ThaiPublica > คนในข่าว > “เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” เคลียร์สมบัติพัสถาน ทำ Death Cleaning

“เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” เคลียร์สมบัติพัสถาน ทำ Death Cleaning

29 กรกฎาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

เผ่าทอง ทองเจือ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/paothong.thongchua/photos

ชีวิตกว่าค่อนศตวรรษของ เผ่าทอง ทองเจือ หรืออาจารย์แพน มีเรื่องราวมากมาย เต็มไปด้วยเส้นทางที่หลากหลาย เป็นชีวิตที่มีสีสัน มีชีวิตชีวา สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่พบเห็น

เป็นทั้งนักกิจกรรมรุ่นแรกๆ ที่รวมกลุ่มกับเพื่อนนักเรียนมัธยมปลาย เข้าสอนหนังสือเด็กในสลัมคลองเตย เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากครูประทีป อึ้งทรงธรรม

เป็นนักโบราณคดี ที่ได้ไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และแหล่งโบราณคดีต่างๆ อีกมากมายหลายสิบแห่ง

เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะแม่อยากให้รับราชการ จนได้เป็นคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 สมัย ก่อนลาออกไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชน

ระหว่างนั้นยังเป็นนายแบบ พิธีกร นักแสดง อาจารย์พิเศษตามสถาบันต่างๆ มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ พิธีกรรายการทีวี รวมทั้งเจ้าของห้องเสื้อ “เผ่าทอง” และยังมีเฟซบุ๊กเพจ “Paothong Thongchua” รวมทั้งเพจ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” ที่มียอดผู้ติดตามรวมกันเกือบ 3 แสนราย

และช่วงที่สร้างสีสันมากที่สุด คือการไลฟ์สดในเพจ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง ทองเจือ” เพื่อขนทรัพย์สมบัติที่สะสมไว้ออกมาขาย

เผ่าทองไลฟ์สดขายสมบัติพัสถาน

“หลายคนคิดว่า ผมไลฟ์ขายของสะสมเพราะเป็นช่วงโควิด ไม่มีรายได้ ไม่ใช่เลย แต่เพราะผมต้องการ ทำ death cleaning ของที่มีอยู่ เพราะได้บทเรียนจากเพื่อนสนิท 2 คนที่ตายไปโดยไม่ได้จัดการกับสมบัติที่มีอยู่ ทำให้เป็นภาระ เป็นปัญหากับคนที่อยู่ข้างหลัง”

Death cleaning เป็นแนวคิดเรื่องการจัดเก็บข้าวของ จัดเก็บบ้านให้เสมือนว่าเราจะตายไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือปัญหากับลูกหลานในวันที่ตายจากไปจริงๆ ประกอบกับช่วงโรคโควิดระบาดหนัก ทำให้ต้องปรับตัวใหม่ อยู่บ้านมากขึ้น

อาจารย์แพนนึกถึงสมบัติพัสถานที่ทั้งได้รับมรดกมา และที่ซื้อเก็บสะสมไว้ ไปรื้อ ค้น จัดหมวดหมู่ใหม่ และไลฟ์สดขายสมบัติเหล่านั้น เพื่อ death cleaning

สมบัติพัสถานของ “เผ่าทอง ทองเจือ”

“ตอนเด็กผมอยู่กับครอบครัวใหญ่ หรือครอบครัวขยาย มีตา ยาย พี่ป้าน้าอา อยู่รวมกันหมด กินข้าววงเดียวกัน สำรับใหญ่ กินไปคุยกันไป ผมได้รับรู้รับฟังเรื่องราวเก่าๆ มากมาย เป็นภาพจำที่ผมประทับใจ ผมชอบช่วงเวลานั้นมากที่สุด ทีนี้พอพวกท่านเหล่านั้นเสียไป หลานๆ คนอื่นก็จะได้มรดกเป็นเงินสดบ้าง รถยนต์บ้าง แต่ผมจะได้บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และทรัพย์สินทุกสิ่งอย่างในบ้านนั้นๆ เพราะทุกท่านรู้ว่า สิ่งที่ผมรักและชอบมากที่สุดเป็นชีวิตจิตใจคือ ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง ของใช้สอย เวลาพวกท่านจากไป ก็จะให้บ้านบ้าง คอนโดมิเนียมบ้าง ที่พรั่งพร้อมเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ เรียกว่า พอพวกท่านเสียไป ก็ปิดบ้าน ยกบ้านให้ผม ผมมีบ้าน หรือคอนโด พร้อมเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ 6 หลัง”

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีสินค้าในสต็อก ของห้องเสื้อเผ่าทอง ที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยเกิดสึนามิ แล้วต้องปิดร้านเสื้อเผ่าทองไป จากที่เคยมีถึง 14 สาขา ก็ทยอยปิดตัวลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลือ 2 สาขาจากพิษโควิด ร้านเสื้อแต่ละร้าน นอกจากเสื้อผ้าจากฝีมือออกแบบของอาจารย์แพนแล้ว ยังมีสร้อย เครื่องประดับ อัญมณี ขายด้วย เมื่อปิดยุบสาขาต่างๆ ลง สินค้าเหล่านี้ก็ถูกเก็บลงหีบ และนำเข้าเก็บในโกดังหรือห้องเก็บของมาเนิ่นนาน”

จนเมื่อจะมีการ death cleaning เครื่องประดับเหล่านี้จึงมีโอกาสโผล่หน้าออกมาให้ผู้คนได้ยลโฉมอีกครั้ง ผ่านการไลฟ์สดของอาจารย์แพน ยังมีของเก่า ผ้าเก่า ที่อาจารย์แพนได้สะสมมาสมัยเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี ที่ต้องเดินทางตระเวนไปตามโบราณสถานต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยความที่เป็นคนชอบชิ้นงานเก่าๆ จึงได้ของเก่า ผ้าเก่า จากชาวบ้านมาเก็บไว้ เฉพาะผ้าเก่าอย่างเดียวก็มีถึง 3-4 หมื่นผืน

เผ่าทอง ไลฟ์สดขายสมบัติพัสถาน

“ผมบอกเลยว่า ไม่ได้มาไลฟ์ขายของเหล่านี้เพราะจน ไม่มีรายได้ เพราะเฉพาะของที่มีอยู่ ผมไลฟ์ขายได้ถึงชาติหน้า แล้วบอกได้เลยว่าทุกชิ้นเป็นของจริง ไม่มีเก๊ ไม่มีปลอม”

สำหรับคนที่เข้าร่วมชมไลฟ์สดขายของสะสมของอาจารย์แพน นอกจากจะได้สินค้า วัตถุโบราณ ที่วิจิตรสวยงาม อย่างกระต่ายขูดมะพร้าว ที่แกะสลักตรงที่สำหรับนั่งขูดมะพร้าวเป็นรูปสิงห์ ที่ละเอียด งดงาม จนไม่อยากจะเอาไปนั่นขูดมะพร้าว ยังได้ความเพลิดเพลินระหว่างอาจารย์แพนไลฟ์ เรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะได้ตลอด อย่างเช่น เรียกพระแกะสลักองค์หนึ่งว่า พระอ้วนน่ะ พระอ้วน เรียกไปก่อน เพราะลืมคำว่าพระสังกัจจายน์ เป็นต้น

แต่ไฮไลต์ที่ผู้ชมและผู้ซื้อได้จากการไลฟ์ของอาจารย์แพน คือ มีการเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในยุคของสิ่งของนั้นๆ รวมทั้งประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ในชิ้นงานสะสมหลายชิ้น แม้แต่ผ้าเก่าที่ขาด ก็ยังมีประวัติลวดลาย วิธีการทอ การย้อม เป็นผ้าลายทอที่เหลือเพียงชิ้นเดียวในโลก

สมบัติพัสถานของ “เผ่าทอง ทองเจือ”

จนมีการพูดว่า…

อาจารย์แพนไม่เพียงส่งมอบชิ้นงานสะสม แต่ได้ส่งมอบ “คุณค่า” ของชิ้นงานเหล่านั้นให้กับเจ้าของใหม่ด้วย

…เป็นวลีที่อาจารย์แพนปลื้มมาก

อาจารย์แพนบอกว่า ที่เล่าเรื่องราวเหล่านั้นได้ เพราะเป็นคนที่มีความจำดีมาก แต่จะจำเฉพาะที่อยากจำ เช่น เรื่องราวที่ผู้เฒ่าผู้แก่ พี่ป้าน้าอา เล่าให้ฟัง ชิ้นงานหรือผ้าที่ซื้อมาเป็นหมื่นชิ้น อาจารย์สามารถจำราคาซื้อ ที่มาที่ไปได้เกือบหมด

แต่ถ้าให้จำพาสเวิร์ด วิธีใช้แอปธนาคารโอนเงิน หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจารย์แพนจะบอกว่า อย่ามาพูดกับฉัน ฉันไม่จำ ไม่ทำ (ฮา)

Death cleaning ของอาจารย์จึงเป็นสมบัติเก่าเก็บที่ให้ความรู้ ความสนุกสนาน เพลิดเพลินของคนที่เข้ามาชม

แม้การไลฟ์ขายสมบัติสะสมจะได้รายได้ไม่น้อย แต่ชีวิตประจำวันของอาจารย์ก็ยังสมถะ เรียบง่าย เหมือนเดิม หากต้องไปไหน แต่เดิมก็จะขึ้นรถเมล์ ส่วนปัจจุบัน รถไฟฟ้า ได้กลายเป็นรถประจำตำแหน่งของอาจาย์ไปแล้ว ถ้ารีบมาก หรือรถติด มอเตอร์ไซค์จะเป็นที่พึ่งพิงอย่างดี

“ผมไม่ชอบขับรถ ไม่ชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไก เวลานั่งรถเมล์ผมจะเพลินมาก เพราะด้วยความที่ทำห้องเสื้อเผ่าทอง เวลานั่งรถเมล์ก็จะเห็นว่า ผู้หญิงชอบใส่เสื้อแบบไหน อย่างตอนเช้าก็จะดูว่า ผู้หญิงทำงานใส่เสื้อแบบไหน สีอะไรที่ใส่มากที่สุด เสื้อสีอะไรที่แทบไม่ใส่เลย ผมพบว่า เสื้อสีเขียวมีน้อยมาก ยิ่งเขียวเข้มไม่มีเลย เพราะเป็นสีที่ใส่แล้วดำและดับ ข้อมูลเหล่านี้ ผมเอาไปใช้ออกแบบเสื้อผ้าเพราะผมขายเสื้อผ้า สำหรับคนทั่วไป ราคาตั้งแต่ 800-1,000 บาทขึ้นไป ข้อมูลเหล่านี้ช่วยผมได้มาก พอมานั่งรถไฟฟ้า นอกจากดูการแต่งกายแล้ว ก็นั่งดูคนในรถไฟฟ้าทำอะไรกันบ้าง นั่งเล่นโทรศัพท์กี่คน อ่านหนังสือกี่คน”

แต่ขอกระซิบไว้ตรงนี้ว่า ถึงจะไม่ชอบขับรถ แต่ อาจารย์แพนก็มีรถประจำตำแหน่ง ยี่ห้อสุดหรู พร้อมคนขับ ที่ท่านผู้บริหารกรุณาจัดให้ แต่กระนั้น ในบางครั้งบางเวลายังแอบนั่งรถไฟฟ้าไปทำงานเหมือนเดิม

อาจารย์แพนยังแนะนำด้วยว่า อย่าเห็นของสะสมเหล่านี้เป็นเพียงชิ้นงานที่สวยงาม ซื้อมาก็เก็บไว้ใช้เป็นเรื่องประดับ เครื่องบูชา หรืออาภรณ์ประดับกาย เท่านั้น

แต่อยากให้มองชิ้นงานเหล่านั้นเป็นการ “เก็บออม” นอกเหนือจากการออมเงิน เล่นหุ้น เพราะสินค้าแต่ละชิ้น แต่ละแบบ มีคุณค่า และไม่ช้าก็เร็ว ราคาจะสูงขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป อยากให้ทุกคนมองในจุดนี้

ฉะนั้น ประโยคที่ว่า อาจารย์แพน ไม่ได้เพียงส่งมอบสินค้า แต่ส่งมอบ “คุณค่า” ให้กับผู้ซื้อ ก็ไม่ใช่ประโยคที่เกินจริงเลย