ThaiPublica > เกาะกระแส > งานเลือกตั้ง BNK48 …เมื่อผลของความพยายามปรากฏผ่านแรงเงินของแฟนคลับ

งานเลือกตั้ง BNK48 …เมื่อผลของความพยายามปรากฏผ่านแรงเงินของแฟนคลับ

8 ธันวาคม 2018


รายงานโดย พลอย พิริยา

ภาพโปรโมตงานงานเลือกตั้ง หรือ “BNK48 6th Single Senbatsu General Election Event”

“ไหนใครนะใคร อยากครึกครื้นด้วยกัน แค่เข้ามาตรงนี้

ไม่สำคัญว่าจะอายุเท่าไหร่ ทุกๆ คน เด็กผู้หญิง-เด็กผู้ชาย

ก็เชิญนะคะ! มานะคะ!”

BNK48 วงไอดอลที่มาแรงที่สุดในไทยขณะนี้ เพิ่งปล่อยซิงเกิลล่าสุด ที่ชื่อว่า BNK Festival โดยซิงเกิลนี้มีความพิเศษกว่าซิงเกิลอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะว่ามันคือซิงเกิลก่อน “งานเลือกตั้ง”

หมายความว่าในการซื้อซีดีซิงเกิล BNK Festival นี้จะมีสิ่งที่เรียกว่าบัตรเลือกตั้ง สำหรับการโหวตคะแนนให้กับเมมเบอร์ที่เราสนับสนุน นอกไปจากบัตรจับมือ และรูปสุ่ม

ด้วยจำนวนสมาชิกวง ณ ขณะนี้ ที่มีถึง 51 คน ทำให้ในแต่ละซิงเกิลที่ออก ไม่สามารถโปรโมตสมาชิกได้ทุกคน จึงจะมีเพียง 16 คนเท่านั้นที่จะถูกเลือกให้มาเป็นสมาชิกหลักได้ออกสื่อบ่อยๆ ได้ปรากฏต่อสาธารณะ ที่เรียกกันว่า “เซมบัตสึ” แปลว่าผู้ถูกเลือก และ 1 คนในนี้จะถูกเรียกว่าเซนเตอร์ ตำแหน่งนี้ก็จะบ่งว่าใน 16 คนนี้ เซนเตอร์ก็จะเด่นที่สุด ถูกพูดถึงมากที่สุด และน่าภูมิใจที่สุดสำหรับแฟนคลับที่เชียร์เมมเบอร์นั้นๆ

ด้วยระบบ BNK48 ที่ดำเนินการผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับไอดอล ความทุ่มเทของแฟนคลับที่มีต่อไอดอลทำให้บริษัทเติบโต ดังนั้น “ความนิยม” ของสมาชิกวงแต่ละคนจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ ขาดไม่ได้ หากไม่มีแฟนๆ คอย “สนับสนุน” ต่อให้เมมเบอร์คนนั้นร้องและเต้นดีเพียงใด ก็จะถูกเมิน แน่นอนว่าไม่ส่งผลดีต่อชีวิตในวง และในสายอาชีพไอดอล เช่นนี้เอง ความน่าสนใจของงานเลือกตั้ง BNK48 ที่รู้จักอย่างเป็นทางการในหมู่แฟนคลับ “BNK48 6th Single Senbatsu General Election Event” จึงอยู่ที่ว่ามันเป็นครั้งแรกที่ “ความนิยมของแท้” ของสมาชิกจะปรากฏสู่สาธารณชน เป็นความนิยมที่มาจากแฟนคลับเท่านั้นบริษัทไม่เกี่ยว (จริงหรือ?) โดยมีระยะเวลาให้โหวตคะแนน ระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2561 – 24 มกราคม 2562 และประกาศผลที่ Impact Arena เมืองทองธานี วันที่ 26 มกราคม 2562

เพื่อให้สมกับการเป็นงานเลือกตั้ง BNK48 แต่ละคนจะมีคลิปหาเสียง (ดูได้จากยูทูบแชนแนล BNK48) ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการหาเสียงจริงๆ จังๆ เพราะสำหรับแฟนคลับก็จะโหวตให้กับเมมเบอร์ที่ตัวเองชื่นชอบอยู่ดี โดยส่วนตัวผู้เขียนประทับใจคลิปหาเสียงของจูเน่มากที่สุด ด้วยวิธีการสื่อสารเรื่องที่ niche ด้วยน้ำเสียงทางการ จนผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่าน้องจะหลุดขำตัวเองบ้างไหม

เอ้า!มาสิ BNK Festival มาสิยิงมิกซ์ไปด้วยกัน

ซิงเกิลที่ผ่านมาของ BNK48 ไม่ว่าจะเป็น Aitakatta (อยากจะได้พบเธอ), 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ, คุกกี้เสี่ยงทาย (Koisuru Fortune Cookie), Kimi wa Melody (เธอคือเมโลดี้) และล่าสุด BNK Festival ต่างก็มีเซมบัตสึโดยที่ไม่ต้องเลือกตั้ง และทุกเพลงก็มีแฟนคลับติดตาม แล้วทำไมครั้งนี้ต้องเลือกตั้ง

จั๊ม แฟนคลับตาหวาน และเป็นผู้เข้าร่วมรายการแฟนพันธุ์แท้ BNK48 บอกกับผู้เขียนว่า ที่ผ่านมา แม้จะมีงานจับมือ ก็ดูเหมือนว่าวัดความนิยมได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถชี้ขาดความนิยมได้ทั้งหมด เพราะยังมีเมมเบอร์บางคนที่แถวจับมือยาว แต่ก็ไม่ค่อยได้รับโอกาสเป็นเซมบัตสึ รวมไปถึงรูปแบบเมมเบอร์หน้าซ้ำ ที่แฟนคลับขนานนามว่า 4 เทพ + 5 ชราไลน์ + 3 ฮาราจูกุ เหลือ 4 คนให้ลุ้นว่าจะเป็นเมมเบอร์หน้าใหม่คนไหน

“ที่ผ่านมาเวลาคัดเลือกเซมบัตสึ มันประกอบหลายปัจจัย ทั้งการพิจารณาภายในจากต้นสังกัด ยอด engagement ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือบริษัทอยากจะดันเอง ทีนี้มันก็ทำให้ในซิงเกิลที่ผ่านมานั้น มันเริ่มจะมีรูปแบบของสมาชิกที่จะได้เป็นเซมบัตสึแทบจะแน่นอน แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่เป็นเรื่องของแฟนคลับล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับเมมเบอร์แล้ว” จั๊มกล่าว

“ผมรู้สึกเหมือนโหวตเดอะสตาร์ ให้น้องเค้าได้คะแนนที่ดี เขาก็ดีใจ บางคนก็ได้รับกำลังใจตอนไปงานจับมือ หาเงินได้เท่าไหร่ เขาก็เอาไปทุ่มโหวตให้ ผมเจอคนที่ทุ่มโหวต 20-30 โหวตเยอะมากเลยนะ แต่บางคนก็ 400-600 โหวต เพราะรู้สึกว่าเสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ บางคนก็อาจจะพูดว่าถ้าน้องแกรดไป (graduate – ออกจากวง) ก็สนับสนุนไม่ได้แล้วนะ ต่อให้น้องไม่รู้ว่าเราเป็นคนโหวตกี่คะแนน แต่เราก็คิดว่าเราอยากให้เมมเบอร์ประสบความสำเร็จ”

จั๊มมองว่า ด้วยระบบที่เอื้อให้แฟนคลับสามารถใกล้ชิดกับเมมเบอร์ได้ อย่างงานจับมือ ซึ่งเป็นกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์พื้นฐานของมนุษย์ ก่อให้เกิดความผูกพัน ระหว่างเมมเบอร์-แฟนคลับ ก็อาจจะมีหลายคนรู้สึกว่าเมมเบอร์คนนั้นคนนี้เป็นเพื่อน น้องสาว พี่สาว ลูก หรือกระทั่งแฟน ก็ทำให้อยากเอาใจช่วยให้น้องประสบผลสำเร็จ

ตัวอย่างภาพหาเสียงที่เมมเบอร์จัดทำขึ้นมาเพื่อ “หาเสียง” โดยแต่ละภาพจะมีความหมายที่สื่อสารเฉพาะตัวเมมเบอร์กับแฟนคลับ ที่มาภาพ : https://election.bnk48.com/

เพราะฉันยังอยู่กับความลังเล และวุ่นวายใจก็ยังหวั่น

กระนั้นเองผู้เขียนได้พูดคุยกับแฟนคลับ BNK48 คนอื่นๆ พบว่าบางคนก็ไม่ได้อินกับการเลือกตั้ง

“โหวตเล่นๆ สนุกๆ ก็พอ เอาจริงๆ นะ เราไม่ชอบการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าน้องไม่ได้อะไร บริษัทได้ มันคือระบบที่เงินเยอะชนะ ไม่ต่างอะไรกับการซื้อเสียง ถ้าโหวต 1 คน 1 โหวตสิถึงแฟร์ แต่ถามว่าอยากร่วมไหมก็ร่วม เพราะอยากช่วยน้อง อย่างในงานจับมือ เราก็รู้นะว่าน้องไม่ได้อะไร แต่ถ้าเลนน้องว่าง ก็วิ่งไปจับมือ ถ้าคะแนนนิดหน่อยของเรามันจะช่วยน้องได้ ก็จ่ายได้ แต่ถ้าให้เปย์หนักๆ ไม่เอา” ลูกจัน ผู้ประกาศตนเป็นแฟนคลับผู้ภักดีต่อเฌอปราง อารีย์กุล เล่าถึงความรู้สึกต่อการเลือกตั้ง และประสบการณ์การวิ่งไปจับมือน้ำหนึ่งและก่อน เมื่อรู้ว่าเลนจับมือน้องๆ โล่ง

ลูกจันเล่าตบท้ายว่าตนไม่เชื่อเรื่องการวัดความนิยมจากการเลือกตั้ง คิดว่าหลังเลือกตั้งทุกอย่างก็จะเหมือนเดิม “สมมติว่า น้องคนหนึ่งที่ไม่ดังเลย ได้อันดับที่ 3 แฟนคลับจะคิดอะไร ระหว่าง 1. น้องคนนี้มีคนรักเยอะกว่าที่คิด เขาต้องมีอะไรดีแน่เลย 2. ต้องมีแฟนคลับมีเงินเยอะแน่เลย คือไม่ว่าใครจะได้ เราก็รู้ว่ามันมาจากแรงเงิน สรุปนะ ไม่อิน ไม่เปย์”

แฟนคลับอักษรย่อ พ. ผู้มีชีวิตดีขึ้นเพราะแก้ว เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “เราคงโหวตนิดหน่อย 10 โหวต อยากให้น้องได้อันดับดีๆ ถามว่ารู้ได้ไงว่าน้องจะแฮปปี้ที่ได้อันดับดีๆ ก็รู้จากที่น้องไลฟ์สื่อสารกับแฟนคลับ การได้อันดับดีๆ ก็คงสำคัญกับน้องๆ แหละ ออกงานเยอะ ได้เงินเยอะ คนเห็นเยอะขึ้น แต่ก็จะช่วยแค่เท่าที่ไหวนะ”

คำว่าพยายาม… ไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ?

ไม่ใช่ว่าแฟนคลับจะหลับหูหลับตาใช้จ่ายกับ BNK48 อย่างที่ใครหลายคนอาจปรามาสไว้ แม้การเลือกตั้งจะมีความหมายถึงการส่งพลังใจให้เมมเบอร์ที่เชียร์ไปถึงเป้าหมาย แต่หากสิ่งที่ได้มันไม่เป็นตามนั้น รวมไปถึงหาก “การสนับสนุน” นี้มันไม่มีความหมาย ก็พร้อมจะหยุด

แฟนคลับมิวสิคคนหนึ่ง เล่าว่าตนเองก็เคยคิดว่าการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทจัดมาเป็นการสนับสนุนน้องที่ตัวเองเอาใจช่วย ทว่าตอนนี้ตนเริ่มกังขากับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งทำให้ตนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ลงทุนกับ BNK48 เป็นสิ่งหรือควรหรือไม่

“ตอนนี้มีอยู่ 100 โค้ดโหวต แต่กำลังคิดว่าอาจจะไม่โหวตทั้งหมด อาจจะขายทิ้งทั้งหมดก็ได้ เพราะเราไม่เชื่อใจบริษัทว่าจะจัดอันดับตามคะแนนโหวตหรือเปล่า ที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยทำให้เชื่อใจได้เลย ไม่รู้ว่าระบบนับคะแนนจะโปร่งใสไหม แต่เดี๋ยวจะไปงานจับมือรอบมกราคม 2562 จะไปถามว่าน้องชอบอะไรแบบนี้จริงๆ เหรอ มันดีตรงไหน เพราะตั้งแต่มาเป็นแฟนคลับติดตามวง เราไม่เคยรู้สึกว่ามันดี”

แฟนคลับคนเดิมเล่าความกังขาต่อระบบวง BNK48 ต่อไปว่า “เราไม่เคยตาม AKB48 มาก่อน แต่เราก็เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของเฌอปรางกับมิวสิค ที่เขาชอบ AKB48 เลยมาสมัคร BNK48 เรารู้สึกว่า BNK48 บอกว่าตัวเองขายความพยายาม ที่เราเข้าใจ มันคือพยายามเป็นจุดสนใจ แล้วมันดียังไงวะ เราเห็นหลายคนพยายามแต่พยายามให้ตายก็ไม่ได้อะไร เราอยากรู้ว่าถ้าเฌอปรางได้อันดับความนิยมเท่าจิ๊บ (เมมเบอร์ความนิยมเกือบท้ายสุด) เฌอปรางจะยังชอบระบบนี้อยู่ไหม ก็ถ้าเราไปถามมิวสิคแล้วรู้สึกว่าน้องต้องการแบบนี้จริงๆ อยากได้อันดับ 1 อย่างที่ประกาศไว้จริงๆ เราก็พร้อมสนับสนุน เราค่อยซื้อโค้ดโหวตเพิ่ม”

ตัวอย่างกิจกรรมขายเสื้อหาเงินเพื่อโหวตเลือกตั้งให้กับเมมเบอร์ที่ตัวเองสนับสนุน ที่มาภาพ : ทวิตเตอร์ @Bnk48to

เพราะรักจริงใช่ไหม! จงอย่าลืมมัน! ทุ่มเทลงไป! มีแรงเท่าไร!

แฟนคลับไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อันดับที่ 1-3 อาจจะต้องใช้เงินถึงหลักสิบล้านบาท จากการวิเคราะห์ยอดซื้อสินค้าต่างๆ และยอดโหวตตอนที่สมาชิก BNK48 ไปงานเลือกตั้งโลกของ 48 Group (คะแนนโหวตเฌอปรางคิดเป็นประมาณ 14 ล้านบาท และมิวสิคประมาณ 10 ล้านบาท) และใช้ราวล้านบาทสำหรับที่พอให้ติดเซมบัตสึได้

ในการเตรียมแผนโหวตเลือกตั้ง ต้องวางแผนทางการเงินมาแน่เนิ่นๆ หลายกลุ่มของแฟนคลับทำเซอร์เวย์ว่าจะใช้เงินกับวงเท่าไหร่ แฟนคลับแต่ละคนทำงานอะไรบ้าง รวมถึงวิธีการระดมเงินไม่ว่าจะเป็นการขึ้นบิลบอร์ดตามสื่อต่างๆ หรือออกสินค้าเพื่อนำเงินที่ได้ไปซื้อบัตรเลือกตั้ง

แฟนคลับแต่ละกลุ่มก็จะรู้ว่าเมมเบอร์ที่ตนเองเชียร์นั้นต้องการอันดับที่เท่าไหร่ ก็ส่งผลให้กลยุทธ์หรือจำนวนเงินในการโหวตก็จะต่างกันไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการประเมินกำลังทรัพย์ของแต่ละกลุ่มแฟนคลับ ซึ่งเมมเบอร์แต่ละคนก็ดึงดูดแฟนคลับหลากประเภทไป เช่น รตา ก็จะมีแฟนคลับเป็นเด็กๆ เสียมาก ต่างกับเนย หรืออร ซึ่งแฟนคลับก็จะมักจะเป็นวัยทำงาน เป็นต้น

แฟนคลับคนเดิมยังยืนยันว่าสำหรับเมมเบอร์แถวหน้าอย่างเฌอปรางกับมิวสิค มีผู้ที่พร้อมจะทุ่มเงินหลักแสนหลักล้านโหวตคะแนนให้แน่นอน รวมไปถึงนิ้ง เมมเบอร์ที่อาจจะไม่ถูกพูดถึงในที่สาธารณะมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นม้ามืด เพราะว่าหนึ่งในแฟนคลับของเธอ คือผู้ที่ประมูลบัตรฟาวเดอร์เมมเบอร์ หมายเลข 999 ด้วยราคา 148,000 บาท

เรามีปัญหาที่ซ่อนเอาไว้ ที่ต้องมีชีวิต เดินตามเส้นทางของใครๆ

“BNK48 เป็นวงไอดอลแฟรนไชส์จากประเทศญี่ปุ่น ที่รู้จักในนาม 48 Group บริหารงานภายใต้การร่วมทุนระหว่างบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แพลน บี มีเดีย (จำกัด) มหาชน และบริษัท บีเอ็นเค48 ออฟฟิศ จำกัด ประเภทธุรกิจ ให้บริการดูแลศิลปิน ให้บริการด้านการบันเทิงทุกรูปแบบ และรับจ้างงานด้านการกิจกรรมทางการตลาด สัดส่วนรายได้จากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ 40% พรีเซนเตอร์-งานแสดง 30% ตั๋วเข้าชม 20% และดิจิทัลคอนเทนต์ 10%

ที่สุดแล้ว งานเลือกตั้งเป็นวิธีการหาเงินอย่างหนึ่ง ที่เล่นกับความรู้สึกระหว่างแฟนคลับกับเมมเบอร์มาผลักดันให้เกิดการใช้เงิน ยิ่งรู้สึกมากเท่าไหร่ก็จ่ายมากเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตจากเมมเบอร์ที่มีความนิยมสูงในหมู่แฟนคลับ มักจะมีลักษณะที่ “ต้องเอาใจช่วย” และมีคุณลักษณะนิสัยบางอย่างที่แฟนคลับสามารถสร้าง sentiment เชื่อมโยงได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เมมเบอร์มีแฟนคลับสนับสนุนได้ จนถึงขั้น “เปย์” นั้น ก็ค่อนข้างเป็นอะไรที่เฉพาะส่วนตัวมากๆ ยากจะคาดเดา

ภาพ “หาเสียง” ของเมมเบอร์ทุกคนถูกจัดแสดงที่หน้าเธียเตอร์ เดอะมอลล์ บางกะปิ ที่มาภาพ : ทวิตเตอร์ @bnk48kcj

เริ่มเห็นอะไรบางอย่างชัดเจน บางคนเร็ว บางคนช้า เข้าสู่การแข่งขัน

ด้วยลักษณะของระบบวงเช่นนี้ จึงจำเป็นที่สมาชิกจะต้องมีจำนวนมาก และวงเองก็ได้ออกแบบให้เพิ่มจำนวนสมาชิกได้เรื่อยๆ ในขณะนี้มี 51 คน เพื่อเพิ่ม “คาแรกเตอร์” ให้แฟนคลับได้ติดตาม เสมือนกับเพิ่มความหลากหลายของสินค้า รวมไปถึงการแย่งความสนใจ ดั่งบทเพลงหมื่นเส้นทาง “ถึงเวลาจะรักตัวเอง เปลี่ยนแปลงตัวเองจะไม่แพ้ใครๆ คำถามมีบ้างที่ค้างใจ คู่แข่งที่แท้เป็นใคร เรารู้กันใช่ไหม”

ในแง่นี้สมาชิกวง BNK48 จึงมีงาน 2 หน้าฉาก คือ 1. ร้องและเต้นให้ดี ในฐานะที่เป็นศิลปินฝึกหัด ซึ่งแฟนคลับก็จะติดตามพัฒนาการของน้องในเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันงานส่วนนี้จะใช้ “ขาย” กับกลุ่มคนที่ไม่ใช่แฟนคลับ 2. แสดงคาแรกเตอร์บางอย่างเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนคลับโดยเฉพาะ โดยในส่วนนี้จะมีตู้ปลา (Digital Live Studio – ห้องกระจกใสในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง มีไว้ให้แฟนๆ ได้มาสมาชิกวงหมุนเวียนกันมาทำการออกอากาศสด) และช่องทางโซเชียลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และแอปพลิเคชัน BNK48 ให้ติดตาม รวมไปถึงงานจับมือ ที่เป็นงานที่ทำให้ความผูกพันทางใจระหว่างแฟนคลับ-ไอดอลถึงจุดที่อินที่สุด เป็นที่มาของคำว่า “โดนตก” จากงานนี้ (เปรียบเทียบคือแฟนๆ เหมือนปลาที่โดนตกจากการที่เมมเบอร์แสดงท่าทีบางอย่างที่ทำให้แฟนคลับหลงใหล – ขณะเดียวกันก็อาจจะเสียแฟนคลับได้ หาก “จับมือ” ไม่ดี) และอีกฟังก์ชันของงานจับมือ คือ การพบปะ ซึ่งเนื้อหาในการพูดคุยก็หลากหลาย มีทั้งเล่นมุก หรือให้กำลังใจกัน ก็อาจจะตรงกับเนื้อเพลง BNK Festival “เธออารมณ์ดีขึ้นหรือเปล่า ที่ได้ระบายเรื่องราวร้ายๆ ในใจ เราจะโยนทิ้งไป อย่าเก็บมันไว้” และหากเมมเบอร์คนไหนจำชื่อของแฟนคลับได้ ก็อาจจะถือว่าเมมเบอร์คนนั้นเป็นที่สุดของการ “เอาใจใส่” แฟนคลับ

บ้างก็ว่าลักษณะของ BNK48 ก็เหมือนกับ The Star และ Academy Fantasia ที่มีการโหวตเชียร์ศิลปินที่ชอบ รวมถึงริท เดอะสตาร์ ก็เคยได้พวงมาลัยแบงก์พันที่มีมูลค่ารวมหกแสนบาทมาแล้ว แต่สิ่งที่ BNK48 แตกต่างก็คือช่วงเวลาที่นานกว่า BNK48 นั้นมีไปเรื่อยๆ จวบจนกว่าสมาชิกจะออกจากวง หรือที่เรียกว่าจบการศึกษาหรือแกรด

หากจะกล่าวว่าสินค้าธุรกิจของ 48 Group คือความน่ารักตามขนบของเด็กสาวก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนัก อย่างไรก็ดี อีกมุมหนึ่ง ในแง่สายอาชีพวงการบันเทิง นักร้อง นักแสดง ก็ไม่ผิดอะไรนักหากจะกล่าวว่า BNK48 เป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้เด็กสาวที่มีความฝันในอาชีพสายบันเทิงได้มีพื้นที่แสดงออก เก็บเกี่ยวชื่อเสียงในช่วงเวลาหนึ่ง และงานเลือกตั้งนี้ พวกเธอก็อาจจะได้รู้แล้วว่า “ความพยายาม” ที่ทุ่มตลอดมา มี “มูลค่า” เท่าไหร่

ซีดีซิงเกิลอันดับที่ 5 BNK Festival ที่มีบัตรเลือกตั้ง มีทั้งหมด 300,000 แผ่น ขายหมดภายในวันเดียว แผ่นละ 350 บาท คิดเป็นเงินรวม 105,000,000 บาท

สำหรับวิธีโหวตมี 2 วิธี 1. ใช้บัตรเลือกตั้งที่แถมจากซีดี BNK Festival จำกัดจำนวน 300,000 แผ่น 2. Music card 200 บาท จำนวนขายไม่จำกัด

สีสันหนึ่งของโลก BNK48 คือเรื่องการซื้อขายสินค้าจำพวกรูปโฟโต้เซ็ต เข็มกลัด หรือที่รองแก้ว เป็นต้น ฉะนั้น นอกจากวิธีดังกล่าวก็ยังมีการประกาศซื้อ-ขายในโซเชียลอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์ ที่ทำให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วราคาของบัตร/โค้ดเลือกตั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ประมาณการณ์ว่าอยู่ในช่วง 100-200 บาท ณ ขณะนี้

สำรวจยอดเปย์ในแอปพลิเคชัน BNK48 (แอปพลิเคชันที่ให้แฟนคลับใช้ติดตามตารางงาน และไลฟ์ส่วนตัวของเมมเบอร์) 16 อันดับ ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2561 (*คิดเป็นเงินจริงคร่าวๆ 10 คุกกี้ = 1 บาท กล่าวคือ อยากเห็นว่าเงินเท่าไหร่ให้ตัด 0 ออกไปตัวหนึ่ง)

    1. โมบาย 2,059,900 คุกกี้
    2. ปัญ 1,320,600 คุกกี้
    3. แบมบู 1,050,900 คุกกี้
    4. ฟอนด์ 1,002,300 คุกกี้
    5. มิวสิค 964,900 คุกกี้
    6. มินมิน 830,100 คุกกี้
    7. วี 822,800 คุกกี้
    8. เฌอปราง 797,900 คุกกี้
    9. นิ้ง 765,600 คุกกี้
    10. เค้ก 723,900 คุกกี้

ยอดเหล่านี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงงานเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา ในแง่ว่าใครจะได้อันดับที่เท่าไหร่ในงานเลือกตั้ง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ย้ำให้เห็นว่าแฟนคลับเต็มใจจ่ายเงินกับเมมเบอร์ที่ตนสนับสนุนเพียงใด

อ้างอิง
-นิตยสาร Forbes Thailand / พฤศจิกายน 2561
-หัวข้อย่อยจากเนื้อเพลง BNK Festival, Kimi wa melody เธอคือเมโลดี้, Shonichi วันแรก Oogoe Daimond ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ และ Yume e no Route หมื่นเส้นทาง