ThaiPublica > เกาะกระแส > ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”

ย้อนรอย “งูเห่า” ในการเมืองไทย จากต้นตำรับถึง “Money Politic” กับ “เอกสิทธิ์ ส.ส.”

11 ธันวาคม 2019


16 เสียง เป็นจำนวนสมาชิกสสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภาผู้แทนราษฎรที่ “สวนมติ” ของวิปในฝ่ายของตัวเอง ในการพิจารณาญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่ง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) และการใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562

ในจำนวนนี้เป็น ส.ส.ในซีกรัฐบาล จากพรรคประชาธิปัตย์ 4 คนที่โหวตสนับสนุนให้ตั้ง กมธ.ชุดดังกล่าว จากญัตติที่เสนอโดยฝ่ายค้าน ขณะที่ 2 คนในพรรคเดียวกันนี้ไม่ร่วมโหวตญัตติ

แต่มี ส.ส.ฝ่ายค้าน 4 คน ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ ยกมือ “ไม่เห็นชอบ” กับญัตติของฝ่ายค้าน และมี ส.ส.ฝ่ายค้านอีก 3 คนที่งดออกเสียง โดยเป็น ส.ส.อนาคตใหม่ 2 คน และ ส.ส.ประชาชาติ 1 คน

สุดท้ายญัตติดังกล่าวถูกคว่ำลงด้วยเสียง 244 ต่อ 5 งดออกเสียง 6 เสียง

ก่อนการหน้าลงมตินี้ องค์ประชุมเป็นปัญหาใหญ่ที่วิปรัฐบาลต้องเผชิญ หลังจากที่เจอวิกฤติ “ประชุมล่ม” ถึง 2 วันติด จากการวอล์กเอาต์ของฝ่ายค้าน เพราะต้องการประท้วงที่วิปรัฐบาลขอนับคะแนนใหม่ หลังจากพ่ายให้กับฝ่ายค้าน 4 คะแนนในการประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการลงมติครั้งแรกของญัตติดังกล่าว

มาครั้งนี้ถูกแก้เกมด้วยการดึง 10 ส.ส.ฝ่ายค้าน แบ่งเป็น ส.ส.เพื่อไทย 3 คน ส.ส.อนาคตใหม่ 2 คน ส.ส.ประชาชาติ 1 คน และ ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ 4คน (ในภายหลังได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ด้วย) มาแสดงตนเป็นองค์ประชุม จนทำให้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำหนีเส้นตายที่ 249 เสียงได้ (กึ่งหนึ่งของจำนวน 498 ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่)

เท่ากับการประชุมนัดนี้มีผู้ใช้ “เอกสิทธิ์” แสดงความเห็นต่างผ่านการแสดงตนเป็นองค์ประชุมและลงมติสวนกับมติของวิป 18 คน

เปรียบการเมืองยุค “Money Politic”

ควันหลงที่ตามมาคือท่าทีของหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีผู้แปรพักตร์ เริ่มจากพรรคเพื่อไทย สั่งสอบ 3 ส.ส.ที่ร่วมเป็นองค์ประชุม ทั้ง นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. และนางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี โทษสูงสุดในการลงดาบคือ การขับออกจากพรรค

อย่างไรก็ตาม ในจำนวน 3 ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย มีนายพลภูมิเพียงคนเดียวที่ถูกอุ้มโดยแกนนำของพรรค โดยออกมาแสดงความเข้าใจนายพลภูมิ ว่าต้อง “ตอบแทนบุญคุณ” พร้อมโยงกับการต่อสู้คดีของนายพลภูมิก่อนหน้านี้

ขณะที่นายขจิตร ส.ส.ที่คร่ำหวอดในเส้นทางการเมืองมานาน ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างการประชุม กมธ.งบประมาณ แต่ได้เสียบบัตรแสดงตนไว้ในห้องประชุมสภา

ในแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยระบุว่า ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ที่เกิดขึ้นในหลายพรรคการเมือง เป็น “Money Politic” ที่ใช้อำนาจอธรรมและเงินเป็นเครื่องมือ ทำให้ระบบรัฐสภาถอยหลังไปถึง 40 ปี

ด้านฝากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณไปยัง 6 ส.ส.ที่สวนมติโดยระบุว่า “เมื่อเป็นมติของวิปรัฐบาลแล้วทุกพรรคจะต้องทำตาม ไม่ใช่ปฏิบัติไปตามเอกเทศของแต่ละพรรคหรือแต่ละบุคคล แต่ถ้าคิดว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ต้องตัดสินใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง”

ท่าทีนี้เกิดขึ้นหลังจากมีกระแสการริบเก้าอี้คืนจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 ตำแหน่ง เพื่อนำไปมอบให้พรรคเศรษฐกิจใหม่

ความอลวนของสภาเสียงปริ่มชุดนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในการโหวตตั้ง กมธ.ชุดเดียวกันนี้ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เสียงข้างมากในสภา 236 เสียง เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ในจำนวนนี้มี ส.ส.ปชป. 6 คน คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายอันวาร์ สาและ, นายเทพไท เสนพงศ์, นางกันตวรรณ ตันเถียร, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ เนื่องจากเป็นผู้เสนอญัตติ

และเมื่อย้อนไปในการโหวต พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ในวาระแรก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พบเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน จากพรรคอนาคตใหม่ คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี ลงมติรับหลักการตามเสียงของ ส.ส.รัฐบาล ในขณะที่มติของวิปฝ่ายค้านให้ “งดออกเสียง”

ก่อนหน้านั้นเพียง 3 วัน ในการลงมติร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 มี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ “สวนมติพรรค” ที่ให้คว่ำกฎหมายฉบับนี้ 9 คน โดยยกมือเห็นชอบ 3 คน หนึ่งในนั้นคือ น.ส.กวินนาถ และอีก 2 คนคือ นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี, งดออกเสียง 1 คน คือ นางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม 5 คน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ งดออกเสียง 1 คน คือ พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา แต่ได้ชี้แจงในภายหลังว่าเครื่องลงคะแนนขัดข้อง

“งูเห่า” โผล่ประเดิมประชุมนัดแรก

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นัดแรกของการประชุมสภาชุดนี้ โดยเสียงปริศนา 6 เสียงจากพลพรรคฝ่ายค้าน ที่ลงคะแนนลับให้นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

รวมไปถึงการโหวตรองประธานสภา 2 คน ที่มีเสียงจากซีกรัฐบาลลงมติลับให้กับผู้ท้าชิงจากพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกรองประธานสภาคนที่ 1 และมี 3 เสียงจากฝ่ายค้าน ลงมติลับให้รองประธานสภาคนที่ 2 จากซีกรัฐบาล

“สมัคร” ผู้บัญญัติศัพท์ “งูเห่า” ในการเมือง

การที่ ส.ส.ขัดมติพรรคเช่นนี้มิได้เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่แต่อย่างใดหากแต่เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในการเมืองไทย ครั้งแรกสุดที่เกิดในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ในรัฐบาลเปรม (พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์) 5 ภายหลังการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2529 จากการเตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจของ ส.ส.บุญเท่ง ทองสวัสดิ์ จากพรรคกิจสังคม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2530 ซึ่งยื่นด้วย ส.ส.ฝ่ายค้าย 84 เสียง แต่ญัตตินี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากท้ายที่สุดมี ส.ส.ฝ่ายค้าน 15 คนถอนตัว จึงขาด 1 เสียง กรณีนี้มีการกล่าวหากันว่ามีการจ่ายเงิน ส.ส.เพื่อให้ถอนตัวหรือมีการโน้มน้าวจากฝ่ายรัฐบาล ภายหลังเหตุการณ์นั้น ส.ส.เหล่าส่วนใหญ่นี้ถูกขับออกจากพรรค กระนั้นการขัดมติพรรคครั้งนี้ยังไม่ได้ถูกเรียกว่า “งูเห่า”

แต่ต้นตำรับ “งูเห่า” เป็นคำเปรียบเปรยของนายสมัคร สุนทรเวช กับ 13 ส.ส.ประชากรไทย ในการสวนมติพรรค โหวตสนับสนุนให้ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง

โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ 12 คน นำโดยนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งเดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่หลังจากมีความขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ก็ถูกขับออกจากพรรค

ต่อมานายสมัครอ้าแขนรับ ส.ส.กลุ่มปากน้ำนี้ให้มาสังกัดพรรคประชากรไทย แต่ภายหลังการทิ้งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2540 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมรวมถึงพรรคประชากรไทยมีมติสนับสนุนให้ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน โดยรวมเสียงได้ 197 เสียง ประกอบด้วยเสียงของพรรคความหวังใหม่ 125 เสียง พรรคชาติพัฒนา 52 เสียงพรรคประชากรไทย 18 เสียง และพรรคมวลชน 2 เสียง

ขณะที่ฟากฝ่ายค้าน สนับสนุนนายชวนชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงรวม 196 เสียง เป็นเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง พรรคชาติไทย 39 เสียง พรรคเอกภาพ 8 เสียง พรรคพลังธรรม และพรรคไท พรรคละ 1 เสียง

และแม้ฝ่ายค้านจะสามารถดึงเสียงมาจากอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม คือ พรรคกิจสังคม 20 เสียง และพรรคเสรีธรรม 4 เสียง แต่อย่างน้อยกว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 1 เสียง ทำให้ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เดินเกมชักชวน 13 ส.ส.ประชากรไทย คือ 12 ส.ส.กลุ่มปากน้ำ และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ส.ส.ประชากรไทย “ยกมือโหวต” นายชวนแทนการทำตามมติของพรรคประชากรไทย ทำให้นายชวนได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 209 เสียงต่อ 185 เสียง ส่วนนายสมัครกลายเป็นฝ่ายค้านในที่สุด

แม้ว่าพรรคประชากรไทยมีมติขับกลุ่มงูเห่าออกจากพรรค แต่กลุ่มงูเห่าได้ยื่นคำร้องต่อศาลธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมติของพรรคหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของกลุ่มงูเห่าไม่สิ้นสุดลง เนื่องจาก ส.ส.มีความเป็นอิสระที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรค และมติขับไล่ออกจากพรรคเป็นมติที่ไม่ชอบ ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ

ภายหลังการตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แกนนำกลุ่มงูเห่า ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีจากรัฐบาลชวน 2 ถึง 4 ตำแหน่ง

“เพื่อนเนวิน” ตำนานการเปลี่ยนขั้ว

คำว่า “งูเห่า” ถูกนำมาใช้ในข่าวการเมืองอีกครั้งในการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ภายหลังจากที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคพลังประชาชน จากคดีทุจริตเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้า เป็นเหตุให้นายสมชาย ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีด้วย

เมื่อพรรคถูกยุบ พลพรรคของพลังประชาชนต่างย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย พรรคอะไหล่สำรองที่ได้เตรียมการไว้ก่อนหน้านี้ เกือบทั้งหมด

เว้นเพียง ส.ส.อีสาน กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จำนวน 23 คน ที่ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

การไม่ร่วมหัวจมท้ายไปกับพรรค “นายใหญ่” มาจากความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชาชน โดยมีกระแสข่าวว่า “แก๊งออฟโฟร์” คือ นายสมัคร, นายธีรพล นพรัมภา, นายเนวิน และ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พยายามทำการยึดอำนาจเจ้าของพรรคตัวจริงนอกประเทศ

ประกอบกับนายสมัครถูกหักหลังในการโหวตนั่งนายกรัฐมนตรีต่อ หลังจากที่ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากการจัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า”

โดยในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏภาพของนายสมชาย รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น ได้กวักมือเรียก ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่อยู่ในห้องประชุมให้ออกมา จนเหลือ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเพียง 3-4 คนก่อนที่ประธานสภาฯ จะสั่งนับองค์ประชุม ทำให้การประชุมต้องยุติลงจากองค์ประชุมไม่ครบ และเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นสัปดาห์หน้า จนสุดท้ายนายสมชายได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร ด้วยคะแนนเสียง 298 ต่อ163

นี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กลุ่มเพื่อนเนวินแยกตัวออกจากนายใหญ่ พร้อมกับประโยคดังแห่งยุคว่า “มันจบแล้วครับนาย”

ในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมชาย พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้ดีลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น สามารถรวมเสียงได้ 235 เสียงประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ 163 เสียง พรรคพลังประชาชนเดิมที่ไม่ย้ายไปเพื่อไทย (เพื่อนเนวิน-กลุ่มนายสุวิทย์ คุณกิตติ) 33 เสียง รวมใจไทยชาติพัฒนา 5 เสียง มัชฌิมาธิปไตยเดิม 8 เสียง เพื่อแผ่นดิน 12 เสียง และชาติไทยเดิม 14 เสียง

ส่วนพรรคเพื่อไทยรวมเสียงได้ 198 เสียง ส.ส.เพื่อไทย 178 เสียง รวมใจไทยชาติพัฒนา 2 มัชฌิมาธิปไตยเดิม 3 เสียง ประชาราช 5 เสียง เพื่อแผ่นดิน 9 เสียง และชาติไทยเดิม 1 เสียง

ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มเพื่อเนวิน คือ เก้าอี้ในกระทรวงเกรดเอ 4 ตำแหน่ง รมว.คมนาคม รมช.คมนาคม รมว.มหาดไทย และ รมช.มหาดไทย

เหตุใดจึงเกิดงูเห่า

งูเห่าอาจมีที่มาจากสองเงื่อนไข เงื่อนไขแรก คือ รัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับการสิ้นสุดสภาพของ ส.ส. โดยก่อนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2534 กำหนดว่าการเป็น ส.ส.จะสิ้นสุดลงเมื่อ “ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น”

ซึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า “มติของพรรคการเมืองต้องเป็นมติของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น และมติดังกล่าวต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองนั้นทั้งหมด” จะเห็นได้ว่า การสิ้นสุดสภาพของ ส.ส.ในรัฐธรรมนูญนี้คือการลาออกหรือถูกขับออกจากพรรคการเมือง ทำให้อำนาจต่อรองนั้นจะยึดโยงกับพรรคการเมือง แม้จะมีกรณีที่คล้ายเป็นงูเห่าในการล้มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มองได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้น ส.ส.ที่ขัดมติพรรคจึงอาจเกิดจากการกดดันของอำนาจอื่นนอกระบอบประชาธิปไตย

เหตุการณ์งูเห่าครั้งแรกนั้นอยู่ในการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งระบุเกี่ยวกับการสิ้นสุดสภาพของ ส.ส.ไว้ในส่วนที่สองเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎร ในมาตรา 118 อย่างค่อนข้างเหมือนเดิม แต่เพิ่มไว้ว่าหากถูกขับออกจากพรรคสามารถยื่นอุทธรณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันตั้งแต่พรรคมีมติ หากเห็นว่ามติของพรรคนั้นขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็มีเนื้อความเช่นเดียวกัน ในกรณีของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 นี้ได้เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับ ส.ส.มากขึ้น เนื่องจากเมื่อถูกขับออกจากพรรคแล้วยังสามารถต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญได้ หากชนะก็จะสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อพรรคประชากรไทยขับ ส.ส. 12 คน (มี ส.ส. 1 คนลาออกก่อนพรรคจะมีมติขับไล่) กลุ่ม ส.ส.เหล่านี้ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยว่ามติของพรรคนี้ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ส.เหล่านี้สามารถหาสังกัดใหม่ได้

จะเห็นได้ว่าเมื่อ ส.ส.มิได้สิ้นสภาพทันทีหลังออกจากพรรคการเมือง ก็จะมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น และอาจเปลี่ยนฝั่งไปเข้าพรรคอื่นได้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพิ่มอำนาจให้กับ ส.ส.ยิ่งขึ้น จากเนื้อความว่า “ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว” ได้ความว่า ส.ส.นั้นไม่จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนสังกัดพรรคการเมืองก็จะดำรงอยู่ในสถานภาพ ส.ส.ต่อไปได้

ดังนั้น การเกิดเหตุการณ์ที่ ส.ส.ฝ่ายค้านขัดมติพรรคเข้าร่วมประชุมนี้เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะพรรคมีอำนาจน้อยลงที่จะควบคุมเสียงของตน เนื่องจากหาก ส.ส.ออกจากพรรคก็จะเป็นการเพิ่มเสียงให้ฝ่ายตรงข้ามโดยปริยาย

เงื่อนไขที่สอง คือ เสถียรภาพของรัฐบาล เหตุการณ์งูเห่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลนั้นขาดเสถียรภาพจากการที่ไม่มีพรรคใดมีจำนวน ส.ส.เด็ดขาดจนเกิดการตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคขึ้น ทำให้เกิดการจัดสรรผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวเนื่องจากมีผู้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์จำนวนมาก และการที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีคะแนนเสียงเด็ดขาดนั้นยังทำให้เกิดรัฐบาลเสียง “ปริ่มน้ำ” กล่าวคือมีเสียงไม่ขาดกันมากนั่นเอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ผศ. ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะนำไปสู่การเกิดงูเห่านั่นเอง ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

สาเหตุที่เกิดรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพนี้มาจากระบบการเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับก่อน พ.ศ. 2540 จะเป็นการเลือกตั้งระบบเขตทั้งหมด ทำให้เกิดการกระจายตัวของคะแนนเสียงอย่างมาก และนำไปสู่การเกิดรัฐบาลผสมขึ้นทุกครั้งจนเกิดการยุบสภาบ่อยครั้ง อีกทั้งยังนำไปสู่เหตุการณ์งูเห่าอีกด้วย

จนเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ประกาศใช้ ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ที่ปรับให้มีผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและแบบเขตที่ออกแบบให้เกิดการเมืองที่คล้ายจะเป็นรูปแบบสองพรรคขึ้น ซึ่งทำให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งสามารถครอบครองคะแนนเสียงจำนวนมากได้ ประกอบกับความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยจึงเกิดรัฐบาลผสมน้อยพรรคขึ้นได้

หรือในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ยังคงใช้ระบบการเลือกตั้งที่คล้ายเดิมทำให้เกิดรัฐบาลผสมน้อยพรรคซึ่งในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียวได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่มีระบบนับคะแนนที่ซับซ้อนแบ่งหน่วยการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ประกอบกับการนับคะแนนที่พิสดาร ก็ทำให้เกิดรัฐบาลผสมขึ้น ซ้ำร้ายยังมีจำนวนพรรคมากกว่าในอดีตอีกด้วย การเกิดงูเห่าจึงแทบจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสภาวะการเมืองเช่นนี้

เส้นแบ่งระหว่าง “งูเห่า” กับ “เอกสิทธิ์”

การลงคะแนนเสียงขัดกับมติพรรคนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะ ส.ส.นั้นมีเสรีภาพที่จะลงคะแนนเสียงตามที่ตนเองต้องการ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้เอกสิทธิ์เช่นนี้ไว้ กระนั้นยังมีประเด็นของความชอบธรรมในการเลือกลงคะแนนของ ส.ส. กล่าวคือ การที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.นั้นมาจากการที่ประชาชนได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากอุดมการณ์หรือนโยบายของพรรค ดังนั้นหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์หรือนโยบายของพรรค ส.ส.ก็ควรจะลงคะแนนเสียงตามมติของพรรค หากมติของพรรคนั้นขัดกับมโนสำนึกของ ส.ส.ในสังกัดจนเกิดการลงคะแนนขัดกับมติของพรรค อาจมองได้ว่าเป็นการทรยศต่อประชาชนที่เลือกมาหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ยังคงต้องถกเถียงต่อไปว่า ส.ส.นั้นมีสิทธิเพียงไหนในการลงคะแนนเสียงที่จะไม่ทรยศต่อคะแนนเสียงที่เลือกเข้ามา

กระนั้น การลงคะแนนเสียงที่ขัดมติพรรคนั้นก็เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยในการเมืองต่างประเทศ เช่น ส.ส.ของสหราชอาณาจักร เจเรมี คอร์บิน ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคแรงงาน เคยลงคะแนนเสียงขัดกับมติพรรคบ่อยครั้งเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมติพรรค หรือการโหวตขัดกับมติพรรคของ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมจำนวน 21 คนที่ลงคะแนนเสียงร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านการออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบ no-deal ซึ่งสามารถชนะฝ่ายรัฐบาลได้ในที่สุด ดังนั้นอาจไม่สามารถนับรวมการลงคะแนนขัดกับมติพรรคเป็นงูเห่าทุกกรณีได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ ความเป็นอิสระของ ส.ส. กับวินัยพรรคการเมือง โดยหากให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของ ส.ส.มาก ส.ส.ก็จะสามารถลงมติโหวตได้อย่างเป็นอิสระ เช่น ส.ส.ในสหรัฐฯ ที่เป็นตัวแทนเสียงของประชาชนในพื้นที่ที่แตกต่างกันแต่ละมลรัฐ จะต้องทำความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่าการฟังเสียงจากพรรค ส่วนระบบรัฐสภาแบบไทยและอังกฤษ ให้อำนาจพรรคเหนือ ส.ส.เหมือนการเมืองไทยก่อนปี 2540 ที่ ส.ส.จะต้องมีวินัย ตามมติพรรค จนถูกเรียกว่า “สภาฝักถั่ว”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุถึงการสวนมติวิปของ ส.ส.ทั้งสองซีกในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ว่า ไม่อาจเรียกว่า “งูเห่า” ได้ทั้งหมด เนื่องจากต้องพิจารณาว่าผู้ที่สวนมติพรรคและมติวิปฯ ได้ผลประโยชน์ใต้ดินอื่นใดตอบแทนหรือไม่

ถ้าไม่! ก็ไม่สามารถใช้คำว่า “งูเห่า” ที่ให้ความรู้สึกในทางลบได้

“กรณี 6 ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่โหวตสวนมติวิปฯ โดยให้เหตุผลว่า ต้องลงมติตามที่ญัตติที่ได้ลงชื่อเสนอก่อนหน้านี้ รวมถึงต้องการศึกษากฎหมายที่ออกโดยคำสั่ง คสช.และเป็นไปตามอุดมการณ์ของพรรคนั้น การแหกมติพรรคแบบนี้ก็ต้องถามว่า เป็นงูดีหรืองูร้าย ถ้างูดีก็ไม่ใช่งูเห่า”

ทั้งนี้ การสวนมติพรรคในสภาเสียงปริ่มน้ำนี้จะยังคงมีขึ้นอีกเรื่อยๆ หากยังคงยึดการเอาชนะคะคานทางการเมืองเป็นหลัก

“เมื่อฝ่ายรัฐบาลเริ่มก่อนในการใช้ข้อบังคับสภา ข้อที่ 85 กรณีที่มีการแพ้ชนะไม่เกิน 25 เสียง ให้นับคะแนนใหม่ โดยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล ฝ่ายค้านก็อาจจะทำบ้างในครั้งหน้า ดังนั้นต่อไปนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหา แทนที่ฝ่ายรัฐบาลจะรวมเสียงให้เกินกึ่งหนึ่งเพื่อเอาชนะเสียงจากฝ่ายค้านเท่านั้น จากนี้จะต้องขยับเป็นรวมเสียงให้ชนะมากกว่า 25 เสียง เพื่อให้พ้นเงื่อนไขข้อบังคับสภาข้อนี้ด้วย”

หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการลงมติสำคัญ จะกลายเป็นโอกาสให้ผู้ที่พร้อมเป็น “งูเห่า” หาประโยชน์เข้าตัวเป็นรายครั้ง การต่อรองทางการเมืองก็มีมากเป็นประวัติการณ์

“งูเห่า” การเมืองไทย ยังคงมีภาคต่อไป..!