ThaiPublica > สู่อาเซียน > ก.ล.ต.อาเซียนผลักดันมาตรฐานการเงินยั่งยืน

ก.ล.ต.อาเซียนผลักดันมาตรฐานการเงินยั่งยืน

16 มีนาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.theacmf.org/media/gallery/acmf-chairs-meeting-2021

ก.ล.ต. เข้าร่วมการประชุม ACMF ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 34 ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยที่ประชุมเห็นชอบต่อแผนงานภายใต้แผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี รองรับการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน และรับทราบความคืบหน้าข้อริเริ่ม ASEAN Sustainable Finance Taxonomy เพื่อขอรับการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 25 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2564 ต่อไป

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยผู้บริหาร ก.ล.ต. เข้าร่วมการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum : ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 34 ผ่าน VDO Conference Call โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของบรูไนดารุสซาลามเป็นเจ้าภาพ เพื่อหารือทิศทางเชิงนโยบายและผลักดันการดำเนินงานของคณะทำงานต่าง ๆ ภายใต้ ACMF ให้สอดคล้องกัน นำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน ดึงดูดการลงทุน และการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านต่างประเทศ แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2564-2566)

สำหรับประเด็นหารือหลักในการประชุมครั้งนี้ สมาชิก ก.ล.ต. อาเซียน ได้ร่วมเห็นชอบต่อร่างสุดท้ายของแผนงานภายใต้แผนปฏิบัติการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนระหว่างปี 2564 – 2568 (ACMF Action Plan 2021 – 2025) ซึ่งสมาชิกร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ประเด็นสำคัญ และแผนงานในระยะ 5 ปี เพื่อผลักดันตลาดทุนอาเซียนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเติบโตอย่างยั่งยืนครอบคลุมทุกภาคส่วน มีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่อไป ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของแผนงานสำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลักดันให้เกิดการจัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy for sustainable finance initiatives) ซึ่ง ACMF ได้ริเริ่มศึกษาและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อคณะทำงานในภาคการเงินระดับอาเซียน เพื่อร่วมกันกำหนดให้มีมาตรฐานด้านการเงินที่ยั่งยืนสอดคล้องกันทั้งระบบ และจะร่วมแสดงเจตนารมย์ในที่ประชุม The 26th UN Climate Change Conference ในปลายปี 2564 ต่อไป

ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอใน 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น เพื่อขอรับการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งที่ 25 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2564 ต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนงานสำคัญภายใต้ ACMF Roadmap for ASEAN Sustainable Capital Market เพื่อส่งเสริมตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ อาทิ การจัดทำ ASEAN sustainability-linked bond standards รวมทั้ง รับทราบความคืบหน้าในการจัดเตรียมการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อรับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีเพิ่มเติม ภายใต้กรอบ ASEAN Collective Investment Schemes เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขายกองทุนรวมระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่ง ก.ล.ต. ไทยเป็นประธานคณะทำงาน และเห็นชอบการเตรียมการเพื่อจัดการประเมิน ASEAN Corporate Governance Scorecard ครั้งที่ 7 ซึ่งจะมีการประกาศผลในปี 2565

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.

ยกระดับกำกับดูแล-กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (IOSCO APRC) วันที่ 9-10 มีนาคม 2564 ในรูปแบบ virtual meeting

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นเจ้าภาพการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (IOSCO APRC) โดยได้นำเสนอต่อ ก.ล.ต. ญี่ปุ่น Japan Financial Services Agency (JSFA) ในฐานะประธาน IOSCO APRC เพื่อให้บรรจุการหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของตลาดทุน พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนระหว่างประเทศสมาชิก

ในการประชุม APRC Plenary Meeting เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ก.ล.ต. ได้ริเริ่มนำเสนอประเด็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เข้าร่วมประชุมในเรื่อง การยกระดับการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีและการกำหนดให้มีการทดสอบความรู้ก่อนการให้บริการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อมุ่งเน้นการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญนับเป็นจุดเริ่มต้นในการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับเรื่องดังกล่าว โดย Australian Securities & Investments Commission (ASIC) ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการให้ความรู้ผู้ลงทุนเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมมีการร่วมหารือถึงปัญหาและความท้าทายในแต่ละประเทศที่คล้ายคลึงกับกรณี GameStop โดย ก.ล.ต. ได้ร่วมนำเสนอประเด็นสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลควรพิจารณา ได้แก่ การใช้สื่อสังคม (social media) เพื่อชักจูงผู้ลงทุนในการซื้อหลักทรัพย์เพื่อสร้างราคา การกำกับดูแลธุรกรรมการขายชอร์ต (short-selling) และการกำกับดูแลระบบซื้อขายหลักทรัพย์ออนไลน์ (online trading platform)

สำหรับภาพรวม ที่ประชุม APRC Plenary Meeting ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ พัฒนาการ และหารือเกี่ยวกับความท้าทาย ในการกำกับดูแล รวมถึงหยิบยกประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งสมาชิกได้ร่วมเสนอแนะแนวทางในการรับมือและการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การยกระดับความร่วมมือด้านการกำกับดูแลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งการหารือในประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ การหารือในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุม Supervisory Directors’ Meeting และ Enforcement Directors’ Meeting เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ซึ่ง ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 1 ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 2 และฝ่ายกำกับการขายผลิตภัณฑ์การลงทุน ทำหน้าที่เป็นประธานดำเนินการประชุม

สำหรับประเด็นหารืออื่นที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อรับมือกับผลกระทบจาก COVID-19 และให้เท่าทันพัฒนาการในตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ (AI/Big data) ในการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ (off-site monitoring) การใช้เทคโนโลยี blockchain สำหรับการออกและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (initial public offering) การใช้ข้อมูลในการตรวจจับความผิด การติดตามเพื่อตรวจจับการนำสินทรัพย์ของลูกค้าไปใช้ในทางมิชอบ และการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบุคคลภายนอก ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแลแบบ risk-based supervision การกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจต่อผู้ลงทุนรายย่อย และข้อจำกัดด้านการบังคับใช้กฎหมายที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี เช่น การระบุตัวตนและการเข้าถึงข้อมูลเพื่อเก็บข้อมูลและตรวจสอบหลักฐานทางดิจิทัล

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังร่วมแสดงความเห็นในเรื่อง หลักเกณฑ์และการกำกับดูแลการเงินที่ยั่งยืน ทั้งด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท การสนับสนุนให้ธุรกิจจัดการลงทุนนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานโยบายการลงทุน การจัดการกรณีที่ผู้ออกตราสารบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อม (greenwashing) และจัดอันดับคุณภาพด้าน ESG โดยการพัฒนาประเด็นข้างต้น IOSCO สนับสนุนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ที่เป็นระดับสากล เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วน สามารถเปรียบเทียบได้และสอดคล้องกัน

ประเด็นสำคัญที่หารือกันในการประชุมข้างต้นมีความสอดรับกับ Work Program 2021-2022 ของ IOSCO ที่จะดำเนินการต่อไปในระยะข้างหน้า โดยจากผลกระทบของ COVID-19 นั้น IOSCO ได้เพิ่ม 2 ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานต่าง ๆ ควรติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) เสถียรภาพระบบการเงินและความเสี่ยงเชิงระบบของกิจกรรมที่ดำเนินโดยสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (non-bank financial institution) และ (2) ความเสี่ยงที่ทวีความรุนแรงขึ้น ได้แก่ ความเสี่ยงจากการประพฤติผิด ความเสี่ยงด้านการดำเนินการและด้านไซเบอร์ และด้านการตรวจสอบการทุจริตและหลอกลวง

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ IOSCO ประจำปี 2566 (IOSCO Annual Meeting 2023)