ผลสำรวจจากงาน GPF- Bloomberg Responsible Investing Forum ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนสถาบันในเอเชียเชื่อมั่นในการลงทุนโดยคำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล หรือ ESG และพร้อมผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในช่วง 12 เดือนนับจากนี้ โดยร้อยละ 89 ของผู้ทำแบบสำรวจ จำนวน 140 คน ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน และผู้จัดการกองทุนจากภูมิภาคเอเชีย เชื่อว่าพอร์ตการลงทุนที่เน้นเรื่อง ESG มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ร้อยละ 51 กล่าวว่าจะพิจารณาเพื่มสัดส่วนการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน ร้อยละ 61 ให้ความเห็นว่า 12 เดือนนับจากนี้จะลงทุนด้าน ESG ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
ดร. เสรี นนทสูติ ในฐานะประธานอนุกรรมการธรรมาภิบาลของ กบข. เปิดเผยว่าพอร์ตการลงทุนหุ้น ESG ที่มีมูลค่า 1 พันล้านบาท ให้ผลตอบแทนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ซึ่งสูงกว่าพอร์ตการลงทุนหุ้นไทยของ กบข. และเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา กบข. และ นักลงทุนสถาบันรวม 32 ราย ที่มีสินทรัพย์การลงทุนรวมประมาณ 11 ล้านล้านบาท ได้ร่วมลงนามความร่วมมือระงับการลงทุนในหุ้นที่มีปัญหาด้าน ESG
ดร. เสรี กล่าวว่า แม้ทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าการลงทุนแบบมี ESG มีประโยชน์แต่ในแง่ของการปฏิบัติยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น การทำความเข้าใจและยึดมาตรฐานและแนวปฎิบัติเดียวกันจะช่วยให้การลงทุนแบบมี ESG เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งการจัดงานร่วมกับ Bloomberg เพื่อระดมความเห็น แบ่งปันข้อมูลและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและจำเป็น เพราะจะช่วยสร้างระบบการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งและส่งผลดีต่อทุกฝ่าย
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวว่า กบข. ทำงานร่วมกับ UNPRI และ OECD อย่างใกล้ชิดในการพัฒนา Due Diligence Guideline เพื่อวางกรอบการลงทุนและเพื่อใช้ในกระบวนการลงทุนที่ยึดหลัก ESG โดย กบข. จะจัดทำ ESG Scoring tool ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งแบบประเมินและให้คะแนนดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการประเมินโอกาสการลงทุนหุ้นไทยและตราสารหนี้ ของ กบข.
นายวิทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในไตรมาสแรกของปี 2563 กบข. จะพิจารณาเรื่อง ESG ในทุกสินทรัพย์ที่มีการลงทุน อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดย กบข. จะไม่ลงทุนในกิจการที่มีประเด็นเรื่อง ESG
Nitin Jaiswal, Bloomberg’s APAC Head of External Relations กล่าวว่าภูมิภาคเอเชียในวันนี้ให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืน ทำให้นักลงทุนสถาบัน และ ผู้จัดการกองทุน ต้องการเครื่องมือ ข้อมูลและความรู้ในด้าน ESG มากขึ้น โดยไทยเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของภูมิภาคนี้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG ซึ่งเกิดจากการผลักดันร่วมกันของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กบข. โดย Bloomberg เชื่อว่าไทยจะเป็นตัวอย่างของภูมิภาคนี้ ในการผลักดันเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน
ผลสำรวจจากงานยังระบุอีกว่า นักลงทุนสถาบัน และ ผู้จัดการกองทุนในภูมิภาคนี้ มีการใช้กลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงเรื่อง ESG แล้ว โดยร้อยละ 29 ทำเรื่อง ESG Screening ร้อยละ 22 ทำเรื่อง Engagement และ ร้อยละ 21 ทำเรื่อง ESG Integration
GPF – Bloomberg Sustainable Investing forum ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย -แปซิฟิก โดยเนื้อหาสำคัญที่หยิบยกมาหารือเป็นเรื่องกฎระเบียบ มาตรฐาน โอกาสในการลงทุน ตลอดจนการนำเสนอตัวอย่างและแนวคิดที่น่าสนใจด้าน ESG