ThaiPublica > เกาะกระแส > NEXT IS NOW : โลก next normal จะเป็นโลกการลองผิดลองถูก ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร

NEXT IS NOW : โลก next normal จะเป็นโลกการลองผิดลองถูก ไม่มีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร

31 กรกฎาคม 2020


เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ธนาคารกรุงไทยจัดงานสัมมนา Krungthai Precious Plus ในหัวข้อ  “NEXT IS NOW : พลิกวิกฤติ ปรับกลยุทธ์ในยุคเศรษฐกิจใหม่” โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) วิเคราะห์ถึง “โอกาสของนักธุรกิจไทยในเศรษฐกิจใหม่ ยุคหลังโควิด-19” ว่า

“ผมอยากจะเริ่มต้นวิเคราะห์สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกและไทยด้วยการกล่าวว่า เวลานี้มีการออกมาทำนาย ออกมาชี้แจงกันมากมายว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยในปีสองปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้ในขณะนี้ไม่มีใครรู้จริง ฉะนั้นบางประเทศอย่างจีนจะเห็นว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ที่จีนจะไม่ทำนายว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขนาดไหนหรือเรื่องตัวแปรสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจของจีน เช่น การค้าการลงทุนจะไปทิศทางไหน”

เพียงแต่ว่าประเทศจีนต้องทำตัวเองให้ชัดเจนว่าทั้งประเทศปลอดจากการระบาดของโควิดเรียบร้อยแล้ว ปัญหาขณะนี้คือไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตแค่ไหน แต่ปัญหาคือว่าจะแก้การทรุดตัวลงของเศรษฐกิจด้านอุปทาน ทางด้านการผลิตอย่างไร เพราะว่าถ้าเรากลับไปภาวะเดิม ในการฟื้นฟูอุปทานขึ้นมาใหม่ได้ ภาวะที่การเชื่อมโยงกันกับอุปสงค์หรือความต้องการอุปโภคบริโภคของคนก็จะตามมาอีก เพราะฉะนั้นผมเองจะเริ่มต้นแบบนี้ว่า เราห่วงว่าเศรษฐกิจจะหดตัว การค้าจะหดตัว หรือจะเป็นอย่างไรต่อไป

เน้นแก้วิกฤติสาธารณสุขก่อน แล้วเศรษฐกิจจะตามมา

แต่ว่าอย่าได้ตั้งตัวนั้นเป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของประเทศ การแก้ไขปัญหาของประเทศผมยึดมาตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในไทยว่า วิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติสาธารณสุข คือต้องแก้วิกฤติทางสาธารณสุขก่อน ไม่ใช่เร่งกระโดดข้ามไปยังวิกฤติเศรษฐกิจก่อน และทำให้เกิดภาวะวิกฤติกลับไปกลับมาอย่างที่เราเห็นในประเทศที่ แม้เขาจะพัฒนาเศรษฐกิจไปไกลแล้ว แต่ยังทรุดตัวไม่รู้จักจบสิ้น

เราต้องการให้นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้บริโภค มีความมั่นใจว่าเวลาเศรษฐกิจกำลังกลับไปเดินในทางที่ค่อยๆ ดีขึ้นไปแล้ว ไม่ใช่ว่ากลับไปเสี่ยงกันอีกว่าจะมีการระบาดอีกครั้งจากการเปิดเมืองเร็วเกินไป เพราะว่าปัญหาคนว่างงานมาก หรือขาดงบประมาณมาเยียวยาจำนวนมาก

ผมว่าเศรษฐกิจขณะนี้ ปัญหามาจากทางด้านอุปทาน เป็นเศรษฐกิจที่มีปัญหาทางด้านการเอาตัวรอด เรียกว่าเป็น survivor economic ไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะมุ่งพัฒนาให้มันขยายตัวต่อไป ซึ่งเรื่องนั้นมันจะกลับมาอีกทีโดยอัตโนมัติเมื่อเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่มีใครทราบแน่ แต่ในกรณีของเอเชียหรือของไทยไม่เกินปลายปีนี้แน่นอน

วันนี้จีนก็ไปในทางนี้ คือไม่ต้องห่วงเรื่องการเติบโตเศรษฐกิจ ของเราคือก็ห่วงได้ แต่ไม่ใช่ตัวเป้าที่ต้องแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อเราหลุดจากภาวะที่กดดันจากโรคระบาดแล้ว เมื่อเริ่มกลับไปทำงาน กลับไปค้าขายอีกครั้ง เศรษฐกิจจะค่อยๆ กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ผมไม่เชื่อที่ทำนายทายทักกันว่าธนาคารพาณิชย์จะมีปัญหาเรื่องหนี้คุณภาพต่ำมากมายอีกครั้ง เหมือนสมัยต้มยำกุ้งหรือจะหนักกว่า ผมไม่คิดว่าเป็นแบบนั้น เพราะวันนี้การเตรียมพร้อมของระบบธนาคารพาณิชย์จากการดูแลของ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) การรักษาเงินกองทุนได้สูงกว่ามากหลายเท่าตัว แต่หนี้เสียมันจะเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่ใช่จะเพิ่มจาก 3% เป็น 40% แบบวิกฤติต้มยำกุ้ง มันจะไม่เป็นแบบนั้น

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์

ผมยังเชื่อด้วยซ้ำว่าในขณะนี้สำหรับประเทศไทยที่เดินมาในทางที่ถูกกว่าประเทศอื่นๆ ผมเรียกว่ามาในทางที่ถูกกว่าประเทศส่วนใหญ่ของโลกเลย คือมาในช่องทางที่สามารถออกจากโรคระบาดได้แล้ว เศรษฐกิจในตัวของมันเอง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอัดฉีดลดลง แต่การเพิ่มขึ้นของอุปทานมันจะกระตุ้นของมันเองอยู่แล้ว

ที่เราจะขาดหายไปคือการค้าระหว่างประเทศที่หดหายไปมาก อย่างที่ทุกคนคาดซึ่งก็ทราบว่าจะมากแค่ไหน แต่เรารู้แล้วว่าในปีที่แล้ว ก็หดหายไปมากแล้วจากสงครามการค้า ปีนี้จริงๆ มันก็ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว การหดตัวของการค้าต่อไปก็อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผมมองว่าการค้าของไทยขณะนี้ 5 เดือนแรกติดลบไป 3-4% บางคนบอกว่าจะติดลบสองหลักทั้งปี ผมไม่แน่ใจ เพราะวันนี้การส่งออกกับประเทศที่ฟื้นตัวขึ้นมาเหมือนกันกับอาเซียน กับจีน หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา เริ่มขยายตัวขึ้นมาโดยเฉพาะเรื่องอาหาร เรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ เรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การสื่อสารกลับมาขยายตัวได้ดี

3 อุตสาหกรรมทางรอด – เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี สำหรับสิ่งที่ต้องระมัดระวังต่อไป เพื่อไม่ให้วิกฤติมันรุนแรงจนเกิดเหตุ ผมคิดว่าน้ำหนักที่สำคัญที่สุดคือนโยบายที่ทุกคนคงทำอยู่แล้ว ไม่ต้องแนะนำเพิ่ม คือนโยบายที่ป้องกันตัวเองและเดินไปในเศรษฐกิจที่มันควรจะเดินไปได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีโอกาสปรับปรุงคุณภาพการทำงานให้ดีขึ้น ผมแนะนำรัฐบาลถ้าจะแจกเงินไม่ใช่แจกอย่างเดียว แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าต้องไปฝึกอบรมในหลักสูตรที่มีอยู่มากมายด้วย หรือจะออนไลน์หรืออะไรก็ได้ เหมือนกับกับธุรกิจของเรา ผมถือว่าเป็นโอกาสที่จะดูแลว่าเราจะเพิ่มความสามารถความแข็งแกร่งได้อย่างไร บางธุรกิจอาจจะด้วยการไปลงทุนเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้มากมายอะไร อาจจะแค่เปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่หรือวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่ทุกคนต้องวางแผนแล้วว่าจะทำงานต่อไปในอนาคต ระบบที่จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ IOT (internet of things) หรือบล็อกเชน ที่จะเข้ามากำหนดวิธีการทำงานสมัยต่อไป เช่น ในเกษตรที่มีระบบเซนเซอร์ต่างๆ ในระบบของการบริหารบ้านเมือง บริหารผังเมือง อีกหน่อยจะมีระบบ IOT มาใช้มากขึ้น ผมว่าธุรกิจหรือองค์กรต่างๆ ต่อไปต้องยึดโยงกับของพวกนี้ว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในอนาคตที่จะต้องใช้ กระบวนการดิจิทัลจะขยายตัวเร็วมาก ต้องดูว่าอะไรจะประสานกับธุรกิจได้และช่วยทำธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น

แล้วธุรกิจต่อไปจะต้องยึดโยงกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากขึ้น ตั้งแต่บล็อกเชน เรื่องนี้สำคัญมากไม่ใช่เฉพาะเรื่องการแพทย์ แต่เป็นเรื่องของเกษตร เรื่องการการควบคุมการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นจนจบ หรือเรื่อง circular economy เป็นเศรษฐกิจที่แปรรูปของเสียที่นำกลับมาใช้ซ้ำใช้ใหม่ทั้งหมด สหประชาชาติก็ส่งเสริมมานาน ในไทยยังมีอีกมากมายที่เป็นขยะหรือของเสียที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกมากมาย หรือเรื่อง green economy ต้องทำอย่างไรจะนำมาใช้ได้ การนำพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทน ซึ่งในวันนี้ที่ทุกคนบอกว่าไม่มีใครลงทุน แต่ยังมีบริษัทที่ขยายการลงทุนในเรื่องพวกนี้อยู่ต่อเนื่อง

สุดท้ายผมคิดว่าสิ่งที่เป็นระบบดิจิทัล หรือ digitalization ที่เข้ามาเร็วในบ้านเรา ไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอด ฉะนั้นเราจะบอกว่านวัตกรรมจะไปช้าไปเร็วแค่ไหน รัฐบาลออกนโยบายไว้หลายที่แล้ว ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลก็มี ภาคเกษตรก็มี เรื่อง smart farming อุตสาหกรรมก็มี อย่างเรื่องผลิตอาหาร พวกนี้เป็นระบบที่ย่อมเกิดขึ้นจริง ผมขอให้รัฐบาลและธุรกิจทั้งหลายมาช่วยกันเน้นดูว่าโอกาสเหล่านี้จะเป็นอย่างไรใน 2-3 ปีข้างหน้า เพราะมองไปไกลกว่านี้ผมก็อาจจะไม่เห็น

แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้คิดว่าสินค้าที่สามารถหาช่องทางการลงทุนได้ในเรื่องอุตสาหกรรมมี 3 อุตสาหกรรม สองอันแรกคือด้านการแพทย์และอาหาร ซึ่งคงไม่ต้องพูดมาก ไม่ใช่แค่ว่าโรคระบาดจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารมากมาย ดังนั้นการที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหาร เป็นศูนย์ของสินค้าเกษตรต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องรักษาคุณภาพความปลอดภัยของอาหารเป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้จีนนำเข้าอาหารจากไทยเพิ่มเป็น 10% เปิดช่องทางส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารจะต่อยอดได้มากและนำเทคโนโลยีแปรรูปอาหารมาช่วยได้อีกมาก

อุตสาหกรรมสุดท้ายคือที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารและโทรคมนาคม ในขณะนี้หรือปีสองปีข้างหน้าที่ผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่ฟื้นยากคือคมนาคมและการเดินทาง แต่เรื่องที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารออนไลน์จะมีการขยายตัวมากมาย บริษัทอย่างอะเมซอนหรือซูมที่เกิดขึ้นมา เพราะเราต้องประชุมทางไกลกันอย่างมาก ฉะนั้นพวกนี้ในหลักการแล้วพวกนี้ถ้าทำได้จะเป็นทางรอดที่ต้องพิจารณาต่อไป

5 D กับ New Normal หลังวิกฤติโควิด

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดมุมมอง “วิสัยทัศน์ธุรกิจวิถีใหม่” ว่า สถานการณ์การระบาดได้สร้างผลกระทบในทุกมิติเป็นวงกว้าง เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ WHO ระบุว่านี่เป็นวิกฤติการณ์ที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และ new normal อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป

“วันนี้กรุงไทยขอมองข้ามชอตไปยังอนาคตเพื่อฉายภาพให้เห็นว่าในปี 2564 เป็นต้นไป มีอะไรต้องจับตามองบ้าง และสาระสำคัญผมขอสรุปสาระสำคัญจาก 5  มิติที่แตกต่างกัน หรือ 5D”

อันแรกคือ downturn economy โควิดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกัน นับเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ไอเอ็มเอฟให้นิยามว่าเป็นวิกฤติที่ไม่มีอะไรเหมือน การฟื้นตัวที่มีแต่ความไม่แน่นอน หรือ the crisis like no other and uncertain recovery ผลสำรวจพบว่า 60% ของซีอีโอทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจโลกคงกลับมาได้อย่างช้าๆ แบบ V-shape กล่าวคือเศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้และใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาที่จุดเดิมได้

อันที่สองคือ deglobalization โลกข้างหน้านั้นมีความท้าทายอย่างมาก ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ดีกว่าอีกหลายประเทศ เรามีจุดแข็งทั้งในด้านกระบวนการและบุคลากรด้านสาธารณสุข มีวินัยทางการเงินการคลัง รวมไปถึงการตื่นตัวและการนำมาใช้ซึ่งดิจิทัลเทคโนโลยีของภาคธุรกิจ รวมไปถึงการร่วมมือของคนไทยในทุกภาคส่วน เพราะองค์กรมันสมองระดับโลกอย่าง WEF ได้กล่าวไว้ว่า

โควิด-19 จะทำให้เกิด great reset ของทุนนิยม การจัดสรรทรัพยากรให้กระจายได้อย่างเหมาะสมและเท่าเทียม การใช้กลไกรัฐในเชิงรุก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า nationalization ที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้ง

อันที่สามคือ declutter government สำหรับประเทศไทยศูนย์วิจัยกรุงไทยได้ประเมินไว้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะหดตัวถึง 8.8% ซึ่งใกล้เคียงกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ขณะที่ ธปท. ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 0.5% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากกลไกต่างของระบบเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว ส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศหยุดลงพร้อมๆ กัน นับว่าเป็นความท้าทายของภาครัฐที่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านสาธารณะสุขไปพร้อมๆ กับด้านเศรษฐกิจ โดยต้องใช้งบประมาณถึง 1 ล้านล้านบาท ที่เห็นได้ชัดคือการจัดตั้ง ศบค. เพื่อเป็นกลไกในเรื่องต่างๆ ที่ไม่ปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมการเรื่องท่องเที่ยวแบบ bubble เพื่อเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงการปรับตัวในเชิงดิจิทัล

อันที่สี่คือ wellness distancing โควิดทำให้เทรนด์ด้านสุขภาพเด่นชัดขึ้นในทุกมิติ เดิมเราอาจจะมองเรื่องสุขภาพในมิติของการเข้าสูงสังคมสูงอายุเป็นหลัก แต่โควิดปลุกกระแสรักสุขภาพและสุขอนามัยในทุกวัย และได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกกิจกรรมที่จะตามมา ไม่ว่ากิจกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้าน การท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้นธุรกิจที่อิงไปกับเรื่องสุขภาพได้จึงมีปัจจัยการเติบโตมาสนับสนุนอย่างชัดเจน

อันสุดท้ายคือ digitization โควิดเป็นตัวเร่งปรากฎการณ์ดิจิทัลเทคโนโลยี แต่คราวนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเป็นทวีคูณในทุกวงการ ในโลกการเงินเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกรรมไร้เงินสด หรือ cashless transaction ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนธุรกรรมผ่านพร้อมเพย์ต่อวันมีมากกว่า 10 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ในต่างประเทศ อย่างจีนมีการนำ central bank digital currency มาทดลองใช้จริงกับเอกชน ประเทศไทยเองก็ทดลองมาใช้จองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลแล้ว สำหรับโลกธุรกิจการมีช่องทางดิจิทัลที่ตรงใจผู้บริโภค การใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในการยกระดับประสิทธิภาพจเป็นปัจจัยพื้นฐานของการอยู่รอด

โลกข้างหน้า next normal จะเป็นโลกของการลองผิดลองถูก ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ไม่มีใครมีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไร เพราะทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค กฎเกณฑ์ และเทคโนโลยี แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะคลุมเคลือไปหมด สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนแล้ว โควิดทำให้เรามองเห็นแนวโน้มใหญ่ๆ ในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น