ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าลดโลกร้อน เปิดโครงการ Care the Wild ปลูกไม้ให้ได้ป่ากว่า 700 ไร่

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าลดโลกร้อน เปิดโครงการ Care the Wild ปลูกไม้ให้ได้ป่ากว่า 700 ไร่

9 กันยายน 2020


ตลาดหลักทรัพย์ฯ เดินหน้าลดโลกร้อน ผนึกพันธมิตรดำเนินโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” แพลตฟอร์มความร่วมมือปลูกไม้ให้ได้ป่า ด้วยกลไกธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ริเริ่มโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ผนึกกำลังทุกภาคส่วนร่วมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างพื้นที่ป่า และติดตามการเติบโตของไม้ที่ปลูกตลอดโครงการ ด้วยหลักธรรมาภิบาลเปิดเผยข้อมูล ติดตาม-เรียนรู้-ดูแล ผ่าน Application “Care the Wild” มุ่งสร้างระบบนิเวศให้สมดุล สอดรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อ 13 Climate action และขับเคลื่อนการทำงานด้วยข้อ 17 Partnerships for the goals ตั้งเป้าภายใน 1 ปี ปลูกป่า 500 ไร่ เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาแพลตฟอร์ม “SET Social Impact” ส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยริเริ่มโครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ถือเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยมีกลไกการดำเนินงานด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน มีสัญลักษณ์ช้างรักษ์ป่า “พี่ปลูกป้อง” เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ พืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม และร่วมระดมทุน “ปลูก” ต้นไม้ รวมทั้งเน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตบนหลักการธรรมาภิบาล จนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “ป้อง” กล่าวคือ ผู้ระดมทุนปลูก ร่วมติดตามการเติบโตของต้นไม้ การทำงานของชุมชน การมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน และร่วมดูแลเอาใจใส่ไม้ปลูกให้เติบโตเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศ ผ่าน Application “Care the Wild”

ทั้งนี้ กรมป่าไม้ ภาคีหน่วยงานภาครัฐ ได้นำเสนอพื้นที่ป่าชุมชนร่วมโครงการในเบื้องต้นรวม 717 ไร่ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ป่าชุมชนบ้านเขาหัวคน จ.ราชบุรี, ป่าชุมชนบ้านพุตูม จ.เพชรบุรี, ป่าชุมชนบ้านใหม่ จ.เชียงราย, ป่าชุมชนบ้านนาหวาย จ.น่าน, ป่าชุมชนบ้านหนองปิง จ.กาญจนบุรี, ป่าชุมชนบ้านโคกพลวง จ.นครราชสีมา และป่าชุมชนบ้านหนองทิศสอน จ.มหาสารคาม โดยแต่ละพื้นที่ของป่าชุมชนจะมีเอกลักษณ์ จุดเด่น ด้านระบบนิเวศและการพัฒนาชุมชนที่แตกต่างกัน องค์กรธุรกิจสามารถเลือกพื้นที่ในการสนับสนุนการปลูกไม้ได้หลากหลาย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน เรียนรู้ระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านผู้รักษาป่าได้อีกด้วย

“โครงการ Care the Wild มีเป้าหมายที่จะปลูกป่าจำนวน 500 ไร่ (100,000 ต้น) ร่วมกับองค์กรธุรกิจพันธมิตรในระยะเวลา 1 ปีแรกหลังเปิดโครงการ ซึ่งการปลูกป่าจะสร้างผลลัพธ์ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 900,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี องค์กรที่เข้าร่วมโครงการนอกจากจะเป็นภาคีในความร่วมมือเพื่อลดโลกร้อนแล้ว ยังสามารถร่วมทำงานพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายภากรกล่าว

ป่าชุมชนสร้างคณภาพชีวิต

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้ผ่านจุดการสูญเสียพื้นที่ป่ามาแล้ว ในปี 2517 มีการสูญเสียพื้นที่ป่าปีละ 8 แสนถึง 1 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันได้มีการนำดาวเทียม เครื่่องมือสื่อสารในการตรวจสอบ พบว่ามีพื้นที่ป่า 102.48 ล้านไร่ มาตั้งแต่ปี 2557 ไม่ได้เสียพื้นที่ป่ามาก และพื้นที่ป่าทรงตัวแล้ว คิดเป็น 32.6% ของประเทศ และยังคงมีการบุกรุกบ้าง

“จากการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าปีนี้ภาคกลางมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วนภาคเหนือจะได้ข้อมูลราวเดือนธันวาคม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทยที่ทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน โจทย์สำคัญคือการทำให้พื้นที่สมดุลเพื่อการหล่อเลี้ยงประชาชนตั้งแตต้นน้ำ กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะต้องมีอย่างน้อยที่สุด 40% ถึงจะสมดุล เพราะต้องมีพื้นที่ที่จะสร้างต้นน้ำที่ดี ที่มีคุณภาพให้กับพื้นที่ประเทศ ไม่ใช่เรืองง่าย”

ยุทธศาสตร์ประเทศกำหนดไว้ว่า อย่างน้อยจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 55% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วนด้วยกันคือ พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงป่าปลูกและสร้างรายได้ เช่นในต่างประเทศ ทั้งนอร์เวย์ สวีเดน สหรัฐฯ ซึ่งพื้นที่่ป่าที่มีมากก็มาจากป่าปลูกทั้งนั้น อนาคตประเทศไทยกำลังจะไปถึงจุดนั้น เนื่องจากได้มีการปรับปรุงกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้ประชาชน ธุรกิจสามารถปลูกป่าได้และสร้างรายได้ พื้นที่ที่สาม คือป่าในเมืองที่จะช่วยด้านสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ว่าด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมากและเป็นยุทธศาสตร์ที่ภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดัน ทั้งพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจและพื้นที่ป่าในเมือง

ขณะนี้กรมป่าไม้กำลังพัฒนาแพล็ตฟอร์มปลูกป่าร่วมกับทีโอทีเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เป็นแอปพลิเคชันที่ตรวจสอบการเติบโตของป่าในพื้นที่ที่ปลูก การสร้างป่านอกจากเป็นการสร้างน้ำ ประโยชน์ที่ได้ตามคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

“ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้แยกคนกับป่าออกจากกัน เพราะไม่สามารถแยกได้ เราพยายามให้คนอยู่กับสิ่งแวดล้อม อยู่กับทรัพยากรให้ได้ ให้คนอยู่กับป่าให้ได้ การที่จะไปช่วยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงป่า คือการสร้างชีวิต การพัฒนาอาชีพให้ การปลูกป่าจึงไม่ได้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ป่าชุมชนจะเป็นพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ เก็บหาของป่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตผลที่ได้จากป่า เช่น สมุนไพร ซึ่งกรมป่าไม้ได้ร่วมกับกรมแพทย์แผนไทยพัฒนาพื้นที่ส่วนนี้”

พื้นที่ป่าชุมชนเป็นแหล่งที่ประชาชนสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พื้นที่ป่าชุมชนท้้งหมดทั่วประเทศมีกว่า 11,000 ชุมชน ซึ่งกำลังจะประกาศเพิ่มให้ได้ 15,000 ชุมชนในพื้นที่สิบล้านไร่ ซึ่งสามารถลดรายจ่ายให้ประชาชนราว 1,500 ล้านบาท เพิ่มรายได้อีกกว่า 2,000 ล้านบาท

ปลูกป่าด้วยกลไกธรรมาภิบาล

นางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ Care the Wild เป็นความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาครัฐในการปกป้องผืนป่า ด้วยกลไกธรรมาภิบาล การเปิดเผยข้อมูลและการติดตามการปลูกป่าผ่านแอปพลิเคชัน Care the Wild

สถานะป่าไม้ในประเทศ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าในประเทศไทยมีจำนวนคงที่ คือ 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.5 ของประเทศ (ประเทศไทยมีพื้นที่ 322 ล้านไร่) ทั้งนี้ หากต้องคงความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศไว้ ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่า ร้อยละ 40 (128 ล้านไร่) (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 12) เพื่อให้เกิดพื้นที่ป่าที่แท้จริง ภาครัฐได้มีมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ 1) การดูแลรักษาป่าอนุรักษ์ให้คงอยู่ และ 2) การเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าภาครัฐ ป่าชุมชน ป่าคทช. และป่าภาคเอกชน

โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง Plant & Protect” ถือเป็น Collaboration Platform ในการระดมทุนเพื่อสร้างป่า ด้วยการปลูกป่าใหม่ ปลูกป่าเสริม และส่งเสริมการดูแลป่า ผ่านภาคีเครือข่ายการปลูกป่า อาทิ กรมป่าไม้ โดยโครงการ Care the Wild นำทัพผู้ปลูกด้วยช้างรักษ์ป่า “พี่ปลูกป้อง” ที่เชิญชวนเข้ามา “ปลูก” ไม้ และเข้าใจเรื่องราวของป่าไม้ รวมทั้งเชิญชวนร่วมกันปก “ป้อง” ป่าที่ปลูกให้เติบโตจากต้นไม้สู่ความเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง

โครงการจัดให้มีการตรวจสอบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยหลังจากมีผู้บริจาคเงินเพื่อปลูกต้นไม้ องค์กรผู้ยื่นแบบความจำนงขอระดมทุนเพื่อปลูกป่าในโครงการ ที่ทำหน้าปลูกต้นไม้จะนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของต้นไม้ สถานที่ปลูก วันเดือนปีที่ปลูก รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าของผลการปลูกและการเติบโตของต้นไม้เป็นระยะทุก 6 เดือน โดยผู้บริจาคเงินจะได้รับข้อมูลดังกล่าวผ่าน Application “Care the Wild” นอกจากนี้ยังมีกระบวนการสอบทานจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มอบหมายให้เป็นผู้สำรวจและนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้มายัง Application อีกครั้งด้วย

โครงการเน้น 1) กระบวนการในการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจาก “ป่าไม้” 2) ความมีส่วนร่วมของผู้ร่วมโครงการ 3) กระบวนการติดตาม ประเมินผลการปลูก และร่วมดูแลป่าไม้ 4) กระบวนการร่วมขยายผลที่เกิดจากป่าและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ผู้ที่สามารถร่วมโครงการ : องค์กรทุกประเภท ที่ต้องการ 1) มีส่วนร่วมในการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จากต้นทางของสมดุลระบบนิเวศ ด้วยการสร้างพื้นที่ป่า 2) ร่วมบริหารจัดการและเรียนรู้ธรรมชาติ จากป่า โดยเน้นความมีส่วนร่วมของพนักงานทุกระดับ 3) พัฒนาทักษะใหม่ๆ ด้านความยั่งยืน การพัฒนาชุมชน และความรู้ด้านวิถีธรรมชาติ ให้พนักงานและสมาชิกห่วงโซ่คุณค่าที่เกี่ยวข้อง

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมเป็น Active Sponsor – ทีมปลูกป้อง ด้วยการบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนในการปลูกไม้และดูแลป่าไม้ผ่านแอปพลิเคชัน “Care the Wild” โดยเลือกพื้นที่ป่าที่และระบุยอดเงินบริจาคเพื่อปลูกไม้ ต้นละ 200 บาท ด้วยเป้าหมายต้นไม้ที่ปลูกต้องรอดและเติบโต 100 %

โครงการมีวัตถุประสงค์ในการสร้างนวัตกรรมจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนโดยการสร้างพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศของประเทศ ดังนี้

    1)มีเป้าหมายที่มีส่วนช่วยลดมลพิษโดยการปลูกต้นไม้เพิ่มโดยมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ ในระยะ 12 เดือนแรกไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ จำนวนต้นไม้ที่ปลูกรวม 100,000 ต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทั้งองค์กรภาครัฐ ธุรกิจเพื่อสังคม และองค์กรเพื่อสังคม ในการกำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้
    2)เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ประชาชนได้ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมปลูกต้นไม้ในโครงการ อันเป็นการร่วมกันสร้างป่าไม้ให้ประเทศ โดยจะมีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้
    3)มีความต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องด้วยการดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกในโครงการมีระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปี จึงมีการบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
    4)เน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่หลากหลายทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมโดยนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาสนับสนุนการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ
    5)มีการทำงานเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือและความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนโครงการ และส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคประชาชน มีส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง ด้วยการปลูกป่า

ปัจจุบันโครงการ Care the Wild มีองค์กรพันธมิตรเข้าร่วมแล้ว อาทิ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ชมรมคัสโตเดียน ชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) และบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ทั้งนี้ องค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการติดต่อได้ที่ [email protected] ดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.setsocialimpact.com สำหรับบุคคลทั่วไปสามารถร่วมปลูกป่าผ่าน Application “Care the Wild” ดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android เพื่อติดตามข้อมูล