ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.ปี’63 อินโดนีเซียปฏิรูปภาษีลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20%

ASEAN Roundup เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.ปี’63 อินโดนีเซียปฏิรูปภาษีลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20%

1 ธันวาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 พฤศจิกายน 2562

  • เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.ปี’63
  • อินโดนีเซียปฏิรูปภาษีลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20%
  • ลาวพ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยสุดปี 2024
  • เมียนมายกข้อมูลที่ดินขึ้นระบบออนไลน์
  • เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.ปี’63

    รัฐบาลเวียดนามได้ออกประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำราว 5.7%ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2563

    คำสั่งฉบับนี้จะมีผลให้ ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกราว 150,000-240,000 ด่อง หรือราว 6-10 ดอลลาร์ โดย

    ในภูมิภาค 1 ได้แก่พื้นที่เมืองฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 4,420,000 ด่องหรือ 190 ดอลลาร์ จาก 4,180,000 ด่อง หรือ 180 ดอลลาร์

    ในภูมิภาค 2 ได้แก่พื้นที่ชนบทเมืองฮานอย โฮจิมินห์ซิตี้และดานัง ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 3,920,000 ด่องหรือ 169 ดอลลาร์ จาก 3,710,000 ด่อง หรือ 159 ดอลลาร์

    ในภูมิภาค 3 ได้แก่พื้นที่เมืองบั๊กนิญ บั๊กซาง ห่ายเซือง ฟู๊ถ่อ วินห์ฟุก และเมืองอื่นที่ไม่ได้อยู่ในภูมิภาค 1 และ 2 ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 3,430,000 ด่องหรือ 148 ดอลลาร์ จาก 3,250,000 ด่อง หรือ 140 ดอลลาร์

    ในภูมิภาค 4 ได้แก่พื้นที่เมืองอื่นๆที่เหลือ ค่าแรงขั้นต่ำรายเดือนในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 3,070,000 ด่องหรือ 132 ดอลลาร์ จาก 2,920,000 ด่อง หรือ 125 ดอลลาร์

    ค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน เนื่องจากค่าครองชีพแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน

    นอกจากนี้ค่าแรงของแรงงานที่จบการศึกษาระดับอาชีวะจะต้องสูงกว่าเงินเดือนขั้นต่ำอย่างน้อย 7% และห้ามบริษัทตัดค่าจ้างล่วงเวลาหรือ OT หรือการทำงานกะกลางคืนลง รวมทั้งค่าครองชีพอื่นที่ให้แก่ลูกจ้างหลังจากที่ค่าแรงงานขั้นต่ำใหม่นี้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

    การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้การประกันว่างงานเพิ่มขึ้นตาม โดย

    • ภูมิภาค 1 การประกันว่างงานจะเพิ่มเป็น 88,400,000 ด่อง หรือ 3,800 ดอลลาร์จาก 83,600,000 ด่องหรือ 3,600 ดอลลาร์
    • ภูมิภาค 2 การประกันว่างงานจะเพิ่มเป็น 78,400,000 ด่อง หรือ 3,380 ดอลลาร์จาก 74,200,000 ด่อง หรือ3,200 ดอลลาร์
    • ภูมิภาค 3 การประกันว่างงานจะเพิ่มเป็น 68,600,000 ด่อง หรือ 2,950 ดอลลาร์จาก 65,000,000 ด่อง หรือ 2,800 ดอลลาร์
    • ภูมิภาค 2 การประกันว่างงานจะเพิ่มเป็น 61,400,000 ด่อง หรือ 2,645 ดอลลาร์จาก 54,400,000 ด่องหรือ 2,344 ดอลลาร์

    แม้ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามจะปรับขึ้นเร็วกว่าประเทศอาเซียนอื่น ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ในปีที่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับขึ้น 5.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2018 เพิ่มขึ้น 3.54% และดัชนีราคาผู้บริโภครอบ 9 เดือนปีนี้เพิ่มขึ้น 2.48%

    สมาพันธ์แรงงานเวียดนามระบุว่า ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันเพียงพอที่จะรองรับค่าครองชีพของแรงงานได้ 95% และหวังว่าค่าแรงที่ปรับใหม่นี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานได้บ้าง เพราะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูง

    รัฐบาลจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการด้วย 7.3% ในเดือนกรกฎาคม 2563

    อินโดนีเซียปฏิรูปภาษีลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20%

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียเปิดเผยรายละเอียดแผนปฏิรูปภาษี ซึ่งครอบคลุมการยกเลิกการเก็บภาษีเงินปันผล ผ่อนคลายภาษีสำหรับชาวต่างชาติที่พำนักในอินโดนีเซียและชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในต่างประเทศ นอกเหนือจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและการเก็บภาษีเศรษฐกิจดิจิทัล

    ศรี มุลยานีกล่าวว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีนี้มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการลงทุนและการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายที่รัฐกำลังปรับแก้ไข รวมทั้งจะเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีให้เป็นตามแหล่งที่มาของรายได้ (Territorial Tax System) ดังนั้นชาวต่างประเทศที่พำนักในอินโดนีเซียและชาวอินโดนีเซียที่อยู่ในต่างประเทศจะได้จ่ายภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

    สำหรับช่าวต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซียเป็นเวลาเกินกว่า 183 วันจะเสียภาษีเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียเท่านั้น และชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศก็ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ในอินโดนีเซีย

    ภายใต้กฎหมายภาษีปี 2008 ที่ยังใช้บังคับอยู่ บุคคลทุกคนรวมทั้งชาวต่างชาติที่พำนักในอินโดนีเซียนานเกินกว่า 183 วันภายในรอบ 12 เดือน หรือพำนักในอินโดนีเซียตลอดทั้งปีภาษีและยังคงจะพำนักต่อไปอีก จะถูกจัดว่าเป็นผู้เสียภาษีในประเทศ

    รัฐบาลจะยกเลิกการเก็บภาษีจากเงินปันผลสำหรับบริษัทที่มีสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 25% โดยปกติแล้วจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีบริษัทที่มีการถือหุ้นเกิน 25% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินปันผลที่ได้รับนอกประเทศ ภายใต้กฎหมายปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีเงินปันผล ดังนั้นต่อไปเงินปันผลจากต่างประเทศจะมีการยกเลิก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังพิจารณารายละเอียด

    นอกจากนี้ในประมวลกฎหมายฉบับใหม่ก็ได้มีการทบทวนบทลงโทษทางภาษี โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยปรับลงจาก 2% ต่อเดือนหลังจากวันครบกำหนดชำระภาษีแล้ว และจะกำหนดบทลงโทษให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับต่ำมาก แต่หากการไม่ชำระภาษีหรือชำระเป็นความผิดทางอาญาและโดยเจตนา จะมีเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นอีก 5-10%

    การปฏิรูปภาษีนี้จะมีผลให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงจาก 25% เป็น 20% โดยจะลดลงเหลือ 22% ในปี 2021 และจากนั้นจะลดลงเป็น 20% ในปี 2023 รวมทั้งจะลดภาษีให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 3% เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหลักทรัพยมีการพัฒนา

    นอกจากนี้จะเก็บภาษีดิจิทัลจากบริษัทที่ทำธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรวมทั้งเน็ตฟลิกซ์ สปอติฟาย และอเมซอน เพราะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซียแม้ไม่มีที่ทำการในอินโดนีเซีย โดยจะขอให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษี ซึ่งภายใต้กฎหมายดิจิทัลนี้จะใช้หลักเกณฑ์การมีที่ทำการถาวรกับบริษัทดิจทัลข้ามชาติ แม้ไม่มีที่ทำการหรือพนักงานในอินโดนีเซีย แต่ได้รับผลประโยชนเป็นตัวเงินจากตลาดอินโดนีเซีย

    ลาวพ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยสุดปี 2024

    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่ง(Sustainable Development Goals:SDGs) ในทุกภาคส่วน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ดร.สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยในพิธีปิดการประชุมโต๊ะกลมประจำปี 2019 ว่า เป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของลาวคือ การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศในเรื่อง ความปลอดภัยของชีวิตจากจากระเบิดสังหาร(Unexploded Ordnance)

    สำหรับเป้าหมายการปลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด(Least Developed Country:LDC) นั้น จากการประเมินครั้งล่าสุด พบว่าลาวประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามเกณฑ์ได้แล้ว 2 ข้อจากทั้งหมด 3 ข้อ คือ รายได้ประชากรต่อหัว(Gross National Income per capita) และดัชนีวัดทรัพยากรมนุษย (Human Assets Index) ส่วนเกณฑ์ดัชนีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ(Economic Vulnerability Index) ยังไม่ทำไม่ได้ตามเกณฑ์

    สาเหตุที่ยังทำไม่ได้ตามเกณฑ์ข้อสามเนื่องจากต้องมีการกระจายงบประมาณที่ตั้งไว้ ไปบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบจากภัยพิบัติและการสร้าง การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการฟื้นฟู

    สำหรับการประเมินรอยต่อไปมีขึ้นในปี 2021 แต่คาดว่าลาวจะหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในปี 2024

    การประชุมโต๊ะกลมครั้งนี้ มีการเสวนาเกี่ยวกับความคืบหน้าของลาวที่ทำได้ตามเกณฑ์ LDC และการอภิปรายเรื่องการค้า ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนาได้อภิปรายในหลายประเด็นที่ต้องการให้รัฐบาลและพันธมิตรด้านการพัฒนาให้ความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งการวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับงบประมาณของประเทศ การเพิ่มกลไกความร่วมมือเพื่อให้การระดมทรัพยากรมีประสิทธิภาพ และการขจัดความยากจน

    นอกจากนี้ยังมีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและการนำเป้าหมาย SDGs ใส่ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ เพื่อให้การดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs มีประสิทธิภาพ

    เมียนมายกข้อมูลที่ดินขึ้นระบบออนไลน์

    เมียนมาจะพัฒนาข้อมูลที่ดินทั้งหมดให้เป็นระบบดิจิทัล และเปิดให้นักลงทุนเข้าค้นข้อมูลและยื่นขอใช้ที่ดินสำหรับการทำธุรกิจในเมียนมาด้วยระบบออนไลน์ จากการเปิดเผยของ อู ตอง ทุน ประธานธชคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Myanmar Investment Commission)

    การสรรหาที่ดินเป็นปัญหาหลักของทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ เมื่อมีการจัดตั้งธุรกิจในเมียนมา

    อู ตอง ทุน กล่าวว่า เมียนมามีการปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน และมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปต่อเนื่อง และการพัฒนาระบบที่ดินออนไลน์นี้เป็นการดำเนินการที่กระทรวงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศและการลงทุนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

    การปฏิรูปเศรษฐกิจมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนในอนาคต เพราะจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น อู ตอง ทุนกล่าว

    รายงานความยากง่ายของการทำธุรกิจประจำปี 2019 ของธนาคารโลกได้จัดให้เมียนมาอยู่ในลำดับที่ 165 ดีขึ้นจาก 175 ในปีก่อน เป็นผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจ