถึง 3.05 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ​หรือคิดเป็นสัดส่วน 13% ของการส่งออกไทยทั้งหมด สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังจีนสูงได้แก่สินค้าจำพวกยาง ผลไม้สด ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับเครื่องใช้สำนักงาน และ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนเผชิญกับภาวะชะลอตัวลง ก็จะมีผลสืบเนื่องมายังการส่งออกสินค้าและบริการไทย

3.ไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนสูง ใน 10 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อภาคบริการของไทย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักคือนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนความสำคัญเพิ่มขึ้นสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด 40 ล้านคนในปี 2019 หากไปเทียบกับรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มีมูลค่ากว่า 12% ของ GDP หมายความว่ารายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 3% ของเศรษฐกิจไทย แสดงให้เห็นว่า นโยบายที่ลดแรงจูงใจไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

4.ความมั่นคงของเอเชียจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีน เนื่องจากแผนยุทธศาสตร์และนโยบายของจีนจะคำนึงถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนเป็นสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชีย ผลกระทบต่อตลาดการเงินและผลกระทบต่อความมั่นคงทางการทหารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

สิ่งที่จุดประกายนโยบาย Common Prosperity

มาตรการต่างๆ ที่เราได้เห็นทางการจีนบังคับใช้ไม่ได้เป็นเพียงมาตรการเพื่อจัดระเบียบอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวใน 5 ประเด็น ได้แก่

1.ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนผ่านจากระบบคอมมูนและระบบเศรษฐกิจที่รัฐวางแผนในการผลิตทั้งหมดไปเป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดให้มีภาคเอกชนและให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมไปถึงการหันมาพึ่งพาระบบกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกลายมาเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดเป็นอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดก็ตามมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดเป็นปัญหาที่สำคัญที่หากยังคงอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อการเข้าถึงโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะขัดขวางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวลดลง

นอกจากนี้หากจีนปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่มั่นคงทางสังคมที่จะบั่นทอนอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกด้วย ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาการผูกขาดและความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ครอบครองสัดส่วนตลาดสูงและมีการสะสมข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง ตัวอย่างของนโยบายเช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด การกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กมากยิ่งขึ้น หรือการขอความร่วมมือให้เศรษฐีบริจาคเงินให้แก่สังคม

2.หนี้ที่อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาและเป็นสัญญาณเตือนต่อความเสี่ยงในอนาคต คือ หนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของหนี้ทั้งหมดเมื่อเทียบกับ GDP เพิ่มขึ้นจาก 143% ในปี 2006 มาเป็น 287% ในไตรมาสแรกของปี 2021 หากไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่า ส่วนที่มีการสะสมหนี้มากที่สุดคือ หนี้ของบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงิน ในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับหนี้ของบริษัท แต่ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ปัญหาที่ตามมา คือ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงมากจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ หากไปดูสถานการณ์ราคาบ้านในจีนจะพบว่า อัตราส่วนระหว่างราคาบ้านในเมืองเสินเจิ้นต่อรายได้นั้นอยู่ที่ 43.2 ซึ่งหมายความว่า ครัวเรือนต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยกว่า 43 ปีในการซื้อบ้านหนึ่งหลังในเมืองเสินเจิ้น และราคาบ้านโดยเฉลี่ยในเมืองอื่นๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก็อยู่ในระดับสูงมากเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ทางการจีนได้ออกนโยบายเพื่อหยุดการเก็งกำไรและป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มไปมากกว่านี้ ทั้งการออกมาตรการให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องคงระดับกระแสเงินสดให้อยู่เหนือกว่าระดับของหนี้ระยะสั้น รวมไปถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความตึงตัวยิ่งขึ้น แต่นโยบายเหล่านี้อาจสร้างความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐยินดีที่จะยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพื่อรักษาเสถียรภาพของสังคม

3.สังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง อีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือ ปัญหาสังคมสูงวัยและจำนวนประชากรวัยทำงานที่คาดว่าจะหดตัวลง จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) คาดว่าในปี 2050 ประชากรกว่า 35% จะมีอายุอย่างน้อย 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่ 47% ของประชากรจะมีอายุอย่างน้อย 50 ปีขึ้นไป และนอกจากโครงสร้างประชากรที่มีลักษณะเป็นสังคมสูงวัยแล้ว จำนวนประชากรยังมีแนวโน้มหดตัวลง จากการคาดการณ์ก็จะพบว่า จำนวนประชากรทั้งหมดในจีนจะถึงจุดสูงสุดในปี 2031 และจะลดลงมาเหลือเพียง 1.3 พันล้านคนในปี 2060 เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนประชากรวัยทำงานยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวชะลอตัว โดยทางการจีนพยายามออกนโยบายที่จะกระตุ้นให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การอนุญาตให้ครอบครัวมีบุตรได้มากกว่า 3 คน หรือการห้ามไม่ให้ติวเตอร์หลังเลิกเรียนทำกำไรเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการมีบุตร

4.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาจนกลายมาเป็นประเทศที่มีมูลค่าในการส่งออกมากที่สุดของโลกนั้นมาพร้อมกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจาก our world in data ชี้ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากภาคการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.4 พันล้านตันในปี 1990 เป็น 10 พันล้านตันในปี 2018 ถึงแม้ว่าจำนวนการปล่อยก๊าซบางส่วนนั้นมาจากสินค้านำเข้าเพื่อใช้การผลิต ขนาดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้นตอของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมาจากการเผาถ่านหินเป็นหลักเพื่อเป็นแหล่งพลังงาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาจากการเผาถ่านหินก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งหลายตามมา จึงทำให้รัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนไปยังพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือมาตรการที่ลดการเผาถ่านและหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

5.อิทธิพลจากค่านิยมตะวันตกที่พยายามเข้ามาในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น นอกจากการที่จีนผนวกเข้ากับเศรษฐกิจโลกจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศ สิ่งที่การแลกเปลี่ยนกันข้ามพรหมแดนคือค่านิยมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นในด้านอาหารการกิน ลักษณะการใช้ชีวิต หรือแม้กระทั้ง ทัศนคติ ความคิดหรืออุดมการณ์ ทั้งนี้ ค่านิยมจากตะวันตกในหลายด้านเป็นสิ่งที่แตกต่างจากค่านิยมจีนอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง ภาครัฐและพรรคคอมมิวนิสต์จึงมีความพยายามในการสกัดกั้นไม่ให้อิทธิพลจากค่านิยมแบบตะวันตกเพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางสังคมในมุมมองของจีน

5 ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่จุดประกายให้รัฐบาลต้องออกนโยบายต่างๆเพื่อแก้ปัญหา เพราะหากปล่อยไว้แบบนี้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวอาจชะลอตัวลงซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางการเงินและความไม่มั่นคงทางสังคม อย่างไรก็ตามนอกจากประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เป็นต้นเหตุให้รัฐบาลจีนออกมาตรการในการจัดระเบียบทางสังคมแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง

อุดมการณ์ของ สี จิ้นผิง (Xi Jinping Thought)

ในการที่จะเข้าใจสิ่งที่รัฐบาลจีนกำลังวางแผนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปข้างหน้า เราต้องพยายามเข้าใจถึงพัฒนาการของอุดมการณ์ที่อยู่ในเบื้องหลังของการตัดสินใจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์และภาครัฐมีบทบาทในการทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ความเข้าใจในแนวคิดเหล่านี้อาจฉายภาพให้เห็นได้ว่าอนาคตของนโยบายเศรษฐกิจจีนจะเป็นอย่างไร

เหมา เจ๋อตุง The Great Helmsman

ภายหลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ.1949 เป็นต้นมา ผู้นำของจีนแต่ละคนต่างก็ได้วางรากฐานที่สำคัญให้แก่เศรษฐกิจและสังคมจีนที่มีผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน ผู้นำคนแรกและเป็นผู้นำที่มีนโยบายควบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากที่สุดคือ เหมา เจ๋อตุง แนวคิดของเหมา เจ๋อตุง หรือแนวคิดของลัทธิเหมา (Maoism) นั้นได้รับอิทธิพลโดยตรงจากแนวคิดของลัทธิมาร์กซและเลนนิน (Marxism and Leninism) และเชื่อในเรื่องการขจัดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกรรมาชีพ (proletariat) และชนชั้นนายทุน (bourgeoisie) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิวัติระบบสังคมเดิมให้กลายเป็นระบบคอมมิวนิสต์ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตัวอย่างของนโยบายที่เป็นผลจากแนวคิดนี้คือนโยบายก้าวกระโดด (the Great Leap Forward) ที่พยายามจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ (Central Planning) และได้มีการจัดตั้งระบบคอมมูนที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ รายได้ และครอบครองทรัพย์สินร่วมกันในภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามนโยบายก้าวกระโดดทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นเนื่องจากเกษตรกรจำนวนมากต้องหันมาถลุงเหล็กตามคำสั่งรัฐและทำให้เวลาที่สามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกลดลง เศรษฐกิจจีนในช่วงระหว่างปี 1961 และ 1976 จึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่เพียง 3.9% ต่อปี เท่านั้น นอกจากนี้ ในช่วงปฎิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976 มีคนเสียชีวิตมากกว่าสิบล้านคนและมีผู้อพยพหนีออกจากจีนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

เติ้ง เสี่ยวผิง The Great Reformer

หลังการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตุง ในปี 1976 จีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง มีการปฏิรูปเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งการยกเลิกระบบคอมมูนในภาคการเกษตร การเปิดเสรีให้แก่ภาคเอกชนและผู้ประกอบการให้สามารถก่อตั้งธุรกิจได้ การเปิดเสรีให้การลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการโอนกิจการของรัฐให้เป็นเอกชนมากขึ้น ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเติ้ง เสี่ยวผิงที่ต้องการยกระดับความมั่งคั่งของจีนขึ้นมาก่อนถึงแม้ว่าจะต้องยอมให้คนบางกลุ่มรวยก่อน

ทั้งนี้ แนวคิดของลัทธิมาร์กซและเลนนินยังมีความสำคัญต่อจีนอยู่ แต่แนวคิดต้องมีการปรับให้เหมาะสมเข้ากับจีน จึงทำให้เกิดคำที่ใช้เรียกกันว่า สังคมนิยมสมัยใหม่แบบจีน (Socialism with Chinese characteristics) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวคิดนโยบายเศรษฐกิจใหม่ของเลนนิน (New Economic Policy) ซึ่งยอมให้ระบบทุนนิยมและระบบตลาดเข้ามามีบทบาทชั่วคราวในการสร้างความมั่งคั่งและสร้างการเติบโต ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นประเทศแบบสังคมนิยมที่มีความเท่าเทียมกัน การเปิดเสรีต่างๆ จึงทำให้เศรษฐกิจจีนในช่วงระหว่างปี 1977 และ 2000 จึงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงขึ้นอยู่ที่ 9.7% ต่อปี ซึ่งภายหลังจากปี 2000 การเปิดเสรียังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนหลังจากจีนเข้าร่วม WTO ในปี 2001 การเติบโตของเศรษฐกิจยิ่งเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้จีนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเร่งตัวของกระแสโลกาภิวัตน์และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจนนำไปสู่การทำนโยบายการเงินนอกกรอบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สี จิ้นผิง The Core Leader

มาถึงในยุคปัจจุบัน แนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping Thought) ได้ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายในหลายช่องทาง ตั้งแต่สุนทรพจน์ในรัฐสภาหรือวันสำคัญของชาติ หรือแม้กระทั่งหนังสือที่เขียนถึงแนวคิดของสี จิ้นผิงโดยเฉพาะ (The Governance of China, 2014) ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้ยังถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของจีนหนังสือในชั้นเรียนอีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดทางการเมืองที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจจีน

ในสุนทรพจน์ของสี จิ้นผิงหลังจากได้รับตำแหน่งในปี 2013 และในหนังสือ The Governance of China ที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2014 อาจอนุมานได้ว่า แนวคิดของสี จิ้นผิงนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดของมาร์กซและเลนนิน ในความเชื่อที่ว่า ระบบทุนนิยมจะเสื่อมถอยจากความย้อนแย้งในตัวเอง และจะถูกแทนที่ด้วยระบบสังคมนิยมในท้ายที่สุด

ความเชื่อนี้ได้ถูกยืนยันในมุมมองของจีนจากทั้งวิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทุนนิยมตะวันตก รวมไปถึงกระแสโลกาภิวัฒน์และนโยบายการเงินแบบนอกกรอบที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางสังคม

ดังนั้น ภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง หากปล่อยให้จีนมีการเปิดเสรีและปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ อาทิ สัดส่วนรายได้ของแรงงานที่ลดลง หนี้ที่เพิ่มขึ้น ความกระจุกตัวและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ รวมไปถึง ฟองสบู่ในสินทรัพย์ทางการเงิน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามากำกับดูแล จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานที่จะขยายมากขึ้น ซึ่งขัดต่ออุดมการณ์ของมาร์กซและเลนนิน และแนวคิดของสี จิ้นผิง โดยตรงอีกด้วย

เมื่อค่านิยมของธุรกิจและรัฐไม่ตรงกัน

นอกจากประเด็นเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญคือเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง หากปล่อยให้จีนมีการเปิดเสรีและปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่ภาครัฐไม่เข้ามากำกับดูแล จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นแรงงานที่จะขยายมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐภายใต้แนวคิดของสี จิ้นผิง จะเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลภาคเอกชน ทำให้หลักการพื้นฐานในการลงทุนในจีนแตกต่างจากหลักการลงทุนในประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นระบบตลาดทุนนิยมแบบเสรีมากกว่า สำหรับนักลงทุนไทย การนำหลักการในการลงทุนแบบประเทศตะวันตกที่เป็นทุนนิยมเสรี มาใช้กับประเทศสังคมนิยมแบบจีน อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่เกิดจากค่านิยมที่ขัดกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของจีน

ธุรกิจไหนบ้างที่อาจเจอความเสี่ยงจากภาครัฐ

กลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากมาตรการภาครัฐสูงคือ กลุ่มเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีการผูกขาดและสะสมข้อมูลที่มีความสำคัญ กลุ่ม Fintech ที่อาจกระทบเสถียรภาพทางการเงิน กลุ่มการศึกษาและสุขภาพที่อาจถูกควบคุมราคา หรือกลุ่มเกมส์และงานบันเทิงที่อาจบั่นถอนผลิตภาพของเยาวชนในระยะยาว

จีนยอมชะลอในระยะสั้นเพื่อความมั่นคงในระยะยาว

นโยบายภาครัฐที่ต้องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเพิ่มผลิตภาพในระยะยาวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังนี้

1) เศรษฐกิจระยะสั้นมีแนวโน้มชะลอตัวลง มาตรการต่างๆเช่น นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปีหน้า เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์มีความสำคัญอย่างยิ่งและมีขนาดใหญ่ถึง 28.7% ของเศรษฐกิจจีนทั้งหมด

2)ผลกระทบต่อการเติบโตระยะยาว การที่ภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจของภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้นอาจสร้างความไม่แน่นอนและลดทอนความมั่นใจของธุรกิจเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship spirit) ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านลบต่อโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

3)จาก เติบโตด้วยการลงทุน เป็นเติบโตด้วยการบริโภค รัฐบาลจีนพยายามเปลี่ยนเครื่องยนต์ในการเติบโตไปเป็นภาคการบริโภคมากขึ้นผ่านนโยบาย Dual circulation ที่จะเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากยิ่งขึ้น การปรับสมดุล (rebalancing) ในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้า KKP Research ประเมินว่า หากการลงทุนในจีนชะลอตัวลงในขณะที่การเติบโตของภาคการบริโภคเร่งตัวขึ้นในอัตราที่เท่ากัน ธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการลงทุนในจีน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เครื่องจักรกล อุปกรณ์การคมนาคม ไฟแนนซ์ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับผลกระทบในด้านลบจากการเปลี่ยนโมเดลการเติบโตของจีน ในขณะที่ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์ คือธุรกิจที่การส่งออกมูลค่าเพิ่มพึ่งพาภาคการบริโภค ได้แก่ ภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์เคมีและยา การค้าปลีกและค้าส่ง และผลิตภัณฑ์อาหาร

ช่องทางผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1)ด้านการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นจะทำให้ความต้องการในการนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะจากประเทศแถบอาเซียน เอเชีย และประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคของจีนสูงจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายในประเทศมากกว่าประเทศที่เน้นการส่งออกมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกของจีน จากข้อมูล OECD TiVA (Trade in Value-Added) จะพบว่าไทยมีการส่งออกมูลค่าเพิ่มไปยังภาคการลงทุนหรือภาคการบริโภคในสัดส่วนสูง โดยคิดเป็น 5.6% ของ GDP

2)ด้านการเงิน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะทำให้ FDI จากจีนที่ก่อนหน้านี้ก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีน ได้แก่ ภาคยางและพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน การค้าส่งและค้าปลีก รวมไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์

3)ด้านการท่องเที่ยว ด้วยความที่รัฐบาลจีนต้องการทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลักแต่ก็ยังกังวลเรื่องการเกิดภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากจะทำให้ระดับของหนี้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การลดการขาดดุลภาคบริการอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายก็เป็นได้ หนึ่งในวิธีการที่ภาครัฐอาจใช้ในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของจีนคือการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งถ้าหากจีนประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้คนเที่ยวในประเทศก็จะมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยลดลงในระยะยาว และไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น

[อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/common-prosperity-policy]