ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ตั้ง 2 คำถามรัฐเอื้อนายทุน ทำเหมืองหินปูนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A – SCG แจงทำเหมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบ Semi-Open Cut

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ตั้ง 2 คำถามรัฐเอื้อนายทุน ทำเหมืองหินปูนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A – SCG แจงทำเหมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบ Semi-Open Cut

9 มีนาคม 2019


ที่มาภาพ : https://news.thaipbs.or.th/content/278194

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกเอกสารข่าวความเห็นต่อกรณีรัฐบาลออกมติคณะรัฐมนตรีให้ SCG เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จ.สระบุรี ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 15 แปลง ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1A พื้นที่ประทานบัตรรวม 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติสิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แต่อายุประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงเหลืออยู่ถึงวันที่ 27 เมษายน 2579 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความเห็นให้ SCG ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นการเฉพาะรายจนสิ้นอายุประทานบัตรในวันที่ 27 เมษายน 2579 นั้น ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีความจริงใจและความซื่อตรงในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติตามที่กล่าวอ้างในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในยุทธศาสตร์ชาติหรือยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ก็ตาม

โดยเฉพาะกรณีของการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยที่มีการออกพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 (กฎหมายแร่) ออกมา แต่ในการปฏิบัติจริงนั้นกลับไม่ได้ทำตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย โดยเห็นได้จากการออกมติ ครม. ในลักษณะดังกล่าวที่มีการผ่อนผันให้ SCG เข้าใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนได้ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ถือเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมซึ่งมีข้อห้ามอย่างชัดเจนตามกฎหมายแร่มาตรา 17 วรรค 4 ที่ว่าพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ดังต่อไปนี้

  • พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า
  • เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
  • เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ
  • พื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม


การออกมติ ครม. ผ่อนผันให้บริษัท SCG เป็นการเฉพาะรายในครั้งนี้จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนอย่างชัดเจน โดยไม่สนใจปัญหาของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่จะตามมาแม้แต่น้อย และการกระทำในครั้งนี้ของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ยังเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลนี้ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายและใช้อำนาจไม่จำกัด ดังนั้น เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่จึงขอให้ทางรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ตอบคำถามสองข้อให้ชัดเจน ดังนี้

1. ใบอนุญาตขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของบริษัท SCG หมดอายุตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2554 แต่ในความเป็นจริงกลับมีการทำเหมืองมาโดยตลอดแม้ใบอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจะหมดอายุลงไปแล้วจริงหรือไม่?

2. รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. อาศัยอำนาจใดในการออกมติ ครม. ดังกล่าว เนื่องจากมติ ครม. นั้นสามารถออกได้เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายหลักที่มีอยู่ ซึ่งการออกมติ ครม. ผ่อนผันให้มีการทำเหมืองในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น ย่อมขัดกับกฎหมายแร่อย่างแน่นอน หากรัฐบาลที่เป็นผู้ออกและใช้กฎหมายกลับทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์เสียเองโดยทำให้ ‘มติคณะรัฐมนตรี’ มีอำนาจยิ่งใหญ่จนสามารถเขี่ย ‘พระราชบัญญัติ’ ให้ตกไปได้ แล้วประชาชนที่ใช้กฎหมายยังจะมีความเชื่อมั่นศรัทธากับรัฐบาลนี้ต่อไปได้อย่างไร

ที่มาภาพ : http://cementhailand.com/

SCG แจงทำเหมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยระบบ Semi-Open Cut

ขณะที่นายชนะ ภูมี Vice President – Cement and Construction Solution Business ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ชี้แจงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา มีมติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินปูนว่า “บริษัทฯได้ขออนุญาตตามขั้นตอนและข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทุกราย โดยทำตามกฎหมายควบคุม 2 ฉบับ คือ ประทานบัตรเหมืองแร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม มีอายุสูงสุด 25 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2554 – 2579 ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่งถือเป็นประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 ด้วย ส่วนอีกฉบับ คือ หนังสือขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่จากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอายุไม่เกิน 10 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุญาตตั้งแต่ปี 2544-2554 บริษัทฯ จึงได้ขอต่ออายุหนังสือดังกล่าวต่อกรมป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขออนุญาตอย่างถูกต้องครบถ้วน ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพและปริมาณสำรองที่สามารถทำเหมืองได้ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความเห็นให้บริษัทฯ ได้รับการพิจารณาผ่อนผันให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ได้

เอสซีจีมีเจตนารมณ์สูงสุดในการทำเหมืองที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยังได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเหมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การออกแบบเหมืองแบบ Semi-Open Cut ที่สามารถป้องกันและลดผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านฝุ่นและเสียง และยังฟื้นฟูพื้นที่ให้ยังคงทัศนียภาพของภูเขาเดิม ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้เกิดความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า คืนความสมดุลให้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน และส่งเสริมชุมชนให้พัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล” นายชนะ กล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งหินปูนที่มีศักยภาพ ทั้งยังมีปริมาณสำรองมากเพียงพอสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อการพัฒนาประเทศ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ระบุว่าสามารถเข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ คราวละไม่เกิน 10 ปี ผู้ผลิตปูนซีเมนต์หลายรายจึงขออนุญาตเข้ามาใช้พื้นที่สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ดังกล่าว

สำหรับการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น ด้วย ครม. ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ ยกเว้นผู้ที่เคยได้รับอนุญาตหรือมีข้อผูกพันกับภาครัฐมาก่อนแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายและเอสซีจีเข้าข่ายดังกล่าว โดยจะต้องขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ต่อ ครม. และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การจัดทำรายงานประเมินศักยภาพลุ่มน้ำ รายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นของชุมชน รายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลังการทำเหมืองแร่ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมทั้งตรวจสอบความสมบูรณ์ของป่าไม้ เพื่อประกอบการพิจารณาเห็นชอบของ ครม.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯ มีประทานบัตรอยู่แล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ ก็ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด คือ ไม่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด