ThaiPublica > เกาะกระแส > บูมเมอแรงคิดส์? เมื่อลูกย้ายกลับเข้าบ้าน… ผลเชิงบวกการอยู่กับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมตลาดแรงงานผู้หญิงไทย

บูมเมอแรงคิดส์? เมื่อลูกย้ายกลับเข้าบ้าน… ผลเชิงบวกการอยู่กับพ่อแม่ต่อการเข้าร่วมตลาดแรงงานผู้หญิงไทย

3 ธันวาคม 2020


ผศ. ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Ms. Lusi Liao ได้ศึกษาแนวโน้มและภาวะการทำงานของประชากร โดยใช้ข้อมูลจากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนและข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทํางานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังจากการมีลูก คนไทยมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับเข้าไปอยู่อาศัยกับพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งส่งผลทางบวกต่อการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง ทั้งเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานและเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานของแรงงานผู้หญิง

ปรากฏการณ์ที่คนมีแนวโน้มที่จะย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน มีชื่อเรียกว่า ปรากฏการณ์ “บูมเมอแรงคิดส์” (Boomerang Kids) ในกรณีของประเทศไทยพบว่า ภายหลังจากการมีลูก คนไทยมีโอกาสที่จะย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวพ่อแม่ตนเองหรือฝ่ายสามีมากขึ้นถึง 32-34%

ภาพที่ 1 สัดส่วนของครัวเรือนที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ (ครัวเรือนที่แต่งงานแล้ว vs ครัวเรือนที่ยังไม่ได้แต่งงาน), 1985-2016

การศึกษาพบว่า การอยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ส่งผลทางบวกนั้นต่อแรงงานผู้หญิง โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 21% เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้อาศัยร่วมกับพ่อแม่ ทั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงานอีกประมาณ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งการอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่นั้นทำให้ผู้หญิงได้รับความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการแบ่งเบาภาระงานบ้าน ทำให้มีเวลาในการเข้าร่วมตลาดแรงงานมากขึ้น

ในมิติของระดับการศึกษาพบว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจะได้รับผลกระทบทางบวกจากการอยู่ร่วมกับพ่อแม่มากที่สุด โดยเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในตลาดแรงงานถึง 28% และเพิ่มจำนวนชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่การอยู่ร่วมกันกลับไม่มีผลต่อโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการศึกษาที่สูงทำให้ผู้หญิงมีรายได้มากเพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าสถานเลี้ยงดูเด็กได้ จึงทำให้มีภาวะการพึ่งพิงพ่อแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลานค่อนข้างน้อย

ภาพที่ 2 อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงาน (ผู้หญิงที่อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่ vs ผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่อาศัยร่วมกับพ่อแม่)

ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อแรงงานผู้หญิงไทย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม ทำให้ผู้หญิงไทยที่อยู่ในตลาดแรงงานยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่ ดังนั้น หากต้องการเพิ่มการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงไทย ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือด้านการเลี้ยงดูบุตรและสนับสนุนเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยมาตรการช่วยเหลือจำเป็นที่จะต้องมีมิติที่กว้างและครอบคลุมมากกว่าการให้เพียงเงินอุดหนุน อย่างเช่น การเพิ่มนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว และนโยบายสนับสนุนการอยู่อาศัยร่วมกันหรือการอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับพ่อแม่ เป็นต้น