ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำดื่มปกติที่ไม่ธรรมดา

น้ำดื่มปกติที่ไม่ธรรมดา

8 ตุลาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

น้ำดื่มใสๆ ในแก้วที่วางอยู่ข้างหน้ามันไม่ไร้เดียงสาเหมือนเมื่อสมัยก่อนเสียแล้ว มันมาจากหลายที่มา มีหลากลักษณะ หลายส่วนผสม และอาจหลายรสชาติเอาเสียด้วย โลกปัจจุบันมันอยู่กันไม่ง่ายเสียแล้ว

น้ำคือสิ่งสำคัญที่ทำให้มีมนุษยชาติและอารยธรรม น้ำคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำร้อยละ 70 น้ำทำหน้าที่ตั้งแต่ล้างไล่แบคทีเรียจากไต ช่วยระบบการย่อยอาหาร เป็นตัวขนส่งสารอาหารและออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ป้องกันท้องผูก รักษาความสมดุลของโซเดียมในร่างกาย ฯลฯ

ชนิดของน้ำแบ่งออกได้บนฐานของแหล่งที่มา องค์ประกอบ วิธีการได้มา และ “เนื้อหา” ของน้ำ โดยแบ่งออกได้เป็น 7 ชนิด อันได้แก่

    (1) น้ำประปา ได้มาจากการเอาน้ำดิบไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้วใส่ท่อ

    (2) น้ำแร่ มาจากใต้ดินซึ่งมีส่วนผสมของ magnesium, manganese, calcium เป็นต้น นำมาบรรจุขวดโดยไม่เพิ่มเติมสิ่งใด บางครั้งมีการสกัด manganese ออก หรือเติมก๊าซคาร์บอนให้ซ่า แต่ละแบรนด์มีสารแร่ต่างกันและรสชาติต่างกันด้วย ส่วนใหญ่มีรสเค็มกว่าน้ำปกติเล็กน้อย

    (3) น้ำพุจากใต้ดิน อันเกิดจากน้ำฝนสะสมมานานอยู่ใต้ดิน และ “รั่ว” ออกมา

    (4) น้ำบ่อ ซึ่งมาจากแหล่งน้ำใต้ดิน

    (5) น้ำกรองโดยทำให้สะอาด น้ำอาจมาจากน้ำบ่อหรือใต้ดิน และนำมาผ่านกระบวนการขจัดแบคทีเรีย

    (6) น้ำกลั่น มาจากการต้มจนเป็นไอและกลายเป็นน้ำ เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ขาดเกลือแร่

    และ (7) น้ำอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (sparkling water) เพื่อให้มีฟองเมื่อดื่มแล้วรู้สึกซ่า

ปัจจุบันเราไม่ได้ดื่มน้ำกันอย่างตรงไปตรงมาอีกต่อไป มีการผสมปนเปกันของน้ำ 7 ชนิดนี้ และยังมีชนิดอื่นด้วยดังที่จะกล่าวถึงต่อไป โดยทั้งหมดเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือชี้นำผู้บริโภคให้เกิดความต้องการ

น้ำดื่มธรรมดาปัจจุบันมีทั้งน้ำสะอาดอัดก๊าซคาร์บอน น้ำแร่อัดก๊าซคาร์บอนหรือออกซิเจน น้ำจากน้ำพุปนน้ำแร่ น้ำกลั่นปนน้ำแร่และอัดก๊าซคาร์บอนหรือออกซิเจน ฯลฯ ในต่างประเทศบางแห่งมีสารพัดน้ำให้เลือก แต่ละแบรนด์ก็สรรหากันมาโดยอ้างสุขภาพ

ทั้งหมดยังคงมีความใสเหมือนน้ำดื่มธรรมดาเพราะดูเป็นธรรมชาติและเสริมสุขภาพ ที่ไปไกลกว่านั้นก็คือใส่หลายกลิ่นลงไปในน้ำหลากหลายชนิดนี้ จนเป็นน้ำเปล่าที่มีกลิ่นสารพัดของผลไม้ให้เลือกอย่างน่าตื่นใจและน่าสับสน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวของ flavored bottled-water เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มันไม่หยุดแค่นั้นเพราะเมื่อเติมกลิ่นแล้วต่อมาก็เติมน้ำตาล (สารเสพติดของทุกผู้ทุกนามในโลก) ลงไปด้วยจนกลายเป็นน้ำหวานรสผลไม้ในความใสอันไร้เดียงสาของน้ำเปล่า ในสหรัฐอเมริกายอดขายของน้ำดังกล่าวพุ่งจาก 1,200 ล้านลิตรในปี 2012 ขึ้นเป็นเกือบ 2,500 ล้านลิตร ในปี 2018

น้ำใสหวานและมีกลิ่นผลไม้ดังกล่าวมีน้ำตาลอยู่มากภายใต้หน้าตาของความใสสะอาดจนทำให้เกิดการบริโภคน้ำตาลมากเกินควรโดยไม่ตั้งใจ เรียกได้ว่าเป็น “ยาพิษ” ที่ซ่อนอยู่ในความใสซื่ออย่างน่ากลัว

เหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้กำลังเกิดขึ้นจากการผลิตของบริษัทญี่ปุ่น กล่าวคือเริ่มมีการผลิตโคคาโคล่า กาแฟใส่นม ชาใส่นม ฯลฯ ที่มีกลิ่นและรสชาติเหมือนจริงทุกอย่างหากเป็นน้ำใสบรรจุอยู่ในขวดใสสะอาดตา

อีกครั้งที่ความสะอาดตา และการเสริมสุขภาพของน้ำเปล่าเป็นเกราะกำบังความน่ากลัวของน้ำตาลได้อย่างแนบเนียน ผู้บริโภคไม่รู้สึกผิด อีกทั้งดูทันสมัย ดูเก๋ไก๋ และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ที่กำลังจะออกมาใหม่คือรสชาติและกลิ่นของเบียร์โดยไม่มีแอลกอฮอล์ในน้ำใส แต่เดิมนั้นมีการผลิตเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในกระป๋องและขวดโดยมีสีสันเหมือนเบียร์จริงทุกอย่าง คนที่ดื่มไปด้วยขณะทำงานก็เกรงว่าเพื่อนร่วมงานจะนึกว่าตนเองดื่มแอลกอฮอล์ในขณะทำงาน ผู้ผลิตจึงพยายามกำจัดสีออกไปจนใสและใส่ขวดแก้ว ผู้ดื่มจะได้สะดวกใจเมื่อดื่มทั้งตอนประชุมและทำงาน เพราะไม่ว่ากลิ่นหรือรสชาติคล้ายเบียร์จริงเพียงแต่ไม่มีแอลกอฮอล์เท่านั้น

เครื่องดื่มใสเหล่านี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตอนต้นทศวรรษ 1990 ไม่ว่าจะเป็นโคคาโคล่าน้ำใส เบียร์น้ำใส แต่พอถึงปี 1994 ก็ตายหมดเพราะเป็นสิ่งฮือฮาที่ไม่เหมือนของจริง การเกิดขึ้นอีกครั้งโดยบริษัทเครื่องดื่มญี่ปุ่นที่ก้าวหน้ากว่าเดิมในการผลิตชาและกาแฟ อีกทั้งมีชนิดใส่นมในรูปน้ำใส และโคคาโคล่าไดเอทรสมะนาวน้ำใส เชื่อว่าจะไปได้ดีหลังการทดลองเปิดตลาดไปแล้ว

ความธรรมดาอย่างไร้เดียงสาของหลายสิ่งในโลกเช่นน้ำดื่มหายไปอย่างน่าเสียดาย มนุษย์ด้วยกันเองทำให้การเลือกน้ำดื่มซึ่งเคยเป็นเรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องซับซ้อนไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ และนับวันของง่ายๆ จะเป็นของยากขึ้น

ในภาษาอังกฤษคำเรียกคนสูงวัย (ก็คนแก่นั่นแหละ) เก่าๆ ง่ายๆ เช่น old man หรือ old woman ก็เปลี่ยนไป มีหลากหลายคำที่ใช้กันอย่างเห็นไม่ตรงกันเพื่อไม่ให้ร้าวรานหัวใจ เดิมมีการเรียกว่า senior citizen หรือ elderly ล่าสุดมีการเรียกว่า older adults หรือเก๋สุดก็คือ perennial เนื่องจากฟังดูดีแต่ไม่รู้แน่ๆ ว่าแปลว่าอะไรสำหรับคนส่วนใหญ่ในโลก

perennial มาจากภาษาละติน perennis (“lasting through the whole year”) per (through”) + annus (“year”) ในภาษาอังกฤษหมายความว่าคงทน หรือยังคงกระฉับกระเฉงไปตลอด (lasting or remaining active throughout the year or all the time)

ภายใต้ความธรรมดาหรือง่ายๆ นั้นอาจมีความซับซ้อนซ่อนอยู่จากการสร้างขึ้นของมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ความสามารถรู้เท่าทันมนุษย์ด้วยกันเองจึงเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตปัจจุบัน