ThaiPublica > คอลัมน์ > Vote for “มิคกี้ เมาส์” ผู้สมัครรับเลือกตั้งตลอดกาล

Vote for “มิคกี้ เมาส์” ผู้สมัครรับเลือกตั้งตลอดกาล

27 พฤศจิกายน 2018


Hesse004

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Mickey_Mouse#/media/File:Mickey_-_House_of_Mouse.png

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ Australian Broadcasting Corporation (ABC) ได้จัดทำสารคดีเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี ของตัวการ์ตูน “ขวัญใจ” เด็กๆ ทั่วโลก

… “มิกกี้ เมาส์”

มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) ปรากฏโฉมให้ได้ชมในรูปการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ (Walt Disney) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1928 ในการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง Steamboat Willie

เพียงไม่นานนัก มิกกี้ เมาส์ กลายเป็น “ขวัญใจ” ของคนทั้งโลก จนก้าวสู่ “ตำนาน” และเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ของค่ายดิสนีย์

การปรากฏโฉมครั้งแรกของหนูน้อย “มิกกี้ เมาส์” ใน Steamboat Willie
ที่มาภาพ :https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/
thumb/c/c9/Steamboat_Willie.jpg/220px-Steamboat_Willie.jpg

ตลอดระยะเวลา 90 ปีที่ผ่านมาของตัวการ์ตูนตัวนี้ ทำให้เราเห็นพัฒนาการของสังคมอเมริกันและสังคมโลกรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสื่อผ่านเส้นทางการเติบโตของ “มิกกี้ เมาส์” ในช่วงศตวรรษที่ 20

…มิกกี้ เมาส์ เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ โดยถูกแนะนำครั้งแรกในการ์ตูนสั้นเรื่อง Planer Crazy หลังจากนั้นมาเปิดตัวเป็นทางการใน Steamboat Willie

จากยุคหนังเงียบ ฟิล์มขาวดำ มิกกี้ เมาส์ กลายเป็นขวัญใจมหาชนในยุคปลายทศวรรษที่ 20 ต่อทศวรรษที่ 30

จนกระทั่งปี 1935 เด็กๆ ยุคนั้นตื่นเต้นกับภาพมิกกี้ เมาส์ ในภาพยนตร์การ์ตูนสี เรื่อง The Band Concert

ช่วงทศวรรษที่ 30 ค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ได้สร้างตัวการ์ตูนขึ้นมาอีกหลายตัว หนึ่งในนั้นกลายเป็นตัวการ์ตูน “ตำนาน” เช่นกัน คือ โดนัลด์ ดั๊ก (Donald Duck) ทำให้ทั้งมิกกี้ เมาส์ และ โดนัลด์ ดั๊ก กลายเป็นสัญลักษณ์ของดิสนีย์และการ์ตูนอเมริกันไปโดยปริยาย

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 ในยุคโทรทัศน์เฟื่องฟู มิกกี้ เมาส์ ถูกผลิตเป็นรายการทีวีขวัญใจคุณหนู โดยเฉพาะรายการ The Mickey Mouse Club ที่ “ออนแอร์” ครั้งแรกเมื่อปี 1955 รายการนี้ทำให้เช้าวันหยุดของเด็กๆ มีความหมาย เพราะเด็กๆ จะขลุกอยู่หน้าจอทีวีเพื่อดูการ์ตูนในรายการการ์ตูนวาไรตี้ มีพิธีกรเด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เติบโตจาก The Mickey Mouse Club…โดยพิธีกรประจำรายการถูกเรียกว่า Mouseketeers

มิกกี้ เมาส์ ยังถูกผลิตในรูปหนังสือการ์ตูน (comics) เผยแพร่ไปให้เด็กๆ ทั่วโลกได้อ่าน อย่างน้อยที่สุดตลอด 90 ปีที่ผ่านมา เด็กทั่วโลกมี “ภาพจำ” ว่า มิกกี้ เมาส์ เป็นหนูใจดี ร่าเริง และเป็นมิตรกับพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ มิกกี้ เมาส์ จึงกลายเป็น pop culture ที่ถูกนำไปใช้ในทุกวงการ ไม่ใช่แค่การ์ตูนเด็กอย่างเดียว วงการเมืองก็ยังหยิบ “มิกกี้ เมาส์” ไปใช้ด้วย

โดยทั่วไป การ์ตูนกับการเมืองมักเป็น “ของคู่กัน” โดยเฉพาะการ์ตูนล้อการเมือง การ์ตูนเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนทั่วไปได้ง่ายที่สุด…การหยอกล้อแบบ “หยิกแกมหยอก” ด้วยการ์ตูนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต่างรู้สึก “แสบๆ คันๆ” แต่ก็ไม่ถึงกับจะเอาเป็นเอาตาย

มิกกี้ เมาส์ เชิญชวนเข้าร่วมกองทัพไปรบในสงครามเวียดนาม
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/en/e/e3/Mickey_Mouse_in_Vietnam.jpg

วัฒนธรรมการ์ตูนล้อการเมือง เป็นวัฒนธรรมหนึ่งทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตย…การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองนับเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่นักเขียนการ์ตูนพึงกระทำได้บนเสรีภาพและขอบเขตของกฎหมาย

อย่างไรก็ดี บางประเทศมีความอ่อนไหวเกี่ยวกับการ์ตูนล้อการเมืองมาก เช่น กรณีของวินนี่-เดอะ-พูห์ กับประธานาธิดี สี จิ้นผิง ที่ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจนักวาดการ์ตูนที่นำตัวการ์ตูนมาล้อเลียนท่านผู้นำสี

แน่นอนว่า กรณีของหนูน้อยมิกกี้ก็ไม่เว้นที่จะถูกนำไปล้อในการ์ตูนการเมืองของรัฐบาลอเมริกันแทบทุกยุคทุกสมัย ไม่เว้นแม้แต่รัฐบาลทรัมป์

นอกจากนี้ ในแง่ของการเลือกตั้งแล้ว ทุกสนามเลือกตั้งทั่วโลก ชื่อของมิกกี้ เมาส์ กลายเป็น “ผู้สมัคร” (จำยอม) ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ไม่มีเบอร์ที่แน่ชัด ที่สำคัญ ไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้สมัครไว้

ที่มาภาพ : http://prospect.org/sites/default/files/styles/large/public/ap101111037012_0.jpg?itok=ujq5BTD6

…แต่ชื่อ “มิกกี้ เมาส์” ก็ปรากฏบนบัตรเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเปิดหีบบัตรนับคะแนนแล้ว

กล่าวกันว่า ชื่อของ มิกกี้ เมาส์ ติดโผผู้ที่ได้รับคะแนนจากผู้ลงคะแนนเสียงอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ก็มีคนเลือก มิกกี้ เมาส์

…เหตุผล คือ คิดไม่ออกที่จะเลือกใคร ไม่ถูกใจนักการเมืองที่ลงสมัคร เลยเลือก “มิกกี้ เมาส์” เสียเลย

การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ เลือกประธานาธิบดี การเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น มักปรากฏบัตรเสียที่โหวตชื่อ “มิกกี้ เมาส์” เสมอ

จะว่าไปแล้ว หากพรรคการเมืองไหนกลัวแพ้เลือกตั้ง สนใจ “ดูด” มิกกี้ เมาส์ เข้าพรรค ก็ยังทันอยู่… เผลอๆ อาจได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเป็นกอบเป็นกำจนตั้งรัฐบาลได้