ThaiPublica > เกาะกระแส > Krungthai COMPASS วิเคราะห์ คนต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปลดลง…หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?

Krungthai COMPASS วิเคราะห์ คนต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปลดลง…หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?

26 พฤศจิกายน 2019


รายงานโดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และจารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ — Krungthai COMPASS

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เผยแพร่งานวิจัย “คนต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปลดลง…หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?” โดยมองว่า ตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาส 3/2019 มีการขยายตัวที่ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ไว้ โดยไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 5.8% จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 7.2%

อย่างไรก็ดี ภายใต้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปในรูปเงินบาทของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับลดลง -1.3% YOY นี่แปลว่านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยกันแล้วหรือไม่ บทความนี้จะลองมาหาคำตอบในเรื่องนี้กัน

ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อทริปที่น้อยลง มาจากการที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายน้อยลง ใช่หรือไม่?

ถ้ามองในรูปเงินบาทคำตอบคือใช่ แต่ต้องอย่าลืมว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในไตรมาสที่ 3 ของปี 2019 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นประมาณ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดังนั้น แม้ว่านักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายในสกุลเงินประเทศตัวเองเท่าเดิม แต่การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็ทำให้ไทยได้รับรายได้ในรูปเงินบาทน้อยลงได้ ซึ่งค่าสถิติที่ผ่านมาก็ทำให้เราเห็นว่าค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปอยู่พอสมควร กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในรูปเงินบาทก็มักจะลดลงด้วย (รูปที่ 1)

อย่างไรก็ดี เมื่อดูค่าใช้จ่ายต่อทริปในรูปของดอลลาร์ฯ จะพบว่าจริงๆ แล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปในรูปดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นถึง 5.95% YOY ตัวเลขนี้สะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังยินดีใช้จ่ายเงินในรูปสกุลเงินของประเทศตัวเองเพิ่มขึ้น (ควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น) ในการมาเที่ยวไทย เพียงแต่ว่าด้วยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จึงทำให้พอเปลี่ยนรูปกลับมาเป็นเงินบาทแล้วมีค่าน้อยลงเล็กน้อย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นในไตรมาส 1/2018 ที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปในรูปบาทติดลบ แต่ว่าในรูปดอลลาร์ฯ กลับเพิ่มขึ้น (รูปที่ 2)

หากเราดูข้อมูลการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ลาว และญี่ปุ่น (นักท่องเที่ยว 6 ประเทศนี้มีสัดส่วนเกือบ 60% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ดังที่แสดงในรูปที่ 3 เราจะพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ยังมีการใช้จ่ายต่อทริปในรูปดอลลาร์ฯ ที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนภาพที่ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายเยอะขึ้นอยู่ (รูปที่ 4)

แล้วมีอะไรที่ควรต้องระวังเพิ่มเติมหรือไม่?

ถ้าจะมีคงเป็นการที่นักท่องเที่ยวที่มาไทยเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายต่อทริปไม่สูงนัก โดยหากเรียงลำดับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุดจำนวน 5 ประเทศ ในรูปที่ 5 เราจะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวจากจีน อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในปีที่แล้วค่อนข้างต่ำเนื่องจากเหตุการณ์เรือล่ม) อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายต่อทริปที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1,600 ดอลลาร์ฯ ต่อคนต่อทริป (เส้นประสีแดงในรูปที่ 6) โดยนักท่องเที่ยวจีนมีค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ 1,700 ดอลลาร์ฯ เหนือกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากอินเดีย ลาว เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีค่าใช้จ่ายต่อทริปที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงต่อทริปก็มาเที่ยวไทยลดลง ในรูปที่ 5 กลุ่มประเทศที่มาไทยลดลงมากที่สุด 5 กลุ่มประเทศ คือกลุ่มประเทศจากยุโรป ตะวันออกกลาง กัมพูชา ออสเตรเลีย และฮ่องกง (การมาเที่ยวไทยที่น้อยลงดูจะมาจากปัจจัยในประเทศมากกว่าปัจจัยด้านค่าเงินเพียงอย่างเดียว) นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและยุโรปถือเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและยุโรปมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปที่ประมาณ 2,600 และ 2,300 ดอลลาร์ฯ ตามลำดับ จากตัวเลข เราอาจกล่าวได้ว่า แม้การแข็งค่าขึ้นของบาทจะทำให้การใช้จ่ายต่อทริปในรูปเงินบาทของนักท่องเที่ยวลดลง แต่จากการที่นักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงต่อทริปมาไทยน้อยลง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันการเติบโตของยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมอยู่

นี่หมายความว่าไทยกำลังพึ่งนักท่องเที่ยวจากชาติที่ใช้จ่ายน้อยเพิ่มขึ้น?

ไม่ถึงขนาดนั้น ด้วยเหตุที่ว่าตัวเลขที่เราใช้ก่อนหน้านี้เป็นตัวเลขการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริป นักท่องเที่ยวบางชาติแม้จะมีการใช้จ่ายต่อทริปสูง แต่ก็มาจากการอยู่ในไทยเป็นเวลาที่นาน ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรปมักพำนักในไทยนานถึง 17 วัน ในรูปที่ 7 จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อทริปที่สูง แต่หากคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อวันจะอยู่ที่ 4,200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยที่มีค่าเกือบ 5,300 บาทต่อวัน ในรูปที่ 8

ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียหลายๆ ชาติที่เข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะใช้จ่ายต่อทริปไม่สูง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายรายวันมากกว่าค่าเฉลี่ย เช่น จีนที่มีค่าใช้จ่ายต่อวันที่ 6,800 บาทต่อวัน อินเดียที่ 6,200 บาทต่อวัน เกาหลีใต้ที่ 5,800 บาทต่อวัน เป็นต้น (ตัวเลขนี้ดูจะสนับสนุนภาพลักษณ์นักช้อปที่ใช้จ่ายสูงของคนจีนได้ดี) ดังนั้น การกล่าวว่า ไทยกำลังพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายน้อย จึงอาจไม่ถูกนัก

อย่างไรก็ดี ก็มีกลุ่มประเทศจากตะวันออกกลางที่มาไทยลดลง จากปัญหาราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงที่สุด และมีการใช้จ่ายต่อวันที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก

โดยรวมแล้ว สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นเรื่องเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังใช้จ่ายในรูปเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นอยู่ ธุรกิจที่ขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ในช่วงนี้จากการที่นักท่องเที่ยวเอเชียที่มีการใช้จ่ายต่อวันสูง อย่างนักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ชวนให้ถามต่อไปคือ แนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางที่มาไทยลดลง จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน และธุรกิจโรงแรมตลอดจนธุรกิจโรงพยาบาลที่มีรายได้จากผู้ที่พักแบบ long stay และผู้เข้ามารักษาตัวในไทยจำนวนไม่น้อย จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดในปี 2020 ที่จะถึงนี้