ThaiPublica > เกาะกระแส > แถลงการณ์กรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โครงการเขื่อนหลวงพระบาง

แถลงการณ์กรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า โครงการเขื่อนหลวงพระบาง

23 ธันวาคม 2019


เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง แถลงการณ์กรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) โครงการเขื่อนหลวงพระบาง

วันที่ 23 ธันวาคม 2562 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้แถลงการณ์กรณีกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) โครงการเขื่อนหลวงพระบางว่า สืบเนื่องจากจะมีการจัดเวทีให้ข้อมูลกรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 นี้ ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จังหวัดนครพนม พวกเราเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้าน ประชาชน นักวิชาการ ที่ติดตามปัญหาและผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ขอแสดงความกังวลอย่างยิ่งว่า “กระบวนการดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดการรับรองในระดับภูมิภาคในการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงแห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น” ขณะที่ปัญหาและผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข และมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน ทั้งจากภาครัฐและเจ้าของโครงการ

ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยถึงหน่วยงานรัฐของไทยต่อการดำเนินโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลงทุนโดยบริษัทของประเทศไทย ต่อมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังเครือข่าย ลงวัน 3 ธันวาคม 2562 มีข้อความสำคัญส่วนหนึ่งว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้ง 4 คือ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง โครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนปากลาย เป็นโครงการที่อยู่ในการก่อสร้างของสปป.ลาว มิใช่โครงการของรัฐบาลไทย เป็นเพียงการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จึงมิใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด ตามนัยคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งจะต้องรอผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด

เครือข่ายฯ ที่ได้ติดตามและเข้าร่วมกระบวนการ PNPCA ของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ตลอดทั้ง 4 โครงการ คือ เขื่อนไซะยะบุรี ดอนสะโฮง ปากแบง และปากลาย ตลอดระยะเวลา 9 ปี (2553 – 2561) จึงขอแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการดังกล่าวดังนี้

1.การจัดเวทีปรึกษาหารือฯ ทั้ง 4 โครงการที่ผ่านมา คือ ได้พิสูจน์ชัดว่า เป็นกระบวนการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และเป็นเพียงตรายางในการรับรองให้โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ได้ใส่ใจต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เสียงของผู้ทักท้วงต่อผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น แม้บางเขื่อนยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็เจ้าของโครงการก็อ้างอิงว่า ได้ผ่านการปรึกษาหารือตามกลไกของภูมิภาค และบางกรณีถึงกับอ้างว่า โครงการเขื่อนได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแล้ว

2.คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่า กระบวนการปรึกษาแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือกระบวนการ (PNPCA) นั้น เป็นกระบวนการให้ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ได้ปรึกษาหารือ ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการการดังกล่าว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงเพื่อแสวงหาข้อสรุปร่วมกัน ไม่ใช่กระบวนการอนุมัติ/ยับยั้งโครงการหรือการมีสิทธิ ฝ่ายเดียวในการใช้น้ำโดยประเทศสมาชิกใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น หลักการดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการ PNPCA ไม่สามารถสร้างกลไกที่จะรับฟังเสียง การป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง รวมถึงการนำเสียงของประชาชนสู่กระบวนการตัดสินใจในการจัดการแม่น้ำโขงได้อย่างแท้จริง หลังจากจบกระบวนการ PNPCA แล้ว มีเพียงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันต่อไปเท่านั้นและไม่มีความคืบหน้าเชิงรูปธรรมในการจัดการ ป้องกัน และมีมาตรการบรรเทาผลกระทบแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศไม่สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ และยกไปสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีของ 4 ประเทศ และเสนอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า และเขื่อนก็ได้เริ่มก่อสร้างจนแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2562

3.การจัดเวทีการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ทั้ง 4 โครงการ ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้การรับทราบข้อมูลของประชาชนไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะมีการจัดเวทีเพียง 3 ครั้ง ในจังหวัดนครพนม เลย และอุบลราชธานี แต่ไม่มีการจัดในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนหลวงพระบางมากที่สุด ทำให้ประชาชนไทยในเขตดังกล่าวไม่ได้รับรู้ข้อมูล และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้

นอกจากนี้ทุกครั้ง พวกเราเห็นว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบมีการนำเสนอข้อมูลโครงการที่ไม่เพียงพอ และไม่มีหน่วยงานจากประเทศเจ้าของโครงการมาชี้แจงหรือตอบคำถาม ทำให้เมื่อผู้เข้าร่วมเวทีมีคำถามต่อโครงการมากมาย ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครอบคลุมและถูกต้องแก่ผู้เข้าร่วมเวทีได้

4.ในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 4 ประเทศต่อโครงการดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏให้เห็นว่า มีการดำเนินการทำข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการอย่างไร คงเพียงทำการประชุมเพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการ โดยไม่มีการรับฟังผลของข้อท้วงติง อันไม่อาจถือได้ว่ามีการดำเนินกระบวนการทำความตกลงตาม PNPCA

5.ความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของชาวบ้านและผู้เข้าร่วมเวทีในกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ภาคประชาชนทั้งระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคได้เสนอให้มีการชะลอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเสนอให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบและแนวทางทางเลือกในการจัดหาพลังงาน ที่หลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด แต่ข้อคิดเห็นของประประชาชนดังกล่าว ไม่ได้ถูกรับรองหรือนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแต่อย่างใด

6. ขณะนี้กรณีเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสายหลัก ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ปรากฎชัดว่า ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำในเขตประเทศไทยอย่างรุนแรง เช่น ระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการอพยพของสัตว์น้ำ เกิดปรากฎการณ์ปลา หอย ตายเกลื่อนตลอดสายแม่น้ำโขง พืชพันธุ์บนแม่น้ำโขงแห้งตาย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการเกษตรริมฝั่งโขง และน้ำเพื่อประปาของชุมชนริมโขงและเมืองขนาดใหญ่ในเขตประเทศไทย

ล่าสุดที่มีปรากฎการณ์ “แม่น้ำโขงสีคราม” หรือ “น้ำหิวตะกอน” ในท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งนักวิชาการได้แสดงความเห็นต่อข้อกังวลเกี่ยวกับตลิ่งพังตลอดสายแม่น้ำโขง ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างตลิ่งคอนกรีต ราคาเฉลี่ยกิโลเมตรละ 130 ล้านบาท โดยคาดว่าตลอดแนวชายแดนระหว่างไทย-ลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศไทยจะต้องใช้งบประมาณกว่า 114,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยนี่ยังไม่รวมถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตและการศึกษา ในขณะที่เจ้าของโครงการการผู้ก่อผลกระทบไม่ได้รับผิดชอบแต่อย่างใด

นอกจากนี้กรณีเขื่อนไซยะบุรียังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด สืบเนื่องจากกระบวนการจัดการ PNPCA ดังกล่าว ไม่เป็นไปตามกรอบทางกฎหมายการรับฟังความคิดเห็นของไทยและ ประชาชนกังวลเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบก็เริ่มประจักษ์แล้วในปี 2562 นี้

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเสนอว่ารัฐควรจะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองประชาชน บนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว แม้จะไม่ใช่โครงการของรัฐบาลไทยโดยตรง แต่รัฐบาลไทยก็ถือเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตามแผนทั้งหมด และประเทศไทยยังแนวนโยบายการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงานของภูมิภาค ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงมากขึ้น เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้บริโภคและการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในภูมิภาคนี้ รัฐบาลไทยควรจะพิจาณาทางเลือกพลังงาน เช่น การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานและเน้นการกระจายอำนาจและการจัดการด้านพลังงานในประเทศ