ThaiPublica > เกาะกระแส > Transformative Learning การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

Transformative Learning การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

21 ธันวาคม 2019


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี “ระพีเสวนา” ครั้งที่ 10 ชูธงเป้าหมาย “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” Transformative Learning​

งานประชุมวิชาการประจำปี “ระพีเสวนา” ครั้งที่ 10 เป้าหมายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ตรง เข้าใจตนเองและสิ่งต่างๆ ย้อนดูตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง เกิดลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างยั่งยืน

การศึกษาเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากมาเป็นเวลานานเห็นได้จากข้อหนึ่งจากหลักการห้าประการของคณะราษฎรคือการศึกษา ภายหลังยุคสมัยของคณะราษฎรมาจนถึงปัจจุบันการศึกษายังคงเป็นเรื่องที่รัฐให้ความสำคัญอยู่เช่นเดิม ในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงได้ได้รับงบประมาณมากที่สุดในประเทศ แต่ผลลัพธ์ของนโยบายและความคาดหวังนั้นยังมิได้ผลเท่าที่ควร

ซ้ำร้ายอันดับการศึกษาของประเทศไทยยังอยู่ในอันดับต่ำอีกทั้งมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ไม่สูงอีกด้วย นอกจากจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก การเรียนการสอนยังเป็นไปในรูปแบบดั้งเดิมอีกด้วย กล่าวคือเป็นการเรียนตามหลักสูตรที่เคร่งครัด มีรูปแบบชัดเจนและตายตัว มีเป้าหมายที่จะผลิตนักเรียนออกมาในรูปแบบที่ต้องการเหมือนเป็นระบบการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งระบบที่ผลิตนักเรียนให้ออกมาเหมือนกันและมีหลักสูตรตายตัวเช่นนี้ ไม่สามารถทำให้เยาวชนนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลาเช่นปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สถาบันอาศรมศิลป์ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานประชุมวิชาการประจำปี “ระพีเสวนา” ครั้งที่ 10 ขึ้นเพื่อเป็นเวทีวิชาการสำหรับนักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ในสังคมไทยและนานาประเทศ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างเครือข่ายนักวิจัยถ่ายทอดแนวคิดและระเบียบวิธีการวิจัย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์ตรง เข้าใจตนเองและสิ่งต่างๆ ย้อนดูตนเอง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง เกิดลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างยั่งยืน

ในงานนี้มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษามาให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ปราชญ์การศึกษา และนายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ ศ.โจนาธาน ซิลเวอร์แมน (Jonathan Silverman) คณะศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์ไมเคิล ประเทศสหรัฐอเมริกา (Saint Michael’s College) และ ดร.นิมรอด ไชน์แมน (Nimrod Sheinman) ผู้อำนวยการศูนย์อิสราเอลเพื่อการตระหนักรู้ทางการศึกษาอิสราเอล (Israel Center for Mindfulness in Education) นอกจากการให้ความรู้โดยวิทยากรแล้วยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการและโครงการต่างๆ และการเสวนาของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงฉบับสามัญชน

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช

ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นและความสำคัญของการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นกระบวนการพัฒนาตามธรรมชาติของมนุษย์ การเรียนรู้ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา โดยการเรียนรู้นี้จะพัฒนามากในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ไม่เพียงแต่สมองแต่เป็นการเรียนรู้องค์รวมไปทั้งร่างกาย การเรียนรู้นี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงแค่ปัจเจกชนเท่านั้นแต่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ

ศ. นพ.วิจารณ์กล่าวเสริมถึงความสำคัญว่า OECD เห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันโดยมองเป็นความสามารถในเปลี่ยนแปลง (transformative competencies) มีองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

    1. การสร้างค่านิยมหรือแนวคิดใหม่ (creating new value)

    2. การอยู่ร่วมกับความตึงเครียดและความขัดแย้ง (reconsiling tensions and dilemmas)

    3. การมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (taking responsibilities to the result)

ซึ่งการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ OECD ในปี 2030

ศ. นพ.วิจารณ์ อธิบายต่อเกี่ยวกับองค์ประกอบสามประการของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงว่า ประการแรก การสร้างค่านิยมหรือแนวคิดใหม่นั้นเริ่มจากการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ “มนุษย์นั้นจะดีที่สุดหากตั้งคำถามเป็น” และการทำสิ่งนี้ต้องอาศัยการร่วมมือกับผู้อื่นซึ่ง ศ. นพ.วิจารณ์เชื่อว่า “ปัจจุบันทักษะการร่วมมือนั้นสำคัญกว่าการแข่งขัน” ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเข้าใจต่อเป้าหมายของตน และได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์กับการคิดเชิงวิพากษ์อีกด้วย ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ประการที่สอง การอยู่ร่วมกับความตึงเครียดและความขัดแย้ง กล่าวคือ “ต้องเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกับโลกที่ VUCA ได้ นั่นคือโลก volatility (ความเปลี่ยนแปลงบ่อย) uncertainty (ความไม่แน่นอน) complexity (ความซับซ้อน) ambiguity (ความกำกวม)” ซึ่งการที่จะสามารถอยู่ร่วมกับความตึงเครียดและความขัดแย้ง นั้นต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจ (empathy) ความเคารพที่มีต่อผู้อื่น และความมั่นใจในตนเองเพื่อยืนยันในความคิดหรือค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากเมื่อเกิดการคิดสิ่งใหม่หรือค่านิยมใหม่ขึ้น ความขัดแย้งหรือความตึงเครียดย่อมเกิดขึ้นตามมา

ประการที่สาม การมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน คือต้องตรวจสอบถึงผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตนคิดขึ้นมา ใช้การพิจารณาเชิงวิพากษ์ และยังต้องพิจารณาอย่างเป็นกลุ่มด้วย ซึ่งความรับผิดชอบนี้รวมถึงการที่ต้องเคารพสิ่งรอบตัว วัฒนธรรม สังคม ผู้อื่น ธรรมชาติ และโลกของเรา

การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตเนื่องจากความท้าทายของมนุษย์ในอนาคตนี้คือ AI ดังนั้นมนุษย์จะต้องมีศักยภาพที่สูงขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมกรอบอนาคตเพื่อชีวิตสังคมและโลกที่ดีขึ้น ซึ่งการที่จะเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ต้องการสภาพในการเรียนที่เปลี่ยนไปและเป็นการเรียนผ่านกิจกรรมมากขึ้น โดยให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ผ่านการทำโครงการ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์และได้ลงมือทำอย่างแท้จริงจนสามารถได้รับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงได้

ทั้งนี้ ศ. นพ.วิจารณ์มองว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีผู้สนับสนุนสามประการ คือ 1. สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 2. การสนับสนุนพลัง 3. ผู้อำนวยความสะดวก “เพื่อที่จะให้เกิด transformative learning สำหรับคนทุกคนก็คือนักเรียนทุกคน ต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อ ต้องการการหนุน และที่สำคัญที่สุด facilitator เพื่อให้เกิดความคาดหวังที่สูงขึ้นและการสนับสนุน” การศึกษาต้องสร้าง high expectation ให้ตัวเองและสังคมเพื่อให้เด็กเชื่อว่าทำได้ ครูจะช่วยหนุนเพื่อให้เด็กลองทำในสิ่งที่ตัวเองไม่คิดว่าจะทำได้

ศ. นพ.วิจารณ์ได้สรุปว่า “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมาย ประการที่สอง มนุษย์ทุกคนต้องการสมรรถนะเหล่านี้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองและสิ่งอื่น สำหรับโรงเรียนและครูต้องมองว่านักเรียนเป็นผู้กระทำไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกกระทำคือถูกความรู้ยัดใส่ ผู้กระทำคือผู้ที่หาความรู้ด้วยตนเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นนักเรียนก็จะค่อยๆ พัฒนาเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง”

ระบบการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ดร.นิมรอด ไชน์แมน

ดร.นิมรอด ไชน์แมน กล่าวถึงการศึกษาในอนาคตว่า การศึกษาที่ควรจะเป็นในอนาคตจะต้องอยู่บนหลักของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง “ต้องเป็นการศึกษาที่เป็นองค์รวม โดยมองที่ภาพรวมของนักเรียนเพื่อให้ได้การศึกษาที่ลึกกว่า ใหญ่กว่า กว้างกว่าการศึกษาแบบเดิมที่เป็นเส้นตรง อีกทั้งต้องการศึกษาที่ประสานการทำงานต่างๆ ทั้งหัวใจ กาย และใจ และต้องเป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือไม่เปลี่ยนแปลงแค่สมองแต่เปลี่ยนแปลงบุคลิก จิตใจ ร่างกาย และตัวตนในทางที่ดี ซึ่งการศึกษาในอนาคตจะต้องเป็นระบบที่เสริมความรู้และสามารถทำให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความรู้ อีกทั้งทำให้นักเรียนสามารถพัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ เช่น ความเมตตา ความเป็นผู้นำ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น กล่าวคือมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนา ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพ ไม่เหมือนกับระบบเดิมที่เน้นการให้ความรู้เท่านั้น”

ทั้งนี้การศึกษาในรูปแบบเดิมนั้นไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด เพียงแต่ว่าไม่ดีพอเนื่องจากการเรียนแบบเดิมนั้นเป็นไปในรูปแบบ “อุตสาหกรรม” และค่อนข้างฝืนธรรมชาติด้วยการจำกัดเวลาให้แน่นอนเป็นช่วง ซึ่ง ดร.นิมรอด มองว่าชีวิตกับธรรมชาติการเรียนไม่ได้เป็นเช่นนั้น และการเรียนแบบเดิมที่เน้นแต่ความรู้นั้นอาจไม่มีประสิทธิภาพ “ความรู้ในโรงเรียนเพียง 27 เปอร์เซ็นต์นั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ในโลก”

ดังนั้น การศึกษาจึงควรทำให้นักเรียนรู้ว่าควรจะทำสิ่งใดและการเรียนนั้นควรเรียนรู้การที่จะเป็นสิ่งใดมากกว่าการเรียนเพื่อรู้สิ่งใด “โรงเรียนนั้นควรสอนเด็กให้เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์ชีวิต ทางเดิน ตัวตนของตนเอง” ทั้งนี้ OCED มีวิสัยทัศน์ในปี 2018 เกี่ยวกับอนาคตของการศึกษาไว้ว่าการศึกษาการศึกษาควรจะช่วยผู้เรียนทุกคนให้พัฒนาเป็นคนที่สมบูรณ์ เติมเต็มความสามารถของเขา พัฒนาอนาคตร่วมกันผ่านสถานภาพที่ดีของปัจเจกชน สังคม รวมถึงโลก และการศึกษาต้องช่วยผู้เรียนด้วยตัวช่วยและความตระหนักรู้ถึงเป้าหมาย และความสามารถที่พวกเข้าต้องการเพื่อก่อรูปชีวิตของพวกเขาและแบ่งปันกับชีวิตของผู้อื่น

ดร.นิมรอดได้อธิบายต่อว่าผู้ใหญ่นั้นมีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กอย่างมาก “เมื่อเราพูดถึงอนาคตของเด็กเรากำลังพูดถึงอนาคตของโลก ซึ่งเราควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในเด็กแต่ละคนจะมีความต้องการที่จะมีประสบการณ์ เด็กทุกคนต้องการที่จะรู้สึกดี ต้องการที่จะมีทักษะ ต้องการมีการติดต่อทางสังคมที่ดีเช่นการหัวเราะ เด็กต้องการที่จะมีโลกแห่งจินตนาการ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเป็นผู้ที่เข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ ผู้ใหญ่ต้องให้ประสบการณ์ที่ดีต่อเด็ก ต้องเป็นที่พึ่งพาในบทบาทของครู ของผู้บำบัด เมื่อเราพูดคุยกับเด็ก หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ผู้ใหญ่นั้นต้องทำให้เด็กนั้นรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และมีความเชื่อมต่อทางสังคมอีกด้วย”

ศิลปะ ตัวแปรสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ศ.โจนาธาน ซิลเวอร์แมน

สำหรับในช่วงเสวนาเกี่ยวกับการใช้ศิลปะในฐานะตัวแปรสำคัญของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ศ.โจนาธาน ซิลเวอร์แมน เชื่อว่า “ศิลปะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อเปลี่ยนโลกทัศน์ในโรงเรียน เชื่อว่าศิลปะจะเปลี่ยนจากการศึกษาที่มีแค่ขาวและดำ เป็นเส้นตรง และยึดติดกับวิชา เป็นการศึกษาที่มีจินตนาการ มีความเห็นอกเห็นใจ เป็นองค์รวม และประยุกต์กับหลายศาสตร์”

ศ.โจนาธานอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการที่ศิลปะช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการปฏิบัติไว้ 4 ประการ คือ

    1. ช่วยทำให้จินตนาการเบ่งบ่าน เพราะศิลปะนี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ การคิดนอกกรอบ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนโลกทัศน์

    2. ช่วยให้มีประสบการณ์กับความกำกวม เนื่องจากศิลปะทำให้ผู้เรียนนั้นพบกับสิ่งที่ไม่รู้ผ่านจิตใจ ร่างกาย และหัวใจ “ศิลปะทำให้ไม่คุ้นชินกับความเคยชิน” ศิลปะยังช่วยลดการมองโลกแบบขาวและดำที่ตั้งคุณค่าให้กับทุกสิ่ง เช่น ขาวและดำ ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ

    3. ช่วยให้มีความเห็นอกเห็นใจ ศิลปะนั้นช่วยและมีหน้าที่เพื่อแสดงอารมณ์ของมนุษย์ที่ลึกเกินกว่าคำพูดจะแสดงออกได้ และศิลปะยังต้องใช้ทักษะของการรับรู้ความสุนทรีย์ การค้นหาความงามเป็นการช่วยกระตุ้นการใช้ความรู้สึก

    4. การเรียนรู้แบบองค์รวม “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องการการขยายสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วจากการประยุกต์กับหลายศาสตร์ และแง่มุมทางวัฒนธรรม และการที่จะต้องใจกว้างเข้าอกเข้าใจผู้อื่น”

ศ.โจนาธาน ได้อธิบายต่อถึงการนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ในการเรียน ว่า “ผู้ให้การศึกษา (อาจารย์) คงหนักใจเกี่ยวกับการนำศิลปะมาใช้ เพราะอาจเกิดความยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้น ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับความหนักใจนี้ แต่การที่จะยอมรับความยุ่งเหยิงนี้ใช้เวลา ความอดทนและการสนับสนุน” ซึ่ง ศ.โจนาธานได้ให้วิธีที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้ศิลปะ 1. สร้างพื้นที่ปลอดภายในการค้นการสำรวจ ในแง่การสนับสนุนให้นักเรียนรับกับความเสี่ยง 2. สนับสนุนการตั้งคำถาม และการยอมรับความไม่แน่นอน 3. จัดเวลาเพื่อให้นักเรียนได้เล่น 4. รวบรวมความสนใจของนักเรียน เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนมีความสนใจ ความชอบที่ต่างกัน 5. ออกแบบกิจกรรมที่ให้กรอบที่เพียงพอและเสรีภาพที่เพียงพอ

คนรุ่นใหม่กับการเผยแพร่และนำการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปปฏิบัติ

ในช่วงสุดท้ายของงานประชุมวิชาการประจำปี “ระพีเสวนา” ครั้งที่ 10 เกี่ยวกับประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผู้เสวนาคือ 1. นางสาวลาภิสรา เพ็งสกุล นักศึกษาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. นางสาวเฌอปราง อารีย์กุล กัปตันวงไอดอล BNK48 ศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ 3. นางสาวอาบอำไพ รัตนภาณุ ศิษย์เก่าสถาบันอาศรมศิลป์ 4. นายโซนัม ลุนดุบ ชาวภูฏาน ศิษย์เก่าสถาบันอาศรมศิลป์ มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเองเกี่ยวกับการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงว่าอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบนี้

โดย นางสาวลาภิสรา กล่าวว่า ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้เมื่อเข้าเรียนในมหาลัย ได้รู้จักเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะการเรียนการสอนในคณะไม่มีผิดและถูกและมีอิสระในการเลือกหัวข้อวิจัย และได้เรียนรู้บทเรียนเกี่ยวกับชีวิตอีกด้วย

นางสาวเฌอปราง กล่าวว่า เริ่มกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมในโรงเรียนรุ่งอรุณที่เป็นโรงเรียนกึ่งทางเลือก (semi-conventional school) ที่สอนให้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและสอนการคิดมากขึ้นคล้ายกับการเรียนในมหาลัย ทำให้ไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่

นายโซนัม กล่าวว่า เริ่มจากการเข้าเรียนในสาขาผู้ประกอบการทางสังคมที่สถาบันอาศรมศิลป์อันเป็นการศึกษาแบบทางเลือก ซึ่งการเรียนในสถาบันอาศรมศิลป์นี้ทำให้ได้ลองผิดลองถูก ได้ลงมือทำความคิดของตัวเอง เป็นการทำให้ไม่กลัวที่จะทำสิ่งใหม่ อีกทั้งยังได้สร้างเสริมความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและการคำนึงถึงอนาคตอีกด้วย

นางสาวอาบอำไพ กล่าวว่า ในช่วงแรกนั้นเรียนโรงเรียนอมาตยกุลที่เป็นโรงเรียนกึ่งทางเลือกและศึกษาต่อในระดับมัธยมในโรงเรียนตามแบบ แต่เริ่มรู้จักตนเองมากขึ้นเมื่อเข้าเรียนในภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเริ่มทำงานจึงเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องใช้เวลาเรียนถึง 20 ปีเพื่อทำงานที่กำลังทำในขณะนั้น และจะทำอย่างไรเพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม ต่อมาหลังจากได้ทำงานโปรเจกต์เพื่อสังคมได้โอกาสที่จะสัมภาษณ์นักวิชาการท่านหนึ่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องการนำความรู้มาแก้ไขปัญหาของสังคม”

ในส่วนของการเผยแพร่และปรับใช้การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้น นายโซนัมกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญคือต้องมีความเข้าอกเข้าใจ ความห่วงใยตนเอง ความถูกต้อง ความไม่กลัว ความรู้สึกของการเป็นสังคม ผมต้องการที่จะนำแนวคิดนี้กับเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภูฏานจึงได้สร้างสถาบัน Bhutan Soul Farmer เพื่อที่จะสอนชาวนาท้องถิ่นและนักเรียน ไม่เพียงแค่การขายสินค้าแต่สร้างการตระหนักรู้ด้วย โดยพยายามที่จะกลับบ้านแล้วไปให้ความรู้ผู้คนด้วยการสอนการปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือกัน และทำให้คนอื่นยอมรับความคิดและอุดมการณ์ จึงต้องให้ก่อนจึงจะได้รับกลับมา ด้วยการพยายามจะให้ความรู้ พยายามเป็นเพื่อน ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้บังคับให้เชื่อตาม แต่คาดหวังให้ยอมรับในอนาคต”

นางสาวอาบอำไพ กล่าวว่า “การเรียนรู้เพื่อนการเปลี่ยนแปลงทำให้ภายในตัวเขาแข็งแกร่งขึ้น ความแข็งแกร่งนี้เป็น firewall ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อคุณมีความแข็งแกร่งในจิตใจ ทักษะที่มีประโยชน์คือการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนมา ต้องรู้ที่จะประยุกต์ไม่เช่นนั้นจะเพียงการแค่รู้เท่านั้นไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

นางสาวลาภิสรากล่าวว่า “สิ่งแรกคือความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่ได้เรียนรู้จากการฝึกงานและการเรียนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยส่วนตัวต้องการเรียนในสายงานที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม จึงคิดว่าความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะพบปะผู้คนและรู้สึกมากขึ้นกับปัญหาสังคม เพราะปัจจุบันทุกคนรู้เกี่ยวกับปัญหาสังคม การที่แค่รู้นั้นไม่เพียงพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น เข้าใจความรู้สึกผู้อื่น รู้สึกถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น จะทำให้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมได้”

นางสาวเฌอปรางกล่าวว่า “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้โอกาสที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น ที่จะเรียนรู้ในอนาคตโดยปราศจากความกลัว มีวิธีที่จะทำอะไรบางอย่างที่จะเรียนรู้ และรู้ว่ามันจะมีผลลัพธ์อย่างไรและรู้ทางที่จะค้นคว้าสิ่งใหม่ แต่ตนเองต้องการให้ผู้คนเข้าใจว่าการมีชีวิตคือการเรียนรู้ เรามีการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกอย่าง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมตนเองในฐานะที่โด่งดังขึ้นมาในวงการบันเทิง ทำให้สามารถที่จะบันดาลใจคนได้โดยเฉพาะเด็ก ดีใจที่หน้าที่บันดาลใจนี้ต้องการที่จะเป็นผู้ดลบันดาลใจ และหวังว่าการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เข้าใจตนเอง และเข้าใจสิ่งที่จะทำในอนาคต”

ป้ายคำ :