
วงการแพทย์กำลังจับตาการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาชุดใหม่วาระ พ.ศ. 2562-2564 หลังกรรมการแพทยสภาจากการเลือกตั้งชุดปัจจุบันกำลังจะหมดวาระสิ้นเดือนมกราคม 2562 โดยครั้งนี้มีผู้สนใจรับสมัครเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 117 คน และจะมีการลงคะแนนเลือกตั้งในรูปแบบเดิมคือทางไปรษณีย์ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 29 คนแรก จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการแพทยสภาร่วมกับกรรมการแพทยสภาโดยตำแหน่ง
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาได้จัดส่งเอกสารและบัตรเลือกตั้งไปให้สมาชิกตามที่อยู่ในฐานข้อมูลแพทยสภาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2561 กำหนดปิดรับบัตรลงคะแนนเลือกตั้งวันที่ 7 มกราคม 2562 และจะนับคะแนนในวันที่ 8 มกราคม 2562 ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้มีสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ แต่ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภามีมติเสียงข้างมากให้ดำเนินการเลือกตั้งแบบเดิมคือทางไปรษณีย์ต่อไป โดยชี้แจงเหตุผลจากมติการประชุมหารือของคณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ วาระ พ.ศ. 2562-2564 ที่ระบุว่าการเลือกตั้งระบบออนไลน์ยังมีข้อจำกัดและความไม่พร้อมใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. ระบบการยืนยันตัวบุคคล 2. การป้องกันการสวมสิทธิ์ 3. การรักษาความลับ และ 4. ระบบป้องกันการออกเสียงซ้ำซ้อน
จนถึงขณะนี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ เห็นด้วยกับระบบการลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ แต่ด้วยข้อจำกัดและความไม่พร้อมในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงด้านบน ในการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564 นี้ คณะอนุกรรมการเลือกตั้งฯ จึงยังคงดำเนินการเลือกตั้งในรูปแบบส่งทางไปรษณีย์
อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาจึงมีมติให้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา (วาระ พ.ศ. 2562-2564) ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการเลือกและการเลือกตั้งกรรมการ พ.ศ. 2525 ที่ดำเนินการไปแล้ว ต่อไป ทั้งนี้ มีมติเพิ่มเติมให้มีการปรับปรุงแก้ไขและให้มีการดำเนินการเลือกตั้งด้วยวิธีออนไลน์ในการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาในวาระ พ.ศ. 2564-2566 โดยจะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับแพทยสภาในเรื่องการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับวิธีการออนไลน์เสียก่อน
แพทย์ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย-ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์
นับแต่แพทยสภาก่อตั้งมา 50 ปี (2511-2561) มีการเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์มาโดยตลอด แต่ช่วงหลังพบว่าแพทย์ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกรรมการแพทยสภาน้อยลง โดยมีการใช้สิทธิ์ราว 20-30% จากจำนวนแพทย์ทั้งหมดซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 6 หมื่นคน ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แพทย์ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยคือการไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งในระบบไปรษณีย์จำนวนมาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนที่อยู่หรือเคลื่อนย้ายที่ทำงานบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแพทย์ใช้ทุนจบใหม่
จากปัญหาดังกล่าว มีสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการศึกษาวิจัยว่าเหตุใดสมาชิกแพทยสภาไม่สนใจเลือกตั้งแพทยสภา จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วแพทยสภาจัดให้มีโครงการวิจัย “การศึกษาเหตุที่ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาต่ำมากและแนวทางแก้ไข” เพื่อนำมาปรับปรุงการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภา ผู้วิจัยคือ ดร.ศิริวรรณ ศิริบุญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ 1. ศึกษาพฤติกรรมการใช้สิทธิ 2. เหตุผลของการใช้สิทธิและไม่ใช้สิทธิ 3. ข้อเสนอแนะเพื่อให้สมาชิกใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้น 4. ความคิดเห็นที่มีต่อบทบาทแพทยสภา และ 5. ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาแพทยสภา
ส่วนวิธีการศึกษาวิจัย ใช้ระเบียบวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิก 7,622 คน ตอบกลับมา 1,338 คน และสอบถามเชิงลึก 19 คน ประกอบด้วย สมาชิกแพทยสภา กรรมการแพทยสภา เจ้าหน้าที่แพทยสภา และที่ปรึกษา

ผลวิจัยพบไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งร้อยละ 28 – คนสมัครหน้าเดิมๆ
จากผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ไม่ใช้สิทธิในการเลือกตั้งให้เหตุผลว่าเป็นเพราะไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง ร้อยละ 28.1, ไม่มีเวลา ร้อยละ 27.1, เลือกไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ร้อยละ 23.6, คนสมัครหน้าเดิมๆ ร้อยละ 14.9, ลืมส่งบัตรเลือกตั้ง ร้อยละ 14.3, ทำบัตรเลือกตั้งหาย ร้อยละ 12.6, ไม่ระบุเหตุผล-แพทยสภาไม่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 5.8
สำหรับการใช้สิทธิเลือกกรรมการแพทยสภาก่อน พ.ศ. 2558 ผู้ให้ข้อมูลร้อยละ 41.5 ระบุว่าใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง, ร้อยละ 27.4 ระบุว่าใช้สิทธิเกือบทุกครั้ง, ร้อยละ 12.6 ระบุว่าใช้สิทธินานๆ ครั้ง, และร้อยละ 13.8 ระบุว่าไม่เคยใช้สิทธิเลย
นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลเสนอความเห็นเพื่อเพิ่มการใช้สิทธิเลือกตั้งไว้หลายประเด็น ได้แก่ ควรจะประชาสัมพันธ์หลายๆ ครั้ง/บ่อยๆ ร้อยละ 54, ควรกระตุ้นผ่านระบบไอที ร้อยละ 48.8, ควรให้เลือกตั้งผ่านระบบไอทีที่มีการรักษาความลับ ร้อยละ 44
ส่วนข้อเสนออื่นๆ คือ ควรมีหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่หรือมีหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่อื่นๆ, ควรให้มีกรรมการที่มีโควตาจากระดับจังหวัด, ควรมีทางเลือกในการใช้สิทธิได้ทั้งใช้บัตรเลือกตั้งและใช้สิทธิผ่านระบบไอที, และฐานข้อมูลสมาชิกต้องได้รับการปรับปรุงให้มีความครบถ้วนและทันสมัย
ในเวลาต่อมา ได้มีการนำผลวิจัยดังกล่าวมารายงานในที่ประชุมกรรมการแพทยสภา และสมาชิกแพทยสภาเสนอให้มีการเลือกตั้งแบบออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันเป็นยุคไทยแลนด์ 4.0 ประกอบกับสภาเภสัชกรรมได้มีการเลือกตั้งแบบออนไลน์แล้วเช่นกัน แต่ในที่สุดก็มีมติให้เลือกตั้งแบบเดิมคือทางไปรษณีย์ไปก่อน
ปัญหาวงการแพทย์รอการแก้ไข
มีการวิเคราะห์จากสมาชิกแพทยสภาจำนวนหนึ่งมองว่า จากปัญหาแพทย์ไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งจำนวนมาก และส่งผลให้มีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย จะทำให้แพทย์ไม่มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และอาจส่งผลให้ได้กรรมการแพทยสภาที่ไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงของแพทย์ส่วนใหญ่ ขณะที่ปัญหาวงการแพทย์จำนวนมากซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทยสภาต้องแก้ไข ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะตัวแทนแพทย์ไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริงนั่นเอง
เมื่อไม่นานมานี้ มีการประชุมสมาชิกแพทยสภาที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งสมาชิกได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในวงการแพทย์มากกว่า 40 ข้อ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
-
1. สวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิก
2. บทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข
3. ปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา
สำหรับข้อเสนอของสมาชิกที่เกี่ยวกับสวัสดิการและสวัสดิภาพของแพทย์ เช่น แพทยสภาควรกำหนดระยะเวลาการทำงานของแพทย์ในภาคราชการไม่ให้มากเกินไป ควรให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมเมื่อมีปัญหาแพทย์ถูกกล่าวหาร้องเรียนในสื่อสังคม การแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน
ทั้งนี้มีข้อเสนอจากสมาชิกว่า แพทย์ควรจะทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 80 ชั่วโมง ทั้งในและนอกเวลาราชการจากปกติ 40 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีหลายโรงพยาบาลระบุว่าทำไม่ได้ บางโรงพยาบาลบอกว่าทำมากกว่า 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแพทย์และพยาบาล
จากปัญหาเหล่านี้ สมาชิกจึงเสนอให้แพทยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพจะต้องให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข ตามวัตถุประสงค์แพทยสภามาตรา 7(5)
ส่วนบทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข สมาชิกมีข้อเสนอให้แพทยสภามีการปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ดูแลตนเองก่อนป่วย) รวมทั้งกระตุ้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนป่วย ไปจนถึงการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาตนเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรา 7(4) (5)
ขณะเดียวกันยังเสนอให้แพทยสภาส่งเสริมการวิจัยเพื่อให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ และควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการใช้ตำรับยาไทยที่เคยมีมาแล้วในอดีต
ปลดล็อกแพทย์ติดคุกคดีอาญา เพราะรักษาผู้ป่วย
ส่วนข้อเสนอต่อปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา เป็นเรื่องที่มีการหารือกันมาก เพราะปัจจุบันเรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบกับคนในวิชาชีพแพทย์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีแพทย์รักษาคนไข้แต่ถูกฟ้องคดีอาญาจนติดคุก
ทั้งนี้ มีสมาชิกแพทยสภาเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวหลายข้อ ยกตัวอย่างเช่น เฝ้าระวังการเสนอกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ก่อนที่จะมีการออกมาใช้บังคับ, เสนอแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ เช่น กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
รวมทั้งแก้ไขกฎหมายไม่ให้การรักษาผู้ป่วยต้องเป็นคดีอาญา หรือต้องติดคุกเพราะรักษาคน โดยเสนอให้ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. …. ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากคดีผู้บริโภค และไม่ปรากฏว่าได้กำหนดให้ศาลต้องรับฟังความคิดเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และยังลงโทษให้แพทย์ถูกจำคุกได้อีก เป็นต้น

ผลกระทบจากแพทย์-พยาบาลขาดแคลน
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ให้ความเห็นต่อเรื่องสวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกที่มีการเสนอ เช่น แพทยสภาควรกำหนดระยะเวลาการทำงานของแพทย์ในภาคราชการไม่ให้มากเกินไป ควรให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมเมื่อมีปัญหาแพทย์ถูกกล่าวหาร้องเรียนในสื่อสังคม ไม่นับรวมการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดทุน
“จากปัญหาหมอไม่พอ เช่น ในห้องฉุกเฉินมีหมอหนึ่งคน พยาบาลอีก 3-4 คน แต่มีคนไข้มารอจำนวนมาก เวลาคนไข้ป่วยหนักมา คนที่รอคิวก็ต้องรอไว้ก่อน หมอก็มาดูแลคนไข้ที่หนักกว่า ก็เกิดเรื่องโต้เถียงกับหมอ เพราะมีความรู้สึกว่ารอนานเกินไป จนเกิดกรณีคนไข้เครียดทำร้ายหมอ”
พญ.เชิดชูยกตัวอย่างอธิบายต่อว่า “อีกเรื่องหนึ่งคือหมอเครียดต่อว่าคนไข้ ยกตัวอย่างเคยมีหมอคนหนึ่งบอกว่าโรงพยาบาลไม่ใช่ 7-11 ขณะที่หมอที่จังหวัดมุกดาหารคนหนึ่งบอกว่าโรงพยาบาลที่เขาอยู่ยิ่งกว่า 7-11 เพราะมีหมอแค่คนเดียว แต่อยู่รอดได้เพราะมีพยาบาลคอยช่วย แต่ปัจจุบันพยาบาลก็ขาดแคลน”
จากการประชุมสมาชิกแพทยสภา ได้มีข้อเสนอว่าแพทย์ควรจะทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 80 ชั่วโมงทั้งในและนอกเวลาราชการจากปกติ 40 ชั่วโมง แต่ก็ยังมีหลายโรงพยาบาลบอกว่าทำไม่ได้ และทำมากกว่า 120 ชั่วโมง เนื่องจากมีปัญหาขาดแคลนแพทย์และพยาบาล
“เพราะฉะนั้น ปัญหาเหล่านี้แพทยสภาในฐานองค์กรวิชาชีพควรจะมีส่วนเสนอให้รัฐบาลได้รับรู้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขทั้งเรื่องคน งบประมาณ มาตรฐาน คุณภาพ และชั่วโมงการทำงาน ตามวัตถุประสงค์แพทยสภามาตรา 7(5) ก็คือแพทยสภาจะต้องให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในเรื่องปัญหาการแพทย์และสาธารณสุข”
ในส่วนบทบาทแพทยสภาที่มีต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข พญ.เชิดชูระบุว่า มีข้อเสนอให้แพทยสภามีการปฏิรูประบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (ดูแลตนเองก่อนป่วย) รวมทั้งกระตุ้นรัฐบาลให้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพก่อนป่วย ไปจนถึงการตรวจคัดกรองและการให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาตนเองเบื้องต้นได้อย่างถูกต้องตามมาตรา 7(4) และ (5)
ขณะเดียวกัน แพทยสภาควรส่งเสริมการวิจัยเพื่อให้มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ เช่น การใช้เสต็มเซลล์ การรักษาด้วยการแพทย์รีเจเนอเรทีฟ (regenerative medicine) หรือการใช้กัญชาทางการแพทย์ และควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้แพทย์มีความรู้ความสามารถในด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการใช้ตำรับยาไทยที่เคยมีมาแล้วในอดีต
ส่วนปัญหากฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา พญ.เชิดชูบอกว่า ปัจจุบันเรื่องกฎหมายการแพทย์มีปัญหากับแพทย์อย่างมาก โดยเฉพาะกรณีแพทย์รักษาคนไข้แต่ถูกฟ้องคดีอาญาจนติดคุก ทั้งที่จริงๆ แล้วในทุกประเทศทั่วโลก การรักษาคนไข้ไม่นับเป็นคดีอาญา ยกเว้นจงใจทำร้ายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมสมาชิกมีการเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวหลายข้อ ได้แก่ เฝ้าระวังการเสนอกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ก่อนที่จะมีการออกมาใช้บังคับ, เสนอแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่เป็นธรรมต่อแพทย์ เช่น กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
แก้ไขกฎหมายไม่ให้การรักษาผู้ป่วยต้องเป็นคดีอาญา ไม่ให้ติดคุกเพราะรักษาคน โดยเสนอให้แพทยสภายับยั้งร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ พ.ศ. …. ซึ่งมีเนื้อหาไม่แตกต่างจากคดีผู้บริโภค และไม่ปรากฏว่าได้กำหนดให้ศาลต้องรับฟังความคิดเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และยังลงโทษให้แพทย์ถูกจำคุกได้อีก เป็นต้น
พญ.เชิดชูกล่าวว่า ทุกวันนี้แพทย์ทำงานไปแต่ก็ต้องระวังตัวเองไม่ให้ถูกฟ้อง ซึ่งหนึ่งในวิธีการระวังคือส่งตัวคนไข้ไปหาผู้เชี่ยวชาญหรือโรงพยาบาลใหญ่ที่มีบุคลากรและเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมกว่า ยกตัวอย่างกรณีศึกษา เช่น แพทย์คนแรกที่ถูกศาลตัดสินจำคุก 4 ปีไม่รอลงอาญาก่อนหน้านี้ ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
“โดยแพทย์คนนี้ให้คนไข้ดมยาสลบทางไขสันหลัง เนื่องจากทำการผ่าตัดไส้ติ่ง แต่ปรากฏว่าคนไข้เกิดรีแอคชั่นที่ผิดปกติและช็อก แพทย์จึงเลิกผ่าตัดแล้วรีบส่งไปโรงพยาบาลใหญ่ แต่ในที่สุดคนไข้เสียชีวิต ญาติฟ้องแพทย์ในคดีอาญา ศาลตัดสินจำคุก 4 ปี ทั้งที่ตั้งใจรักษาคนไข้ ศาลบอกว่าหมอไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญดมยา เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นตัดสินจำคุก 4 ปี แต่คำถามคือในประเทศไทยมีหมอดมยาทุกโรงพยาบาลมั้ย ไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลชุมชนไม่มีหมอดมยาเลย ไม่มีผู้เชี่ยวชาญดมยาอย่างที่ศาลต้องการ อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์คนดังกล่าวไม่มีความผิด”
หลังจากกรณีนี้ทำให้โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศซึ่งเคยมีห้องผ่าตัด เคยทำผ่าคลอดได้ ผ่าทำหมันได้ เลิกทำผ่าตัดหมด เรามีห้อง มีเครื่องมือ แต่ไม่ผ่าตัด ทุกคนส่งไปที่โรงพยาบาลใหญ่หมด คนไข้ก็ไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดสรรแพทย์ดมยาให้แก้โรงพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล
กระนั้นก็ตาม พญ.เชิดชูกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีการอบรมเป็นพยาบาลวิสัญญี แต่ตอนนี้ถึงแม้จะมีพยาบาลวิสัญญี หมอที่ผ่าตัดคนไข้ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นหมอ เพราะฉะนั้นหมอไม่ผ่าดีกว่า เพื่อรักษาตัวเองไม่ให้ถูกติดคุก และเพื่อให้คนไข้ปลอดภัยอย่างที่ศาลต้องการ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันอัตราไส้ติ่งแตกสูงขึ้นระหว่างทางไปโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขเรื่องนี้”
พญ.เชิดชูกล่าวต่อในประเด็นนี้ว่า “พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งจะบังคับโรงพยาบาลเอกชนว่าต้องมีหมอดมยา แต่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขไม่จำเป็น เพราะไม่มีคน บุคลากรแพทย์รับผิดชอบตัวเอง ฉะนั้น การมี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เอาผิดทางอาญา หมอก็เกิดปัญหาต้องส่งต่อคนไข้ไป วิธีการนี้เรียกว่า defensive medicine คือป้องกันตัวเอง ฉันอยากรักษาคน แต่ก็ต้องระวังด้วยว่าจะไม่เดือดร้อนซะเอง”
พญ.เชิดชูกล่าวว่า ดังนั้น การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาครั้งนี้อยากให้แพทย์มีส่วนร่วมในการจะเข้ามาเป็นเจ้าของแพทยสภา เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาวงการแพทย์โดยลุกขึ้นมาออกเสียงเลือกตั้ง เพราะปัญหาแพทย์แต่ละเรื่องต้องมีทีมขึ้นมาศึกษา ไม่ว่าเรื่องชั่วโมงการทำงานของแพทย์หรือการวิจัยเพื่อพัฒนาใหม่ๆ รวมทั้งเรื่องกฎหมายที่มีผลต่อสมาชิกแพทยสภา
“อยากจะให้ทุกคนสนใจว่าองค์กรแพทยสภาควรจะเป็นผู้นำสังคมในเรื่องมาตรฐานคุณภาพทางการแพทย์ แล้วการคุ้มครองแพทย์ก็เพื่อคุ้มครองประชาชน เพราะถ้าแพทย์มีเวลาทำงานที่มีมาตรฐาน แพทย์มีความรู้ที่ดี ก็ไม่ต้องมาหวั่นวิตกกับการจะถูกติดคุก เขาก็จะทำได้เต็มร้อย” พญ.เชิดชูกล่าว