ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยกับการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง

บทบาทขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยกับการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง

26 มีนาคม 2019


ว่าที่ร้อยเอกปิติคุณ นิลถนอม

ในแต่ละประเทศไม่ว่าจะมีรูปแบบการปกครองแบบใด จะมีองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน หรือ Supreme Audit Institution (SAI) ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและการใช้ทรัพย์สินของรัฐเพื่อสร้างวินัยทางการเงินการคลังที่ดีให้กับระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ (Public Financial Management – PFM) ของประเทศเสมอ นอกเหนือจากหน้าที่และอำนาจข้างต้นแล้ว กฎหมายของบางประเทศได้บัญญัติให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินเข้าไปมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้งและการทำงานของพรรคการเมืองอีกด้วย

การที่ในบางประเทศได้บัญญัติกฎหมายให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ใช้ในกระบวนการเลือกตั้งหรือการทำงานของพรรคการเมืองนั้น หากพิจารณาในมุมมองทางนิติเศรษฐศาสตร์ (Law and Economics) แล้วถือว่าการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่คิดจะประพฤติไม่สุจริตในการใช้จ่ายเงินเพื่อให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม รวมถึงเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงการเมืองรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในกระบวนการเลือกตั้งอีกด้วย นับได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันที่ผู้ร่างกฎหมายพยามยามผลักดันให้เกิดขึ้น

ในประเด็นนี้มีหลักฐานสนับสนุนที่เป็นรายงานผลการวิจัย เรื่อง Do Government Audits Reduce Corruption? Estimating the Impacts of Exposing Corrupt Politicians เมื่อปี ค.ศ. 2016 ของ Eric Avis และคณะ ที่เก็บข้อมูลในประเทศบราซิล และพบว่าการเข้าทำการตรวจสอบหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณของรัฐบาลกลางที่ผ่านมาสามารถลดการทุจริตคอร์รัปชันได้ร้อยละ 8 และลดลงถึงร้อยละ 20 ในกรณีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย Avis และคณะสรุปว่าการลดลงของการทุจริตคอร์รัปชันนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากกลไกการตรวจสอบเงินแผ่นดิน ทำให้นักการเมืองไม่กล้ากระทำผิดเพราะกลัวการถูกตรวจสอบและกลายเป็นข่าวอื้อฉาวจนไม่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หรือ “สอบตก” ในการเลือกตั้งสมัยถัดไป

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าองค์กรตรวจเงินแผ่นดินบางแห่งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ใช้ในกระบวนการเลือกตั้งหรือการทำงานของพรรคการเมือง แต่บางแห่งไม่มีหน้าที่และอำนาจเช่นว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศนั้นๆ ที่บัญญัติรูปแบบองค์กร ตลอดจนหน้าที่และอำนาจไว้ ซึ่งในปัจจุบันอาจจำแนกรูปแบบองค์กรตรวจเงินแผ่นดินได้ 3 รูปแบบ คือ

  • 1. รูปแบบเวสมินสเตอร์ (Westminster Model) ที่มีผู้อำนวยการหรือผู้ว่าการเป็นหัวหน้าองค์กรและรายงานผลการตรวจสอบไปยังรัฐสภา
    2. รูปแบบคณะบุคคล (Collegiate Model)
    3. รูปแบบศาลบัญชี (Court of Audit หรือ Napoleonic Model) ที่มีอำนาจตุลาการ (Judicial Power)

จากการสืบค้นพบว่า ในปัจจุบันองค์กรตรวจเงินแผ่นดินบางแห่งมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งหรือการตรวจสอบการเงินของพรรคการเมืองด้วย (โปรดดูตาราง)

ตารางแสดงหน้าที่และอำนาจขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศในการสร้างความโปร่งใสให้กับกระบวนการเลือกตั้งและการทำงานของพรรคการเมือง ที่มา: รายงานศึกษาวิจัยของ OECD เรื่อง Chile’s Supreme Audit Institution Enhancing Strategic Agility and Public Trust โปรดดูที่นี่

ผู้เขียนพบว่า ศาลบัญชีอิตาลีมีหน้าที่ร่วมทำการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินในการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ศาลบัญชีเสปน มีหน้าที่ตรวจสอบการจัดหาเงินทุนทางการเมืองว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแอฟริกาใต้มีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินของพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนสาธารณะตามกฎหมาย Public Funding of Represented Political Parties Act ว่าสอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด สำนักงานตรวจสอบแห่งอิสราเอลมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบกลุ่มรัฐสภา เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า องค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่มีรูปแบบการจัดตั้งในรูปแบบศาลบัญชีมีแนวโน้มที่จะมีหน้าที่และอำนาจในเรื่องนี้ค่อนข้างกว้างขวาง หากเปรียบเทียบกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินที่จัดตั้งในรูปแบบอื่น

ในส่วนของประเทศไทยนั้น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 (บทความเขียนขึ้นก่อนมีการเลือกตั้ง) ในไม่ช้านี้ก็จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. และเมื่อกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. แล้วเสร็จ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็จะมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในระบบสภาคู่ (bicameral system) ทำหน้าที่ตรากฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 องค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยที่ประกอบด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎหมายตรวจเงินแผ่นดินฉบับใหม่นี้ สตง. ก็ทำหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือสำนักงาน กกต. จัดว่าเป็นหน่วยรับตรวจที่ สตง. ต้องตรวจสอบตามกฎหมาย ดังนั้น งบประมาณที่สำนักงาน กกต. ใช้จ่ายในการบริหารการเลือกตั้งย่อมต้องถูกตรวจสอบจาก สตง. นอกจากนี้แล้ว สตง. ยังมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 95 ที่บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ สตง. ชําระบัญชีกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือถูกยุบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินได้มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะกรณีการตรวจสอบแล้วพบว่าอาจมีการทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม รวมถึงการที่ตรวจสอบพบว่า ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการเข้าไปมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายซึ่งเป็นการสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้มีสาระสำคัญดังนี้

1. กรณีพบว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรืออาจทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม

กล่าวคือ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรืออาจทําให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอํานาจจะดําเนินการอย่างใดได้ กฎหมายได้ให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ กกต. หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบและดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป โดยกฎหมายให้ถือว่าเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบหรือจัดทําขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสํานวนการสอบสวนด้วย (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 7 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)

2. กรณีที่พบว่ามีการกระทําที่มีผลให้ ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย

กล่าวคือ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทําที่มีผลให้ ส.ส., ส.ว. หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือตรวจสอบพบว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติ หรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง หรือพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจจัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดําเนินการดังกล่าว กฎหมายให้หน้าที่และอำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป ซึ่งในการดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้นให้ถือว่ารายงานและเอกสารและหลักฐานที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจัดส่งให้เป็นส่วนหนึ่งของสํานวนการไต่สวนหรือสอบสวนด้วย (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 88)

เมื่อพิจารณาหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายฉบับใหม่ข้างต้นแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่าการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ที่คิดจะประพฤติไม่สุจริตในการใช้จ่ายเงินเพื่อให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม รวมถึงเพิ่มต้นทุนให้กับ ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ หรือแม้แต่คณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เข้าไปมีส่วนได้เสียในการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน นับได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันที่ผู้ร่างกฎหมายพยามยามผลักดันให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ หากมองในมุมศักยภาพแล้ว ถือได้ว่าองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ หากพิจารณาตามแนวทางของ INTOSAI Development Initiatives (IDI) ที่เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน ขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ หรือ International Organization of Supreme Audit Institutions (INTOSAI) แล้ว ศักยภาพขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ 1. ศักยภาพเชิงสถาบัน (institutional capacity) ที่ยึดโยงกับกฎหมายที่จัดตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่องค์กรตรวจเงินแผ่นดิน 2. ศักยภาพเชิงบุคลากร (professional staff capacity) ที่ยึดโยงกับความเป็นมืออาชีพของบุคลากรทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและหน้าที่สนับสนุน และ 3. ศักยภาพเชิงระบบองค์กร (organizational system capacity) ที่ยึดโยงกับมาตรฐานของระบบการทำงาน

ภาพแสดงกรอบแนวคิดเรื่องศักยภาพองค์กรตรวจเงินแผ่นดินของ INTOSAI Development Initiative (IDI) ที่มา: http://www.idi.no/en/idi-cpd/about-capacity-development-programmes

จากแนวคิดดังกล่าวถือได้ว่าองค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยมีการพัฒนาศักยภาพเชิงสถาบันที่เพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 นับเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งของประวัติศาสตร์การตรวจเงินแผ่นดินไทยที่ยืนหยัดเป็นเสาหลักคุณธรรมให้กับประเทศมากว่า 104 ปี

เอกสารอ้างอิง

1.Eric Avis, Claudio Ferraz and Frederico Finan, Do Government Audits Reduce Corruption? Estimating the Impacts of Exposing Corrupt Politicians

2.IDI, About IDI Capacity Development Programmes

3.OECD, Chile’s Supreme Audit Institution Enhancing Strategic Agility and Public Trust