ThaiPublica > คนในข่าว > เจาะตลาดธุรกิจไอดอลกับ “อธิปติ ไพรหิรัญ” ผู้ปั้นวง FEVER ความลงตัวของประสบการณ์และความนิยมแห่งยุคสมัย

เจาะตลาดธุรกิจไอดอลกับ “อธิปติ ไพรหิรัญ” ผู้ปั้นวง FEVER ความลงตัวของประสบการณ์และความนิยมแห่งยุคสมัย

7 กุมภาพันธ์ 2019


นายอธิปติ ไพรหิรัญ โปรดิวเซอร์วง FEVER

เมื่อเร็วๆ นี้ BNK48 ประกาศผลงานเลือกตั้ง สมาชิกที่จะได้ร้องเพลงในซิงเกิลที่ 6 กะยอดเงินทั้งหมดที่แฟนคลับใช้โหวตเพื่อให้ได้สมาชิกวงที่ตัวเองเชียร์ได้ราว 200 ล้านบาท อย่างที่ไทยพับลิก้านำเสนอไปก่อนหน้านี้ว่างานเลือกตั้งเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้หารายได้ของวงไอดอลญี่ปุ่น 48 group และนอกจากนั้นยังมีกิจกรรมในลักษณะอื่นๆ เพื่อหารายได้และสร้างชื่อเสียง จนหลายคนอาจมองว่า “ตลาดไอดอล” เป็นตลาดที่ทำเงิน มีเม็ดเงินที่จับต้องได้ แต่นั่นไม่ใช่จุดเริ่มต้นของ “อธิปติ ไพรหิรัญ” โปรดิวเซอร์วง FEVER ผู้คลุกคลีในวงการบันเทิงในฐานะผู้จัดละครมากว่าสิบปี เขาบอกว่าไอดอลนั้นมีมานานแล้วในเมืองไทย แต่เป็นเรื่องกลุ่มเฉพาะ โดยเขาและทีมงานเฝ้ามองสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด ด้วยประสบการณ์การทำงานในวงการบันเทิง ความสนใจส่วนตัวในเรื่องไอดอล ความนิยมไอดอลของยุคสมัย รวมกันเป็นจังหวะที่เหมาะสมให้เกิดวง FEVER วงไอดอลหญิงหน้าใหม่ ที่มีผลงานเพลงไม่ใช่แค่เพลง แต่ว่าแต่ละเพลงเล่าเรื่องราวของสมาชิกวงเองด้วย

ในฐานะที่ “อธิปติ” เป็นคนทำงานด้านละครมาก่อน เขามองว่าตอนนี้ภาพรวมการเสพสื่อบันเทิงไม่ค่อยดี จะเห็นว่ากลุ่มคนดูวัยรุ่นไม่ค่อยดูทีวี หันไปเสพสื่อในช่องทางที่หลากหลายขึ้น ด้วยความหลากหลายของแพลตฟอร์มเช่นนี้ เขาคิดว่าถ้าจะสร้างคอนเทนต์ที่ดึงดูดวัยรุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องให้ดึงดูดกระแสหลักหรือกลุ่มคนหมู่มาก แต่เป็นคอนเทนต์เพื่อกลุ่มเฉพาะ ที่มีคุณภาพก็น่าจะไปได้

อธิปติไปไกลกว่าแค่ “คนปั้นวงไอดอล” แต่ทำให้เราเข้าใจว่ากฎข้อห้ามที่ดูแปร่งหูในสังคมไทย เช่น การห้ามมีแฟน มีฟังก์ชันที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจความต่างของบริบทสังคมไทยกับญี่ปุ่น แล้วพยายามปรับกิจกรรมแฟนคลับพบไอดอล อย่างงานจับมือ งานที่หลายคนตั้งข้อกังขา ให้เป็นงานที่มีความเหมาะสม เข้าใจได้ เพียงแต่ขออุบไว้ก่อนว่ามันจะเป็นรูปแบบงานแบบใด

“ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่ามันมีเม็ดเงินที่จับต้องได้ จากปรากฏการณ์บีเอ็นเคที่เกิดขึ้น แต่เราไม่ได้มองจากตรงนั้น ผมคุยกับน้องคนหนึ่งที่เป็นผู้บริหารด้วยกันแล้วเขาชอบไอดอลอยู่แล้ว ทีนี้เราก็ดูไอดอลของไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่บีเอ็นเคยังไม่ดังมาก แล้วเราก็มีวงในใจที่ชอบกัน และอยากให้มันมีโทนประมาณนั้น ดูไปสักพักก็ไม่มีวงแบบนี้เลย ก็เลยคิดว่าจะทำวงกันเองในแบบที่เราอยากเห็น” อธิปติกล่าว

ไอดอล หนทางสู่วงการบันเทิงและการเป็นที่รู้จัก

จากความเข้าใจของคนทั่วไป “ไอดอล” ก็เป็นดารา นักร้อง หรือคนมีชื่อเสียงทั่วๆ ไป หรือในมุมมองของเอเจนซี่ก็อาจเป็นอินฟลูเอนเซอร์อย่างหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้วในประเทศที่เป็นจุดกำเนิดไอดอลอย่างเกาหลีและญี่ปุ่นนั้นไอดอลก็อยู่อีกหมวดหมู่ที่ไม่ใช่ดารา นักร้อง หรือคนมีชื่อเสียง แต่เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีทั้งชายและหญิงที่อยากจะเข้าวงการบันเทิง นั่นคือการเป็นไอดอลเป็นการเปิดโอกาสในการเป็นที่รู้จักในที่สาธารณะ และที่ฝึกหัดทักษะในการทำงานวงการบันเทิง เช่น การร้องและการเต้น

ในโลกของการทำงานบันเทิงนั้นมีประเภทงานหลากหลาย ในจุดเริ่มต้น อธิปติอธิบายว่าสำหรับเขาแล้ว “ไอดอล” อยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี “ถ้าวงของเรามันเป็นระบบไอดอลของญี่ปุ่น ซึ่งไปทางอุตสาหกรรมดนตรี มันเริ่มจากฝั่งดนตรีแล้วค่อยขยายไปทางการแสดง เพราะว่าสุดท้ายไอดอลคือนักร้อง แต่เป็นนักร้องที่อาจจะไม่ได้พร้อมมาก และไม่ถึงขั้นเป็นศิลปินใหญ่ คือไอดอลถูกวางไว้เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ แต่ด้วยความที่เด็กๆ จะถูกฝึกเรื่องการแสดงและการร้องเพลง ถึงวันหนึ่งที่เขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เขาก็จะมี skill set ไปต่อยอดงานในวงการบันเทิงอะไรของเขาเอง”

หากบอกว่าไอดอลเริ่มที่การเป็นนักร้อง แล้วความต่างระหว่างไอดอลกับเกิร์ลกรุ๊ปอยู่ไหน อธิปติบอกว่า “1. ระบบ อย่างระบบวงไอดอลรับมาเป็นแบบญี่ปุ่น ความเชี่ยวชาญชำนาญด้านการแสดงทั้งร้องและเต้นก็จะยังไม่เท่ากับเกิร์ลกรุ๊ป ไอดอลคือกลุ่มที่ไม่ได้เป็นศิลปิน เป็นกลุ่มเด็กๆ ที่ผู้คน (แฟนคลับ) ดูแล้วจะอยากเห็นพัฒนาการ อย่างเช่นเพลงแรก Start Again จะเห็นว่าการแสดงมันประมาณนี้ พอเพลงถัดๆ ไป ก็จะได้เห็นว่าความสามารถดีขึ้น 2. ความต่างอีกอย่างคือการเข้าถึงตัวศิลปินและไอดอลก็จะต่างกัน ศิลปินจะเข้าถึงตัวยาก คนไม่รู้ว่าจะได้เจอเมื่อไหร่ แต่ไอดอล ดังแค่ไหนก็ต้องมีงานจับมือและงานถ่ายรูป คือมีกิจกรรมที่แฟนคลับจะได้ปฏิสัมพันธ์กับไอดอลแน่นอน”

ในช่วงเวลาที่ใครๆ ก็คุ้นกับไอดอล ใครๆ ก็เต้นเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย เหมือนมีภาคบังคับว่าทุกวงดนตรีที่ขึ้นคอนเสิร์ตต้องเล่นเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย กลายเป็น “ปรากฏการณ์บีเอ็นเค” จนถึงตอนนี้ในมุมของคนที่ไม่ใช่แฟนคลับวงไอดอลรับรู้ว่าหลายวงไอดอลเกิดขึ้นใหม่ เกิดเป็นความสงสัยว่าต่อไปไอดอลจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยหรือไม่ อธิปติเสนอมุมมองว่า ไอดอลนั้นไม่ใช่เรื่องเรื่องกระแสหลัก มันเป็นความนิยมเฉพาะกลุ่ม

“ในมุมมองผม บีเอ็นเคจะเป็นเพียงกระแส แต่ในไทยไอดอลมีมานานแล้ว แต่มันเป็นความนิยมเฉพาะกลุ่ม มันไม่เคยอยู่ในกระแสหลักหรอก แต่ข้อดีของยุคสมัยนี้คือต่อให้เป็นเฉพาะกลุ่ม แต่ด้วยอินเทอร์เน็ต คนสามารถเข้าถึงง่ายขึ้น อย่างเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยดูทีวี หันไปดูยูทูบ ก็เลยกลายเป็นว่าตอนนี้ถึงไอดอลจะเป็นกลุ่ม niche (เฉพาะกลุ่ม) แต่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป เช่น การมีแชนแนลยูทูบ ระบบมันเอื้อให้เข้าถึงง่ายขึ้น จะทำให้ไอดอลมีอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ากระแสหมดแล้วหายไป คนที่ชอบไอดอลจริงๆ ก็จะอยู่ตรงนั้น แต่ในการทำธุรกิจเราก็อยากให้คนชอบเยอะๆ แต่ว่าถ้าเราไปทำขนาดนั้น จนเสียความเป็นตัวตนของวง FEVER ก็ไม่ใช่อยู่ดี อีกอย่างที่คุยกันไว้ วงเราจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เหมือนมีหนังแอคชั่น หนังดราม่า ก็ให้คนเลือกที่ชอบ”

สำหรับอีเวนต์ที่ให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดกับไอดอลอย่างงานถ่ายรูป ที่ต้องเสียเงินเพื่อถ่ายรูปคู่ อธิปติมองว่า แม้การตามดาราปกติ เราสามารถขอถ่ายรูปคู่ ขอลายเซ็นได้ แต่เปอร์เซ็นต์การเจอมันต่างกัน และเราจะรู้ได้ไงว่าเจอแล้วดาราคนนั้นจะยอมให้เราถ่ายรูปด้วย ซึ่งการตามไอดอลจะมีตารางแน่นอน ส่วนเงินที่จ่ายไปก็คือค่าทำงาน เพราะสุดท้ายก็ถือว่าเป็นงานที่เขาต้องทำ

นายอธิปติ ไพรหิรัญ

“เมื่อเข้าวงการบันเทิง ชีวิตของเรา จะไม่ใช่ชีวิตของเราอีกแล้ว”

สิ่งที่ไอดอลต้องเจอคืออะไร รูปแบบชีวิตที่เปลี่ยน อธิปติเห็นเส้นกั้นแบ่งระหว่างชีวิตการเป็นคนธรรมดาและชีวิตการเป็นที่รู้จักในที่สาธารณะ เขาอธิบายเรื่องการเตรียมตัวเตรียมใจให้เด็กว่า “เมื่อบีเอ็นเคดัง เด็กที่เข้ามาก็จะพอรู้ว่าถ้าเป็นไอดอลจะต้องเจออะไรประมาณไหน สำหรับผม ผมมองว่าเมื่อเข้าวงการบันเทิงชีวิตของเราไม่ใช่ชีวิตของเราอีกแล้ว เมื่อออกจากบ้าน คุณเหมือนเป็นคนของประชาชน จะมีชีวิตส่วนตัวยากแล้ว ก็บอกเด็กว่า ถ้าคิดจะอยู่ตรงนี้จริงๆ ต้องเตรียมใจ เช่น ถ้าออกจากบ้าน ต้องพร้อมยิ้มทุกสถานการณ์ จะหน้าบึ้งใส่คนอื่นไม่ได้ มีอะไรหนักในใจก็ต้องถอดไว้ก่อน ซึ่งมันยากจริงๆ บางคนบอกว่าเป็นดารา นักร้อง สนุก แต่ผมว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่ยาก คนเราไม่ได้แฮปปี้ตลอดเวลา”

เมื่อการมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปเป็นการเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนหนึ่ง อธิปติบอกว่า ตนและทีมงานก็จะคุยกับเด็กทุกๆ อาทิตย์ ทุกๆ เดือน คุยกับพ่อแม่เด็ก บางทีก็ปรึกษากับพ่อแม่เด็กตอนที่มารับเด็กกลับบ้านว่าน้องเป็นอย่างไรบ้าง “ส่วนใหญ่เรื่องที่เด็กบ่นตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องซ้อมเต้นหนัก ใจผมยังคิดว่ามันยังไม่หนักเลย คือตอนนี้ยังไม่มีคนรู้จักมากมาย ตอนนี้เลยเป็นห่วงว่าถ้าตอนนี้หนักแล้ว ถ้าไปมากกว่านี้ มันจะไหวกันแค่ไหน ตอนนี้เลยเลือกแค่บางงาน เพราะว่าเด็กยังไม่พร้อมเต็มที่”

ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีในวงการบันเทิงตลอด รวมถึงการที่มีคุณพ่อคือ สมมาตร ไพรหิรัญ ดารารุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียงในวงการละครหลายเรื่อง ส่งผลให้อธิปติเข้าใจวงการบันเทิงทั้งในเชิงการทำงานและความเป็นคนวงการบันเทิง เมื่อถามถึง “กฎข้อห้าม” บางอย่าง ที่หลายคนอาจมองว่ามันแปลก เช่น การห้ามถ่ายรูปในที่สาธารณะ แตะตัวไม่ได้ และห้ามมีแฟน

เขาตอบว่า “ถ้าเทียบกับบีเอ็นเค นั่นคือเค้ารับกฎจากญี่ปุ่นแบบเป๊ะๆ แต่เราพิจารณากฎว่าแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะ อย่างกฎเรื่องการห้ามถ่ายรูปในที่สาธารณะ ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเรื่องการรักษามูลค่าธุรกิจ แต่หลักๆ คือเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เป็นการป้องกันเด็กประมาณหนึ่ง เพราะเด็กบางคนอายุน้อย การมีหน้ามีตาหรือมีชื่อในสังคม แล้วทางทีมงานก็ไม่ได้ตามไปดูแลตลอดเวลา ดังนั้นการห้ามแบบนี้ก็เป็นการช่วยให้เด็กดูแลเด็กประมาณหนึ่ง ให้เด็กได้ใช้ชีวิตส่วนตัวได้ ไม่วุ่นวายเท่าไหร่”

“เด็กที่เข้าวงการ พอมีคนเข้าหาเยอะๆ เด็กจะเหมือนใช้ชีวิตไม่เป็นเด็ก จะขาดตรงนั้นไปเลย คือเหมือนออกไปข้างนอกไม่ได้ เจอคนรุม ก็เลยให้มีกฎตรงนี้เพื่อรักษาให้เด็กใช้ชีวิตแบบปกติได้” ในมุมของผู้ที่เห็นคนเข้าๆ ออกๆ วงการตลอดระยะเวลาที่ทำละครมากว่าสิบปีจึงเห็นว่ากฎนี้ช่วยรักษาระดับการใช้ชีวิตของเด็กในวัยเปลี่ยนผ่านได้”

สำหรับเรื่องการห้ามมีแฟน อธิปติอธิบายว่าส่วนหนึ่งมีเหตุผลทางธุรกิจ เป็นเรื่องของความนิยม อย่างไรก็ดี เมื่อ 20-30 ปีก่อน วงการบันเทิงไทยเองก็เปิดเผยเรื่องสถานะความสัมพันธ์ไม่ได้ พ่อแม่ตนที่เป็นนักแสดงก็น่าจะเป็นนักแสดงคนแรกที่เปิดตัวว่ามีลูก (นั่นคือตัวเขาเอง) ทั้งนี้ การไม่เปิดเผยเรื่องแฟนก็เป็นเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเช่นกัน เพื่อไม่ให้แฟนคลับไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของไอดอลมากนัก

FEVER: ความลงตัวของ Synth Pop สมาชิกวง และความหม่น

กว่าจะเป็นวง FEVER ที่คุยเฉยๆ นาน แต่ตอนที่ลงมือทำจริงจังก็สักประมาณปีหนึ่งที่ผ่านมา ใจไม่อยากให้ดังเร็ว อธิปติเล่าถึงแนวทางของวง และการปรับกิจกรรมการพบเจอแฟนคลับของวงไอดอลบางอย่าง “วงนี้สมาชิก 12 คน จะให้ไปด้วยกันทั้งหมด เพราะไม่อยากให้มีการแข่งขันกันเอง และไม่อยากให้เด็กทะเลาะกัน แม้ว่าตามธรรมชาติเด็กผู้หญิงอยู่ร่วมกันหลายๆ คนจะมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็พยายามเลี่ยงมากที่สุด ผมมองว่ามันคือการบริหารทั้งวง เด็กดูแลกันเอง มีเด็กบางคนเรียนมหาวิทยาลัยจบแล้วก็ดูแลเด็กที่ยังเรียนชั้นมัธยม ส่วนกิจกรรมบางอย่างของวงไอดอลก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่คุยกัน เราคุยกับเด็กว่าอะไรโอเคไม่โอเค เพราะบริบทวัฒนธรรมของไทยกับญี่ปุ่นมันต่างกัน อย่างงานจับมือ ก็คุยกันว่าโอเคไหม ถ้าไม่ เราเปลี่ยน อาจจะมีหรือไม่มี คือปรับให้เข้ากับสังคมไทยและความสบายใจของเด็ก”

อีกสิ่งที่อธิปติพยายามจะปรับคือวงจรการประมูลสินค้าไอดอลที่มีราคาสูงจนน่าตกใจ เขาบอกว่าอยากจะตัดวงจรตรงนั้นออก เพราะอยากให้เงินที่ไปทุ่มกับการประมูลสินค้านั้นเข้าเด็กในวง หรือเป็นรายได้ของบริษัทมากกว่าที่เห็น

วิธีการคัดเลือกคนเข้ามาวง FEVER ไม่ได้ดูว่าต้องร้องเพลงเพราะหรือหน้าตาดีที่สุด แต่ดูที่คาแรกเตอร์บางอย่างที่น่าสนใจ อธิปติเล่าว่า “ต้องมองต่อไปว่าคนนี้จะขยายต่อไปเป็นอะไรบางอย่างได้ อย่างเราและทีมคัดเลือกเองดูเองยังชอบ คนอื่นก็น่าจะชอบ เรื่องหน้าตา จริงๆ แล้วโดยรวมของการอยู่ในวงการบันเทิง ยังไงก็ต้องยึดหน้าตาประมาณหนึ่ง แต่ถ้ามีคนคาแรกเตอร์น่าสนใจ กับคนหน้าตาดี ก็จะเลือกคนแรกมากว่า คนที่หน้าตาดีพร้อมทุกอย่าง แต่ไม่มีจุดเด่นให้คนดูจำได้ อย่างใน 12 คนนี้ ถ้าคนมอง ไม่ชอบคนหนึ่ง ก็ต้องชอบอีกคนหนึ่งอยู่ดี”

เมื่อถามว่าคาแรกเตอร์ที่คิดไว้กับที่แสดงออกมาจริงๆ ตรงอย่างที่คิดไว้ไหม อธิปติเล่าถึงน้องป๊อป หนึ่งในสมาชิกให้ฟังว่า “ตอนนี้คนชอบป๊อป เพราะหน้านิ่ง ก็เล็งไว้ตั้งแต่ตอนคัดเลือกว่าป๊อปจะเป็นคนที่พูดไม่เก่ง นั่งนิ่งๆ แต่ว่ามันดูเพลินแล้วกลายเป็นว่าคนชอบที่ป๊อปหน้านิ่ง ครั้งหนึ่งไปออกรายการหนึ่งป๊อปเฮฮา แต่คนก็ยังชอบที่ป๊อปหน้านิ่งอยู่”

ด้วยจุดเด่นของ FEVER คือภาคดนตรี แนวเพลง synth pop, city pop ทำให้ FEVER สามารถดึงดูดกลุ่มคนฟังเพลงอินดี้ นอกเหนือไปจากกลุ่มแฟนคลับที่ติดตามไอดอล ซึ่งในกลุ่มคนฟังเพลง นี้ก็อาจทำให้ FEVER สามารถมีแหล่งรายได้จากการฟังเพลงสตรีมมิงเหมือนกับนักร้องทั่วไปได้ ซึ่งในแง่นี้ก็จะช่วยเพิ่มตลาดคนฟังเพลงโดยที่ไม่ต้องรู้ว่าไอดอลคืออะไร ไม่ต้องรู้จักสมาชิกวงเลยก็ได้

นั่นคือความผสมผสานที่เข้ากันของคอนเซปต์วง (ความหม่น ความไม่สดใสซาบซ่ามากมายนัก) แนวดนตรี และคาแรกเตอร์ของสมาชิกก็ไปด้วยกัน รวมๆ กันแล้วคือความหม่นและความเท่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นสไตล์ที่ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปว่า ไอดอลจะคู่กับความน่ารักสดใส

นอกจากนั้น เนื้อเพลงของ FEVER ก็มีความน่าสนใจ นั่นคือเนื้อเพลงจะแต่งมาจากเรื่องของสมาชิกวง “เราจะคุยกับเด็กก่อนว่าจะเอาเรื่องอะไรของเด็กมาพูดดี อย่างเพลงแรกก็สรุปว่ามันมีเรื่องของความผิดหวัง ความท้อ แล้วเขาก็มาเริ่มต้นใหม่ ก็ออกมาเป็น Start Again เพราะเราก็ไม่อยากให้เด็กร้องเพลงที่ตัวเองไม่เข้าใจ”

ที่สุดแล้วเมื่อเล่นกับกระแส การปล่อยคอนเทนต์เพื่อดึงดูดความสนใจของคน ก็จะรู้ว่ามันเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ เพราะแม้แต่เพลงแรก Start Again อธิปติในฐานะโปรดิวเซอร์วงก็ยังคาดไม่ถึงว่าจะมีเสียงตอบรับมากเช่นนี้ เป้าหมายของ FEVER จึงยังเป็นอะไรที่พูดยาก แต่ในแง่ที่ตั้งใจทำภาคดนตรีให้โดดเด่นเช่นนี้ เทศกาลดนตรีก็อยู่ในเป้าหมายที่เขาอยากไปให้ถึง “ทิศทางตอนนี้คืออยากให้คนรู้จัก ให้ไปอยู่ในกลุ่มก้อนไอดอลทั้งหมดก่อน ให้คนรู้จักว่าตัวตนของวงเป็นแบบนี้ เพลงเป็นแบบนี้ อยากจะดันด้านเพลงด้วย พวกเทศกาลดนตรี อีกอย่างกระแสในไทยมันขึ้นลงตลอดเวลา เราแค่ต้องจับเทรนด์ จับอะไรบางอย่างให้ได้ และของเราคือจับเรื่องเพลง โชคดีที่สไตล์เพลงที่วางไว้มันเป็นกระแสดนตรีที่นิยมของช่วงนี้พอดี”

ด้วยกระแสที่เกินคาดเช่นนี้ หากเป็นคนเสพสื่อทั่วไปย่อมคิดว่ามันเป็นนิมิตหมายอันดี ทว่าในมุมของคนทำงาน กระแสที่เกิดคาดเช่นนี้ด้านหนึ่งมันกลายเป็นความกดดันของอธิปติเอง ทำให้เขาไม่มั่นใจ และต้องระวังกว่าเดิมในสิ่งที่นำเสนอไป เขามองว่าถ้ากระแสค่อยๆ มา ก็จะค่อยๆ ลองทำอะไรๆ ได้เรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจจะกลายเป็นว่าเขามีสิทธิพลาดได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม ด้วยความกลัวเช่นนี้ มันหมายความวง FEVER ก็พร้อมจะมีผลงานที่มีคุณภาพออกมาให้สมความคาดหวังของแฟนคลับเช่นกัน

และหากอยากจะรู้ว่าคุณภาพของ FEVER เป็นเช่นไร เราขอแนะนำทุกเพลงของ FEVER Start Again และ Ghost World

อนึ่ง ขณะนี้มีวงไอดอลชายในไทย อาทิเช่น Nine by Nine และ SB Five เป็นต้น ส่วนวงไอดอลหญิงมีอยู่ในไทยก่อนที่ BNK48 จะทำให้วงไอดอลกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่รู้จักกันเฉพาะกลุ่ม เช่น Sweat16, 7th sense, Secret12, Siam Dream, Somei Yoshino51, Love Letter, Siamese Kittenz, Dev zero และ AKIRA-KURØ